xs
xsm
sm
md
lg

หรือต้องรอให้ไฟไหม้บ้าน! “ท่านใหม่” จวกยับ “อนาคตใหม่” รณรงค์เลิกเกณฑ์ทหารใน ร.ร.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“อนาคตใหม่” โดนหนัก รณรงค์เลิกเกณฑ์ทหารในโรงเรียน “ท่านใหม่” จวกยับ “ทำอะไรให้อยู่ในขอบเขต” ติงกระทรวงศึกษาฯ (รัฐบาล) ทหาร ตำรวจ หน่วยความมั่นคง “หรือต้องรอให้ไฟไหม้บ้านก่อน”

น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (4 ธ.ค. 62) เฟซบุ๊ก “จุลเจิม ยุคล” ของหม่อมเจ้าจุลเจิม ยุคล (ท่านชายใหม่) โพสต์หัวข้อ “ทำอะไรให้อยู่ในขอบเขตด้วยครับ”

โดยระบุว่า “สิ่งที่น่ากลัวที่พรรคอนาคตใหม่ทำกันในตอนนี้ ... ทำไมกระทรวงศึกษาธิการ (รัฐบาล) ทหาร ตำรวจ หน่วยความมั่นคง ถึงเพิกเฉยกันครับ หรือต้องรอให้ไฟไหม้บ้านก่อน ใช่ไหมครับ?”

ทั้งนี้ อ้างถึงเฟซบุ๊ก Drama Fight – ศึกวันดราม่า (รู้ทันอนาคตใหม่!) โพสต์ เอาไว้วานี้ (3 ธ.ค. 62) หัวข้อ
“#เรื่องสำคัญอยากให้ช่วยแชร์” ระบุว่า จดหมายเปิดผนึกถึง ส.ส.พรรคอนาคตใหม่

“การที่พรรคอนาคตใหม่มีแนวคิดเรื่องยกเลิกการเกณฑ์ทหาร และเดินสายรณรงค์ก็เป็นสิทธิที่จะทำได้


แต่การที่บุกเข้าไปถึงใน ร.ร. และใช้พื้นที่ใน ร.ร. เพื่อแสดงความคิดและชักชวนในเรื่องนี้ไม่เหมาะสมเป็นอย่างมาก

ถึงแม้คุณจะประสานงานครูหรือ ร.ร.ก็แล้วแต่ แต่การให้เด็กมานั่งฟังข้อมูลด้านเดียวถึงใน ร.ร.เขา ซึ่งมันควรปลอดการเมือง จะสร้างความแตกแยกให้สังคมร้าวมากขึ้น

ถ้าคุณจัดในที่สาธารณะเราจะไม่ว่าเลย ทำอะไรอยากให้อยู่ในขอบเขตด้วยครับ

ฝากนักข่าวด้วยครับ”


สำหรับนโยบายยกเลิกเกณฑ์ทหารของพรรคอนาคตใหม่ โดยสรุปจากเฟซบุ๊กของพรรคระบุว่า จะยกเลิกระบบเกณฑ์ทหาร เปลี่ยนมาใช้ระบบอาสาสมัคร ยกเว้นในภาวะสงคราม

โดยมีสัญญาจ้าง 5 ปี เพื่อจะได้ฝึกเป็นทหารอาชีพ ได้ค่าตอบแทนสูงและสวัสดิการที่เป็นธรรม เช่น มีทุนการศึกษา ปลดออกไปแล้วมีเงินทุนสำหรับการประกอบอาชีพ นอกจากนี้ยังมีเส้นทางอาชีพที่ชัดเจน และได้รับการปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชน

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 2 ธ.ค.ที่ผ่านมา ทางกองทัพได้ออกมาโต้แย้งนโยบายนี้แล้ว โดย พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า การเสนอแนวคิดการยกเลิกเกณฑ์ทหาร และสรรหากำลังพล ด้วยความสมัครใจ ไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นแนวทางการปฏิรูประบบงานกำลังพลระยะยาวที่กลาโหมมีอยู่เดิม โดยมีแผนงานต่อเนื่องในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งดำเนินการควบคู่กับการพัฒนาระบบกำลังสำรองและการฝึกวิชาทหาร การดำเนินงานตาม พ.ร.บ.รับราชการทหาร พ.ศ. 2497 ได้มีการปรับปรุงให้ทันสมัยต่อเนื่องมา ทำให้กองทัพสามารถบริหารจัดการระบบการเข้าประจำการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ด้านความมั่นคง โดยใช้การผสมผสานระหว่างระบบการเกณฑ์และระบบสมัครใจควบคู่กันไป

ที่ผ่านมาจากสถิติผู้สมัครใจเข้าเป็นทหารยังคงมีจำนวนไม่เพียงพอต่อความต้องการของกองทัพในแต่ละปี เช่นเดียวกับหลายประเทศที่เคยยกเลิกการเกณฑ์ทหาร กำลังเตรียมผลักดันให้กลับมามีการเกณฑ์ทหารเช่นเดิม โดยเฉพาะประเทศในยุโรป เนื่องจากยังไม่สามารถสร้างแรงจูงใจเยาวชนให้เข้าเป็นทหารได้มากเท่าที่จำเป็น และมองว่าเป็นโอกาสที่คนหนุ่มสาวจะได้ทำประโยชน์คืนแก่ประเทศ และสังคม และเชื่อว่าเป็นความภาคภูมิใจของทุกคน

ในภาพรวมจึงเร็วเกินไปที่จะปรับเปลี่ยนมาใช้ระบบดังกล่าว โดยจำเป็นต้องศึกษาถึงผลกระทบด้านความมั่นคงและประเด็นปัญหาต่างๆ อย่างรอบด้าน เช่น การขาดแคลนกำลังพลสำรอง อาจเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งเป็นกำลังทางยุทธศาสตร์ของระบบเตรียมความพร้อมของประเทศยามวิกฤติ การเพิ่มค่าตอบแทนและสวัสดิการพลทหาร เป็นเรื่องดี แต่อาจเป็นปัญหาภาระงบประมาณของประเทศระยะยาว ซึ่งอาจมีผลเชื่อมโยงต่อการปรับขยายฐานเงินเดือนและสวัสดิการของข้าราชการระดับต่างๆ ทั้งประเทศในอนาคต

ภาพจากแฟ้ม
การเปลี่ยนแปลงเวลารับราชการซึ่งจะมีผลให้พลทหารมีอายุมากขึ้น และมีช่วงอายุห่างกันมาก (21-40 ปี) อาจเป็นปัญหาต่อขีดความสามารถของกำลังพลโดยรวม และโอกาสทางอาชีพหลังปลดประจำการ โดยเฉพาะการเรียกเกณฑ์ ในเวลาที่จำกัดยามที่อาจเกิดสงคราม จะมีผลอย่างมากต่อระบบความพร้อมรบของประเทศในภาพรวม อีกทั้งการกำหนดบทนิรโทษกรรม จะกระทบต่อหลักนิติธรรม ความเท่าเทียมกันและเป็นช่องทางของการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย และที่สำคัญต้องไม่ขัดกันในข้อกฎหมาย เรื่องสิทธิและหน้าที่

นอกจากนี้ กองทัพยังมีความกังวลอยู่บ้าง ต่อการนำเรื่องความมั่นคงไปใช้ประโยชน์ทางการเมือง ผ่านกิจกรรมต่างๆ ด้วยข้อมูลที่ไม่ถูกต้องและครบถ้วน ซึ่งอาจสร้างความสับสน และความเข้าใจผิดกับสังคมได้ อย่างไรก็ตาม ก็เชื่อว่าการทำงานการเมืองแบบใหม่ที่ผ่านบทเรียนร่วมกันโดยปราศจากอคติ มองผลประโยชน์ส่วนรวมและประเทศชาติเป็นเป้าหมายร่วมกัน ผ่านกลไกในวิถีประชาธิปไตย จะทำให้เราสามารถหาทางออกที่สมประโยชน์ร่วมกันได้ในทุกเรื่อง

ต่อมา 3 ธ.ค. 62 “เสธ.โหน่ง” พล.ท.พงศกร รอดชมภู ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ก็ได้ออกมาโพสต์เฟซบุ๊กชี้แจง ระบุว่า

1. ที่ว่าไทยยังไม่พร้อม ก็คงไม่ต่างจากระบอบประชาธิปไตยแบบสากลที่โดนตอนให้เป็นประชาธิปไตยแบบไทยๆ การทหารก็ทำนองเดียวกัน 2. ที่ว่ายกเลิกเกณฑ์ทหาร ก็ไม่ใช่เพราะยังมีเกณฑ์ทหารอยู่โดยแก้ไขสาระสำคัญของ พ.ร.บ.เดิมเพียง 2 ประเด็นเท่านั้นคือลดอายุจาก 21 เป็น 18 ปี และลดเวลาการเกณฑ์ลงเหลือ 1 ปี เมื่อ ครม.มีข้อมูลว่าใกล้จะเกิดสงคราม 3. ที่ว่าไม่ใช่เรื่องใหม่ คำตอบคือใช่ เราคงจำยุคของ พลเอกชวลิต ยงใจยุทธกันได้ ผมยศประมาณพันตรี มีคำว่าจิ๋วแต่แจ๋ว และมีการทดลองรับสมัครอยู่ระยะหนึ่งในบางหน่วย มีข้อสรุปว่าได้ผลดี ผมพยายามถามหาข้อสรุปรายงาน เพื่อนทหารบอกว่านานแล้ว หายไปหมดแล้ว 4. หลายประเทศในยุโรปจะกลับมาเกณฑ์ใหม่ คำตอบคือใช่ แต่ไม่ใช่อย่างที่คิด กลับสอดคล้องกับร่าง พ.ร.บ.ที่เสนอมากกว่า ตอนนี้ไม่ทราบว่าประเทศในยุโรปไหน แต่ขอเริ่มที่สวีเดนเกณฑ์ 4,000 คนจาก 1 แสนคน เยอรมนีเสนอว่าจะเกณฑ์ ทั้งนี้ เกิดจากท่าทีว่ายุโรปอาจจะเกิดสงครามกับรัสเซีย เพราะนอกจากผนวกไครเมียแล้วยังมีท่าทีจะผนวกยูเครนเพิ่ม

ดังนั้นจะเห็นว่าการจะเกิดสงครามนั้นมีสิ่งบอกเหตุ แต่ประเทศยุโรปอื่นเช่นฝรั่งเศส ยังไม่มีทีท่าอะไร แต่คิดจะเกณฑ์เยาวชนมาฝึกอาวุธ 2 สัปดาห์และทำสาธารณประโยชน์โดยมอบให้ท้องถิ่นดูแลอีก 2 สัปดาห์ แต่งกายชุดทหารเรือ เช่นเดียวกับอิตาลีที่จะให้บำเพ็ญสาธารณประโยชน์เพราะข้อเสนอเกณฑ์ทหารไม่ผ่านสภา เรื่องนี้ยืนยันว่าการยกเลิกเกณฑ์ทหารไปเลยจะมีความยากลำบากในการจะเสนอกฎหมายใหม่ การเปิดให้ ครม.ออก พ.ร.ฎ. เกณฑ์ทหารได้เมื่อใกล้เกิดสงครามเหมือนสวีเดนหรือเยอรมนีจะรอบคอบกว่า

5. ไทยอาจเรียกเกณฑ์ไม่ทันเวลา คำตอบในข้อ 4 ชัดเจนอยู่แล้ว 6. เร็วเกินไปสำหรับไทย คำตอบในข้อ 3 หมายถึง 30 ปีมาแล้วที่ค่อยเป็นค่อยไป ความจริงเป็นอย่างไรคงพอเห็นได้ 7. ที่ว่าจะขาดแคลนกำลังพลสำรอง คำตอบคือ ทหารที่อาสาสมัครเข้ามาหลังปลดแล้วจะเป็นกองหนุนประเภทที่ 1 ที่มีความชำนาญสูง สมมติว่ามีใช้งานได้จริงปีละ 15,000 คน 10 ปี ที่กำลังสำรองเดิมเปลี่ยนประเภทไป ก็จะทดแทนได้ 150,000 คน รวมกับกำลังพลทหารหลัก 5 ปี ก็น่าจะมีกำลังพลทหาร ประมาณ 3 แสนคน ไม่รวมกำลังประจำการอื่น ก็จะเท่าๆ กับกำลังในปัจจุบันนั่นเอง เหตุผลนี้เกิดจากการประจำการ 5 ปีนั่นเอง อีกประการหนึ่งคือ ยังคงกำลังหลักและกำลังสำรองไว้ที่ประมาณ 5 แสนนายเช่นเดิม

8. การรับสมัครอายุ 18 ถึง 40 ปี ช่วงอายุต่างกันมากจะทำงานไม่ได้ คำตอบคือ การรับสมัครจะต้องผ่านการทดสอบทางร่างกายและวิชาการ นักวิ่งมาราธอนบางคนอายุ 40 ปีก็ยังทำได้ดีกว่าคนอายุน้อยกว่า อย่างไรก็ตาม ต้องได้มาตรฐานเดียวกัน แต่การเปิดช่วงอายุไว้กว้างก็เพื่อให้เป็นโอกาสสำหรับผู้สนใจ ซึ่งจะทำให้มีการสมัครหรือสมัครซ้ำได้อย่างเสรีจำนวนมาก ไม่จำกัดอายุ และเปิดโอกาสในเรื่องการศึกษาและอาชีพ 9. กระทบการฝึกอาชีพ คำตอบคือ แบบเดิมที่ฝึกอาชีพ 3 เดือนเรียน กศน. กับโอกาสทุนการศึกษาตลอด 5 ปี อาจฝึกได้ทั้งทักษะอาชีพ ปริญญาตรี ปริญญาโท หรือมากกว่าอย่างใดอย่างหนึ่งที่มีโอกาส อย่างหลังน่าจะเปิดกว้างกว่า

10. การนิรโทษกรรม ผิดหลักนิติธรรม ไม่เท่าเทียม ไม่ทำตามกฎหมาย ขัดกับหน้าที่คนไทย คำตอบคือ หลักเดิมคือการบังคับแรงงานเมื่อใครหนีต้องมีโทษ แต่เมื่อหลักเปลี่ยนเป็นสมัครใจแนวทางการลงโทษก็ต้องเปลี่ยน คนที่เคยหนีไปอาจกลับมาสมัครก็ยังได้ เมื่อเดิมมีผู้ถูกเกณฑ์กับผู้เรียน รด. ก็ไม่เท่าเทียมกันแต่แรก การรับสมัครจะสร้างความเท่าเทียมกันทันที การที่จะมีผู้หนีทหารนั้นหากกฎหมายประกาศแล้วการเกณฑ์ในช่วงนั้นยังคงมีอยู่และยังบังคับตามกฎหมายเดิม หากหนีทหารจะไม่ได้รับการยกเว้น ส่วนหน้าที่คนไทยนั้นยังคงอยู่เพราะยังเกณฑ์ได้เมื่อใกล้เกิดสงครามดังที่เห็นได้ในยุโรปเป็นตัวอย่าง 11. กรณีไม่ให้เอาความมั่นคงมาเป็นการเมืองนั้น คำตอบคือ น่าจะหมายถึงคณะทหารที่นิยมการยึดอำนาจซึ่งอ้างความมั่นคงโดยไม่เคารพต่อประชาชนมากกว่า 12. การใช้เหตุผล เรียนรู้ร่วมกัน ปราศจากอคติ เรื่องนี้เห็นด้วย และหากอ่านหรือศึกษาเหตุผลในเรื่องการสมัครเข้ารับราชการทหารในประเทศอื่นโดยปราศจากอคติ ใช้เหตุผล และเห็นแก่ความเข้มแข็งของกองทัพ และความมั่นคงของประเทศชาติ บ้านเมือง ร่วมกัน

การปฏิรูปการเข้ารับราชการของทหารกองประจำการ เป็นเรื่องที่มุ่งสร้างกองทัพที่เป็นมืออาชีพ มีขีดความสามารถสูง และมีขวัญ กำลังใจสูง สร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในเรื่องการป้องกันอธิปไตย ครับ

ที่สำคัญ เรื่องยกเลิกเกณฑ์ทหาร พรรคอนาคตใหม่กำลังรณรงค์กับสังคมอย่างเต็มที่ ไม่แต่เฉพาะในสังคมออนไลน์เท่านั้น หากแต่สังคมภายนอกก็กำลังขับเคลื่อนอย่างเต็มกำลัง เพราะหวังว่าจะโดนใจคนไทย ที่ไม่อยากเกณฑ์ทหาร

แต่ก็อย่างที่ “ท่านใหม่” เตือนพร้อมติติงเอาไว้ ทำอะไรก็ให้มีขอบเขต คิดถึงผลดีผลเสียให้รอบด้าน มีวุฒิภาวะในการเล่นการเมือง เพราะไม่อย่างนั้น ความน่าเชื่อถือในทางสังคมก็จะลดลง จนเหลือเพียง ไม่อยาก “คบเด็กสร้างบ้าน”


กำลังโหลดความคิดเห็น