ประชุมสภาฯ ถกตั้ง กมธ.สอบงบโควิด ปชป.ปูดชงโครงการถลุงเงินกู้แล้ว 7 แสนล้าน ชี้เป้าสอบโจรในคราบนักการเมืองรุม 6 โครงการ จี้ขยายเวลาเสนอโครงการ 45 วัน หลังกรอบเวลากระชั้น ได้แต่ของเก่าปัดฝุ่น เปิดช่องเอกชน-ประชาสังคม-ปชช.
วันนี้ (11 มิ.ย.) เมื่อเวลา 09.30 น. ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาญัตติด่วนการพิจารณาตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญติดตามตรวจสอบการใช้จ่ายเงินตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังเพื่อแก้ปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากเชื้อโควิด-19
นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า งบฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม วงเงิน 4 แสนล้านบาทนั้น หลังจากสภาให้ความเห็นชอบ พ.ร.ก.กู้เงินไป 1 สัปดาห์ เพียงแค่วันที่ 9 มิ.ย.มีการเสนอโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจมาแล้วกว่า 38,000 โครงการ เป็นเงิน 783,000 ล้านบาท เกินวงเงิน 400,000 ล้านบาท เกือบเท่าตัว ประกอบด้วย แผนงานที่ 1 การพลิกฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เสนอมา 164 โครงการ เป็นเงิน 283,000 ล้านบาท แผนงานที่ การฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากและชุมชน เสนอมา 1,345 โครงการ เป็นเงิน 400,000 ล้านบาท แผนงานที่ 3 การส่งเสริมการบริโภคและกระตุ้นภาคครัวเรือนและเอกชน ยังไม่มีการเสนอโครงการมา แผนงานที่ 4 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เสนอมา 292 โครงการ เป็นเงิน 82,000 ล้านบาท แผนงานที่เสนอมามีทุกรูปแบบ แม้แต่ขอซื้อโทรทัศน์ 30,000 กว่าบาทก็มี บางโครงการขอเงินทำป้ายและปรับภูมิทัศน์ที่ชัดเจนว่าอาจมีการตกลงกันระหว่างจังหวัดกับผู้รับเหมา ถือเป็นการสร้างงานให้ผู้รับเหมา สร้างรายได้ให้ผู้มีอิทธิพลประจำท้องถิ่น ไม่ใช่เพื่อการจ้างงานตามวัตถุประสงค์การกู้เงิน
นายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า หลายโครงการที่เสนอมาในการใช้เงินกู้ครั้งนี้ไม่ได้ตั้งฐานคิดในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ แต่เป็นโครงการปกติที่เอาพิมพ์คำว่าโควิด-19 เข้าไป กลัวว่างบฟื้นฟูเศรษฐกิจ 4 แสนล้านบาทจะตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ สงสัยว่าคณะกรรมการกลั่นกรองโครงการจะกลั่นกรองโครงการที่ถูกเสนอมา 30,000 กว่าโครงการ มูลค่ากว่า 7 แสนล้านบาทอย่างไร จะเลือกให้โครงการใดอกหักหรือสมหวัง เช่น โครงการที่เสนอโดยกระทรวงกลาโหม กับโครงการของท้องถิ่นทั่วไป จะเลือกโครงการใดก่อน หรือโครงการที่เป็นลูกรักของนายกฯ ที่เสนอโดยคณะกรรมการอีอีซี อาทิ โครงการไทยเที่ยวไทยไปอีอีซี จัดให้เด็กไปทัศนศึกษาสวนนงนุช พัทยา ไปเล่นน้ำที่สวนน้ำการ์ตูนเน็ตเวิร์ก วงเงิน 265 ล้านบาท หรือการแข่งขันฟุตบอลการกุศลนัดพิเศษอีอีซี 4 เส้า ระหว่างชลบุรีเอฟซี ระยองเอฟซี ฉะเชิงเทราเอฟซี และบุรีรัมย์ยูไนเต็ด วงเงิน 50 ล้านบาท โครงการเหล่านี้คณะกรรมการกลั่นกรองกล้าตัดหรือไม่ ใครจะทำหน้าที่ตรวจสอบคณะกรรมการกลั่นกรอง นั่นคือเหตุผลที่ต้องมี กมธ.วิสามัญฯ เพื่อเป็นกลไกตรวจสอบการใช้งบประมาณ ไม่ใช่แค่เสือกระดาษ จึงจะช่วยป้องกันการทุจริตได้
นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า อยากให้ตรวจสอบงบประมาณการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 วงเงิน 550,000 ล้านบาท ที่ล่าสุดมีจำนวนผู้ได้รับผลกระทบเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไปถึง 48 ล้านคน ดูแล้วคลางแคลงใจ ขอให้ กมธ.ไปตรวจสอบตัวเลข 48 ล้านคนว่าเป็นบัญชีมีตัวตนจริงหรือไม่ หรือมีบัญชีผี ไม่มีตัวตนอยู่เท่าไหร่ ถ้ามีแค่ 1 ล้านบัญชี จ่ายเงิน 3 เดือน ก็มีเงินรั่วถึง 15,000 ล้านบาท เงินเหล่านี้จะไปอยู่ในกระเป๋าใคร หรือเป็นทุนเลือกตั้งให้พรรคใด นอกจากนี้ ขอชี้เป้าให้ไปตรวจสอบการใช้งบประมาณในอีก 6 โครงการที่มักมีโจรในเครื่องแบบ โจรในคราบนักการเมือง ได้แก่ 1. โครงการติดตั้งกล้องซีซีทีวี 2. โครงการขุดลอกคูคลอง 3. โครงการติดตั้งเสาไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ 4. โครงการทำซุ้มประตูทางเข้าชุมชน 5. โครงการปรับภูมิทัศน์ 6. โครงการต่างๆ ที่มีวงเงินไม่เกิน 5 แสนบาท หรือการซอยโครงการเพื่อเลี่ยงการจัดซื้อจัดจ้าง โครงการเหล่านี้มีเงินทอนมาก ขอให้ตรวจสอบให้ดี
น.ส.พิมพ์รพี พันธุ์วิชาติกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า แม้ตั้งกรรมาธิการฯแล้วก็ไม่สามารถไปแก้ไขได้ที่อยากให้รัฐบาลทบทวนเพื่อปรับปรุงกระบวนการพิจารณาโครงการใหม่ ด้วยการขยายเวลาจากแผนเดิมที่กำหนดให้ทุกจังหวัดส่งโครงการภายในวันที่ 5 มิ.ย.และจะมีการกลั่นกรองส่ง ครม.พิจารณาในวันที่ 7 ก.ค.ซึ่งเป็นกระบวนการที่สั้นมาก เพราะสภาพัฒน์เพิ่งมีหนังสือถึงผู้ว่าฯ ในวันที่ 29 พ.ค. เท่ากับท้องถิ่นมีเวลาทำโครงการเพียงแค่สัปดาห์เดียว ทำให้เกิดการปัดฝุ่นโครงการเก่าเข้ารับเงินใหม่จากเงินกู้ก้อนนี้ จึงอยากให้มีการขยายเวลาการเสนอแผนพลิกฟื้นประเทศไทยไปอีก 45 วัน และเพิ่มช่องทางให้นักวิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาชนร่วมเสนอโครงการได้ด้วย แทนที่จะเดินหน้าด้วยโครงการของราชการเพียงอย่างเดียว
“ความสำคัญของเงินกู้ 4 แสนล้านบาท หากเทียบกับงบประมาณแผ่นดิน 3 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นงบลงทุน 6 แสนล้านบาท เท่ากับเงิน 4 แสนล้านบาทคือร้อยละ 67 ของงบลงทุน จึงต้องใช้อย่างมีประสิทธิภาพ แม่นยำในการแก้ปัญหา สภาพในขณะนี้จึงเหมือนกับการทำงบสองปีซ้อนกัน เขียนโครงการภายใน 7 วัน รวบรวมกลั่นกรอง 17 วัน พิจารณาโครงการ 15 วัน เพื่อให้ ครม.เห็นชอบรวม 39 วันในการอนุมัตใช้เงิน4แสนล้านบาท ในขณะที่ยุทธศาสตร์จังหวัดมีงบเพียง 100 ล้านยังต้องใช้เวลาเขียนร่วมกันนานถึง 6 เดือน ดิฉันเข้าใจดีว่าการเร่งเทเงิน 4 แสนล้านเพราะต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจและเพิ่มการจ้างงาน แต่สิ่งสำคัญกว่าการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจคือการมีชีวิตที่กินดีอยู่ดีของประชาชนอย่างยั่งยืนที่รัฐบาลต้องคำนึงถึงด้วย จึงขอให้ขยายเวลาเสนอโครงการออกไปอีก 45 วัน เปิดช่องให้เอกชนร่วมกับประชาสังคมเสนอแผนด้วยอีกทางหนึ่ง”