xs
xsm
sm
md
lg

ศาลรับคำร้องฟื้นฟูการบินไทย-'ไพรินทร์'ถอนตัวทีมผู้ทำแผนฯ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ผู้จัดการรายวัน 360 - ศาลล้มละลายกลางรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการบมจ.การบินไทย นัดไต่สวน 17 ส.ค. นี้ พบหนี้สินพุ่งทะลุกว่า 3.5 แสนล้านบาท "ไพรินทร์" ไขก๊อกพ้นบอร์ด-ถอนตัวจากทีมผู้ทำแผนฟื้นฟู เนื่องจากติดเงื่อนไขกฎหมายของ ป.ป.ช. "วิษณุ" คาดใช้เวลาอีก 6 เดือนจะสามารถเริ่มเดินตามแผนฟื้นฟูกิจการ โดยกฎหมายกำหนดเวลาให้ใช้เวลาฟื้นฟูกิจการรวม 5 ปี สามารถขอขยายเวลาได้ แต่ขอไม่ตอบ "เจ้าจำปี" จะกลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจอีกหรือไม่ ด้านทริสเรทติ้ง หั่นเครดิตองค์กร-หุ้นกู้ เป็น "D"

วานนี้ (27 พ.ค.) รายงานข่าวจากศาลล้มละลายกลาง แจ้งว่า ศาลได้มีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยจะนัดไต่สวนวันที่ 17 ส.ค. 2563 เวลา 9.00 น.

ทั้งนี้ การบินไทยในฐานะลูกหนี้ได้นำเสนอผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการต่อศาลประกอบด้วย พล.อ.อ. ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน ประธานกรรมการ บริษัท นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล รองประธานกรรมการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (รักษาการ) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค , นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ,นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร และนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ และ 1 นิติบุคคลคือ บริษัท อีวาย คอร์ปอเรท เซอร์วิสเซส จำกัด

ด้านฐานะการดำเนินงานล่าสุด บมจ.การบินไทย มีทุนจดทะเบียน 26,989 ล้านบาท หนี้สินรวม 354,494 ล้านบาท สินทรัพย์รวม 349,636 ล้านบาท มีหนี้ถึงกำหนดชำระ วันที่ 21 พ.ค.63 รวม 10,200 ล้าน ซึ่งอการบินไทยอยู่ในสภาวะที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้

นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ในฐานะกรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการติดตามการดำเนินงานการแก้ไขปัญหา บมจ.การบินไทย กล่าวว่า หลังจากศาลล้มละลายกลางรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ จะมีการประสานส่งคำร้องให้เจ้าหนี้ ที่มีอยู่มากกว่า 1 ล้านราย ที่มีการแยกกลุ่มได้แก่ เจ้าหนี้การค้า เจ้าหนี้เงินกู้ เจ้าหนี้หุ้นกู้ซึ่งรวมสมาชิกรอยัลออร์คิดพลัส ที่มีฐานะเป็นเจ้าหนี้ด้วย

ส่วนเจ้าหนี้ต่างประเทศ มีทางเลือกว่าจะรับคำร้องโดยเข้ากระบวนการฟื้นฟูของศาลไทย ก็ไม่จำเป็นต้องใช้แนวทางกฎหมายล้มละลายของสหรัฐอเมริกา Chapter 11 และให้ยื่นศาลในต่างประเทศ ที่การบินไทยมีทรัพย์สินอยู่หรือบินไปประเทศใด เพื่อให้รับทราบและคุ้มครองไม่ให้เจ้าหนี้บังคับชำระหนี้

ในระหว่างนี้การบินไทยจะมีการเจรจากับเจ้าหนี้นอกศาลก่อน หากเจ้าหนี้พิจารณาผู้ทำแผนแล้วยอมรับก็คงไม่มีการคัดค้าน และให้ส่งแผน อย่างไรก็ตาม หากมีเจ้าหนี้คัดค้าน ก็จะมีการเรียกประชุมเจ้าหนี้โดยเจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์

นายประภาศ กล่าวเพิ่มเติมว่า นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร กรรมการ บมจ. การบินไทย และหนึ่งในทีมผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการฯ ได้ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งกรรมการการบินไทย กับประธานการบินไทยแล้ว โดยจะมีผลทันที

ส่วนสาเหตุการลาออกนั้น เนื่องจากติดกฎหมายของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งนายไพรินทร์ ยังพ้นจากตำแหน่ง รมช.คมนาคม ไม่ถึง 2 ปี ซึ่งไม่สามารถไปนั่งเป็นกรรมการในบริษัทเอกชนได้ นอกจากนี้สมัยที่นายไพรินทร์ เป็น รมช.คมนาคม ได้กำกับดูแลการบินไทย จึงเกรงว่าการเป็นกรรมการของการบินไทยในครั้งนี้จะมีผลประโยชน์ที่ขัดแย้งได้ จึงได้ขอลาออกจากการเป็นกรรมการ เพื่อไม่ให้การฟื้นฟูการบินไทยมีปัญหา

นายประภาศ กล่าวว่า ยังไม่มีความจำเป็นต้องตั้งกรรมการใหม่แทนนายไพรินทร์ เพราะตอนนี้บริษัทการบินไทยเป็นบริษัทเอกชนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งระเบียบของคณะกรรมการกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้กำหนดไว้บริษัทต้องมีกรรมการไม่น้อยกว่า 5 คน ซึ่งตอนนี้บริษัทการบินไทยมีกรรมการเกินกว่าที่ ก.ล.ต. กำหนด

"ไพรินทร์" ไขก๊อกบอร์ดการบินไทย เหตุติดกฎหมาย ป.ป.ช.

ขณะที่บมจ.การบินไทย แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในช่วงเย็นวันเดียวกันว่า ศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการไว้พิจารณาแล้ว โดยศาลล้มละลายกลางได้กำหนดวันนัดไต่สวนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการในวันที่ 17 สิงหาคม 2563 พร้อมสรุปรายละเอียดของการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯ ดังนี้

1. บริษัทฯ ในฐานะลูกหนี้ เป็นผู้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละถายกลาง

2. บริษัทฯ ได้เสนอให้บริษัท อีวาย คอร์ปอเรท แอคไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด ร่วมกับ พล.อ.อ. ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค นายบุญทักษ์หวังเจริญ และนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ กรรมการ ของบริษัทฯ เป็นผู้ทำแผน โดยหากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้บริษัทฯ ฟื้นฟูกิจการและตั้งผู้ทำแผนแล้ว ผู้ทำแผนที่ได้รับการแต่งตั้งจากศาลจะมีอำนาจและหน้าที่ในการบริหารจัดการและทรัพย์สินของบริษัทฯ ต่อไป

3. การเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการในครั้งนี้ จะช่วยให้บริษัทฯ สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ของแผนฟื้นฟูธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพตามขั้นตอนต่างๆ ซึ่งมีกฏหมายรองรับและให้ความคุ้มครองแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นธรรม ทั้งบริษัทฯ ยังสามารถประกอบธุรกิจปกติต่อไปได้ในระหว่างที่อยู่ในกระบวนการฟื้นฟูกิงการไม่ว่าจะเป็นการให้บริการขนส่งผู้โดยสารไปยังจุดหมายปลายทางของการบินไทย ในประเทศต่างๆ หรือการขนส่งสินค้าไปรณียภัณฑ์ ซึ่งจะดำเนินการควบคู่ไปกับการฟื้นฟูองค์กรเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพในการดำเนินงานละพัฒนาคุณภาพ ของผลิตภัณฑ์และการบริการให้ดียิ่งขึ้นต่อไป

พร้อมกันนี้ ยังได้ชี้แจงเพิ่มเตมว่า นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ลาออกจากตำแหน่งกรรมการบริษัทฯ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 26 พ.ค. 63 เนื่องจากติดกฎหมายของ ป.ป.ช. ซึ่งนายไพรินทร์ พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ไม่ถึง 2 ปี ซึ่งไม่สามารถเป็นกรรมการในบริษัทเอกชนได้ อีกทั้งสมัยเป็นรัฐมนตรีช่วยฯ ได้กำกับดูแลบริษัทการบินไทย จึงเกรงว่าจะมีผลประโยชน์ขัดแย้งได้ จึงขอลาออกจากตำแหน่ง เพื่อไม่ให้การฟื้นฟูบริษัทการบินไทยมีปัญหา

"วิษณุ" ใช้เวลาไต่สวนแผนฟื้นฟู 3 เดือน

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลัง นายไมเคิล จอร์จ ดีซอมเบร เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เข้าพบว่า ได้มีการถามถึงเรื่องการฟื้นฟู บมจ.การบินไทย ซึ่งตนได้ชี้แจงให้ฟังว่า คณะกรรมการฯ ที่ตนนั่งเป็นประธานอยู่นั้นไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรในเรื่องนี้ และยังได้บอกว่า อาจจะมีการฟ้องร้องกันทั้งในและต่างประเทศ

นายวิษณุ กล่าวถึงกรณีศาลล้มละลายกลางรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการเพื่อเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟู บมจ.การบินไทย ว่า ตั้งแต่นาทีที่ศาลรับคำร้องแล้วเท่ากับว่าขณะนี้ได้ใช้ พ.ร.บ.ล้มละลาย มาตรา 90/12 ตั้งแต่นาทีนี้ไปเจ้าหนี้จะไม่สามารถฟ้องล้มละลายหรือทวงหนี้ได้อีก ทำได้อย่างเดียวคือการยื่นขอรับชำระหนี้ ทุกอย่างต้องหยุดชะงักโดยอัตโนมัติหรือที่เรียกว่า Automatic Stay

ทั้งนี้ การบินไทยยังสามารถบินและทำธุรกิจได้ตามปกติ แต่ต่อจากนี้การบินไทยจะมีศึกสองด้าน คือ กระบวนการในการฟื้นฟู และการประกอบกิจการตามปกติ ซึ่งในส่วนนี้บอร์ดการบินไทยจะเป็นผู้ดำเนินการ ส่วนการฟื้นฟูนั้นเป็นเรื่องของผู้ทำแผน ซึ่งต่อไปผู้ทำแผนจะเปลี่ยนมาเป็นผู้บริหารแผน บอร์ดการบินไทยจะมีบทบาทน้อยมากในเรื่องแผนการฟื้นฟู อย่างไรก็ตาม ตามขั้นตอนหลังจากที่ศาลล้มละลายกลางรับคำร้องแล้วขั้นตอนต่อไปคือกระบวนการไต่สวน โดยปกติจะใช้ระยะเวลาประมาณ 3 เดือน ต่อจากนั้นศาลจะมีคำสั่งว่าจะรับแผนนั้นไว้

"หลังศาลรับคำร้องไปจนถึงดำเนินการได้ตามแผนฟื้นฟู คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 6 เดือน การฟื้นฟูจะใช้เวลา 5 ปี ตามกฎหมาย ทั้งยังสามารถขยายเวลาได้ ที่ผ่านมามีบริษัทเข้าสู่การฟื้นฟู 52 แห่ง ประสบความสำเร็จประมาณ 20 แห่ง ล้มละลาย 20 แห่ง อยู่ระหว่างฟื้นฟูกว่า 10 ปี 7 แห่ง"นายวิษณุ กล่าว

และว่า เมื่อศาลรับแผนแล้วจะต้องตั้งผู้บริหารแผน ซึ่งจะเป็นอีกทีมหนึ่ง เหมือนกับเป็นซีอีโอและทุกอย่างจะอยู่ที่ผู้บริหารแผน โดยไม่ต้องมารับฟังคณะกรรมการชุดของตน เพราะไม่ใช่บอร์ดใหญ่โตมโหฬารอะไร ไม่ใช่ซุปเปอร์บอร์ด เป็นเพียงมินิบอร์ด เป็นไปรษณีย์ ไม่สามารถไปแทรกแซงได้ เพราะตามพ.ร.บ.ล้มลาย ระบุว่าหากมีผู้ใดไปวิ่งเต้นหรือรู้เรื่องอะไรแล้วนำมาเปิดเผย ถือว่ามีความผิด ดังนั้นเราจะไม่ไปยุ่งอะไรกับเขา ต้องทำเฉพาะในบทบาทที่เป็นของภาครัฐ ซึ่งกรณีของการบินไทยนั้นแม้จะหลุดจากการเป็นรัฐวิสาหกิจแล้ว แต่มีรัฐวิสาหกิจหลายแห่งไปซื้อหุ้นกู้ของการบินไทย รัฐจึงต้องเข้าไปดูแล และการบินไทยจะต้องมาลงที่สนามบินสุวรรณภูมิที่เป็นของรัฐ ดังนั้นจึงต้องมีการติดต่อประสานงานกัน อีกทั้งเวลาที่จะซ่อมเครื่องบินก็ต้องประสานกองทัพอากาศ ซึ่งมันยังมีอะไรเชื่อมกันอยู่

เมื่อถามว่า หากแผนฟื้นฟูแล้วเสร็จ การบินไทยจะกลับสู่การเป็นรัฐวิสาหกิจอีกหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่เคยมีใครพูดถึงแต่ก็แล้วแต่ ปัจจุบันกระทรวงการคลังถือหุ้นอยู่ 48% และธนาคารออมสินถือหุ้นอยู่อีก รวมเป็น 49.99 % ขาดอีกแค่จุดหนึ่งก็เป็นรัฐวิสาหกิจแล้ว แต่ตนไม่ควรไปตอบอะไร เดี๋ยวคนจะหัวเราะเยาะเอา เพราะเพิ่งล้มไปเมื่อวานซืน แล้วยังจะมาอีก

ทริสเรทติ้งหั่นเครดิตองค์กร-หุ้นกู้ เป็น "D"

ทริสเรทติ้งลดอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ลดลงสู่ระดับ “D” หรือ “Default” โดยอันดับเครดิตถูกปรับลดลงหลังจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัท เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2563 ซึ่งส่งผลให้บริษัทเข้าสู่สภาวะการพักชำระหนี้ (Automatic Standstill) กับเจ้าหนี้ทุกรายตามกฎหมาย



กำลังโหลดความคิดเห็น