ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ความพยายามกลายเป็นศูนย์หรือไม่? สำหรับการลดใช้ถุงพลาสติกเพื่อลดปริมาณขยะลงตาม “โรดแมปการจัดการขยะพลาสติก” เพราะหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 พบว่าได้สร้าง “ขยะฟู้ดดีลิเวอรี” ในเขตเมืองเพิ่มขึ้นเท่าตัว
ตั้งแต่ ปี 2562 ประเทศไทยมีนโยบาย “บอยคอตถุงพลาสติก” ลดปัญหาขยะพลาสติกล้นเมือง ร่วมกันขับเคลื่อนตามโรดแมปการจัดการขยะพลาสติกปี 2562 -2573 และมีเป้าหมายลดและเลิกใช้พลาสติก 7 ชนิด ภายในปี 2565 ตลอดจนมีการประเมินผลลัพธ์เป็นประจักษ์ในระดับหนึ่ง
จวบจนเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของ “โควิด-19” ลุกลามไปทั่วโลกตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว กระทั่งรัฐบาลไทยประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน “ล็อกดาวน์ประเทศ” เพื่อควบคุมการระบาดฯ ตั้งแต่ช่วงเดือน มี.ค. เดือน เม.ย. 2563 ขอความร่วมมือให้ประชาชนกักตัวอยู่บ้าน รวมถึงทำงานอยู่บ้าน (Work from Home) ทำให้ประชาชนหันมาใช้บริการสั่งอาหารในรูปแบบ “ฟู้ดดีลิเวอรี (Food delivery)” ผ่านแอปพลิเคชั่นผู้ให้บริการต่างๆ กันมากขึ้น กลายเป็นปัจจัยการเพิ่มปริมาณขยะพลาสติกสูงขึ้นเป็นเท่าตัว
ในช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย การเติบโตของแอปพลิเคชั่นฟู้ดีลิเวอรีสูงขึ้นหลายเท่า โดยเฉพาะยักษ์ใหญ่ในตลาด อาทิ ไลน์แมน (LINEMAN) ตัวเลขการเติบโต 300%, แกร็บฟู้ด (GRAB FOOD) ตัวเลขการเติบโตสูงถึง 400%
ส่วนรองลงมาอย่าง ฟู้ด แพนด้า (FOOD PANDA) นับตั้งแต่เดือน ก.พ. - มี.ค. มียอดสั่งอาหารเติบโตมากว่า 50% ส่วนในเดือน เม.ย. เพิ่มขึ้นอีก 10% หรือ เก็ท (GET) ที่เข้ามาชิงส่วนแบ่งตลาดฟู้ดดีลิเวอรี่ได้ไม่นาน ยอดสั่งอาหารเติบโตรับอานิสงส์ไปด้วย
กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ประเมินตัวเลขขยะจากฟู้ดดีลิเวอรี โดยเฉพาะจำพวกพลาสติกจากผลิตภัณฑ์ใส่อาหาร ช่วงเดือน ม.ค. - มี.ค. ที่ผ่านมา กทม. พบแนวโน้มปริมาณขยะช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ปริมาณขยะจากครัวเรือนน้อยลงกว่าช่วงปกติ แต่กลับพบขยะพลาสติกมีปริมาณเพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณ 15 % หรือ จากปริมาณปกติ 5,500 ตันต่อวัน เป็น 6,300 ตันต่อวันโดยเฉพาะประเภทกล่องพลาสติกใส่อาหารสำเร็จรูป หรืออาหารแบบดีลิเวอรี ช้อนส้อมพลาสติก แก้วพลาสติก และหลอดดูดที่ใช้กับเครื่องดื่ม
สอดคล้องกับข้อมูลจาก ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่าในช่วงโควิด-19 แพร่ระบาด พบว่าเขตเมืองต่างๆ แม้ภาพรวมปริมาณขยะรวมลดลง แต่ขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นทวีคูณ เนื่องจากการสั่งอาหารรูปแบบฟู้ดดีลิเวอรีส่งถึงที่บ้านหรือที่ทำงาน ซึ่งมีบริการในหลายจังหวัดในประเทศไทย และแต่ละครั้งที่สั่งอาหาร มีจำนวนพลาสติกไม่น้อยกว่า 5 ชิ้น
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เผยแพร่บทความเรื่อง “ขยะพลาสติกจากฟู้ดดีลิเวอรี : อิ่มท้องอย่างไร โดยไม่กระทบสิ่งแวดล้อมในช่วงล็อกดาวน์โควิด-19” เปิดเผยข้อมูลขยะพลาสติกจากบริการส่งอาหารในรูปแบบฟู้ดดีลิเวอรีเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว ระบุว่า ปี 2562 ก่อนเกิดแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ธุรกิจฟู้ดดีลิเวอรีมีมูลค่าสูงถึง 3.3-3.5 หมื่นล้านบาท จากยอดสั่งซื้อ 20 ล้านออเดอร์ ก่อให้เกิดขยะโดยเฉพาะขยะพลาสติกสูงถึง 140 ล้านชิ้น โดยประมาณการจากข้อมูลที่ระบุว่าการสั่งอาหารผ่านฟู้ดดีลิเวอรีแต่ละครั้งสร้างขยะสูงสุด 7 ชิ้น ได้แก่ กล่องอาหาร ถุงใส่น้ำจิ้ม ช้อนพลาสติก ส้อมพลาสติก ถุงใส่ช้อนส้อม ถุงน้ำซุป และถุงพลาสติกหูหิ้ว สำหรับใส่อาหารทั้งหมด ดังนั้น ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 คาดการณ์ว่าปริมาณขยะดีลิเวอรีเพิ่มขึ้นเท่าตัว หมายความว่าในช่วงโควิด-19 คาดว่าขยะพลาสติกจากฟู้ดดีลิเวอรีมีปริมาณสูงถึง 280 ล้านชิ้น
กล่าวสำหรับ การบริการอาหารในรูปแบบ Food delivery เติบโตต่อเนื่อง พร้อมๆ กับการเติบโตของระบบ Online Shopping ซึ่งมีการขยายตัวชัดเจนมาตั้งแต่ 2-3 ปีที่ผ่านมา ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมทั้งเมืองใหญ่ต่างๆ เนื่องจากผู้บริโภคต้องการความสะดวกสบายมากขึ้น มีความก้าวหน้าด้าน เทคโนโลยี และการเดินทางที่ไม่สะดวก
ก่อนหน้านี้ มีการคาดกันว่า Food delivery จะเติบโตประมาณปีละ 10 -20 % ในภาวการณ์ปกติ แต่ในช่วงโควิด-19 และการประกาศภาวะฉุกเฉินในเดือนมีนาคมและเมษายน 2563 กลับมีการเติบโตมากว่า 100 %
สิ่งที่ตามมาด้วย คือ ขยะพลาสติก ที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นจากกิจกรรมดังกล่าวด้วย ขยะจากการส่งอาหารประกอบด้วยบรรจุภัณฑ์หีบห่อและอุปกรณ์ แต่ละที่มีการสั่งอาหารผ่านฟู้ดดีลิเวอรีเกิดขยะพลาสติกไม่น้อยกว่า 5 ชิ้น ได้แก่ ถุงพลาสติก กล่องกระดาษใส่อาหาร กล่องพลาสติกใส่ อาหาร กล่องพลาสติก/ซองพลาสติกแยกชนิดอาหาร ซองเครื่องปรุงรส แก้วพลาสติกใส่เครื่องดื่ม ตะเกียบไม้หรือพลาสติก ช้อนและส้อมพลาสติก พร้อมซองพลาสติกใส่ตะเกียบหรือช้อน กระดาษทิชชู เป็นต้น ยิ่งไปกว่านั้นหากจัดการขยะพลาสติกไม่ถูกต้องอาจรั่วไหลสู่สิ่งแวดล้อม แม่น้ำ ลำคลอง ทะเล ฯลฯ ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติอย่างเลี่ยงไม่ได้
ตามข้อมูลข้างต้นระบุว่า บริการฟู้ดดีลิเวอรีในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมทั้ง เมืองใหญ่ต่างๆ ขยายตัวมากกว่า 100% ในช่วงรัฐบาลประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ล็อกดาวน์ประเทศขอความร่วมมือประชาชน “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” นับเป็นการสร้างขยะพลาสติกจากบรรจุภัณฑ์มหาศาล ฝังกลบมาตรการลดขยะพลาสติกในเมืองไทยที่รณรงค์กันในปี 2562 เป็นการชั่วคราว
“ปริมาณขยะเป็นเรื่องของวิกฤตซ้อนวิกฤตและต้องมีการเร่งรับมือ โดยการดำเนินการจัดการอย่างมีส่วนร่วมจาก ภาคประชาชน ภาครัฐ และ ภาคเอกชน มีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะแก้ไขปัญหานี้” นายวราวุธ ศิลปะอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวและสะท้อนถึงปัญหาขยะพลาสติกที่กำลังเกิดขึ้น
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2563 กระทรวงทรัพย์ฯ เป็นโต้โผในการรณรงค์เพื่อลดละเลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง หรือ single use plastic ตลอดจนคลอดโครงการส่งพลาสติกกลับบ้าน ภายใต้แนวคิดทุกครัวเรือนคือต้นทางที่สามารถมีส่วนรวมในการลด และจัดการกับปัญหาปริมาณขยะพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง ปักหมุดนำร่องโมเดลเรียกคืนขยะพลาสติก บนถนนสุขุมวิท ผ่านที่ดิสเคาน์สโตร์ ซูเปอร์มาร์เกต เป็นจุดรับขยะพลาสติกสะอาดและแห้งจากผู้บริโภค เพื่อเข้าสู่เครือข่ายผู้ให้บริการและขนส่งไปยัง “Waste hub” และเข้าสู่ขั้นตอนการรีไซเคิล (recycle) ไปจนถึงอัพไซเคิล (upcycle)
ทว่า เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นปัจจัยกระตุ้นขยะพลาสติกจากฟู้ดดีลิเวอรีทำให้หลายมาตรการเกี่ยวกับการจัดการขยะพลาสติกชะงักลง
อย่างไรก็ดี การจัดการขยะจากฟู้ดดีลิเวอรีในประเทศไทย ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย เริ่มตั้งแต่ “ผู้ประกอบการฟู้ดดีลิเวอรี” ต้องมีนโยบายชัดเจนต่อการลดใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติก เช่น Grab Food มีนโยบายลดขยะพลาสติกโดยเพิ่มตัวเลือก (Feature) ในแอปฯ ให้ลูกค้าสามารถกดเลือกรับหรือไม่รับช้อนส้อมและมีดพลาสติก รวมทั้ง ส่งเสริมให้ร้านอาหารที่เป็นพันธมิตรทางธุรกิจเปลี่ยนมาใช้ถุงกระดาษเพื่อทดแทนถุงพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง หรือ LINE MAN ที่ได้ประกาศร่วมรณรงค์ลดการใช้พลาสติกในการส่งอาหารร่วมกับพาร์ทเนอร์ร้านอาหาร มีตัวเลือกไม่รับช้อนส้อมหรือถุงพลาสติก โดยจะเริ่มใช้ในเดือน ส.ค. 2563
เช่นเดียวกับ “ร้านอาหาร” พาร์ทเนอร์ธุรกิจฟู้ดดีลิเวอรรีที่อาจเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ที่ใช้จากพลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single-use Plastics) เป็นภาชนะแบบย่อยสลายได้ เช่นบรรจุภัณฑ์ที่ทำจากชานอ้อย สามารถย่อยสลายได้ภายใน 45 วัน ถุงพลาสติกคุณภาพสูงพิเศษที่ผลิตจากพลาสติกรีไซเคิลที่มีความหนาถึง 5 เท่า ในการให้บริการจัดส่งอาหารเพื่อให้ผู้บริโภคสามารถนำถุงพลาสติกมาหมุนเวียนใช้ซ้ำได้มากกว่า 20 ครั้ง เป็นต้น หากทำได้จะช่วยลดปริมาณการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งได้ถึง 1.2 ล้านชิ้นในปี 2563
และลำดับสุดท้าย “ผู้บริโภค” ประชาชนทั่วไปสามารถเป็นส่วนหนึ่งในลดขยะพลาสติกจากบริการฟู้ดดีลิเวอรีได้โดยทำได้โดย “ลด” และ “คัดแยก” ในส่วนของการลดขยะพลาสติกสามารถปฏิเสธที่จะรับช้อนส้อมพลาสติก หรือหลอดพลาสติกเวลาสั่งอาหารผ่านแอปฯ ฟู้ดดีลิเวอรรี หันมาใช้วัสดุอุปกรณ์ใช้ซ้ำแทน
ในส่วนของการคัดแยก กรณีที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงบรรจุภัณฑ์หรือภาชนะพลาสติกได้ สิ่งที่ผู้บริโภคควรทำคือการคัดแยกบรรจุภัณฑ์พลาสติก โดยแยกขยะประเภทเศษอาหารแล้วล้างทำความสะอาดบรรจุภัณฑ์ แล้วจึงรวบรวมขยะพลาสติกเหล่านี้ไปทิ้ง ซึ่งการคัดแยกดังกล่าวจะช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกที่ถูกส่งไปฝังกลบ และเพิ่มการนำพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ ผ่านกระบวนการ Recycle หรือ Upcycle ของบริษัทเอกชน และเพื่อให้ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) นอกจากนี้ ขยะพลาสติกจากฟู้ดดีลิเวอรีที่ผ่านการทำความสะอาดแล้ว สามารถนำไปทำเชื้อเพลิงทดแทนถ่านหินในเตาผลิตปูนซีเมนต์อีกด้วย
กรณี “ขยะฟู้ดดีลิเวอรี” กำลังซ้ำเติมสถานการณ์ขยะพลาสติกในเมืองไทย การแก้ปัญหาขยะพลาสติกล้นเมืองเป็นประเด็นที่น่าจับตา หากไม่มีการรณรงค์สร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วนโดยเร็ว หลังโควิด-19 คลี่คลาย ภาครัฐคงต้องเริ่มนับหนึ่งแก้ปัญหากันใหม่