xs
xsm
sm
md
lg

In Clip: นักการทูตระดับสูง EU ประณามฟลอยด์ถูกสังหารเพราะ จนท.ใช้กำลังเกินเหตุ “เพนตากอน” วิตก “ทรัมป์” เล็งส่งทหารเข้าจัดการผู้ประท้วง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอเอฟพี/เอเจนซีส์ - ผู้แทนระดับสูงสหภาพยุโรป โจเซฟ บอร์เรล (Josep Borrell) ประณามความรุนแรงของตำรวจต่อการเสียชีวิตของ จอร์จ ฟลอยด์ แอฟริกันอเมริกันที่เสียชีวิตในวันจันทร์ (25 พ.ค.) และทำให้เกิดการประท้วงไปทั่วสหรัฐฯถึงขั้นก่อจลาจล ด้านเจ้าหน้าที่เพนตากอนออกมาแสดงความวิตกถึงคำขู่ผู้นำสหรัฐฯที่ประกาศจะส่งกำลังทหารเข้าปราบปรามผู้ประท้วงตามท้องถนน

เอเอฟพีรายงานวันนี้ (6 พ.ค.) ว่า ผู้แทนระดับสูงสหภาพยุโรป โจเซฟ บอร์เรล (Josep Borrell) ออกมากระตุ้นให้เจ้าหน้าที่สหรัฐฯควบคุมการใช้ความรุนแรงและกล่าวว่า สมาชิก 27 ชาติของอียู***สนับสนุนการประท้วงอย่างสงบ***

“พวกเราที่นี่ในยุโรปเหมือนกับผู้คนในสหรัฐฯที่ตกใจและสยดสยองในการเสียชีวิตของ จอร์จ ฟลอยด์” บอร์เรลให้สัมภาษณ์กับนักข่าวที่กรุงบรัสเซลส์

และเขากล่าวต่อว่า “ผมคิดว่าสังคมทั้งหมดต้องมีความตื่นตัวต่อการใช้กำลังเกินกว่าเหตุและต้องทำให้แน่ใจว่าเหตุการณ์เช่นนี้จะต้องได้รับการตอบอย่างสันติ มีประสิทธิภาพ และอยู่ในการเคารพทางกฎหมายและสิทธิมนุษยชน”

ทั้งนี้ พบว่า ในวันจันทร์ (1) ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ออกมาข่มขู่ที่ส่งกองกำลังนับพันและนับพันนายของตำรวจติดอาวุธหนักเพื่อเข้าควบคุมสถานการณ์ท่ามกลางการจลาจลที่ร้ายแรงที่สุดเท่าที่เคยเกิดขึ้นของยุค

แต่ผู้แทนระดับสูงสหภาพยุโรปออกมาเตือนสังคมประชาธิปไตยทั้งหลายนั้น มีหน้าที่พิเศษในการต้องปฏิบัติอย่างมีความรับผิดชอบและต้องไม่ใช้ศักยภาพของตัวเองที่มีในวิถีทางที่ได้ถูกใช้ในการเสียชีวิตที่น่าเศร้ามากของจอร์จ ฟลอยด์

“นี่เป็นการลุแก่อำนาจและสิ่งนี้ต้องถูกประณาม ต้องถูกต่อต้านทั้งในสหรัฐฯและในทุกแห่ง” บอร์เรลกล่าว และเสริมว่า “ขออนุญาตให้ผมกล่าวย้ำว่า ทุกชีวิตสำคัญ ชีวิตผิวดำสำคัญเช่นกัน”

ด้าน CNN รายงานวันอังคาร (2) ว่า เจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ออกมาแสดงความวิตกถึงการประกาศของผู้นำสหรัฐฯที่ต้องการส่งกำลังทหารเข้าจัดการกับผู้ประท้วง

โดยชี้ว่า เป็นความวิตกที่มีมากขึ้นในบางส่วนของเจ้าหน้าที่เพนตากอนหลังทรัมป์ประกาศจากสวนโรสการ์เดนทำเนียบขาว เมื่อวานนี้ (1) ท่ามกลางเสียงระเบิดดังและเสียงผู้ประท้วงกรีดร้อง ว่า หากว่าผู้นำมลรัฐหรือเมืองปฏิเสธที่จะลงมือที่จำเป็นสำหรับการปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่แล้ว เขาจะลงมือใช้กฎหมายปราบจลาจลสหรัฐฯปี 1807 (the Insurrection Act) ที่อนุญาตให้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ สามารถส่งกองทัพสหรัฐฯเข้าปราบปรามความไม่สงบภายในประเทศได้

หนึ่งในแหล่งข่าวเจ้าหน้าที่เพนตากอนกล่าวว่า “มีความปราถนาอย่างแรงกล้าที่ต้องการให้การบังคับใช้กฎหมายระดับท้องถิ่นเข้ามาจัดการ” โดยชี้ว่ามีกฎหมายหลายฉบับที่ห้ามกองทัพจากการทำหน้าที่บังคับใช้กฎหมายภายในประเทศ

นอกจากนี้ สื่อสหรัฐฯกล่าวว่า มีการแสดงความไม่สบายใจที่ต้องทำหน้าที่บังคับใช้กฎหมายในกลุ่มทหารเนชันแนลการ์ดบางส่วน ที่มีการส่งกำลังออกไปปฏิบัติการภายในประเทศมากกว่าครั้งไหนในประวัติศาสตร์

ด้าน พลตรี โทมัส คาร์เดน (Army Maj. Gen. Thomas Carden) ผู้บัญชาการทหารเนชันแนลการ์ดรัฐจอร์เจียได้ให้สัมภาษณ์กับนักข่าววันอาทิตย์ (31 พ.ค.) ว่า “ผมเชื่อมั่นว่าในอเมริกา เราไม่สมควรที่จะชินหรือยอมรับเจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบของหน่วยหลากหลายที่ต้องถูกวางในจุดที่คนเรานี้กำลังต้องทำให้คนปลอดภัยภายในสหรัฐอเมริกา”

คาร์เดนกล่าวบรรยายภารกิจการเข้าเสริมกำลังเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นว่า “จากทั้งหมดผมถูกขอร้องให้ทำในมากกว่า 34 ปีล่าสุดที่อยู่ในเครื่องแบบ ซึ่งสิ่งนี้อยู่ล่างสุดของลิสต์รายชื่อของผม”

ทั้งนี้ เขายอมรับว่า สถานการณ์เรียกร้องให้ต้องเกิดขึ้นโดยกล่าวว่า “การปรากฏตัวของทหารเนชันแนลการ์ดนั้นส่งผลต่อการยับยั้งอย่างสำคัญและส่งผลลัพท์ต่อความสงบ”

ขณะที่เจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯอีกรายบรรยายถึง “บันไดเลื่อน” ของขั้นตอนที่สามารถถูกนำมาใช้เพื่อสนับสนุนแก่การบังคับใช้ระดับรัฐบาลกลาง ระดับรัฐและระดับท้องถิ่น แต่ย้ำว่าการใช้กำลัทหารที่กำลังอยู่ในการปฏิบัติหน้าที่ใดๆ นั้น น่าจะเป็นทางเลือกสุดท้ายๆ ของพวกเขา

กองกำลังที่ประกอบด้วยทหารราว 200-250 นาย จากฟอร์ตแบรกก์ (Fort Bragg) ในรัฐนอร์ทแคโรไลนา ถูกคาดว่าจะออกมาให้การสนับสนุนทางด้านความมั่นคง แต่จะไม่เข้าบังคับใช้กฎหมายในการจับกุมและควบคุมผู้ประท้วง อ้างอิงจากแหล่งข่าวเจ้าหน้าที่เพนตากอน

นอกจากนี้ ทหารเนชันแนลการ์ดอีกจำนวนราว 600 -800 คน จาก 5 รัฐ ได้ถูกร้องขอเพื่อให้การสนับสนุนทหารเนชันแนลการ์ดประจำกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ในการจัดการกับเหตุจลาจลและสามารถเดินทางได้ถึงเร็วสุดในคืนวันจันทร์ (1)









กำลังโหลดความคิดเห็น