เอเจนซีส์ - บราซิลขึ้นอันดับ 3 หลังยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มเป็น 255,000 คน ขณะที่จำนวนผู้ป่วยของอินเดียทะลุหลักแสน อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางข่าวร้ายยังมีข่าวดีให้พอมีหวัง หลังจากบริษัทโมเดอร์นาของอเมริกาเผยการทดลองวัคซีนเบื้องต้นกับกลุ่มตัวอย่างขนาดเล็กได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ขณะเดียวกัน นักวิจัยจีนเตรียมนำยาที่พัฒนาจากแอนติบอดี้และสามารถยับยั้งการก่อโรคได้มาทดลองทางคลินิก โดยหวังว่าจะผลิตออกมาได้ปลายปีนี้ทันรับมือการระบาดรอบใหม่
อันโตเนโอ กูเตียเรส เลขาธิการใหญ่องค์การสหประชาชาติ แถลงในการประชุมประจำปีสมัชชาอนามัยโลกที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันจันทร์ (18 พ.ค.) ผ่านระบบการประชุมเสมือนจริงว่า หลายประเทศเพิกเฉยต่อคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (ฮู) ส่งผลให้ไวรัสโคโรนาลุกลามทั่วโลก และขณะนี้กำลังเคลื่อนเข้าสู่ซีกโลกใต้ ซึ่งผลกระทบที่จะเกิดขึ้นอาจรุนแรงกว่าที่เป็นอยู่มาก
คำเตือนของกูเตียเรสดูจะครอบคลุมถึงบราซิลที่ขณะนี้แซงอังกฤษ กลายเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสะสมมากที่สุดอันดับ 3 ของโลก รองจากอเมริกา (1.5 ล้านคน) และรัสเซีย (290,000 คน) ด้วยตัวเลขผู้ติดเชื้อที่ได้รับการยืนยันราว 255,000 คน ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 16,792 คน หรืออันดับ 6 ของโลก
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญตั้งข้อสังเกตว่า การที่บราซิลมีการตรวจหาผู้ติดเชื้อน้อยมาก ทำให้ตัวเลขจริงอาจสูงกว่าที่รายงานอย่างน้อย 15 เท่า
ส่วนที่ชิลี อีกชาติหนึ่งในอเมริกาใต้ ซึ่งรัฐบาลบังคับใช้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมอย่างเข้มงวดในบางพื้นที่หลังจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างมากนั้น ความกดดันทางเศรษฐกิจจากคำสั่งล็อกดาวน์นำไปสู่การประท้วงและความรุนแรงในบริเวณชุมชนแออัดและยากจนชานกรุงซานติเอโก โดยมีการปะทะกันระหว่างชาวบ้านกับตำรวจปราบจลาจล
ทางด้านเอเชีย ในวันอังคาร (19) อินเดียรายงานว่า พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 4,970 คนในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา รวมเป็น 101,139 คน และผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 134 คน เป็น 3,163 คน เท่ากับว่า ขณะนี้ อินเดียมีจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมแซงจีน ประเทศแรกที่ไวรัสโคโรนาอุบัติขึ้นเมื่อปลายปีที่แล้ว และเป็นหนึ่งในศูนย์กลางการระบาดใหญ่ในเอเชีย
ปัจจุบัน จีนมียอดผู้ติดเชื้อสะสมเกือบ 83,000 คน โดยพบเคสใหม่รายวันเพิ่มในอัตราเลขหลักเดียวมาตลอดหนึ่งสัปดาห์ ตรงข้ามกับอินเดียที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเฉลี่ยวันละกว่า 4,000 คนในช่วงเวลาเดียวกัน แม้รัฐบาลบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์มานานหลายสัปดาห์และล่าสุดสั่งต่อเวลาไปจนถึงสิ้นเดือนนี้ก็ตาม
ผู้เชี่ยวชาญและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอินเดียต่างกังวลกับระบบโรงพยาบาลที่ขาดแคลนเงินสนับสนุนเป็นทุนเดิม และทั่วประเทศอาจรองรับผู้ป่วยวิกฤตได้เพียง 100,000 เตียงเท่านั้น สำหรับเครื่องช่วยหายใจมีอยู่ประมาณ 40,000 เครื่อง เช่นเดียวกับบุคลากรทางการแพทย์ที่ไม่เพียงพอ เมื่อพิจารณาจากจำนวนประชากรทั้งหมดถึง 1,350 ล้านคน นอกจากนั้นยังเชื่อกันว่า จำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตที่แท้จริงน่าจะมากกว่าตัวเลขที่เปิดเผยอย่างเป็นทางการหลายเท่า
ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากเตือนว่า มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมซึ่งส่งผลกระทบต่อประชากรกว่าครึ่งค่อนโลกยังคงมีความจำเป็นสำหรับการหยุดยั้งการระบาดจนกว่าจะมีวัคซีนหรือยารักษาที่มีประสิทธิภาพและแจกจ่ายได้อย่างทั่วถึง
เวลานี้บริษัทและหน่วยงานรัฐบาลที่เกี่ยวข้องทั่วโลกต่างเร่งมือพัฒนาวัคซีนและยารักษาโควิด-19 โดยเมื่อวันจันทร์มีข่าวดีมาจากทางฝั่งอเมริกา หลังจากมีการเปิดเผยผลการทดลองทางคลินิกขั้นต้นที่ครอบคลุมกลุ่มตัวอย่างขนาดเล็กซึ่งพบว่า ผู้ที่ได้รับวัคซีนของบริษัท โมเดอร์นา มีการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันคล้ายกับผู้ป่วยที่ฟื้นตัวจากโควิด-19 โดยจะมีการเริ่มการทดลองเฟส 2 กับกลุ่มตัวอย่างขนาดใหญ่ขึ้นในเร็วๆ นี้
ขณะเดียวกัน นักวิจัยของมหาวิทยาลัยปักกิ่งเผยว่า กำลังพัฒนายาที่อาจช่วยหยุดยั้งการระบาดโดยใช้สารแอนติบอดี้ที่สามารถยับยั้งการก่อโรค และเตรียมทำการทดลองทางคลินิกต่อไปโดยหวังว่าจะผลิตยาออกมาได้ปลายปีนี้ ทันเวลาสำหรับการรับมือการระบาดครั้งใหม่ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงฤดูหนาว