xs
xsm
sm
md
lg

พรก.ฉุกเฉินต้องมีวันเลิก

เผยแพร่:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ



หลังจาก ครม.มีมติบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินทุกพื้นที่ทั่วราชอาณาจักรไปอีก 1 เดือนตั้งแต่ 1-30 มิ.ย.นี้ ตามที่พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) นำเสนอ เกิดคำถามตามมาว่า สถานการณ์ในขณะนี้นั้นจำเป็นที่ยังต้องใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินอยู่อีกหรือ หรือว่ารัฐบาลมีเจตนาที่ต้องการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเป็นเครื่องมือทางการเมือง

เพราะไม่ว่าเป็นข้อเสนอโดยใครแท้จริงแล้วก็เป็นความคิดที่มาจากรัฐบาลนั่นแหละ

ใน 3 เหตุผลที่เลขาธิการ สมช.หยิบยกขึ้นมาอ้างก็คือ 1. ยังคงจำเป็นต้องบังคับใช้เพื่อความเป็นเอกภาพรวดเร็วโดยต้องใช้กฎหมายประกอบ 40 ฉบับมาอยู่ภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 2. เตรียมรองรับการผ่อนปรนระยะที่ 3-4 ซึ่งกิจการที่มีความเสี่ยงสูงจะปรากฏขึ้น และ 3. สถานการณ์การแพร่ระบาดและติดเชื้อยังไม่สิ้นสุด หลายประเทศการระบาดยังสูงจึงมีความจำเป็นต้องมีระยะเวลาเพื่อเตรียมพร้อมในการเปิดประเทศมีมาตรการรองรับความเสี่ยงที่อาจมีการกลับมาระบาด

แต่หลายฝ่ายกลับไม่เห็นด้วยเพราะเห็นว่าสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ภายในประเทศมีแนวโน้มที่ดีขึ้นมากแล้ว และการบังคับใช้กฎหมายปกติ เช่น พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 และกฎหมายคนเข้าเมือง ก็ให้อำนาจกำหนดมาตรการที่ครอบคลุมเพียงพอที่จะป้องกันและควบคุมโรคระบาดได้

มาตรการที่ใช้อยู่ตอนนี้ถ้าไปกาง พ.ร.บ.โรคติดต่อก็จะเห็นว่าสามารถหยิบใช้แทนกันได้หมด และมาตรการที่ พ.ร.บ.โรคติดต่อไม่ได้ให้ไว้ก็มีกฎหมายอื่นที่นำมาบังคับใช้เพื่อเสริมกันได้ด้วย

พ.ร.ก.ฉุกเฉินโดยเนื้อหาแล้วจะเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ และประเทศตกอยู่ในภาวะคับขัน ณ วันนี้สถานการณ์ก็น่าจะคลี่คลายไกลจากนั้นมากแล้ว

อาจจะทำไม่ได้โดยไม่มี พ.ร.ก.ฉุกเฉินก็น่าจะเป็นเรื่องการประกาศเคอร์ฟิว แต่ก็มีคำถามแหละว่า การประกาศเคอร์ฟิวส่งผลอย่างไรต่อการแพร่ระบาดของเชื้อโรค และในช่วงเวลานั้นคนมีระยะห่างกันมากกว่ากลางวันมาก

ในความเป็นจริงจนถึงขณะนี้มีเชื้อที่ระบาดอยู่ในประเทศเหลือน้อยมาก มีเพียง 4-5 จังหวัดเท่านั้นที่ยังมีโรคระบาดในระยะเวลา 14 วัน และมีถึง 60 กว่าจังหวัดที่ไม่มีผู้ติดเชื้อเกิน 28 วัน จังหวัดที่ยังมีผู้ติดเชื้อก็คือ เชียงใหม่ นนทบุรี ภูเก็ต นราธิวาส และกรุงเทพฯ เท่านั้นเอง และส่วนใหญ่ในระยะหลังผู้ป่วยก็มาจากการกักตัวผู้ที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศเกือบทั้งหมด

แน่นอนว่า เรื่องนี้จะเป็นเรื่องหนึ่งที่ฝ่ายค้านจะหยิบขึ้นมาอภิปรายในสภาฯ และการโจมตีนอกสภาฯ ว่ารัฐบาลมีเจตนาแอบแฝง เพราะ พ.ร.ก.ฉุกเฉินนั้นจำกัดเสรีภาพของประชาชนในหลายด้านซึ่งไม่เกี่ยวกับการระบาดของเชื้อโควิดเลย มาตรการสำคัญของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินก็คือ การห้ามชุมนุมนั่นแหละที่รัฐบาลถูกมองว่ามีเจตนาซ่อนเร้น

ถ้ามองในแง่รัฐบาลข้อดีของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินอาจจะแตกต่างกับ พ.ร.บ.โรคติดต่อ ตรงที่ พ.ร.ก.ฉุกเฉินนั้นเป็นการใช้อำนาจของนายกรัฐมนตรี ในขณะที่ พ.ร.บ.โรคติดต่อนั้นเป็นการใช้อำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งต้องยอมรับโดยข้อเท็จจริงว่า การใช้อำนาจของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรี ย่อมจะดีกว่า การใช้อำนาจของนายอนุทิน ชาญวีรกูล ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพราะมีบารมีที่ต่างกัน

พ.ร.ก.ฉุกเฉินนั้นอำนาจเบ็ดเสร็จการสั่งการอยู่ที่นายกรัฐมนตรีคนเดียว แต่ พ.ร.บ.โรคติดต่อนั้น การประสานงานข้ามกระทรวงผ่าน รมว.สาธารณสุขย่อมจะมีความยุ่งยากมากกว่าผ่านนายกรัฐมนตรี

แต่เอาเข้าจริงๆ แล้วเมื่อดู พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 มาตรา 11 ก็พบว่า นายกรัฐมนตรีอาจใช้มาตรานี้นำทุกหน่วยงานมาบูรณาการเข้าด้วยกัน โดยให้อำนาจการกำกับอยู่ที่นายกรัฐมนตรีเป็นผู้สั่งการด้วยตัวเองได้

แน่นอนต้องยอมรับว่า ที่ผ่านมารัฐบาลและหน่วยงานด้านสาธารณสุขของไทยสามารถรับมือกับการจัดการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดได้ดี จนเป็นประเทศหนึ่งที่ได้รับการชื่นชมในระดับโลก แต่เราต้องแยกแยะให้ได้ว่า ความสำเร็จนั้นเกิดจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉินหรือความสามารถของสาธารณสุขไทย และความร่วมไม้ร่วมมือของประชาชน

ส่วนตัวผมเชื่อว่ามาจากความสามารถของสาธารณสุขไทย และความร่วมไม้ร่วมมือของประชาชนเป็นหลัก

เท่าที่ฟังคนที่สนับสนุนรัฐบาลส่วนใหญ่ก็จะสนับสนุนให้ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินต่อไป คนที่เรียกร้องให้ยกเลิกจะเป็นฝั่งตรงข้ามรัฐบาลเสียมากกว่า จนทำให้ความเห็นเรื่องควรเลิกไม่เลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินเป็นเรื่องของการเมืองไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

บางคนบอกว่า มี พ.ร.ก.ฉุกเฉินไม่เห็นจะเดือดร้อนอะไร แต่จริงแล้วถ้าตัดเรื่องเสรีภาพทางการเมืองออกไป ก็ต้องยอมรับว่ามีคนเดือดร้อนในการประกอบอาชีพไม่น้อย

โดยส่วนตัวผมจึงมองว่า ควรบังคับใช้กฎหมายให้ถูกต้องตามสถานการณ์ ในเมื่อเรามี พ.ร.บ.โรคติดต่ออยู่แล้ว ก็ควรจะใช้กฎหมายฉบับนี้ บางคนบอกว่า พ.ร.บ.โรคติดต่อไม่เพียงพอกับการแพร่ระบาดระดับนี้ ก็ยังมองไม่เห็นเลยว่า มาตรการที่ทำอยู่ตรงไหนที่ใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อไม่ได้ คือต้องเข้าใจว่าไม่ได้เรียกร้องให้ลดความเข้มข้นของมาตรการที่ใช้ แต่เป็นเรียกร้องให้ใช้ยาให้ถูกกับโรค

เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่า ก่อนที่สถานการณ์โควิดจะระบาดจนนำมาสู่การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินนั้น สถานการณ์การเมืองกำลังเกิดความตึงเครียดจากการจัดแฟลชม็อบของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่ไม่พอใจการที่ศาลมีคำพิพากษายุบพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งมองว่า เป็นพรรคการเมืองที่เป็นตัวแทนของคนรุ่นเขา

แม้เนื้อหาการอภิปรายในเวทีนักศึกษาเท่าที่ฟัง มีไม่น้อยที่นักศึกษาไม่เข้าใจความเป็นไปของเนื้อหาคดี ไม่มีความลุ่มลึกทางการเมือง และหยิบฉวยเอาการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลที่จดจำมาเป็นเนื้อหาในการโจมตีรัฐบาลเสียส่วนใหญ่ ไปพร้อมกับการสร้างแฮชแท็กขึ้นมาอย่างฉาบฉวยในโลกทวิตเตอร์ แต่ก็ยังสามารถสร้างแนวร่วมจนกลายเป็นกระแสแห่ตามกันของสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ กระทั่งลงมาถึงระดับชั้นมัธยมฯ ที่ยังไม่มีโอกาสเข้าไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้

เชื่อกันว่าหาก พ.ร.ก.ฉุกเฉินหมดลงเมื่อไหร่ พร้อมกับสถานการณ์การระบาดของโควิดที่คลี่คลายลง การรวมตัวของนักศึกษาอาจจะกลับมาอีก แล้วกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้ามจะหยิบฉวยสถานการณ์เข้ามาผสมโรงเพื่อสั่นคลอนอำนาจของรัฐบาล

เมื่อบวกกับความเดือดร้อนของประชาชนจากผลกระทบด้านเศรษฐกิจ ความอดอยาก การตกงาน สิ่งเหล่านี้ก็จะถูกหยิบมาเป็นเครื่องมือในการปลุกระดมประชาชนให้ออกมาชุมนุมบนถนนอย่างแน่นอน

การต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินไปอีก ในขณะที่สถานการณ์คลี่คลายลงมาแล้วนั้น จึงทำให้ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลคิดไปได้ว่า รัฐบาลมีเจตนาเพื่อใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเป็นเครื่องมือทางการเมืองนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่ารัฐบาลน่าจะมีความชอบธรรมที่จะอ้างเพื่อต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินไปได้อีกเดือนเดียวคือสิ้นเดือนมิถุนายนนี้ หรือถ้าจะอ้างเหตุผลสารพัดขึ้นมาอีกก็คงต่อไปได้อีกไม่นาน จากนั้น สุดท้ายแล้วรัฐบาลก็ต้องยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินอยู่ดี จะประกาศใช้เพื่อเป็นเกราะทางการเมืองไปตลอดสิ้นอายุรัฐบาลไม่ได้แน่

ดังนั้นก็ปล่อยให้รัฐบาลแอบอิงกับการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินไปให้สิ้นกระแสโรคนั่นแหละ ปล่อยให้สุขภาพนำหน้าเสรีภาพไปสักหน่อย ก็คงจะไม่ลงแดงตายกันไปก่อน

เพราะสุดท้ายแล้วรัฐบาลจะเกาะ พ.ร.ก.ฉุกเฉินตลอดไปไม่ได้อย่างแน่นอน อดทนรออีกนิดจะรีบเสี่ยงก่อม็อบตอนที่โควิดยังไม่สิ้นเชื้อไปทำไม

ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan
กำลังโหลดความคิดเห็น