ระหว่างที่ประเทศมหาอำนาจสูงสุดในโลก อย่างคุณพ่ออเมริกา ท่านกำลังออกอาการ “Dead Again” อย่างเห็นได้ถนัดชัดเจนยิ่งเข้าไปทุกที ไม่ว่าการครองตำแหน่ง “จ้าวโรค” ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อ “COVID-19” ปาเข้าไปเป็นล้านๆ ตายไปแล้วใกล้ๆ แสน เศรษฐกิจพังพินาศไม่น้อยกว่า 15.7 ล้านล้านดอลลาร์ หรือไม่น้อยกว่า 5.3 เปอร์เซ็นต์ของ GDP คนตกงาน ว่างงานทะลุไปเกือบ 20 เปอร์เซ็นต์ หรือเกือบ 30-40 ล้านคน แถมยังต้องมาเจอกับการประท้วง ลุกฮือ ของผู้คนกว่า 400 เมือง ใน 50 มลรัฐ แบบลากยาวว์ว์ว์ซะอีกต่างหาก เลยคงต้องลองเปลี่ยนบรรยากาศ เปลี่ยนมุมมอง หันมามองถึงความเป็นไปของ “มหาอำนาจคู่แข่ง” หรือ “Rival Power” ของคุณพ่ออเมริกา อย่าง “คุณพี่จีน” ดูมั่ง...
เพราะหลังจากต้องเจอกับเชื้อไวรัส “COVID-19” แพร่ระบาดเป็นจุดเริ่มแรก แถมด้วยการลากยาวว์ว์ว์ของ “ม็อบฮ่องกง” ที่พยายามเอาเข่ากดคอ ชนิดหายใจ-หายคอแทบไม่ทัน แต่มาถึง ณ บัดนี้ ณ วินาทีนี้ ดูเหมือนว่าคุณพี่จีน ท่านน่าจะพอเริ่มฟื้นๆ ขึ้นมามั่งแล้ว และทำท่าอาจจะกลับมา “Great Again” อย่างชนิดน่าสนใจ น่าติดตามเอามากๆ เพราะไม่เพียงแต่การปิดบ้าน ปิดเมือง จนสามารถสะกดการออกฤทธิ์ ออกเดช ออกอาละวาด ของเชื้อ “COVID-19” ได้อย่างราบคาบเป็นหน้ากลอง อย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลเอามากๆ การหันมาฟื้นฟูเศรษฐกิจกันอย่างเป็นระบบ อย่างเป็นกระบวนการ ได้ทำให้ตัวเลขสั่งเข้า “น้ำมัน” มายังประเทศจีน อันอาจถือเป็นตัวสะท้อนการฟื้น-การไม่ฟื้นของภาคเศรษฐกิจต่างๆ เริ่มทำท่าว่าใกล้หวนคืนไปสู่จุดที่เคยสูงสุดมาก่อนหน้านี้ หรือเริ่มมีการนำเข้าน้ำมันมาบริโภคภายในประเทศ เมื่อช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นจากช่วงเดือนเมษาฯ ถึง 13 เปอร์เซ็นต์ หรือถึงประมาณ 11.11 ล้านบาร์เรลต่อวัน...
และด้วยการทำท่าว่าจะกลับมาฟื้น หรือกลับมา “Great Again” ครั้งใหม่ในคราวนี้...ก็ดูจะแปลกออกไปจากเดิมๆ อยู่บ้าง หรือออกจะ “นิว นอร์มอล” อยู่พอสมควร โดยเห็นได้จาก “การประชุมร่วม” ระหว่าง 2 สภาฯ คือสภาประชาชนจีน (NPC) และสภาที่ปรึกษาการเมือง (CPPCC) เมื่อช่วงระหว่างวันที่ 21-22 พฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งได้ร่วมกันกำหนดแนวทาง ทิศทางในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของจีน อย่างชนิดน่าคิด น่าสะกิดใจ เอามากๆ ไม่ว่าด้วยประกาศแบบตรงไป-ตรงมา ว่านับแต่นี้เป็นต้นไป จีนจะไม่ “กำหนดเป้าหมายเศรษฐกิจ” โดยอาศัยตัวเลข GDP ต่อไปอีกแล้ว หรือไม่จำเป็นต้องไปสนใจว่าจะโตหก โตเจ็ด หรือต้องโตเป็นสิบๆ แบบที่เคยถือเป็น “สิ่งมหัศจรรย์” พอๆ กับกำแพงเมืองจีนมาโดยตลอด แต่จะหันมาให้ความสำคัญกับความแข็งแกร่งของแต่ละภาคส่วนภายในประเทศจีน ไม่ว่าจะเป็นการสร้างงาน การแก้ปัญหาการว่างงาน การหาทางทำให้นักศึกษาที่เพิ่งจบจากมหาวิทยาลัย แรงงานอพยพ หรือแรงงานในพื้นที่ยากจน มีงาน มีการ และมีเงินใช้ เป็นอันดับต้นๆ...
จะทำให้ตัวเลขการว่างงานภายในประเทศ ต้องไม่มากไปกว่า 5.5 เปอร์เซ็นต์โดยเด็ดขาด ต้องสร้างตำแหน่งงานใหม่ๆ ไม่น้อยกว่า 9 ล้านตำแหน่งขึ้นไป ต้องยกระดับความยากจน ให้เกิดความพอกิน พอใช้ อันจะนำไปสู่ความพอเพียงในท้ายที่สุด ต้องเร่งเพิ่มเงินออมในภาคธุรกิจไม่น้อยกว่า 2.5 ล้านล้านหยวน ต้องบีบบังคับให้ธนาคารขนาดใหญ่ปล่อยกู้ให้ธุรกิจขนาดเล็กไม่น้อยกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ ฯลฯ เป็นต้น เอาเป็นว่า...ใครสนใจรายละเอียด เบื้องลึก เบื้องหลัง ของแนวทาง ทิศทาง ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจแบบจีนๆ คงต้องไปติดตามการอรรถาธิบายของ “นายหนิง จี๋เจ๋อ” (Ning Jizhe) รองประธานคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ (NDRC) ซึ่งสรุปไว้เป็นหลักการ ที่เรียกๆ กันว่า “การเสริมแรง 6 อย่าง” ดูเอาเองก็แล้วกัน ก็น่าจะพอมองเห็นทิศทางและแนวทาง ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจแบบจีนๆ ได้โดยชัดเจน และหนึ่งในจำนวนนั้น ก็ยังคงเน้นย้ำ ยังยืนหยัด ยืนยันถึงการเปิดกว้าง เปิดประเทศ การปฏิรูปภายใน รวมทั้งการเดินหน้าต่อไปตามระบบเศรษฐกิจแบบ “ทุนนิยม-สังคมนิยม” หรือ “สังคมนิยมที่มีลักษณะเฉพาะ” แบบจีนๆนั่นเอง...
พูดง่ายๆ ว่า...แม้ว่าการหันมาเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับ “ตลาด” ภายในประเทศ ที่มีจำนวนผู้บริโภคหรือมีประชากรชาวจีน รองรับอยู่เป็นจำนวนถึง 1,400 ล้านคน แต่จีนนั้นคงไม่ถึงกับคิดจะปิดประเทศ หันมาผลิตกันเอง ค้าขายกันเอง อย่างที่นักวิเคราะห์เศรษฐกิจบางรายตั้งข้อสังเกต หรือข้อสงสัยเอาไว้ ตรงกันข้าม...ยิ่งตลาดภายใน หรือยิ่งผู้บริโภคชาวจีน เกิดความแข็งแกร่งยิ่งขึ้นเท่าไหร่ โอกาสที่จะเกิดการเปิดกว้าง หรือเปิดไปสู่โลกทั้งโลกของจีน ก็น่าจะยิ่งลื่นไหลยิ่งขึ้นไปเท่านั้น และอันนี้ก็น่าจะสามารถเห็นได้ สังเกตได้ จากการออกมาป่าวประกาศของผู้ว่าการธนาคารกลางจีน “นายYi Gang” เมื่อช่วงปลายเดือนพฤษภาฯ ที่ผ่านมานี่เอง ถึงการนำเอาระบบเงิน “หยวนดิจิทัล” (Digital Yuan) มาใช้อย่างเป็นทางการ ในช่วงโอลิมปิกฤดูหนาวของปี ค.ศ. 2022 เป็นอย่างช้า โดยระหว่างนี้ ก็มี 4 เมืองหลักของประเทศจีน คือ Suzhou, Shenzhen, Chendu และ Xiongan เริ่มโครงการนำร่อง หรือเริ่มทดลองใช้กันไปมั่งแล้ว...
คือเงิน “หยวนดิจิทัล” ของจีนนั้น...ไม่ใช่แค่ถือเป็นการเปิดกว้าง หรือเปิดไปสู่โลกทั้งโลกแต่เพียงเท่านั้น แต่อาจไปไกลถึงขั้นคิดจะ “เปลี่ยนโลก” หรือ “เปลี่ยนระบบการเงินโลก” เอาเลยก็ไม่แน่!!! โดยถ้ามองจากมุมมองของนักเศรษฐกิจ การเงิน บางกลุ่ม บางราย เช่น “นายAditi Kumar” และ “นายEric Rosenbach” แห่ง “Harvard Kennedy School” ที่ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ในข้อเขียน บทความ ในนิตยสาร “Foreign Affairs” ว่าไม่เพียงแต่เงิน “หยวนดิจิทัล” อย่างเป็นทางการของจีน จะทำให้เกิดการโยกย้ายเงินสกุลดิจิทัลข้ามพรมแดนแต่ละประเทศ โดยไม่จำเป็นต้องผ่านระบบการแลกเปลี่ยน ตรวจสอบ โดยระบบที่มีเงิน “ดอลลาร์สหรัฐ” เป็นตัวกำกับต่อไปอีกแล้ว แต่ยังทำให้บรรดาประเทศใดๆ ก็ตาม ที่เคยถูกกดดัน ถูกแซงชั่น โดยอาศัยอิทธิพลของเงิน “ดอลลาร์” ในระบบการเงินโลก ไม่ว่าจะเป็นอิหร่าน เวเนซุเอลา เกาหลีเหนือ ฯลฯรวมทั้งๆ อีกหลายต่อหลายประเทศที่ต้องยอมสยบให้กับ “เผด็จการดอลลาร์” มาโดยตลอด ย่อมต้องเกิดช่อง เกิดโอกาสที่ออกจะสะดวกเอามากๆ ในการหลบเลี่ยงต่อการถูกกดดัน ถูกแซงชั่น โดยอเมริกา หรือสามารถเคลื่อนย้ายเงิน และทุน โดยวอชิงตันมิอาจตรวจสอบได้เลย!!!
นี่...อันนี้ต้องเรียกว่า เปิดกันชนิดทะรูดทะราด ทั้งลื่น ทั้งไหล เต็มไปด้วยเหลื่อมลายเกล็ดพญามังกร ชนิดน่าสนใจเอามากๆ โดยว่ากันว่า...จีนให้ความสนใจในการประดิษฐ์คิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ทางการเงินชนิดนี้ มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2014 โน่นเลย หรือขณะที่พยายามควบคุม ห้ามปราม การใช้เงินดิจิทัล ประเภท “Bitcoin” หรือ “Cryptocurrencies” ทั้งหลาย ด้วยกฎหมายฟอกเงินและการหลอกลวงในรูปแบบต่างๆ จนเกิดการระงับการซื้อ-ขาย-แลกเปลี่ยนด้วยเงินประเภทนี้ไปนับร้อยๆ แห่ง ในช่วงปี ค.ศ. 2017 ที่ผ่านมา แต่ในช่วงจังหวะเดียวกันนี่เอง ที่จีนเริ่มเห็น “ช่อง” เห็น “โอกาส” ที่จะนำเอาเทคนิคเหล่านี้ มาใช้เป็น “เครื่องมือ” ในการสร้างนวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆของตัวเอง...
อันจะทำให้การซื้อ-ขาย-แลกเปลี่ยนใดๆ ก็ตาม สามารถทำได้ด้วยการกดปุ่มโทรศัพท์มือถือหรือ “สมาร์ทโฟน” ที่แต่ละคนมีอยู่ในมือ ยิ่งถ้าเป็นสมาร์ทโฟนในระบบ 5G ของ “หัวเว่ย” ยิ่งดีเข้าไปใหญ่ โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยธนาคารพาณิชย์เป็นตัวกลางอีกต่อไป อีกทั้งด้วยการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส “COVID-19” ที่ทำให้ใครต่อใครต้องหันมาพึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้มากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ยังถือเป็นจังหวะเหมาะเอามากๆ สำหรับการเปิดกว้าง เปิดโลก หรือเปลี่ยนโลกของจีนได้เป็นอย่างดี และอาจด้วยเหตุนี้นี่เอง...ที่ทำให้ “นายXu Yuan” นักวิจัยอาวุโส แห่ง “Digital Finance Research Centre” แห่งมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ถึงกับสรุปเอาไว้ประมาณว่า... “ถ้าหากมองย้อนหลังตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ.2020 ที่ผ่านมา จะพบว่ามีเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์อยู่ 2 เหตุการณ์ด้วยกัน นั่นคือ 1. การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 และ 2. คือประกาศใช้เงินหยวนดิจิทัลอย่างเป็นทางการของจีน” ด้วยเหตุนี้...เอาเป็นว่า ใครจะ “Great Again” ใครจะ “Dead Again” ระหว่างคุณพ่ออเมริกากับคุณพี่จีน...คงต้องลองไปนั่งคิด นอนคิด เอาเองก็แล้วกัน...