xs
xsm
sm
md
lg

ทางเดินที่ยากของประยุทธ์

เผยแพร่:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ



การเปลี่ยนแปลงภายในอาจจะเป็นเรื่องปกติสามัญของพรรคการเมือง เป็นกระบวนหนึ่งของระบอบประชาธิปไตยก็จริง แต่ถ้าการเปลี่ยนแปลงภายในพรรคการเมืองอาจจะส่งผลกระทบถึงประเทศชาติด้วย ประชาชนซึ่งเป็นคนนอกพรรคการเมืองก็ควรจะมีสิทธิตั้งคำถามถึงเหตุผลความชอบธรรมที่เกิดขึ้นนั้น

การที่พรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลที่บริหารประเทศในเวลานี้ เราต้องยอมรับว่า มีผลมาจากรัฐธรรมนูญที่เขียนขึ้นมาให้พรรคการเมืองพรรคนี้ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อสนับสนุนการสืบทอดของคณะรัฐประหารได้ประโยชน์ จนกระทั่งแกนนำของพรรคนี้บอกกับสมาชิกพรรคให้สาธารณชนได้ยินกันทั่วว่า รัฐธรรมนูญดีไซน์ขึ้นมาเพื่อพวกเรา

ถ้าใครถามว่า พรรคพลังประชารัฐเป็นที่รวมของคนที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองในทิศทางเดียวกันตามอุดมคติของการตั้งพรรคการเมืองหรือไม่ ร้อยทั้งร้อยก็ต้องตอบว่าไม่ คนที่อ่อนหัดทางการเมืองเท่านั้นที่ไม่เชื่อว่า พรรคการเมืองนี้เป็นพรรคเฉพาะกิจ เป็นที่รวมของนักการเมืองร้อยพ่อพันแม่ แบบเรียกว่าฝนตกขี้มูลไหลก็คงไม่ผิด จำนวนมากถูกกวาดต้อนมาจากพรรคเพื่อไทย เพื่อหวังลิดรอนบ่อนเซาะพรรคการเมืองฝั่งตรงข้ามลง แต่สุดท้ายผลการเลือกตั้งก็ยังไม่สามารถเอาชนะพรรคเพื่อไทยได้

แต่พรรคพลังประชารัฐก็ได้ประโยชน์จากรัฐธรรมนูญที่ดีไซน์มาเพื่อพวกเรา เพราะเป็นพรรคเดียวที่รู้กันอยู่แล้วว่า มีแต้มต่อจากเสียง ส.ว. 250 เสียงที่บทเฉพาะกาลเขียนให้สามารถยกมือเลือกนายกรัฐมนตรีได้ด้วยในระยะเวลา 5 ปี เป็นการการันตีว่า การเลือกตั้งครั้งหน้าอีกสมัยที่พรรคการเมืองนี้จะเป็นแกนนำตั้งรัฐบาลแน่ๆ ถ้าไม่แตกจากภายในเสียก่อน

หรืออีกทางที่จะหยุดพรรคพลังประชารัฐได้คือ ต้องแก้รัฐธรรมนูญ ลดทอนอำนาจ ส.ว.ลง ถามว่าทำได้ไหมทำได้ แต่ว่ายากมาก เพราะการแก้รัฐธรรมนูญเขียนผูกไว้ว่าต้องมีเสียง ส.ว.สนับสนุนด้วย มี ส.ว.ที่ไหนจะยอมลดทอนอำนาจตัวเองลง

อีกทางที่จะแก้รัฐธรรมนูญได้ก็คือ การรัฐประหารเพื่อฉีกรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นเรื่องที่ยาก เพราะรู้ว่า กองทัพเป็นผนังทองแดงกำแพงเหล็กของรัฐบาลสืบทอดอำนาจ อีกทางก็คือการลุกฮือของประชาชนฝั่งตรงข้ามซึ่งก็มองไม่เห็นหนทางที่ง่าย เพราะสังคมไทยทุกวันนี้แบ่งแยกประชาชนเป็นสองฝ่ายอย่างชัดเจน

ดังนั้นว่าไปแล้วความล่มสลายของพรรคพลังประชารัฐที่น่ากลัวที่สุดก็น่าจะมาจากการแตกจากภายใน หรือเกิดจากสนิมเนื้อในตน และวันนี้เราเห็นแล้วว่า สนิมกำลังจะก่อตัว

เป้าหมายของกลุ่ม ส.ส.ที่เคลื่อนไหวให้เปลี่ยนแปลงในพรรคพลังประชารัฐนั้น คงไม่ได้แค่ต้องการให้เปลี่ยนแปลงภายในพรรคอย่างแน่นอน แต่เป้าหมายคือการเปลี่ยนแปลงเก้าอี้รัฐมนตรีในรัฐบาลด้วย หลังงบประมาณ 4 แสนล้านผ่านสภาแบบตีเช็คเปล่ากลายเป็นขุมทรัพย์ที่หลายคนหมายปอง

และเป็นไปตามข่าวที่ปรากฏก่อนหน้านี้ว่า หลักๆ แล้วต้องการเก้าอี้สำคัญ 2 ตัวที่หัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรคนั่งอยู่คือ รัฐมนตรีคลังและรัฐมนตรีพลังงาน โดยมีเก้าอี้รัฐมนตรีอุดมศึกษาในโควตาของกลุ่มนี้เป็นของแถมด้วย หรืออาจรวมถึงเก้าอี้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ พี่ใหญ่ของกลุ่มด้วย

ทั้งนายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคและนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรคถูกกล่าวหาว่าไม่มีความสัมพันธ์กับ ส.ส.เข้าถึงยาก ไม่เข้าใจธรรมชาติของการเมือง ไม่มีปัจจัยดูแล ส.ส.ในพรรคที่ต้องพบปะประชาชนโดยเฉพาะในสถานการณ์โควิด และมองว่าได้เก้าอี้รัฐมนตรีไปโดยไม่ลงทุนลงแรงอะไร

แต่อำนาจในพรรคแยกออกจากอำนาจในรัฐบาลที่อยู่ในมือของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนเดียว คำถามว่า พล.อ.ประยุทธ์จะเลือกรัฐมนตรีที่มีภาพลักษณ์เป็นนักการเมืองเต็มตัวหรือมีภาพลักษณ์เป็นนักวิชาการเทคโนแครตในปีกของนายสมคิด

พล.อ.ประยุทธ์ชั่งน้ำหนักอย่างไรกับคนสองกลุ่มที่มีภาพบวกลบในสังคมแตกต่างกันมาก กล้าที่จะเอาคนอื่นมาสานต่อการวางรากฐานเศรษฐกิจที่กลุ่มนายสมคิดวางไว้ตั้งแต่ร่วมรัฐบาลรัฐประหารมาจนถึงวันนี้ไหม สำคัญมีใครมาแทนนายสมคิดที่พอเทียบบารมีกันได้

หรือมีใครที่กล้าจะมารับงานด้านเศรษฐกิจในสภาวะที่รู้อยู่แล้วว่า ยากมากจากสถานการณ์โควิดที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก

โจทย์นี้ไม่ง่ายเลยถ้าจะถูกบีบให้ต้องเลือก น่าจะสร้างความหนักใจให้พล.อ.ประยุทธ์มาก เพราะการเคลื่อนไหวของ ส.ส.มีเงาของพี่ใหญ่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณหนุนหลังเสียด้วย แถมยังมีข่าวว่าพี่ใหญ่ก็อยากมีบทบาทในรัฐบาลมากกว่านี้ เล็งไปที่รัฐมนตรีมหาดไทยของน้องรองพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เพราะเบื่อแล้วที่ถูกมอบหมายให้ดูงานเล็กๆ เรื่องน้ำเรื่องฝุ่น

สามพี่น้องประวิตร-อนุพงษ์-ประยุทธ์ เติบโตเกื้อกูลกันมา สัญญาว่าจะไม่ทิ้งกันตลอดไป เมื่อพี่ใหญ่ขยับตัวน้องเล็กจะทำอย่างไร ที่จะรักษาความสัมพันธ์เยื่อใยของพี่ใหญ่เอาไว้ได้ แม้จะถือแต้มต่อว่าเป็นนายกรัฐมนตรีและมีอำนาจสูงสุดก็ตาม

จะรักษาสมคิด-อุตตม-สนธิรัตน์ไว้ ก็ต้องขัดใจกับ ส.ส.และพี่ใหญ่

ถ้ามองจากมุมการเมืองการเคลื่อนไหวจากปีกของพี่ใหญ่ก็อาจจะไม่ผิด เพราะมองว่า การดูแล ส.ส.ที่ใกล้ชิดกับประชาชนให้ทั่วถึงนั้น มีผลต่อการเลือกตั้ง และกว่าจะได้ชัยชนะในการเลือกตั้งมาหลายคนมีราคาที่ต้องจ่ายและต้องมีทุนที่จะทำงานการเมืองให้ต่อเนื่องเพื่อเข้าถึงประชาชนให้ได้

แต่ถ้ามองจากภาวะที่ประเทศกำลังประสบวิกฤตจากสถานการณ์โควิด ที่พล.อ.ประยุทธ์กำลังแบกรับชะตากรรมที่ท้าทายอยู่นี้ ก็มีคำถามถึงความเหมาะสมและกาลเทศะที่ควรจะกวนน้ำให้ขุ่นหรือไม่

คำถามว่า พล.อ.ประยุทธ์กล้าเลือกที่จะนิ่งเฉยต่อแรงบีบในพรรคไหม ถ้าเลือกใครก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะแม้จะไม่ได้เป็นสมาชิกพรรค แต่พรรคนี้ก็ขายบารมีและความนิยมของตัวพล.อ.ประยุทธ์นั่นแหละ คนเขาเลือกพรรคนี้เพราะต้องการให้พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ที่สำคัญพล.อ.ประยุทธ์เป็นเพียงตัวเลือกเดียวของพรรคในตำแหน่งนายกฯ คนอื่นในพรรคมานั่งแทนไม่ได้

จะตัดสินใจยุบสภาเลือกตั้งใหม่ก็ยังไม่น่าจะกล้าทิ้งบ้านเมืองไปในภาวะวิกฤตที่ยังไม่มั่นคงจากสถานการณ์โควิด เหมือนแม่ทัพที่ทิ้งทัพกลางศึก มันจึงยากมากที่พล.อ.ประยุทธ์จะตัดสินใจในภาวะแบบนี้

หรือว่า พล.อ.ประยุทธ์จะประคองสถานการณ์ให้ผ่านวิกฤตโควิดไปก่อนอย่างน้อยจนถึงปลายปีนี้ แล้วตัดสินใจยุบสภาเลือกตั้งกันใหม่ เพราะรู้แล้วว่าอย่างไรเสียจุดขายเดียวของพรรคการเมืองนี้ก็คือตัวพล.อ.ประยุทธ์เอง

ถามว่า ถ้าพล.อ.ประยุทธ์ขัดใจ ส.ส.ในพรรคและพล.อ.ประวิตร พล.อ.ประยุทธ์มีใครให้หนุนหลัง คำตอบก็คือ ประชาชน เพราะเขาสนับสนุนรัฐบาลนี้เพราะพล.อ.ประยุทธ์และมองว่าพล.อ.ประวิตรเป็นตัวถ่วงด้วยซ้ำไป เพียงแต่ต้องยอมรับว่า พล.อ.ประวิตรมีเครือข่ายและบารมีที่กว้างขวางที่พล.อ.ประยุทธ์ต้องพึ่งพิง

น่าคิดว่า ประเทศชาติกับความสัมพันธ์น้องพี่บุญคุณที่เกื้อกูลกันมา พล.อ.ประยุทธ์จะเลือกใคร หรือจะหาทางออกเรื่องนี้อย่างไร



ติดตามผู้เขียนได้ที่
https://www.facebook.com/surawich.verawan


กำลังโหลดความคิดเห็น