xs
xsm
sm
md
lg

ฟื้นฟู – ผ่าตัด การบินไทย ใครจะเป็นผู้กล้าขันอาสา

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"ฝั่งขวาเจ้าพระยา"
"โชกุน"

การบินไทยเคยขาดทุนสูงสุดถึง 21,000 ล้านบาท เมื่อปี 2551 มีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนสูงถึง 20 กว่าเปอร์เซ็นต์ ผลการจัดอันดับคุณภาพการให้บริการความเป็นที่นิยม ที่จัดโดยสถาบันองค์กรต่างๆ ได้คะแนนเป็นลำดับท้ายๆ หรือกลางๆ จากที่เคยติด 1 ใน 10

ถือว่า เป็นยุคตกต่ำที่สุด เป็นมรดกตกทอดที่รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ทิ้งไว้ให้

เปรียบเทียบกับตอนนี้ ปีที่แล้วการบินไทยขาดทุน 12,000 ล้านบาท อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน 25% ไม่ได้หนักหนาถึงที่สุด เพียงแต่ว่า ผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ธุรกิจสายการบินทั่วโลกโดนเข้าไปเต็มๆ ต้องหยุดบิน ไม่มีรายได้ และยังไม่รู้ว่า ต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร รู้แต่ว่า ไม่เหมือนเดิมแน่ๆ เป็น New Normal ที่ทุกธุรกิจต้องปรับตัว

สายการบินใหญ่ๆ ทั่วโลกหลายแห่ง ต้องขอรับการช่วยเหลือจากรัฐบาล โดยที่รัฐบาลหลายๆ ประเทศ ก็ยอมช่วย อย่างเช่น สายการบินลุฟต์ ฮันซาของ เยอรมนี แอร์ฟรานซ์ ของฝรั่งเศส เคแอลเอ็ม ของเนเธอร์แลนด์ ยูไนเต็ด แอร์ไลน์ อเมริกัน แอร์ไลน์ ฯลฯ ของสหรัฐฯ ที่รัฐบาลอัดฉีดเงินช่วยเหลือ เพราะถือว่า สายการบินเหล่านี้ก็เหมือนกับ ธุรกิจอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องช่วยเหลือ

นอกจากนั้น สายการบินยังเป็นธุรกิจใหญ่ที่มีความสำคัญกับระบบเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งในแง่ของการจ้างงาน ธุรกิจเกี่ยวเนื่อง และในแง่ของการเป็นกลไกขับเคลื่อนภาคธุรกิจอื่นๆ เช่น การท่องเที่ยว การขนส่งทางอากาศ เป็นต้น จึงไม่ควรปล่อยให้ล้มหายไปเฉยๆ โดยไม่ทำอะไร

ดังนั้น การที่รัฐบาลไทยจะอุ้มการบินไทยให้รอดพ้นจากวิกฤตการณ์โควิดครั้งนี้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอันใด และไม่ใช่ความผิดพลาดที่จะต้องถูกกล่าวประณามกันอย่างที่เป็นอยู่ตอนนี้

เพียงแต่ว่า ควรจะถือเอาวิกฤตครั้งนี้เป็นโอกาสที่จะ “ปฏิรูป” หรือฟื้นฟู หรือ ผ่าตัดครั้งใหญ่ ชำระสะสางปัญหาที่หมักหมมมานาน เพราะในความเป็นจริง แม้ไม่มีโควิด การบินไทยก็อยู่ในสภาพร่อแร่ ขาดทุนติดต่อกันมา 3 ปี แต่ก็ยังถูลู่ถูกังไปได้ เพราะยังบินได้ มีรายได้เดือนละ 10,000 กว่าล้านบาท มาต่อลมหายใจให้ไปต่อได้เดือนต่อเดือน พอโควิดมา ลมหายใจก็ขาดสะบั้นไปทันที

การฟื้นฟู หรือผ่าตัดใหญ่การบินไทย จะต้องทำอย่างไรนั้น ไม่ใช่เรื่องยาก มีสูตรสำเร็จอยู่ไม่กี่สูตร หลักๆ ก็คือ ลดต้นทุน เพิ่มรายได้ ลดต้นทุน ด้วยการเอาคนส่วนเกินออก ตัดโอที ลดค่าประจำตำแหน่ง ค่ารถบรรดาผู้บริหาร สิ่งเหล่านี้เป็นแม่ไม้ในตำราการพลิกฟื้นธุรกิจที่ใช้กันทั่วโลก

จะสำเร็จหรือไม่ อยู่ที่ผู้ปฏิบัติว่า เป็นใคร มีความสามารถ มีความตั้งใจจริง หรือไม่ ที่สำคัญกว่านั้นคือ ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหลายคือ ผู้ถือหุ้น ผู้กำหนดนโยบาย พนักงาน จะเอาด้วยไหม

ย้อนกลับไปตอนที่การบินไทยขาดทุน 20,000 ล้านบาท เมื่อปี 2551 รัฐบาลขณะนั้นมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี นายกรณ์ จาติกวณิช เป็นรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ไปขอให้นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ลาออกจากประธานกรรมการ บริษัท กองทุนรวมในเครือธนาคารกสิกรไทย มาสมัครเป็นกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ หรือ ดีดี การบินไทย

นายปิยสวัสดิ์ ต้องเผชิญกับแรงต่อต้านอย่างหนักทั้งในและนอกองค์กร เพราะไปแตะต้องผลประโยชน์ที่ทุกคนเคยได้รับ อย่างเช่น การลดค่าตอบแทน โบนัส อภิสิทธิ์ของกรรมการปรับโครงสร้าง เลิกตำแหน่งที่ไม่จำเป็น แต่ในที่สุดผลงานเป็นเครื่องพิสูจน์ การบินไทยมีกำไรทันทีในปี 2552 จำนวน 7,000 ล้านบาท ปี 2553 กำไรสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 15,000 ล้านบาท ทั้งๆ ที่ปีนั้นเกิดเหตุการณ์วุ่นวายทางการเมือง คือ เสื้อแดงเผาบ้านเผาเมือง อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนลดลงมาเหลือ 2 หรือ 3 ต่อ 1

แต่พอถึงกลางปี 2554 หลังจากมีการเปลี่ยนรัฐบาล เป็นรัฐบาลพรรคเพื่อไทย นายปิยสวัสดิ์ ก็ถูกปลดออกจากตำแหน่ง โดยประธานบอร์ดการบินไทย ในตอนนั้นคือ นายอำพล กิตติอำพน ได้รับมอบหมายให้นำสาส์นมาบอกว่า ขอให้ลาออกไปเสีย เพราะนายปิยสวัสดิ์ สื่อสารกับบอร์ดไม่รู้เรื่อง

นับจากนั้นมาจนถึงวันนี้เกือบ 10 ปีแล้ว การบินไทยขาดทุนทุกปี ทั้งๆ ที่ตลาดคือ การเดินทางท่องเที่ยวทั้งในและนอกประเทศ ขยายตัวแบบก้าวกระโดด

การบินไทย ตอนนี้ไม่มีกัปตัน คือ ไม่มี ดีดี เพราะดีดี คนล่าสุด นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม ลาออกไปก่อนหน้านี้ มีแต่รักษาการ ดีดี คือ นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล รองปลัดกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นรองประธานบอร์ดการบินไทย คนที่ 2 ที่ต้องรับหน้าเสื่อ ทำแผนฟื้นฟูฯ เพราะประธานบอร์ด และรองประธานคนที่ 1 เป็นทหารอากาศ ขับเครื่องบินพาณิชย์ไม่เป็น

การฟื้นฟูผ่าตัดการบินไทย พูดง่ายแต่ทำยาก เพราะจะต้องเจอแรงต้านทั้งในและนอกองค์กร เพราะหากจะทำกันจริงๆ แล้ว จะไปกระทบเครือข่ายผลประโยชน์ ทั้งในเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง ที่ฝังตัวอยู่มานานหลายสิบปี ระบบเอเยนต์ขายตั๋วที่ดูแลเกื้อหนุน ผู้บริหาร และอดีตผู้บริหารฝ่ายการพาณิชย์ ฝ่ายการตลาดมาหลายทศวรรษ

การเคลื่อนไหวของสหภาพรัฐวิสาหกิจ การบินไทยในสัปดาห์ก่อน เป็นหนังตัวอย่างที่ฉายให้เห็นว่า คนที่อาสาเข้ามาผ่าตัด จะต้องเจอกับอะไรบ้าง

นาทีนี้ การฟื้นฟูการบินไทย จะฟื้นฟูอย่างไร ในตำรามีบอก มีคนทำให้ดูเป็นกรณีศึกษาเยอะแล้ว ไม่ใช่เรื่องยาก ยากที่สุดคือ หาอัศวินผู้กล้า ขันอาสามากอบกู้การบินไทย

กำลังโหลดความคิดเห็น