xs
xsm
sm
md
lg

โค่นอนุสาวรีย์อัปยศ- มั่งคั่งบนกองกระดูกทาส

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: อ.สุดาทิพย์ จารุจินดา อินทร



แรงส่งจากการ “ตื่นขึ้นมา” ของสังคมส่วนใหญ่อเมริกากำลังขยายวงไปถึงการปฏิรูปตำรวจทุกระดับ จนถึงการโค่นอนุสาวรีย์ของนักค้าทาส, ผบ.กองทัพฝ่ายใต้ที่ต่อสู้ไม่ให้เลิกทาส รวมทั้งอดีตกษัตริย์ของยุโรปที่ทำทารุณกรรมโหดเหี้ยมกับชาวอาณานิคมในแอฟริกา

แม้แต่ภาพยนตร์ยิ่งใหญ่อมตะนิรันดร์กาล เช่น Gone With the Wind ก็ถูกถอดออกจากรายการของ Netflix ที่อาจต้องหายไปกับสายลม, สมชื่อของหนัง-เพราะเป็นหนังที่มีทาสมากมายในเรื่อง

ไม่เพียงเปลี่ยนชื่อถนนเพนซิลเวเนีย, ข้างหน้าทำเนียบขาว เป็น BLM (Black Lives Matter) หรือคนดำก็มีความหมาย (เป็นคน, ไม่ใช่สัตว์ เช่นหมู, หมา, ไก่, กา, ม้า, วัว ที่เจ้าของทาสมีสิทธิเหนือชีวิตทาสแม้จะอยู่ในปี 2020 ก็ตาม)

ยิ่งขณะนี้การตื่นตัวในความเป็นมนุษย์ที่ต้องเท่าเทียมยิ่งขึ้นจากขบวนการ “Me Too” ทำให้คนส่วนใหญ่ทั้งสหรัฐฯ, ยุโรป และทวีปอื่นๆ ต่างเพิ่มความตระหนักเรื่องการดูถูกเหยียดหยามเอารัดเอาเปรียบผู้ที่อ่อนแอกว่า แต่มีสิทธิในความเป็นมนุษย์เช่นกัน

ที่เมืองบริสตอลของอังกฤษมีการโค่นอนุสาวรีย์ของพ่อค้าทาส ที่ได้สร้างความมั่งคั่งให้ตนเอง โดยเป็นผู้ลำเลียงทาสที่ไปกวาดต้อนทำทารุณกรรมกับคนอัฟกัน เพื่อขึ้นเรือนำทาสไปขายในทวีปอเมริกาตั้งแต่ช่วงต้น ค.ศ. 1600

เขามั่งคั่งบนกองกระดูกทาสเป็นจำนวนหมื่น ซึ่งมี Logbook แสดงบัญชีและชื่อ (ที่เขาตั้งให้) ของทาสที่ได้บังคับด้วยการทรมาน เพื่อนำไปขายที่นิคมของชาวยุโรปที่เพิ่งไปตั้งถิ่นฐานทางตอนตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐฯ; เรือลำแรกมีทาส 20 คนไปขึ้นท่าที่รัฐเวอร์จิเนีย ในปี 1619; และเพิ่งครบรอบ 400 ปีเมื่อปี 2019, ปีที่แล้วนี้เอง-ที่มีงานรำลึกใหญ่ที่สหรัฐฯ-โดยปธน.ทรัมป์ปฏิเสธที่จะไปร่วมเปิดงาน

ตลาดค้าทาสใหญ่จะอยู่ที่รัฐทางตอนใต้ของสหรัฐฯ แต่ก็ได้ขยายไปทางตอนเหนือที่ถนนวอลล์สตรีทด้วยในช่วงก่อนการทำสงครามต่อสู้กับเจ้าอาณานิคมอังกฤษ จนได้เอกราชในปี 1776 ด้วยซ้ำ และมีมหาวิทยาลัยดีเด่นของสหรัฐฯ หลายแห่งที่เป็นตลาดสำคัญกับของการประมูลซื้อขายทาส เช่น พรินซ์ตัน เป็นต้น

ที่อังกฤษผู้ร่วมประท้วงกับความอยุติธรรมของตำรวจอเมริกันอำมหิตที่ทรมานฆ่าคนดำที่บังคับขู่เข็ญจนคนดำตายอย่างอนาถ ได้มีชุมนุมหน้าสถานทูตอเมริกันในลอนดอน แต่ก็ได้ขยายไปถึงบริสตอล และไปถึงสกอตแลนด์ด้วย เพราะคนดำในอังกฤษก็เจอกับการดูถูกเหยียดผิวในชีวิตการทำงาน และชีวิตความเป็นอยู่ในสังคมเช่นกัน ขนาดสะใภ้หลวงชายาของเจ้าชายแฮร์รี ก็โดนเข้าอย่างจังจากสื่อฝ่ายขวาของอังกฤษ ถึงกับสะอื้นเมื่อได้คลอดพระโอรสออกมาแล้ว

นายกเทศมนตรีลอนดอน ซาดิค ข่าน ประกาศทบทวนรูปปั้น, อนุสาวรีย์ต่างๆ รวมทั้งชื่อถนนของมหานครลอนดอนที่เกี่ยวพันกับการค้าทาส พิจารณาจะถอดถอนออกให้หมดตามการเรียกร้องของประชาชน และเสียงส่วนใหญ่ของสภาเมือง

รูปปั้นของพ่อค้าทาส เอ็ดเวิร์ด โคลสตัน เศรษฐีผู้มั่งคั่งเจ้าของธุรกิจมากมาย (รวมทั้งชื่อถนนต่างๆ ในเมืองบริสตอล) ถูกทุบทิ้งดึงลงมาจากแท่นแบบที่เห็นในการทุบทำลายรูปปั้นจอมเผด็จการ Moussolimi ทันทีที่ฝ่ายอักษะเริ่มแพ้, หลังฝ่ายสัมพันธมิตรบุกขึ้นฝั่งที่หาด Normandy ฝรั่งเศส ปลายสงครามโลกครั้งที่ 2

ผู้ประท้วงซึ่งมีทั้งผิวขาวด้วย ได้ใช้เชือกมัดมือมัดเท้ารูปปั้นของนายเอ็ดเวิร์ด โคลสตัน เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งความโกรธแค้นที่เขาทำลายชีวิตคนแอฟริกันที่บีบคั้นจับมาเป็นทาส แล้วเข็นเตะรูปปั้นขึ้นไปตามถนนเพื่อไปโยนทิ้งทะเลที่ท่าเรือที่นายเอ็ดเวิร์ด ได้นำเรือออกไปซื้อขายทาสนั่นเอง!

ที่ลอนดอน นายกเทศมนตรีซาดิค ข่าน รีบออกคำสั่งให้รื้อถอนอพยพรูปปั้นของมหาเศรษฐีนักค้าทาสอังกฤษชื่อ Robert Milligan เพื่อเอาไปเก็บเข้ากรุในพิพิธภัณฑ์ ก่อนที่จะถูกประชาทัณฑ์โค่นทุบทำลายแบบที่เมืองบริสตอล (ตามมติของสภาเมือง) ท่ามกลางเสียงปรบมือกราวใหญ่

นายโรเบิร์ต มิลลิแกน เป็นเจ้าของทาส 526 คนที่จาเมกา ที่เขาเป็นเจ้าของไร่อ้อยมหึมาถึง 2 แห่ง และใช้ทาสเพื่อผลิตน้ำตาลนำไปขายที่ยุโรปเมื่อศตวรรษที่ 17 และเมื่อเขามั่งคั่งจากกิจการที่มีแต่ทาสทำงาน โดยถูกกดขี่แบบสัตว์ เขาก็บริจาคเงินมากมายให้แก่องค์การต่างๆ ในลอนดอน เพื่อชื่อเสียงวงศ์ตระกูลที่สืบต่อความมั่งคั่งถึงปัจจุบัน

สำหรับมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด มีทั้งนักศึกษาปัจจุบันและอดีต รวมทั้งเหล่าคณาจารย์ได้ออกมาร่วมชุมนุม BLM เป็นการผนึกกำลังกับการประท้วงที่สหรัฐฯ และทั่วโลก และได้กดดันให้รื้อถอนรูปปั้นของนายCecil Rhodes นักธุรกิจใหญ่ และนักการเมืองผู้ทรงอิทธิพลชาวอังกฤษ ที่มีบทบาทสำคัญต่อเมืองอาณานิคมของอังกฤษที่แอฟริกาใต้ (ระดับนายกฯของเมืองขึ้นอังกฤษ) ผู้เชื่อมั่นในจักรวรรดิอังกฤษ ที่ต้องแผ่ขยายสร้างอาณานิคมเพื่อความมั่งคั่งของอังกฤษในศตวรรษที่ 17 โดยได้ก่อตั้งบริษัทเพชร De Beers และครองตลาดเพชร ด้วยการทำร้ายเจ้าของถิ่นชาวแอฟริกันอย่างโหดเหี้ยม

เขาจัดเป็นตัวพ่อสำหรับผู้บูชาผิวขาวว่าเป็นเผ่าพันธุ์สูงสุดที่จะปกครองคนเผ่าพันธุ์อื่นๆ (เช่นเดียวกับแนวคิดของฮิตเลอร์ และมุสโสลินี) และได้มอบเงินบางส่วน (จากที่หามาได้จากกิจการเพชรที่แอฟริกา) จัดทำวิทยาลัยที่ออกซฟอร์ด ซึ่งต่อมามีทุนการศึกษาที่มีชื่อเสียงมากที่เติบโตจากกองทุนดั้งเดิม เพื่อมอบให้แก่นักศึกษาด้านกฎหมาย และหนึ่งในผู้รับทุน Rhodes Scholar ก็คือ อดีตปธน.บิล คลินตัน นั่นเอง

รูปปั้นของ Cecil Rhodes ยืนตระหง่านบนอาคารของออกซฟอร์ด มองลงมายังเหล่าชุมชนนักศึกษา, อาจารย์ในมหาวิทยาลัยเก่าแก่แห่งนี้ ซึ่งสภาเมืองลอนดอนและเหล่าผู้ต่อต้านการเหยียดผิวต่างเรียกร้องให้นำรูปปั้นนี้ลงมา-เพื่อนำไปเก็บไว้ที่อื่น ไม่ใช่มาเชิดชูกับความนิยมบูชาผิวขาว (White Supremacist) เพื่อข่มขู่นักศึกษาผิวสี หรือโลกแห่งความเท่าเทียมกันในปัจจุบัน

แม้แต่อนุสาวรีย์แห่งอดีตกษัตริย์เลโอโปลด์ที่ 3 แห่งเบลเยียม ก็มีการกดดันเรียกร้องให้นำลงมาเคลื่อนไปเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ เพราะเป็นกษัตริย์ที่โหดร้ายต่ออาณานิคมคองโกที่แอฟริกา โดยกองทัพของเขาได้ทำการตัดมือของเหล่าชาวคองโก ไม่ว่าเด็กเล็กก็ตาม แล้วให้นำมือที่ตัดแล้วมาร้อยเรียงเพื่อแสดงถึงความสำเร็จ เป็นการสร้างความกลัวต่อชาวพื้นเมืองอาณานิคม; และก่อนที่สภาเมืองจะมีมติให้นำรูปปั้นนี้ลงมา ปรากฏมีมือดีนำสีแดงไปชโลมคล้ายเลือดที่รูปปั้นด้วยความโกรธแค้น

ส่วนรูปปั้นเหล่านายทัพของกองทัพรัฐฝ่ายใต้ของสหรัฐฯ ก็ถูกกดดันให้รื้อถอนไปเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ เริ่มจากนายพลRobert E. Lee ซึ่งเป็นแม่ทัพใหญ่ รวมทั้งธงกองกำลังฝ่ายใต้ก็ถูกสภาเมืองหลายแห่งลงคะแนนไม่ให้ชักธงเหล่านี้ต่อไป

ผลพวงของการทรมานนายจอร์จ ฟลอยด์ คนผิวดำจนขาดใจตายโดยฝีมือตำรวจ กำลังแผ่ขยายเป็นการขับเคลื่อนทางการเมืองและกฎหมาย เพื่อปฏิรูปตำรวจไม่ให้ทำร้ายประชาชน และเปลี่ยนอคติที่คนผิวขาวมีต่อคนผิวสีที่เคยเป็นทาส จะสร้างปรากฏการณ์เปลี่ยนแปลงได้ขนาดไหน เป็นเรื่องที่น่าติดตามยิ่ง


กำลังโหลดความคิดเห็น