ยุค New Normal วิถีชีวิตใหม่ด้วยการสั่งอาหารออนไลน์เข้ามามีบทบาทในการใช้ชีวิตคนมากขึ้น เพราะเป็นทางเลือกที่สะดวกสบาย และทำให้คนรู้สึกว่า ปลอดภัย แต่หลายคนอาจมองข้ามปัญหาที่ตามมาด้วย คือขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นสูงอย่างก้าวกระโดด
ลองมาดูการคาดการณ์สถิติขยะพลาสติกจากการสั่งอาหารออนไลน์กันว่าน่าจะเพิ่มขึ้นทวีคูณขนาดไหนในช่วงปกติก่อนจะมีการระบาดของ Covid-19 เครือบริษัท Food Passion ประมาณการว่า ธุรกิจการสั่งอาหารออนไลน์สร้างขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งสูงถึง 560 ล้านชิ้นต่อปี
แต่พอช่วงถัดมาที่มีการแพร่ระบาดโควิด (มี.ค.-พ.ค.63) การสั่งอาหารออนไลน์เพิ่มสูงขึ้น จากมาตรการสกัดการแพร่เชื้อ ล็อกดาวน์ ให้คนหยุดอยู่บ้าน ห้ามทานที่ร้าน ให้สั่งอาหารกลับบ้านอย่างเดียว อีกทั้งมีมาตรการ Social distancing ทำให้ยอดการสั่งอาหารออนไลน์เพิ่มสูงขึ้นทวีคูณ คาดการณ์ขยะพลาสติกที่เพิ่มขึ้นสูงถึง 300%
ก่อนหน้านี้ผู้บริโภคก็ตอบรับการสั่งอาหารออนไลน์เพิ่มขึ้น และมีแนวโน้มเติบโตอย่างก้าวกระโดด เมื่อปี 2562 GrabFood เจ้าเดียว มียอดสั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชั่น สูงถึง 120 ล้านออเดอร์ ในขณะที่ปี 2561 มีแค่ 3 ล้านออเดอร์เท่านั้น
ในปี 2562 ประมาณการมูลค่าตลาดธุรกิจการสั่งอาหารออนไลน์ที่ 33,000–35,000 ล้านบาท (โต 14% จากปี 2561) ขณะที่มูลค่าตลาดร้านอาหารโตเฉลี่ย 3-4% พอมาปีนี้สถานการณ์การระบาดของ Covid-19 เป็นตัวเร่งให้วิถีการบริโภคและธุรกิจการสั่งอาหารออนไลน์เติบโตเร็วขึ้น จึงคาดเดาได้ไม่ยากว่าขยะพลาสติกต้องมีปริมาณเพิ่มขึ้นมหาศาล
หลายคนอาจจะมองว่าการซื้ออาหารกลับมากินที่บ้านก็สร้างขยะ แต่ที่จริงแล้วเราสามารถนำภาชนะส่วนตัวไปซื้ออาหารเองได้ ขณะที่รูปแบบการสั่งอาหารออนไลน์ในปัจจุบันตัดโอกาสให้ผู้บริโภคได้ลดขยะด้วยการนำภาชนะส่วนตัวไปใส่อาหารเอง เพราะทางร้านอาหารจะจัดอาหารใส่บรรจุภัณฑ์และถุงพลาสติกมาให้พร้อมส่งถึงหน้าบ้าน
เมื่อได้รับความสะดวกสบายมากขึ้น เอาเวลาที่จะเลือกหาซื้ออาหารไปทำอย่างอื่น โดยเฉพาะชีวิตคนทำงานต้องแข่งกับเวลา การที่เลือกสรรอาหารถูกใจแค่ปลายนิ้ว จึงเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคให้ยอมรับได้ไม่ยาก ซึ่งคงเปรียบเหมือนกับการใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วที่สะดวกต่อการใช้มากกว่า ถึงแม้มีการรณรงค์ให้เลิกใช้โดยให้เหตุผลสร้างขยะทะเลที่ไปทำร้ายสัตว์น้ำ และสิ่งแวดล้อม แต่คนก็ยังไม่ยอมเลิกใช้ หากว่าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่ร่วมมือ
ดังนั้น แนวทางการแก้ปัญหาขยะพลาสติกที่เกิดจากการสั่งอาหารออนไลน์ก็คล้ายกับแนวทางการลดขยะทั่วๆ ไป คือ Reduce: เป็นวิธีที่ง่ายที่สุด แต่ลดขยะได้อย่างจำกัด Replace: เป็นวิธีที่ง่าย แต่มีต้นทุนในการจัดซื้อบรรจุภัณฑ์ Reuse: เป็นวิธีสามารถลดขยะได้มากที่สุด แต่คงขาดความสะดวกสบาย
ถึงตอนนี้บางแพลตฟอร์มเริ่มตั้งค่าให้ผู้บริโภคขอไม่รับช้อน-ส้อมพลาสติกแล้ว แต่ว่าร้านค้าหลายร้านก็ยังใจดีใส่มาให้อยู่ เพราะฉะนั้น การแก้ปัญหานี้จะให้แพลตฟอร์ม ร้านค้า ผู้บริโภค หรือภาครัฐแก้ปัญหาแต่ฝ่ายเดียวคงไม่ได้ ถึงเวลาที่ต้องจับมือทำไปพร้อมๆ กัน โดยมีแนวทางที่สามารถทำได้ ดังนี้
Reduce
แพลตฟอร์ม: ปรับการรับอุปกรณ์การกินให้เป็น opt-in ทั้งหมด
ร้านค้า: ไม่ให้ช้อนส้อม ถ้าผู้บริโภคไม่ขอ (อย่าให้ด้วยความเคยชิน)
ผู้บริโภค: ลดการสั่งอาหารออนไลน์ ไม่เลือกรับอุปกรณ์การกินต่าง ๆ รวมถึงซองซอส เครื่องปรุง ต่าง ๆ ถ้าไม่จำเป็น
ผู้ผลิต/ภาครัฐ/องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.): ต้องเร่งแก้กฎหมายให้บรรจุภัณฑ์อาหารใช้พลาสติกรีไซเคิลได้ และส่งเสริมการผลิตถุงพลาสติกจากพลาสติกรีไซเคิลในสัดส่วนที่มากขึ้น
Replace
● แพลตฟอร์ม: ช่วยเป็นตัวกลางหา suppliers เพื่อจำหน่ายบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และให้ส่วนลด fee กับร้านอาหารที่ใช้ eco-packaging ให้ส่วนลดผู้บริโภค จัดทำลิสต์ร้านอาหารที่ใช้ eco-packaging ให้ผู้บริโภคเลือกได้
● ร้านค้า: เปลี่ยนไปใช้ eco-packaging
● ผู้บริโภค: เลือกอุดหนุนร้านอาหารที่ใช้ eco-packaging และยอมจ่ายเงินเพื่อ eco-packaging มากขึ้น
● ผู้ผลิต/ภาครัฐ/อปท.: ให้หน่วยงานภาครัฐเป็นผู้นำในการอุดหนุน สั่งอาหารจากร้านที่ใช้ eco-packaging ทำการแบน/เก็บภาษีการใช้โฟม เพื่อให้บรรจุภัณฑ์ทางเลือกแข่งขันได้ ให้การรับรองร้านอาหารที่ใช้ eco-packaging และเร่งการแบนพลาสติก oxo อย่างเด็ดขาด
Reuse
● แพลตฟอร์ม: เพิ่มโมเดลผูกปิ่นโตผ่านแพลตฟอร์ม
● ร้านค้า: เพิ่มโมเดลผูกปิ่นโตกับลูกค้า
● ผู้บริโภค: อุดหนุนแพลตฟอร์ม หรือร้านอาหารที่มีโมเดลผูกปิ่นโตหรือใช้ภาชนะที่ใช้ซ้ำได้
● ผู้ผลิต/ภาครัฐ/อปท.: ให้ภาครัฐช่วยโปรโมต platform ที่ใช้บรรจุภัณฑ์ที่ใช้ซ้ำได้
Recycle
● ผู้บริโภค: จัดการภาชนะบรรจุให้สะอาดรวบรวมส่งรีไซเคิล หรือส่งไปเป็นพลังงานทดแทน
● ผู้ผลิต/ภาครัฐ/อปท.: เพิ่มจุด drop-off พลาสติกที่รีไซเคิล หรือแปลงเป็นพลังงานให้ทั่วถึง โดยตั้งตามปั๊มน้ำมัน สำนักงานเขต ที่ทำการชุมชน และให้อปท.แจกถุงขยะรีไซเคิลและประชาสัมพันธ์ให้ครัวเรือนแยกทิ้งและแยกเก็บด้วย
ทั้งหมดนี้ เป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน หากทำได้การสั่งอาหารออนไลน์ในบ้านเราสามารถจัดการขยะที่เกิดขึ้นได้มากทีเดียว
สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย แนะกลไกขับเคลื่อน
ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่า ตั้งแต่โรคโควิด-19 แพร่ระบาด พบว่าสัดส่วนขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นในเกือบทุกเมือง โดยเฉพาะจากการสั่งอาหารรูปแบบเดลิเวอรี่ (Food delivery) แต่ละครั้งที่สั่งอาหาร มีจำนวนพลาสติกไม่น้อยกว่า 5 ชิ้น ประกอบด้วยบรรจุภัณฑ์หีบห่อและอุปกรณ์ ได้แก่ ถุงพลาสติก กล่องกระดาษใส่อาหาร กล่องพลาสติกใส่อาหาร กล่องพลาสติก/ซองพลาสติกแยกชนิดอาหาร ซองเครื่องปรุงรส แก้วพลาสติกใส่เครื่องดื่ม ตะเกียบไม้หรือพลาสติก ช้อนและส้อมพลาสติก พร้อมซองพลาสติกใส่ตะเกียบหรือช้อน กระดาษทิชชู เป็นต้น"
ทั้งภาครัฐ ธุรกิจผู้ให้บริการ Food delivery และผู้บริโภค ล้วนเป็นกลไกขับเคลื่อนให้เปลี่ยนแปลงที่จะลดใช้พลาสติก ฝ่ายผู้บริโภคที่ใช้บริการ ต้องตระหนักถึงการเป็นผู้สร้างขยะ โดยการช่วยลดการใช้พลาสติกที่มาจากบรรจุภัณฑ์ ดังนี้
-ด้วยความต้องการความสะดวกสบายของผู้บริโภคส่วนใหญ่ เป็นตัวขับเคลื่อนให้ Food Delivery เติบโต การที่จะให้ผู้บริโภคที่มีขนาดใหญ่เป็นพลังปรับเปลี่ยนให้ Food Delivery ลดขยะ พลาสติกและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมน่าจะเป็นความท้าทาย
-การเข้าใจความต้องการของผู้บริโภคที่มีปัจจัยด้านราคาเป็นเงื่อนไขในการตัดสินใจจึงเป็นเรื่องสำคัญ รวมถึงต้องคิดถึงปัจจัยอื่นๆ ไม่ว่า ทางเลือกในการสั่งสินค้าแบบรับหรือไม่รับพลาสติก ความง่ายในการใช้งานแอปพลิเคชัน เป็นต้น
-สำหรับผู้บริโภคกลุ่มหนึ่งที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ควรจะมีทางเลือกในการสั่งอาหารแบบ Food Delivery ที่สามารถลดขยะพลาสติกและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือปฏิเสธบรรจุภัณฑ์พลาสติกบางประเภท
ฝ่ายผู้ประกอบการร้านอาหาร ผู้ให้บริการ แอปพลิเคชัน และผู้ผลิตสินค้าบรรจุภัณฑ์อาหาร ควรทำเพื่อลดปริมาณขยะพลาสติก ได้แก่
-งดการใช้และการให้พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single-use plastics) เช่น ช้อนส้อม หลอดกาแฟ เป็นต้น
-เลือกใช้บรรจุภัณฑ์แบบย่อยสลายได้ เช่น ผลิตภัณฑ์จากชานอ้อย จากกระดาษ เป็นต้น
-เลือกใช้บรรจุภัณฑ์อาหารแบบใช้ซ้ำ โดยจัดให้มีระบบค่ามัดจำบรรจุภัณฑ์ สำหรับลูกค้าเฉพาะกลุ่ม (niche market)
-ออกแบบบรรจุภัณฑ์อาหารให้เหมาะกับอาหารแต่ละประเภท เพื่อลดจำนวนขยะที่เกิดขึ้น เช่น มีช่องแยกชนิดอาหาร
-เพิ่มทางเลือกในการสั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชัน โดยระบุรับหรือไม่รับช้อนพลาสติก หรืออื่นๆ ที่ไม่ต้องการ
ส่วนการคัดแยกขยะ เพิ่มโอกาสให้ขยะพลาสติกที่เกิดขึ้นได้ถูกรวบรวมและนำไปแปรรูปกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ ถือว่าช่วยลดการใช้ทรัพยากรอีกทางหนึ่ง ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ทางภาครัฐต้องสร้างระบบการจัดการที่ทำให้ประชาชนมั่นใจว่าหากแยกขยะแล้วจะลดปริมาณขยะฝังกลบที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว พร้อมกับการแจกถุงขยะรีไซเคิลตามบ้าน รวบรวมเก็บขยะบางวัน มีจุดทิ้งขยะรีไซเคิลในชุมชน เป็นต้น
หรือแม้แต่การส่งเสริมและกำกับดูแลลดการใช้ Single-use plastics และมาตรการจูงใจเพื่อขยายตลาดสินค้าบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมให้แข่งขันได้
ดูเพิ่มเติม ขยะพลาสติกช่วงโควิด-19 - ปัญหาและทางออก https://drive.google.com/…/1E6kbyGRzzw5Ttn57Izx28-FzRJ…/view