xs
xsm
sm
md
lg

‘ทรัมป์’ ค้านเปลี่ยนชื่อฐานทัพนายพลฝ่ายใต้ ม็อบบอสตันเดือดตัดหัวอนุสาวรีย์โคลัมบัส

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


อนุสาวรีย์คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส ที่ถูกผู้ประท้วงตัดศีรษะในช่วงกลางคืน ยังคงตั้งอยู่ในสวนสาธารณะคริสโตเฟอร์โคลัมบัส ในเมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ เมื่อวันพุธ (10 มิ.ย.)
เอเจนซีส์ - ‘ทรัมป์’ ยืนกรานไม่ยอมเปลี่ยนชื่อฐานทัพหลายแห่งในสหรัฐฯ ที่ตั้งตามนามของพวกนายพลฝ่ายสมาพันธรัฐอเมริกา (ฝ่ายใต้) ในศึกเลิกทาสทศวรรษ 1860 ขณะที่พรรคเดโมแครตพยายามผลักดันให้ย้ายอนุสาวรีย์ของเหล่าผู้นำฝ่ายใต้ที่สนับสนุนระบบทาสในสงครามกลางเมืองคราวนั้น ออกไปจากกรุงวอชิงตัน ท่ามกลางกระแสการประท้วงต่อต้านการเหยียดผิว ซึ่งล่าสุดลุกลามไปสู่การทำลายอนุสาวรีย์ของผู้นำฝ่ายใต้ และบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการกดขี่คนผิวดำและชาวอเมริกันพื้นเมือง

ขณะที่ชาวอเมริกันตื่นตัวกับปัญหาเชื้อชาติมากขึ้นภายหลังการตายของ จอร์จ ฟลอยด์ ชายแอฟริกัน-อเมริกัน ระหว่างถูกตำรวจผิวขาวในมินนิอาโปลิสควบคุมตัวเมื่อปลายเดือนที่แล้ว ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ กลับออกมาคัดค้านการเปลี่ยนชื่อฐานทัพ 10 แห่งทั่วประเทศ ตั้งแต่รัฐเทกซัสจนถึงรัฐเวอร์จิเนีย ซึ่งตั้งชื่อตามชื่อผู้นำทางทหารของฝ่ายสมาพันธรัฐอเมริกาในสงครามกลางเมืองเมื่อกว่าร้อยปีที่แล้ว

ในวันพุธ (10 มิ.ย.) ทรัมป์ทวีตว่า ชื่อฐานทัพเหล่านั้นเป็นส่วนหนึ่งของมรดกความยิ่งใหญ่ รวมถึงประวัติศาสตร์แห่งชัยชนะและเสรีภาพของอเมริกา และคณะบริหารของตนจะไม่แม้แต่พิจารณาเรื่องนี้

ขณะที่ เคย์ลีห์ แมคอีแนมี โฆษกหญิงของทำเนียบขาว แถลงในวันเดียวกันย้ำว่า การผลักดันให้มีการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ “จะไม่มีทางแม้แต่ทำให้กิดการเริ่มต้นขึ้นมาอย่างแน่นอน”

ทวีตของทรัมป์ออกมาหลังจากที่ทางฝ่ายเจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ แสดงความเปิดกว้างกว่ามาก โดบไม่กี่วันมานี้ มีการเปิดเผยว่า พวกผู้นำเพนตากอน ซึ่งรวมถึงรัฐมนตรีกลาโหม มาร์ก เอสเปอร์ และ ไรอัน แมคคาร์ที รัฐมนตรีทบวงทหารบก เปิดทางให้มีการพิจารณาหารือแบบทุกพรรคทุกฝ่ายร่วมมือกัน เกี่ยวกับการเปลี่ยนชื่อฐานทัพที่ตั้งชื่อตามผู้นำฝ่ายสมาพันธรัฐอเมริกา


ฐานทัพ 10 แห่งเหล่านี้ รวมไปถึง ฟอร์ต แบรกก์ ในรัฐนอร์ทแคโรไลนา ซึ่งเป็นฐานทัพใหญ่ที่สุดของอเมริกา ตลอดจน ฟอร์ต ฮูด ในเทกซัส และ ฟอร์ต เบนนิงส์ ในรัฐจอร์เจีย เป็นต้น

ทั้งนี้ ปัญหาการใช้แรงงานทาส ซึ่งจำนวนมากพวกพ่อค้าทาสไล่จับมาจากทวีปแอฟริกานำมาขายเป็นเหมือนสินค้า โดยที่ลูกหลานของคนเหล่านี้ก็ต้องตกเป็นทาสต่อไปด้วย ได้สร้างความแตกแยกให้สหรัฐฯมายาวนาน จนกระทั่งพวกรัฐทางภาคใต้ ประกาศแยกตัวออกไปจัดตั้งเป็นสมาพันธรัฐอเมริกา โดยมีนโยบายปกป้องระบบทาส ทำให้เกิดการทำสงครามกลางเมืองกับพวกรัฐทางภาคเหนือ ซึ่งเรียกตัวเองว่าฝ่ายสหภาพ และในที่สุดฝ่ายสหภาพที่นำโดยประธานาธิบดีอับราฮัม ลินคอร์น เป็นฝ่ายชนะ จากนั้นจึงได้มีการประกาศยกเลิกระบบทาส

อย่างไรก็ตาม ปัญหาการถือครองทาสยังคงหลอกลอนอเมริกาในประเด็นความสัมพันธ์ด้านเชื้อชาติมาโดยตลอด ขณะที่สัญลักษณ์ของสมาพันธรัฐอเมริกา เช่น อนุสาวรีย์ผู้นำทางทหารและธงสมาพันธรัฐ ได้สร้างความขัดแย้งในสังคมอยู่เป็นระยะ ฝ่ายที่ต้องการให้รื้อถอนอนุสาวรีย์ผู้นำฝ่ายใต้อ้างว่า อนุสาวรีย์เหล่านั้นเป็นสัญลักษณ์ของลัทธิเหยียดเชื้อชาติและการกดขี่ ขณะที่ฝ่ายคัดค้านแย้งว่า การดำเนินการดังกล่าวเป็นการทำลายมรดกและความภาคภูมิใจของพวกรัฐทางใต้


ในวันพุธ มีรายงานว่า ผู้ประท้วงในเมืองบอสตันได้ตัดหัวอนุสาวรีย์คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส นักสำรวจผู้ค้นพบทวีปอเมริกา ซึ่งตามประวัติได้เข่นฆ่าชาวพื้นเมืองในทวีปอเมริกาเป็นจำนวนมาก เช่นเดียวกับอนุสาวรีย์โคลัมบัส ซึ่งตั้งอยู่ด้านนอกของอาคาสภาประจำรัฐมินนิโซตา ก็ถูกผู้ประท้วงใช้เชือกคล้องรอบคอและช่วยกันดึงลากจนล้มโค่นลงมา ขณะที่ในเมืองไมอามี รัฐฟลอดา อนุสาวรีย์โคลัมบัสที่นั่นได้ถูกผู้ประท้วงนำสีแดงมาทาที่มือทั้งสองข้าง

นอกจากนั้น ที่เมืองริชมอนด์ รัฐเวอร์จิเนีย ก็มีผู้ประท้วงเข้าทำลายอนุสาวรีย์เจฟเฟอร์สัน เดวิส ประธานาธิบดีของฝ่ายสหพันธรัฐ

วันเดียวกัน แนนซี เปโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคเดโมแครต เรียกร้องให้รัฐสภาดำเนินการทันทีเพื่อย้ายอนุสาวรีย์รูปปั้นของพวกผู้นำและกองทัพฝ่ายใต้รวม 11 จุด ออกจากวอชิงตัน ดี.ซี. เนื่องจากรูปปั้นเหล่านั้นเป็นสัญลักษณ์แห่งความเกลียดชัง

ก่อนหน้านั้นหนึ่งวัน (9) เดวิด เพเทรอัส นายพลปลดเกษียณและอดีตผู้อำนวยการสำนักงานข่าวกรองกลางอเมริกา (ซีไอเอ) เขียนบทความลงในดิ แอตแลนติก สนับสนุนการเปลี่ยนชื่อฐานทัพโดยบอกว่า พฤติการณ์ของบรรดาผู้นำฝ่ายใต้คือการทรยศต่อชาติ


กำลังโหลดความคิดเห็น