ในที่สุด ข่าวความขัดแย้งและแตกแยกภายในพรรคพลังประชารัฐระหว่างกลุ่มที่หนุน ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ และพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กับกลุ่มที่หนุน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ซึ่งเป็นข่าวปล่อยออกมาเป็นระยะๆ ได้กลายเป็นความจริง เมื่อกรรมการบริหารพรรคจำนวน 18 คนได้ยื่นใบลาออก ซึ่งส่งผลให้กรรมการบริหารพรรคที่เหลือสิ้นสภาพไปด้วย และจะต้องมีการเลือกตั้งกรรมการพรรคใหม่ภายใน 45 วัน
จากปรากฏการณ์ทางการเมืองในพรรคพลังประชารัฐในครั้งนี้ ส่อเค้าลางทางการเมืองที่จะเกิดขึ้นตามมาดังต่อไปนี้
1. ถ้ากรรมการพรรคซึ่งมีการเลือกตั้งเข้ามาใหม่ มีกลุ่มที่สนับสนุน ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ได้รับเลือกเข้ามา หรือได้รับเลือกเข้ามาน้อย และกลุ่มที่หนุน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้รับเลือกเข้ามาเป็นเสียงข้างมาก การปรับ ครม.จะต้องเกิดขึ้น และฝ่ายที่หนุนพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จะต้องได้ตำแหน่งรัฐมนตรีเพิ่มขึ้น และต้องเป็นตำแหน่งสำคัญๆ เช่น รมว.คลัง และรมว.พลังงาน เป็นต้น
2. ถ้าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ยอมปรับ ครม.โดยให้กลุ่มซึ่งมีสถานะเป็นกรรมการพรรคชุดใหม่ มีตำแหน่งใน ครม.ตามที่กลุ่มนี้ต้องการ ก็จะมีการกดดันทางสภาฯ ในฐานะทำให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรีทำงานลำบาก และอาจถึงทางตันยุบสภาฯ เพื่อแก้ปัญหาทางการเมืองก็เป็นได้
3. ถ้าการยุบสภาฯ โดยที่ยังไม่มีการแก้รัฐธรรมนูญ และ ส.ว. 250 คนยังอยู่ครบ โอกาสที่พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ จะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตามครรลองประชาธิปไตยแบบไทยๆ เป็นไปได้ไม่ยาก
จากเหตุ 3 ประการข้างต้น ทำให้มองเห็นการเมืองไทยในอนาคตว่าคงจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้นกว่าที่ผ่านมาแน่นอน
แต่ถ้ามีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะที่มาและอำนาจหน้าที่ของ ส.ว.รวมไปถึงการคำนวณจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อให้สอดคล้องกับความเป็นประชาธิปไตย ยึดความเป็นธรรมแก่พรรคการเมือง และประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก ไม่จำเป็นต้องยึดรูปแบบของประเทศตะวันตก ประเทศใดประเทศหนึ่งเป็นแม่แบบ แต่ให้ยึดวัฒนธรรมประเพณี และหลักปกครองตามนัยแห่งคำสอนของพระพุทธศาสนา ที่ว่าด้วยธรรมาธิปไตยซึ่งเป็นประชาธิปไตยมากกว่าการปกครองของประเทศตะวันตก จะเห็นได้จากการทำสังฆกรรมซึ่งภิกษุทุกรูปที่อยู่ในเขตกำหนดหรือสีมาเดียวกันจะต้องเข้าร่วม และมติของที่ประชุมจะต้องมีการเห็นด้วย 100 เปอร์เซ็นต์ หากรูปใดรูปหนึ่งคัดค้าน สังฆกรรมที่กระทำนั้นไม่เป็นอันกระทำหรือเป็นโมฆะ ตัวอย่างเช่นการให้อุปสมบท และการรับผ้ากฐิน เป็นต้น
เมื่อมีการแก้รัฐธรรมนูญแล้ว ค่อยเลือกตั้งใหม่ ประเทศไทยก็จะก้าวไปในทิศทางที่ดีขึ้น ทั้งในแง่เศรษฐกิจ สังคม และการเมืองเข้าสู่ยุคชาววิไลที่หลายๆ คนอยากเห็นแน่นอน