xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“สองมิตร” คิดการใหญ่ ฝันอร่อยคุม “พลังงาน - เกษตร”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ท่าจะจบแล้วสำหรับปฏิบัติการรัฐประหาร-ยึดอำนาจ ภายใน “พรรคพลังประชารัฐ”

หลังจากที่ “ฝ่ายรัฐประหาร” เดินเกม “รุกฆาต” ประกาศว่า 18 กรรมการบริหารพรรค ยื่นใบลาออก ส่งผลให้คณะกรรมการบริหารพรรคชุดปัจจุบัน “สิ้นสภาพ” ทั้งชุดตามข้อบังคับพรรค พร้อมทำเรื่องถึง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อขอเปิดประชุมใหญ่เพื่อเลือกคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ภายใน 45 วันตาม

นับนิ้วตามปฏิทินแล้วก็ไม่เกิน 15 ก.ค.นี้

เป็นที่ทราบโดยทั่วกันว่า “ปฏิบัติการยึดพรรค” หนนี้ เพื่อต้องการเขี่ย อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะหัวหน้าพรรค และ สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะเลขาธิการพรรค รวมไปถึงเครือข่ายอย่าง สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในฐานะรองหัวหน้าพรรค และ กอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในฐานะกรรมการบริหารพรรค หรือที่รู้จักกันในชื่อ “กลุ่มสี่กุมาร” ออกจากพรรค

ทั้งนี้ แม้ที่ผ่านมาจะปรากฏ “ตัวละคร” ที่เคลื่อนไหวอยู่หลายต่อหลายคน แต่เอาเข้าจริง “ตัวละครสำคัญ” ที่ดูเหมือนว่าจะ “ออกอาการมากเป็นพิเศษ” ในช่วงหลังๆ เห็นทีจะหนีไม่พ้น **“สองมิตร” คือ “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจและสมศักดิ์ เทพสุทิน”

แน่นอน “สุริยะ-สมศักดิ์” ย่อมมิได้ปรารถนาในเก้าอี้ “หัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรค” หากแต่มองยาวไปที่การปรับคณะรัฐมนตรี และจุดหมายปลายทางในฝันของ “สองมิตร” ก็คือ 2 เก้าอี้ที่พวกเขาหมายมั่นปั้นมือมาตั้งแต่แรกคือ “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์”

งานนี้ว่ากันว่าเลยเถิดไปถึงขั้นสั่นสะเทือน “พรรคร่วมรัฐบาล” อย่าง “พรรคประชาธิปัตย์” กันเลยทีเดียว

ส่วนการปรับคณะรัฐมนตรีที่เป็นอำนาจตรงของ “ลุงตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมนั้น เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า ช้าเร็วอย่างไรก็ต้องปรับ แต่จะปรับใน “สูตรไหน” ปรับ “ใหญ่” ปรับ “กลาง” หรือปรับ “เล็ก” แล้วจะปรับตามที่ “สองมิตร” ฝันอร่อยหรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดว่าสุดท้ายแล้วจะออกมาในรูปใด

เพราะถึงเวลานี้ สถานการณ์ทางการเมืองอันเป็นผลมาจากความปั่นป่วนในพรรคพลังประชารัฐนั้น ดูเหมือนสั่นสะเทือนศรัทธารัฐบาลหนักขึ้นเรื่อยๆ ด้วยบรรดา “กองเชียร์ลุง” แสดงความปริวิตกค่อนข้างมาก และเชื่อว่า “ลุงตู่” ย่อมรับรู้และเคร่งเครียดกับสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ไม่น้อย

เปิดปฏิบัติการยึด พปชร.
ลับลวงพรางและ “วางยา”

แม้ “ปฏิบัติการยึดพรรค” จะจบและรู้ตัว “ผู้ชนะ” แล้ว แต่ก็ยังมีสิ่งที่น่าสนใจในปฏิบัติการครั้งนี้ไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นการเล่นเกมการเมืองภายในพรรค ช่วงที่ประเทศและรัฐบาลกำลังเผชิญวิกฤตการณ์ไวรัสโควิด-19 จนมีเสียงโห่ฮาจากสังคมภายนอกว่า ที่สุดแล้วนักการเมืองก็สนใจแต่การแย่งชิงอำนาจ-ผลประโยชน์ มากกว่าความทุกข์ร้อนของประชาชน

และแม้ท่าทีของ “บิ๊กตู่” จะเหมือน “ไม่ขวาง” การเปลี่ยนแปลงภายในพรรคพลังประชารัฐ แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าตลอดระยะเวลาที่มีความพยายามยึดพรรค “นายกฯตู่ ” ก็มักติติงในเรื่อง “กาละเทศะ” ออกมา “เเตะเบรก” เวลามุ้งต่างๆ ในพรรคพลังประชารัฐเคลื่อนไหวให้มีการเปลี่ยนแปลงโดยตลอดเวลา แต่จนแล้วจนรอด ก๊วน-มุ้งในพรรคก็ยังเคลื่อนไหวไม่หยุดหย่อน และเชื่อแน่ว่า ไม่ได้กระทำโดยพลการ หากแต่ได้รับไฟเขียวจาก “ผู้มีอำนาจตัวจริงในพรรค” เรียบร้อยแล้ว

อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่าสนใจอยู่ตรงที่การนำใบลาออกของ 18 กรรมการบริหารพรรค ออกมาเปิดเผยโดย ไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรค และตั้งโต๊ะแถลงข่าวตอกย้ำว่า “อุตตม-สนธิรัตน์” พ้นสภาพ กก.บห. เหลือเพียง “รักษาการ” แล้วนั้น มีความผิดปกติบางประการในรายชื่อ 18 กรรมการบริหารพรรคที่ถูกนำมาเปิดเผย และดูเหมือนจะร่วมเป็น “ผู้ก่อการ” โค่นล้มอำนาจของ “อุตตม-สนธิรัตน์” ทั้งที่มีกระแสข่าวยืนยันว่ามีกรรมการบริหารพรรคเซ็นใบลาออกไว้ล่วงหน้า อย่างน้อย 26 จาก 34 คน

แต่เลือกที่จะเอาออกมาโชว์เพียง 18 รายชื่อ เพื่อให้ “เกินกึ่งหนึ่ง” ตามข้อบังคับพรรคเท่านั้น กระทั่ง “ไพบูลย์” คนแถลงที่เป็นรองหัวหน้าพรรค ก็ยังไม่มีชื่อ

เช่นเดียวกับชื่อของ “เฮียยักษ์” วิรัช รัตนเศรษฐ - “เสี่ยเฮ้ง” สุชาติ ชมกลิ่น - “เสี่ยแฮ้งค์” อนุชา นาคาศัย ที่รู้ๆ กันอยู่ว่าเป็น “หัวหอก” ในปฏิบัติการครั้งนี้


กลับกันดันมีชื่อของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า - ไผ่ ลิกค์ - บุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ ที่เป็นกรรมการบริหารใน “กลุ่มผู้กอง” ซึ่งเดินเกมตรงข้ามกับกลุ่มของ “วิรัช-สุชาติ-อนุชา” ในระยะหลัง

ที่สำคัญ “กลุ่มผู้กอง” ประกาศชัดว่ายังสนับสนุนการทำงานของ “อุตตม-สนธิรัตน์” อยู่ ไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงในช่วงนี้กลับถูก “อีแอบ” เพื่อนร่วมพรรคดันออกมาข้างหน้า

และต้องถามต่อว่า การจบครั้งนี้ เป็นการจบในแง่ของการยินยอมปรับโครงสร้างพรรค แต่ไม่ได้หมายถึงลิ่มความขัดแย้งระหว่างมุ้งต่างๆ ภายในพรรค ที่ยังคงอยู่

อย่างที่รู้กันว่า การเดินเกมโค่นล้ม “อุตตม-สนธิรัตน์” ศิษย์ก้นกุฏิของ “เฮียกวง” สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ไม่ได้มาจากความเห็นที่ตรงกันของบรรดามุ้งต่างๆ ภายในพรรคทว่า ทุกคนไม่สามารถทัดทานได้เพราะทราบกันดีว่า “คนที่คุณก็รู้ว่าใคร” ยืนทะมึนเป็นเงาอยู่เบื้องหลัง

ต้องยอมรับว่าปฏิบัติการยึดพรรคสำเร็จได้ ต้องให้เครดิต “กลุ่มสามมิตร” ที่เหลือเพียง “สองมิตร” คือ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และ สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ที่นำลิ่วล้อไปปรากฏตัวในห้องที่มีประธานวิปรัฐบาลของ “เฮียยักษ์-วิรัช” โดยเลือกที่จะไม่ขัดกับแนวทาง “บิ๊กป้อม” ที่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพรรค เพื่อนำไปสู่การจัดสรรที่ทั่วถึงและเท่าเทียม

เข้าไปอยู่กับ “ฝ่ายชนะ” ตามคอนเซ็ปต์ของผู้ที่ไม่เคยเลือกข้างผิด

แต่ต้องบอกว่า “สองมิตร” กับกลุ่มของ “เฮียยักษ์-เสี่ยเฮ้ง” แค่ “รวมการเฉพาะกิจ” ไม่ได้รักใคร่หรือสนิทใจกัน

ขณะที่ การปรากฏชื่อ “ผู้กองมนัส” และ ส.ส.ในก๊วน ไม่ว่าจะเป็น “ไผ่ ลิกค์” ส.ส.กำแพงเพชร, บุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ, นิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์คือ สิ่งที่ตอกย้ำให้เห็น ลิ่มความขัดแย้งในพรรคพลังประชารัฐที่ไร้วี่แววจะจบลง และยังคงเป็น “พลังประชาเละ” ต่อไป เพราะในตอนมอบหมายให้ “ไพบูลย์” มายื่นหนังสือลาออก กลับมีฝ่ายธุรการบางคน ซึ่งเป็นมุ้งที่เป็นศัตรูของ “ผู้กองมนัส” ในพรรค คัดเอามาแค่ 18 คน

และใน 18 คนนี้ เจาะจงเอากลุ่มของ “ผู้กองมนัส” ที่ไประดม ส.ส.สู้กับ “วิรัช” ที่อาคารรัฐสภา มารวมอยู่ด้วย เพื่อให้เห็นว่า หักหลัง “อุตตม-สนธิรัตน์” นอกจากนี้ ยังทำให้ 18 คนนี้ กลายเป็นบุคคลที่สร้างความวุ่นวายให้กับพรรคมาตลอดในช่วงที่ผ่านมา

เหมือนที่ “ผู้กองมนัส” ให้สัมภาษณ์แรงๆ เอาไว้ว่า “มีคนบางคนพยายามทำให้เกิดความขัดแย้ง จึงอยากให้สังเกตว่า มีคนบางกลุ่มที่ขับไล่นายอุตตม มาตลอด แต่ไม่ลงชื่อลาออก จากกรรมการบริหาร นั่นหมายความว่ามีคนวางแผนให้เกิดความขัดแย้ง เพื่อให้มีการปรับ ครม. ตนเองก็จะได้ตำแหน่งที่หวังไว้”

แม้จะมีการอ้างว่า ต้องการทำให้เห็นว่า เป็นเจตนาของร่วมกันของทุกมุ้งในพรรค หากแต่ไม่มีชื่อ “วิรัช-สุชาติ-อนุชา” ที่เป็นตัวตั้งตัวตีในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ ทำให้มีการมองกันว่า “วิรัช” มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจิ้มรายชื่อ 18 กรรมการบริหารและใช้เป็นการเอาคืน “ผู้กองมนัส” ศัตรูของตัวเอง

ดังนั้น หากเปรียบสถานะของ “ผู้กองมนัส” กับ “วิรัช” ตอนนี้ คงไม่ผิดไปจากคำโบราณที่ว่า ผีไม่เผา เงาไม่เหยียบ กันแล้ว เป็น “ศึกใน” ระหว่างมุ้งที่พร้อมปะทุขึ้นอีกครั้ง

ยิ่งวันนี้ “วิรัช” เอง มีบาดแผลไม่ต่างอะไรจาก “ผู้กองมนัส” โดยเฉพาะคดีทุจริตจัดสรรงบประมาณก่อสร้างสนามฟุตซอล จ.นครราชสีมา ที่อยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณาร่วมกันของอัยการกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

ต่อให้ “อัยการ” สั่งไม่ฟ้อง แต่ตามกฎหมายก็เปิดให้ “ป.ป.ช.” ฟ้องต่อศาลเองได้ ซึ่งแน่นอนว่า ป.ป.ช.เป็นผู้ชี้มูลเอง ย่อมไม่ทำอะไรย้อนแย้งอย่างการ “ไม่สั่งฟ้อง”

และหากศาลรับคำฟ้องนั่นหมายถึง “วิรัช” จะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. อันรวมไปถึงตำแหน่ง “ประธานวิปรัฐบาล” ที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลง ปฏิบัติการ “เอาคืน” ย่อมต้องเริ่มต้นจากอีกฝ่ายแน่

เมื่อ “สองมิตร” ฝันอร่อยถึงเก้าอี้ “เกษตรฯ-พลังงาน”

อย่างไรก็ตาม “พลังประชารัฐ” มีโอกาสจะเป็น “พลังประชาเละ” เร็วกว่ากำหนดได้ หากหลังจากนี้เกิดความเคลื่อนไหว “วิ่งเต้น” เพื่อเข้าเป็นรัฐมนตรีของบางมุ้งในพรรค ซึ่งจากการตรวจสอบเบื้องลึกพบว่า มีการเคลื่อนไหวหลักๆ อยู่ 2 กลุ่มคือ “กลุ่มวิรัช-เสี่ยเฮ้ง” และ “กลุ่มสองมิตร” ของ “สุริยะ-สมศักดิ์” ที่ระยะหลังออกตัวแรงยิ่งกว่า สัญญาณ 5G ถึงขนาดกล้าสวน “ลุงตู่” ว่าจะมีการปรับคณะรัฐมนตรีร้อยเปอร์เซ็นต์

เพราะชัดเจนแล้วกลุ่มที่ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงกรรมการบริหารในพรรคไม่ได้เป็นเพื่ออยากจะขับเคลื่อนพรรคไปข้างหน้า เพื่อให้เป็นพรรคอันดับ 1 ของประเทศแทนที่พรรคเพื่อไทย ไม่ได้เป็นเหมือนที่ “สมศักดิ์” ใช้คำหวานเจี๊ยบว่า “การลาออกของกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ เพื่อให้มีการเลือกตั้งกรรมการชุดใหม่ เปรียบเสมือนแก้วที่ตกผลึกแล้ว และกำลังจะถูกเจียระไนให้มีมูลค่าสูงขึ้น” หากแต่เป็นเพียง “บันได” ขั้นแรก เพื่อนำไปสู่การเป็นรัฐมนตรีของใครบางคน เพราะมีข่าวลือมาตลอดว่า บรรดามุ้งต่างๆ ไม่ได้พิศวาสกับการเป็นกรรมการบริหารพรรคแต่อย่างใด เพียงแต่เห็นว่า บุคคลที่ได้เป็นหัวหน้า-เลขาธิการพรรค จะช่วยการันตีความเป็น “เสนาบดี” ได้

ดังเช่นที่ ณ เวลานี้ “เสี่ยแฮงค์-อนุชา นาคาศัย” กำลังแย่งชิงเก้าอี้ “เลขาธิการพรรค”กับ “ว่าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอย่าง “สันติ พร้อมพัฒน์” หลังเสร็จศึกยึดอำนาจ

การโค่น “อุตตม-สนธิรัตน์” เป็นเพียงการเปิดทาง ให้เก้าอี้ รัฐมนตรีว่างลง 2 ตำแหน่ง และการทำให้กลุ่ม “เฮียกวง” ต้องไปยกยวง ก็จะทำให้เก้าอี้เสนาบดีว่างถึง 4 ตำแหน่ง เป็นแค่เพียงการ “เปิดพื้นที่” ให้บุคคลที่ต่อแถวรอเป็นรัฐมนตรี ได้มีโอกาสจะเข้าไปเสียบเท่านั้น เรื่องพรรคเป็นเพียงข้ออ้าง

ดังนั้น หากมีการเคลื่อนไหวเพื่อต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรีหลังจากนี้ ก็จะเป็นการถลกหนังให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงกรรมการบริหารพรรคเที่ยวนี้ของพรรคพลังประชารัฐ เป็นไปเพื่อ “ผลประโยชน์” ของ “ใครบางคน” เท่านั้น โดยเฉพาะพวกที่กระสันอยากเป็น 1 ใน 35 เสนาบดีในรัฐบาลประยุทธ์

ที่สำคัญคือ อย่าลืมว่ากลุ่มรัฐมนตรีที่ถูกแซะขาเก้าอี้อย่างหนัก ล้วนแล้วแต่ผู้รักษา “ถ้ำผลประโยชน์” อยู่ ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงพลังงานของ “สนธิรัตน์” หรืองบประมาณจากเงินกู้ 4 แสนล้านบาท ที่ “เสือหิว-เสือโหย” จ้องอยู่ ก็อยู่ในกำกับของ “อุตตม” รวมไปถึง “สมคิด” ด้วย แล้วข่าวก็ “แพลม” ออกมาแล้วว่า “ใคร” หมายปองเก้าอี้ตัวไหน

ทั้งนี้ หากพุ่งเป้าไปที่ “สองมิตร” ซึ่งกำลังหน้าบานเพราะได้รับเครดิตว่าเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ยึดพรรคได้สำเร็จก็จะพบว่า มีกระแสการเจรจาต่อรองเรื่องเก้าอี้รัฐมนตรีตัวสำคัญเอาไว้เป็น “ของกำนัล” ล่วงหน้าตามสัญญาลูกผู้ชาย นั่นก็คือ “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน” ที่ “สุริยะ” หมายมั่นปั้นมือมาตั้งแต่แรก แต่ต้องอกหักเพราะเกิดการแก่งแย่งจน “ลุงตู่” ต้องมาฟันธงยกเก้าอี้ให้ “สนธิรัตน์” ขณะที่ “สุริยะ” ต้องกลืนเลือดไปนั่งเก้าอี้ตัวเล็กที่ “กระทรวงอุตสาหกรรม”

นอกจากนั้น อีกหนึ่งเก้าอี้ที่กำลังมาแรงทุกขณะก็คือ “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์” ซึ่งแน่นอนว่าจะเป็นเสียมิได้นอกจาก “สมศักดิ์” ที่หมายมั่นปั้นมือมาตั้งแต่แรกเช่นกัน แต่จำใจต้องยอมเพราะเป็นเงื่อนไขสำคัญในการร่วมรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์ และสุดท้าย “เสี่ยต่อ-เฉลิมชัย ศรีอ่อน” ก็รั้งเก้าอี้ตัวนี้ ขณะที่ “สมศักดิ์” ต้องไปนั่ง “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม”

เพราะฉะนั้น ถ้ามีโอกาสมีหรือที่เจ้าของโครงการลือลั่น “โคล้านตัว” จะไม่ฝันถึง


นายสมศักดิ์ เทพสุทิน | นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ
แต่ประเด็นก็คือ ทั้งสองเก้าอี้อาจจะกลายเป็นชนวนขัดแย้งทั้งในระดับพรรคพลังประชารัฐและพรรคร่วมรัฐบาล กล่าวคือ เก้าอี้ รมว.พลังงานก็เป็นที่หมายปองของ “เสี่ยตั้น-ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ” ที่อยากจะลาขาดจากกระทรวงศึกษาธิการวันละสามเวลาหลังอาหาร ดังนั้น คงต้องเกิดมีการประดาบให้เห็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ขณะที่เก้าอี้ รมว.เกษตรฯ ก็ไม่ใช่ว่า “สมศักดิ์” จะได้มาง่ายๆ เพราะพรรคประชาธิปัตย์ย่อมไม่ยอม ด้วยเหตุนี้ จงอย่าแปลกใจว่า ทำไมอยู่ที่ถึงมีข่าวสลับข้างสลับขั้ว “ถีบประชาธิปัตย์ดึงเพื่อไทย” มาร่วมรัฐบาลแทนออกมา

ก็รู้ๆ กันอยู่ว่า “สองมิตร” กับ “เพื่อไทย” เขารู้จักมักจี่กันมาแต่เก่าก่อน ยิ่งเพื่อไทยมีข่าวพรรคแตก ตั้งพรรคใหม่ออกมา ก็ยิ่งมีความเป็นไปได้ไม่ใช่น้อย

จับตา “ลุงตู่” จะปรับใหญ่ ปรับกลางหรือปรับเล็ก

อย่างไรก็ดี ทั้งหลายทั้งปวงคงต้องจับตา “ลุงตู่” ผู้มีอำนาจโดยตรงว่าจะตัดสินใจอย่างไร เพราะแม้ที่ผ่านมา “ลุงตู่” จะแสดงทีท่าว่า ไม่ขวางสำหรับการเปลี่ยนแปลงกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ แต่เรื่องปรับ ครม. คง “ลุงตู่” ก็ไม่ได้ปฏิเสธแบบชัดๆ เช่นกันว่า จะไม่ปรับ ซึ่งอาจจะไม่ปรับในช่วงนี้จริง แต่เมื่อฝุ่นหายตลบและสถานการณ์เหมาะสมแล้วอาจปรับก็ได้

ดังนั้น การเดินไปสู่บันไดขั้นต่อไปของเหล่ามุ้งต่างๆ ที่อยากจะได้เก้าอี้เสนาบดี อาจจะไม่ง่ายอย่างที่คิด โดยเฉพาะการที่ “บิ๊กตู่” มีนิสัยที่แสดงออกค่อนข้างชัดว่า ไม่ชอบให้ใครมาบังคับ หรือชี้นำ

“บิ๊กตู่” มีลิสต์รายชื่อทั้งหมดว่า ช่วงที่ผ่านมา “ใคร” คือ บุคคลที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวต่างๆ ภายในพรรคพลังประชารัฐ และมีผลต่อการตัดสินใจในการปรับ ครม.ที่จะมาถึง

ที่สำคัญคือความวุ่นวายในพรรคพลังประชารัฐกำลังสั่นคลอนความนิยมที่กำลังดีวันดีคืนของ “บิ๊กตู่” อย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะจากบรรดา “กองเชียร์” ที่รับไม่ได้กับปฏิบัติการยึดพรรคซึ่งนำไปสู่การปรับเก้าอี้คณะรัฐมนตรีที่กำลังจะมาถึงในไม่ช้า

ดังเช่นที่ ดร.เสรี วงษ์มณฑา ผู้ร่วมก่อตั้งสถาบันทิศทางไทย นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนและการตลาด โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเอาไว้อย่างหนักหน่วงว่า “กินอิ่มแล้วว่างมาก ไม่มีอะไรทำแล้วหรือ ถึงออกมาแสดงให้ชาวบ้านเห็นว่า พรรคมีความแตกแยก ช่วงชิงอำนาจ (สู่ผลประโยชน์?) รู้ตัวบ้างไหมว่า ชนะเลือกตั้งเพราะอะไร ได้เป็นรัฐบาลเพราะอะไร สำคัญผิดคิดว่าตัวเองมีแสงในตัวกระนั้นหรือ ลองใช้สมองตรองดูให้ดีเถิด ประชาชนเขาจำใจเลือกบางคนทั้งๆ ที่ไม่อยากจะเลือก เพราะเขาต้องการให้ลุงตู่เป็นนายกฯ แล้วพวกคุณจึงได้ตำแหน่งรัฐมนตรี

และทำให้ ครม. ของลุงตู่ไม่สง่างาม เพราะมีคุณบางคนได้ตำแหน่ง การที่คุณขัดแย้งกันนี่ คุณมองไม่เห็นหัวลุงตู่เลยหรือ คุณไม่มีความเกรงใจลุงตู่เลยแม้แต่น้อย นอกจากพวกคุณจะทำสิ่งที่ไม่ควรทำแล้ว คุณยังไม่รู้กาลเทศะด้วยนะ เวลาลุงตู่กำลังเหนื่อยกับการทำงานร่วมกับบุคลากรทางการแพทย์ต่อสู้กับโควิด และต้องปรึกษาเจ้าสัวในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ท่ามกลางการแซะ แขวะ ด่า หาเรื่องของฝ่ายค้าน แล้วคุณจะสร้างปัญหาให้รัฐบาลให้นายกฯปวดหัวทำไม คุณเคยเอาตาดู ใช้หูฟังบ้างไหมว่า ประชาชนเขาเอือมระอานักการเมืองแค่ไหน จริงอยู่นักการเมืองที่เป็นคนเก่งคนดีพอมีอยู่ แต่นักการเมืองขี้โกง

เล่นการเมืองเพื่อผลประโยชน์มีมากเหลือเกิน และส่วนมากกระสันที่จะเป็นรัฐมนตรี โดยไม่ประเมินความสามารถของตนเลย ลองใช้เวลาที่อยู่บ้านเพื่อป้องกันการติดเชื้อโควิด คิดกำจัดเชื้ออะไรบางอย่างที่ทำให้พวกคุณทำสิ่งที่ประชาชนมองว่า “ชั่ว” ให้หมดจากความคิดของพวกคุณสักหน่อยดีไหมคะ เผื่อจะคิดได้ และทำสิ่งที่เหมาะที่ควร พฤติกรรมของพวกคุณตอนนี้ทำให้คนเกลียดนักการเมืองแล้วไม่อยากเลือกตั้งค่ะ ถ้าพวกเราไม่อยากให้มีเลือกตั้ง อย่าหาว่า เรานิยมเผด็จการนะคะ เราอยากได้คนเก่งมาเป็นรัฐมนตรีบริหารประเทศค่ะ ไม่ใช่พวกคุณที่แสดงอาการมองหาผลประโยชน์”

ฟังเสียงจากตัวอย่างกองเชียร์แล้วก็ต้องว่า “ลุงตู่” คงคิดหนัก

ทั้งนี้ ถ้าหากจะวิเคราะห์หรือคาดการณ์ก็ฟังธงได้ว่า ถึงอย่างไรก็ต้องปรับ แต่จะปรับอย่างไรให้ถูกใจเป็นเรื่องยาก เพราะฉะนั้นการปรับอาจจะมี “สูตร” ที่ต้องตระเตรียมไว้

ถ้าเป็น “ปรับเล็ก” และไม่ยุ่งยากกับใคร ก็คงต้องเล็งไปที่เก้าอี้ “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ” ที่มี “ทูตดอน ปรมัตถ์วินัย”** นั่งอยู่ในโควตาของ “ลุงตู่” เอง กับเก้าอี้ “รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี” ของ “เทวัญ ลิปตพัลลภ” เพราะเวลานี้เสียงรัฐบาลค่อนข้างมั่นคง ไม่ต้องอาศัย 3 เสียงของพรรคชาติไทยพัฒนาเหมือนที่ผ่านมา

ถ้าเป็น “ปรับกลาง” นอกจาก 2 เก้าอี้ข้างต้นแล้ว ก็อาจจะกินเข้าไปที่ “สี่กุมาร” ในเก้าอี้ “รมว.พลังงาน” และ “รมว.อุดมศึกษาฯ” ส่วนเก้าอี้ “รมว.คลัง” ของ “อุตตม” กับ “รองนายกฯ” ของ “เฮียกวง” น่าจะยังคงอยู่เหมือนเดิม

ส่วนถ้าเป็น “ปรับใหญ่” ก็อย่างที่ว่าคือ “พลังงาน-เกษตรฯ-คลัง-อุดมศึกษาฯ-ต่างประเทศ-ประจำสำนักนายกฯ-รองนายกฯ” ที่จะเกิดความโกลาหลไม่น้อยดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นว่าจะไปกระทบกับ “พรรคประชาธิปัตย์” ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่และต้องตัดสินใจให้รอบคอบเพราะจะนำมาซึ่งสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดได้

ที่สำคัญคือ การปรับในลักษณะที่นำ “นักการเมือง” มาทั้งยวง โดยที่ไม่มี “เทคโนแครต” หรือ “นักวิชาการ” มาเป็นส่วนผสม ก็จะยิ่งเป็นเป้าของการวิพากษ์วิจารณ์หนักขึ้นด้วยแสดงให้เห็นถึงการเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ในสายตาของประชาชน เพราะสังคมเห็นแล้วว่ามีงบประมาณ 4 แสนล้านรออยู่เบื้องหน้า

จีบ “เพื่อไทย”เปิดทางซูเปอร์ดีล?
ทีนี้ ก็มาถึงกระแสข่าว “ซูเปอร์ดีล” ที่รีเทิร์นกลับมาอีกครั้ง ว่าอาจมี “การเมืองภาคพิสดาร” การผสมพันธุ์กันระหว่าง “ค่ายทหาร” พรรคพลังประชารัฐ กับ “ค่ายทักษิณ” พรรคเพื่อไทย ในการเข้าร่วมรัฐบาล

พูดไปถึงขนาดจะยก “กระทรวงหมอ” ที่คุ้นเคยให้ “คุณเธอ” ด้วย

ว่ากันว่า เมื่อไม่นานมานี้ “บิ๊กเพื่อไทย” ระดับคุมงานยุทธศาสตร์ ควง “เลขาฯคู่ใจ” พร้อม “เสี่ย ก.” ไม้เบื่อไม้เมา คสช.เข้าไปเจรจาถึงโอกาสความน่าจะเป็นในการนำ “เพื่อไทยบางส่วน” มาเข้าร่วมรัฐบาล เป้าหมายก็เพื่อลด “อำนาจต่อรอง” ของพรรคร่วมรัฐบาล ทั้ง “ภูมิใจไทย - ประชาธิปัตย์” ที่ไม่เพียง “ขี่คอ” พรรคพลังประชารัฐ ยังออกลูก “งอแง” บ่อยครั้งด้วย

แต่เมื่อย้อนไปเมื่อ “ศึกซักฟอก” อภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่ว่ากันว่ามี “มหกรรมล้มมวย” ที่ไม่ใช่ฝีมือ “งูเห่า” แต่เป็นการวางงานระดับ “พญางูเห่า” จนคนที่เป็นตำบลกระสุนตกมาตลอด รอดปลอดภัยจากศึกซักฟอกไปแบบไร้บาดแผล

กลับกันฟาก “เพื่อไทย” เองก็เห็นอยู่ว่าตลอด 1 ปีที่ผ่านมาของสภาฯ และเกือบปีของรัฐบาลประยุทธ์ 2 ไม่มีโอกาสใกล้เคียงกับการล้มรัฐบาลได้เลย ซ้ำร้ายยังเป็นฝ่ายค้าน และพรรคเพื่อไทยเองที่ “สาละวันเตี้ยลง” ทั้งในแง่กระแส หลังรัฐบาลทำผลงานได้ดีในช่วงโควิด-19 หรือในแง่จำนวน ส.ส.ที่ลดน้อยถอยลง จากที่หายใจลดต้นคอรัฐบาล ก็ห่างออกไปเรื่อยๆ

แล้วสภาพใน “ค่ายทักษิณ” ก็แห้งแล้งยิ่งกว่าทะเลทราย ฟ้าฝนไม่ตกมานาน จน ส.ส.แต่ละคนเข้าขั้นอดยากปากแห้ง

เป็นสภาวการณ์ที่ยากจะต่อกรกับรัฐบาลพลังประชารัฐ แนวคิด “ดีลพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน” จึงเกิดขึ้น

จริงอยู่หลังมีกระแสข่าวหนาหูขึ้น “เฮียพงษ์” สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร จะออกมาสยบข่าว โดยการออกแถลงการณ์ยืนยันว่า ตราบใดที่ยังเป็นหัวหน้าพรรคอยู่ จะไม่ยอมนำพรรคเพื่อไทยเข้าร่วมรัฐบาลพลังประชารัฐอย่างแน่นอ เพราะถือเป็นการทรยศกับเจตนารมณ์ของประชาชนที่เลือกเข้ามา

คำยืนยันของ “เฮียพงษ์” เสียงดังฟังชัด แต่กลับไม่ได้ทำให้ข่าวลือเบาบางลงเลย

แน่นอนว่าหาก “ดีลพิสดาร” เกิดขึ้นจริง ในแง่คณิตศาสตร์ ย่อมทำให้รัฐบาลเข้มแข็งขึ้นตามจำนวน ส.ส.ที่เพิ่มขึ้น

แต่ที่น่ากังวลคือ “เอฟเฟกต์” ที่จะตามมา โดยเฉพาะบรรดา “กองเชียร์” ที่ไม่ได้มีความผูกพันกับพรรคพลังประชารัฐสักเท่าใด หากแต่เลือกเพราะม็อตโต้ “ความสงบจบที่ลุงตู่” ที่สำคัญคือ “กองเชียร์ลุง” นั้นเป็นไม้เบื่อไม้เมากับเพื่อไทยอย่างชัดแจ้งจนไม่สามารถร่วมหอลงโรงได้ ดังนั้น ถ้าเป็นสูตรนี้รับประกันได้เลยว่า “พังทั้งยวง” เพราะแค่เห็นการยึดพรรคพลังประชารัฐที่ลามไปถึงการปรับ ครม.ยังรับไม่ได้ส่ายหัวเป็นทิวแถว

ดูอย่าง “ลุงป้อม” นั่นปะไร ไม่รู้อีท่าไหนถึงได้หลุดปากออกมาเมื่อวันที่ 4 มิถุนายนว่า “ไม่พร้อมนั่งหัวหน้าพรรค” เอาเสียอย่างนั้น แม้จะดูทรงแล้วว่าน่าจะเป็น “การตัดรำคาญ” ที่ถูกถามถึงบ่อยๆ แต่ก็ใช่ว่าจะมองข้ามไปได้

ทำเป็นเล่นไป ถ้าชะล่าใจและไม่ฟังเสียงประชาชนอาจได้เห็นการ “ลงถนน” กันอีกครั้งหนึ่งก็เป็นได้.

กำลังโหลดความคิดเห็น