xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ปชป.ลอกโมเดล พปชร. สร้างแรงกระเพื่อม ต่อรองปรับ ครม.

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สมการการเมือง

ส่อเค้าเป็น “โมเดล”เดียวกับพรรคพลังประชารัฐ ที่เพิ่งปล่อยแผนล้ม อุตตม สาวนายน รมว.คลัง และสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน สายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนากยกรัฐมนตรี ออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค และเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ
สำหรับความเคลื่อนไหวล่าสุดของพรรคประชาธิปัตย์ หลังปล่อยข่าวล่ารายชื่อถอดถอน"จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์" รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค

คล้ายกับพรรคประชารัฐ ทั้งเหตุผลคือเรื่องการบริหารพรรคงานภายในพรรคประชาธิปัตย์ และคล้ายไปจนถึงเจตนาแฝงในการเคลื่อนไหวอย่างเรื่องการปรับคณะรัฐมนตรี

การบริหารงานของจุรินทร์ เป็นเศษเสี้ยวในการล่ารายชื่อเพื่อเปลี่ยนแปลงหัวหน้าพรรค เหมือนกับการบริหารงานของ อุตตมและสนธิรัตน์ ที่นำไปอ้างในการโค่นล้ม แต่แท้จริงเกี่ยวพันกับเรื่องตำแหน่งในคณะรัฐมนตรี

ปฏิเสธไม่ได้ว่า สำหรับจุรินทร์ ในพรรคประชาธิปัตย์ถูกนินทาว่า มีข้อบกพร่องเรื่องการดูแลส.ส. เช่นเดียวกับ อุตตมและสนธิรัตน์ แต่ปัญหาภายในพรรคเป็นเพียงข้ออ้าง หรือบันไดขั้นหนึ่งสำหรับการต่อสู้เพื่อไปสู่เก้าอี้รัฐมนตรีของส.ส.ฝ่ายตรงข้าม

กลุ่มที่เคลื่อนไหวในพรรคประชาธิปัตย์เพื่อถอด จุรินทร์ เป็นกลุ่มเดียวกับ“ก๊วนเด็กดื้อ”ซึ่งคอยขัดแข้งขัดขางานของรัฐบาล ทั้งที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกัน นำโดย สาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง อันวาร์ สาและ ส.ส.ปัตตานี พนิต วิกิตเศรษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และ เทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช

เป็นกลุ่มที่เดินสวนแนวทางกับพรรคมาตลอด แม้แต่ล่าสุดที่มีการออกมาแถลงเรียกร้องให้มีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญติดตามการใช้งบประมาณตามพระราชกำหนดกู้เงิน 1 ล้านล้านบาท

เป็นกลุ่มเดียวกับที่ทำให้ “บิ๊กตู่”พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ต้องนัดรับประทานอาหารกับแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล ที่สโมสรราชพฤกษ์ เมื่อปลายปีที่แล้ว

และส.ส.ที่เป็นสาย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ประกาศไม่เอาพล.อ.ประยุทธ์ จนฉุดให้จำนวนส.ส.ของพรรคเหลือแค่ 50 คน ในการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562

ขณะที่ "อันวาร์" รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์คือ คนที่ทำจดหมายเปิดผนึกถึงจุรินทร์ เพื่อขอให้เรียกประชุมใหญ่พรรค เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งภายใน แต่ไม่ได้รับการตอบสนอง

เหตุผลของส.ส.กลุ่มนี้ ที่ต้องการถอดจุรินทร์ ออกจากหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คือ การรวบศูนย์อำนาจไว้ที่พรรคพวกตัวเอง และปล่อยทิ้ง ส.ส.กลุ่มอื่น

การรวมศูนย์อำนาจที่ว่า หมายถึงการจัดสรรเก้าอี้รัฐมนตรีภายในพรรคประชาธิปัตย์ ที่กระจุกอยู่แต่กับคนที่มีสายสัมพันธ์อันดีกับหัวหน้าพรรคคนปัจจุบัน ขณะที่กลุ่มดังกล่าวถูกหมางเมิน

การออกมาล่ารายชื่อไล่จุรินทร์ ในช่วงที่มีกระแสข่าวลือปรับคณะรัฐมนตรีหนาหู จึงเชื่อมโยงกันอย่างปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นการต่อรองเพื่อให้มีการจัดสรรโควตารัฐมนตรีภายในพรรคประชาธิปัตย์กันใหม่ ไม่ให้กระจุกอยู่แค่กลุ่มหัวหน้าพรรค แต่กระจายไปยังกลุ่มอื่นๆ ซึ่งก็เหลือแต่เพียงอดีตคนสนิทของอภิสิทธิ์ เท่านั้นที่ยังไม่ได้เป็นเสนาบดี

อีกนัยหนึ่งยังเป็นการเคลื่อนเพื่อให้ผู้มีอำนาจในการปรับคณะรัฐมนตรีเห็นว่า อาการเด็กดื้อของส.ส.กลุ่มนี้ในช่วงที่ผ่านมา มีเจตนาอะไร และทำไมปัญหาภายในพรรคประชาธิปัตย์ยังแก้ไม่ได้สักที

ซึ่งหากมีการจัดสรรเก้าอี้ให้รัฐมนตรีกลุ่มนี้ ปัญหาต่างๆ ก็อาจเบาบางลงไป โดยเฉพาะเรื่องการขัดแข้งขัดขากันเองของรัฐบาลในสภาผู้แทนราษฎร

แต่อย่างไรก็ดี การโค่นจุรินทร์ให้สำเร็จเหมือนกับที่ ส.ส.บางกลุ่มในพรรคพลังประชารัฐทำกับอุตตมและสนธิรัตน์ คงค่อนข้างยากกว่า เพราะพรรคพลังประชารัฐนั้น ทราบกันดีว่า ผู้มีอำนาจสูงสุดในพรรคคือ “บิ๊กป้อม”พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และประธานยุทธศาสตร์พรรค การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ เพราะผู้ใหญ่เห็นพ้องต้องกัน

ขณะที่วันนี้ผู้มีอำนาจสูงสุดในค่ายพระแม่ธรณีบีบมวยผมอย่าง ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ยังให้การสนับสนุนจุรินทร์อยู่ ต่อให้มีการระดม ส.ส. สร้างแรงกระเพื่อมเท่าไหร่ หากผู้มากบารมีไม่เห็นควร มันแทบเป็นไปไม่ได้

ย้อนกลับไปเมื่อครั้ง ส.ส.บางก๊กในพรรคพยายามโค่นอภิสิทธิ์ลงจากหัวหน้าพรรค ด้วยการท้าชิงตำแหน่ง ไม่ว่าจะเป็น "นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม" อดีต ส.ส.พิษณุโลก หรือ "พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค" อดีต รมว.ยุติธรรม แต่สุดท้ายเมื่อ “นายหัว”ไม่เอาด้วย ก็ต้องพังพาบ จนต้องลาออกจากพรรค

หากวันนั้น"อภิสิทธิ์" ไม่ได้พาแพ้เลือกตั้ง และไม่ได้เป็นการแพ้เลือกตั้ง 2-3 ครั้งติดๆ กัน วันนี้ก็ไม่รู้ว่า จะมีส.ส.กลุ่มไหน จะสามารถโค่นได้

ส่วน“จุรินทร์”เป็นคนที่ “นายหัว”ไฟเขียวให้นั่งขัดตาทัพ ดังนั้นการจะมาโค่นลงย่อมกระทำได้ยากยิ่ง

อย่างไรก็ตาม ส.ส.กลุ่มนี้ไม่ได้มุ่งหวังจะทวงคืนอำนาจกลับไปให้อภิสิทธิ์ในทันที เพราะรู้ว่า จุรินทร์เป็นเพียงแม่ทัพขัดตาทัพเท่านั้น หากแต่ต้องการเขย่าเพื่อให้เกิดการเขยื้อนในฝ่ายของผู้บริหารในพรรค

ประหนึ่งว่า ตราบใดที่ยังไม่มีการจัดสรรแบบฝนตกทั่วฟ้า ตราบนั้นการทำงานในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์กับรัฐบาล จะเป็นในลักษณะนี้ตลอด คือ คอยตอดแข้งตอดขา จนทำให้ดูขาดเอกภาพ

ดังนั้น โมเดลรุมถล่มหัวหน้าพรรคที่เกิดขึ้นกับพรรคพลังประชารัฐและพรรคประชาธิปัตย์ในช่วงนี้จึงไม่ต่างกัน

ที่สำคัญ กลุ่มที่เคลื่อนไหวให้เปลี่ยนแปลงหัวหน้าพรรคของทั้งพรรคพลังประชารัฐ และพรรคประชาธิปัตย์ ยังมีสายสัมพันธ์ที่ต่อติดกันด้วย โดยเฉพาะพวกเด็กเก่าพรรคสีฟ้า ที่วันนี้ย้ายค่ายมาอยู่กับพรรคพลังประชารัฐ ที่ก็แอบเชียร์ ส.ส.กลุ่มนี้ให้ได้มีตำแหน่งแห่งหนด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น