"ฝั่งขวาเจ้าพระยา"
"โชกุน"
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคมที่ผ่านมา และนัดไต่สวนวันที่ 17 สิงหาคม เพื่อพิจารณาว่า จะให้การบินไทยเข้าแผนฟื้นฟูฯ หรือไม่
เจ้าหนี้มีสิทธิคัดค้าน เพราะเป็นผู้ที่จะต้องเสียหายแน่นอน จากการปรับโครงสร้างหนี้ จะมากหรือน้อยเท่านั้น แต่ศาล คือ ผู้ชี้ขาดว่า จะให้การบินไทยเข้าแผนฟื้นฟูฯ หรือไม่ โดยไต่สวนหาความจริงจากลูกหนี้ คือ การบินไทย ว่า มีเหตุอันสมควร ตามเงื่อนไขของกฎหมายล้มละลายที่จะขอฟื้นฟูกิจการหรือไม่ ประกอบเหตุผลในการคัดค้านของเจ้าหนี้ หากว่ามี
เจ้าหนี้มีสิทธิคัดค้านผู้ทำแผน หากไม่เห็นด้วย แต่ต้องใช้เสียง 2 ใน 3 ของจำนวนราย และจำนวนหนี้ของเจ้าหนี้ทั้งหมด
เรื่องการฟื้นฟูฯ การบินไทย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตัดสินใจเลือก “มืออาชีพ” 3 คน คือ นายบุญทักษ์ หวังเจริญ นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร และนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ บวกกับ 1 ตัวแทนของตนคือ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นกรรมการการบินไทย และเป็นผู้ทำแผนร่วมกับกรรมการการบินไทยอีก 2 คน คือ พลอากาศเอกชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน ประธานกรรมการ และนายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล รองปลัดกระทรวงการคลัง
นายไพรินทร์ เป็นกรรมการได้แค่ 2 วันก็ต้องลาออก เพราะพ้นจากตำแหน่ง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมไม่ถึง 2 ปี ไม่สามารถเป็นกรรมการในบริษัทเอกชนได้ ตามกฎหมาย ป.ป.ช. และต้องพ้นจากการเป็นผู้ทำแผนฟื้นฟูฯ ไปโดยปริยาย
กรรมการใหม่ และผู้ทำแผนฟื้นฟูฯ การบินไทยทั้ง 3 คน ได้รับปฏิกิริยาตอบสนองที่เป็นทางบวกจากสังคมที่เชื่อมั่นในความรู้ ความสามารถ และความสุจริตใจว่า จะสามารถฟื้นฟูฯ การบินไทยได้ โดยเฉพาะนายปิยสวัสดิ์ ซึ่งเคยเป็นกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ หรือดีดี การบินไทย เมื่อปี 2552 -2554 สามารถฟื้นฟูฯ การบินไทย ที่ขาดทุนถึง 20,000 กว่าล้านบาท ให้กลับมามีกำไรติดต่อกัน 2 ปีซ้อน ก่อนที่จะถูกประธานบอร์ดการบินไทยในขณะนั้นคือ นายอำพล กิตติอำพน รับสาส์นมาสั่งปลด ด้วยเหตุผลแปลกประหลาดว่า นายปิยสวัสดิ์ มีปัญหาในการสื่อสารกับบอร์ด
วันที่นายปิยสวัสดิ์ พ้นจากตำแหน่ง พนักงานการบินไทยจำนวนหนึ่งดีใจ เพราะที่เขาฟื้นฟูฯ การบินไทยขึ้นมาได้ในตอนนั้น แนวทางสำคัญหนึ่งคือ การลดต้นทุน ทั้งต้นทุนการเงิน ต้นทุนการดำเนินงาน โดยการตัดค่าใช้จ่ายด้านผลตอบแทนพนักงาน อภิสิทธิ์บางอย่างที่ฟุ่มเฟือยเกินไปของกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน ทำให้มีคนที่สูญเสียประโยชน์ที่เคยได้รับไม่พอใจ
ถ้าคนเหล่านั้นยังอยู่กับการบินไทยมาจนถึงวันนี้ คงจะเห็นความแตกต่างของการบินไทยที่มีคนอย่างนายปิยสวัสดิ์เป็นผู้บริหาร กับการบินไทยที่ไม่มีคนอย่างนายปิยสวัสดิ์เป็นผู้บริหาร
การบินไทยนั้น ยังมีจุดแข็งคือ แบรนด์ที่แข็งแกร่ง เป็นที่รู้จักอย่างดีทั่วโลก ได้รับความนิยม เป็นเครื่องหมายรับประกันด้านการบริการ และความปลอดภัย มีเส้นทางการบินที่ดีเยี่ยม เป็นแต้มต่อสำคัญ อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมการบินโลกวันนี้ ก็เช่นเดียวกับ อุตสาหกรรมธุรกิจอื่นๆ โดยเฉพาะที่เกี่ยวเนื่องกับการเดินทาง ท่องเที่ยวที่จะต้องเผชิญกับตลาดที่ไม่มีความต้องการเหลืออยู่เลย หรือมีน้อยมาก และไม่มีใครรู้ว่า จะกลับมาเป็นปกติเมื่อไร เป็นสภาพแวดล้อมที่เป็นปัจจัยลบ ต่างจากเมื่อสิบปีที่แล้วที่นายปิยสวัสดิ์ พลิกฟื้นการบินไทยให้กลับมามีกำไรได้โดยสิ้นเชิง
การเกิดใหม่ หรือการฟื้นฟูฯ การบินไทยครั้งนี้ จึงยากลำบากมาก และคนที่ต้องเผชิญกับความเจ็บปวดของการเกิดใหม่ครั้งนี้มีมากกว่าเดิม คือ ผู้ถือหุ้นทั้งหมด โดยเฉพาะกระทรวงการคลัง ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุด ที่จะต้องสูญเงินลงทุนจากการลดทุน และเพิ่มทุนเพื่อใส่เงินเข้าไปใหม่ เจ้าหนี้ที่จะต้องถูกลดหนี้ ยืดเวลาชำระหนี้ และพนักงานที่จะต้องถูกปลดออกจำนวนมาก ที่ยังอยู่ก็จะต้องถูกจำกัดค่าตอบแทน และสวัสดิการ ซึ่งสิ่งที่เคยได้รับในฐานะพนักงานรัฐวิสาหกิจ ก็จะไม่ได้แล้ว เพราะการบินไทยไม่ได้เป็นรัฐวิสาหกิจแล้ว
เป็นความเจ็บปวดที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เพราะเป็นเงื่อนไขจำเป็นของการเกิดใหม่อย่างมั่นคง และมั่นใจ