ช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมา ประเทศไทยออกมาตรการล็อกดาวน์ อยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ เพื่อลดการรวมตัว ร้านอาหารจำหน่ายได้เฉพาะแบบกลับบ้าน ทำให้มีการสั่ง "ฟู้ด ดีลิเวอรี" จำนวนมาก
ที่สำคัญประชาชนไม่สามารถนำจานและแก้วของตัวเองไปซื้ออาหารและเครื่องดื่มได้อย่างที่เคยรณรงค์ เพราะมีโอกาสเสี่ยงที่จะติดเชื้อ ประกอบกับการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์จำนวนมาก ซึ่งสินค้าจะถูกห่อมาในพลาสติกกันกระแทกอย่างดี ส่งผลให้เกิดขยะพลาสติกขึ้นจำนวนมากในช่วงที่ผ่านมา ทั้งที่ก่อนหน้านี้ประเทศไทยพยายามรณรงค์ในการเลิกใช้พลาสติกต่างๆ
ข้อมูลจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ระบุว่า การหันมาจำหน่ายในรูปแบบดีลิเวอรีในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดปริมาณขยะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะขยะพลาสติก เช่น กล่องพลาสติกใส่อาหาร ช้อน ส้อม แก้ว หลอดดูด มีปริมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ 15 คือ จากปกติ 5,500 ตันต่อวัน เป็น 6,300 ตันต่อวัน เฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร (กทม.) มีประมาณ 1,500 ตันต่อวัน หรือ ใน 1 วัน ก่อให้เกิดขยะพลาสติก จากฟู้ด ดีลิเวอรี เฉลี่ย 11 ชิ้นต่อคน
ทำให้มีการคาดการณ์กันว่า ปี 2563 ประเทศไทยอาจมีขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นอีกถึง 30% จากปกติที่สร้างขยะพลาสติกประมาณปีละ 2 ล้านตัน
อย่างไรก็ตาม แม้ประเทศไทยเข้าสู่การผ่อนคลายมาตรการระยะที่ 4 มีการเปิดกิจการ/กิจกรรมต่างๆ เพิ่มมากขึ้น อย่างร้านอาหารก็อนุญาตให้กลับมานั่งกินในร้านได้ แต่ยังคงต้องอยู่ใน "ชีวิตวิถีใหม่ (New Normal)" คือ การสวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง และจำกัดจำนวนคนไม่ให้แออัด ทำให้การสั่งฟู้ด ดีลิเวอรี และสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ อาจจะไม่มากเท่าตอนช่วงปิดเมือง แต่บริการเหล่านี้ก็ยังคงมีอยู่
การจะใช้ชีวิตแบบ New Normal เพื่อป้องกันโรคโควิด-19 แต่ก็ยังช่วยลดมลพิษพลาสติกไปด้วยนั้น จะทำอย่างไรได้บ้าง
1. ใช้ผลิตภัณฑ์ธรรมชาติบรรจุอาหารแทนพลาสติก
พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แนะนำว่า ผู้ประกอบการร้านอาหารควรจะต้องกำจัดขยะให้ถูกวิธี และปรับเปลี่ยนจากภาชนะใส่อาหารประเภทโฟม หรือพลาสติก มาใช้ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากธรรมชาติแทน ซึ่งเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ เช่น ชานอ้อย มันสำปะหลัง และพลาสติกชีวภาพที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ โดยเลือกผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานจากในประเทศหรือต่างประเทศสำหรับใช้กับอาหาร ซึ่งผลิตภัณฑ์เหล่านี้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบมาใช้บรรจุอาหารเพียงครั้งเดียว ไม่สามารถใช้ซ้ำได้ แต่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ
2. หิ้วภาชนะตนเองไปซื้ออาหาร-เครื่องดื่มตามเดิม
เนื่องจากขณะนี้สถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศถือว่าดีขึ้นอย่างมาก จนถึงวันที่ 16 มิ.ย. การติดเชื้อภายในประเทศก็เป็น 0 มาแล้วถึง 22 วัน ก็เป็นโอกาสดีที่จะกลับมาใช้รูปแบบนี้อีกครั้ง เพื่อช่วยลดการใช้พลาสติก
พญ.พรรณพิมลกล่าวว่า ช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อป้องกันการติดเชื้อ ร้านต่างๆ จึงงดนำอุปกรณ์ภาชนะของตนเองมาใส่อาหารและเครื่องดื่ม เนื่องจากไม่มั่นใจ แต่จากสถานการณ์ในตอนนี้ที่ไม่พบรายงานการติดเชื้อในประเทศมานานมากกว่า 3 สัปดาห์ ก็ถือว่ามีความปลอดภัยระดับหนึ่ง ประกอบกับร้านอาหารและเครื่องดื่มก็มีมาตรการป้องกัน เช่น สวมหน้ากาก สวมเฟซชีลด์ สวมถุงมือ มีการทำความสะอาดเป็นประจำ ขณะที่ลูกค้าก็ต้องปฏิบัติตามมาตรการ คือ ภาชนะ เช่น ปิ่นโต จาน ชาม แก้วน้ำ ที่จะนำมาใส่ ก็ต้องทำความสะอาดมาก่อน ก่อนเข้าร้านก็มีการทำความสะอาดมือด้วยน้ำและสบู่หรือแอลกอฮอล์เจล อีกทั้งยังต้องสวมหน้ากากเมื่อออกมาข้างนอกอยู่แล้ว ความเสี่ยงต่างๆ ตรงนี้ก็ลดลงไป จึงมองว่า ถึงเวลาที่ร้านอาหารและเครื่องดื่มแต่ละแห่ง ควรกลับมาเปิดบริการในรูปแบบให้ลูกค้านำภาชนะของตนเองมาได้อีกครั้งแล้ว อย่างสหรัฐอเมริกาที่มีการระบาดมากๆ ร้านกาแฟสตาร์บัคส์ก็ยังหันกลับมาให้ลูกค้าพกแก้วมาเองได้
3. ลดการขอช้อนส้อมพลาสติกหรือหลอดพลาสติก
พญ.พรรณพิมลกล่าวว่า อีกแนวทางที่ช่วยลดการใช้พลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งได้ ก็คือ กาดงดรับช้อนส้อมหรือหลอดพลาสติก ซึ่งขณะนี้ฟู้ด ดีลิเวอรี หลายๆ เจ้าก็เป็ดบริการตรงนี้ ให้ลูกค้าสามารถเลือกได้ว่า ต้องการงดรับช้อนส้อม หลอดหรือไม่ ซึ่งมองว่าเป้นเรื่องที่ดี และไม่จำเป็นต้องขอมา เพราะหากสั่งมารับประทานที่บ้าน ในบ้านก็มีช้อนส้อมอยู่แล้ว
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการฟู้ด ดีลิเวอรีในประเทศไทย เช่น Grab Food และ LINE MAN ได้เพิ่มตัวเลือกในแอปพลิเคชัน ให้ลูกค้ากดเลือกรับหรือไม่รับช้อน ส้อม และมีดพลาสติก หรือถุงพลาสติกได้
4. นำกลับมาใช้ใหม่ (Reuse) ให้มากที่สุด
พญ.พรรณพิมลระบุว่า กรณีที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และได้บรรจุภัณฑ์ต่างๆ ที่เป็นพลาสติกมา เช่น กล่องอาหาร และอยู่ในสภาพที่ดี สามารถใช้งานต่อได้ ก็สามารถล้างทำความสะอาดและนำกลับมาใช้ใหม่ได้อีก เพื่อลดการสร้างขยะพลาสติก และเป็นการใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่าที่สุด
5. ใช้ถุงผ้าแทนถุงพลาสติก
ช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา ยังคงมีการใช้พลาสติกหูหิ้วกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งจริงๆ แล้วทุกคนสามารถนำถุงผ้ามาใช้ในช่วงโควิดหรือแม้แต่ชีวิตวิถีใหม่ที่จะเริ่มขึ้น ก็ยังสามารถนำถุงผ้ามาใช้ทดแทนถุงพลาสติกได้ตามเดิม ยิ่งจะมีการท่องเที่ยวภายในประเทศเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็เป็นอีกหนึ่งโอกาสที่จะช่วยกันลดขยะพลาสติกได้
พญ.พรรณพิมลย้ำว่า ขอให้ถือโอกาสนี้เป็นการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 และรักษาธรรมชาติด้วย การไปท่องเที่ยวตามที่ต่างๆ ควรพกถุงผ้าเพื่อเก็บขยะของตัวเองออกมา แล้วนำมาทิ้งลงในถังขยะที่เตรียมไว้ในพื้นที่ มั่นใจว่า เป็นวิถีชีวิตใหม่ที่คนไทยทำได้ นอกจากนี้ ยังอยากให้สวมหน้ากากผ้าตลอดเวลา แม้ว่าแหล่งท่องเที่ยวถือเป็นที่เปิดโล่งที่ใช้การเว้นระยะห่างก็ปลอดภัย แต่ถ้าสวมหน้ากากด้วยก็จะมั่นใจมากขึ้น นอกจากนี้ ขอให้อยู่ในกลุ่มก้อนของตัวเอง และอยู่ห่างจากกลุ่มอื่น อย่างไรก็ตาม ในระยะต่อไปอาจจะต้องออกมาตรการจำกัดคนเข้าไปท่องเที่ยวตามที่ต่างๆ เหมือนที่มีการจัดคิวร้านค้า และอย่าลืมเรื่องการล้างมือหรือเจลแอลกอฮอล์ เผื่อว่าไปยังจุดนัดหมายแล้วอาจจะมีที่ล้างมือไม่เพียงพอ
6. คัดแยกขยะพลาสติก นำกลับมารีไซเคิล
ล่าสุด กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้เปิดตัวโครงการเปลี่ยนพลาสติกเป็นบุญ เนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก โดยขอให้ประชาชนส่งคืนพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (Single-use plastics) ผ่านจุดรับคืน (Drop point) ตามสถานที่ต่างๆ อาทิ หน่วยงานภาครัฐ 20 กระทรวง และภาคีเครือข่ายจากมหาวิทยาลัย ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อ เพื่อนำไปรีไซเคิลใหม่
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวง ทส. กล่าวว่า ขยะพลาสติกที่รวบรวมได้นั้น จะถูกนำกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล หรือ อัปไซเคิล เพื่อใช้ประโยชน์ใหม่ เช่น นำไปผ่านกระบวนการอัปไซเคิลเป็น “จีวรรีไซเคิล” ซึ่งบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ได้ร่วมกับวัดจากแดง ริเริ่มขึ้น โดยขยะพลาสติกจากโครงการเปลี่ยนพลาสติกเป็นบุญจะได้รับการนำไปอัปไซเคิล เป็นจีวรรีไซเคิลเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาในช่วงเข้าพรรษา หรือนำผลิตภัณฑ์ที่ได้มอบให้กับมูลนิธิสนับสนุนเครื่องมืออุปกรณ์ในการรักษาและช่วยชีวิตสัตว์ทะเล โดยจะวางแผนขยายเครือข่ายและยกระดับการดำเนินงานจัดการปัญหาขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวให้ครอบคลุมทุกภาคส่วนมากยิ่งขึ้น เช่น การคมนาคมขนส่งของประเทศ โครงข่ายอินเทอร์เน็ต และโทรคมนาคมต่างๆ
พญ.พรรณพิมลย้ำว่า สธ.กับ ทส.มีความร่วมมือกันมาตลอด การตั้งจุดรับขยะพลาสติกในที่ต่างๆ รวมถึง สธ.ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะช่วยให้ขยะพลาสติกเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลโดยตรงและมีความรวดเร็ว หากเป็นการทิ้งขยะตามบ้านทั่วไป แม้จะแยกขยะแล้ว แต่สุดท้สยก็อาจถูกนำกลับไปรวมกันอีก แต่การตั้งระบบแยกแบบนี้ ให้ประชาชนแยกขยะพลาสติกออกมา แล้วนำมาทิ้งหรือส่งคืนตามจุดต่างๆ ก็ไม่ต้องไปผ่านกระบวนการคัดแยกขยะตามระบบเดิมอีก แต่จะมีความง่ายมากขึ้นในการส่งตรงไปรีไซเคิลได้ทันที
ช่วงล็อกดาวน์ที่ผ่านมา สังเกตได้ว่า ธรรมชาติตามแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ก็ได้ฟื้นฟู เมื่อต้องมีชีวิตวิถีใหม่ มี New Normal เพื่อป้องกันโรคโควิดแล้ว หากคำนึงเรื่องลดการใช้พลาสติกเพื่อลดขยะและมลพิษจากพลาสติกเข้าไปเป็น New Normal ด้วย ไม่ว่าจะพกถุงผ้า นำภาชนะตัวเองไปใส่อาหาร เครื่องดื่ม ล้วนส่งผลดีต่อธรรมชาติและคุณภาพชีวิตเราในระยะยาวทั้งสิ้น