ป้อมพระสุเมรุ
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -
เงียบเหงาแห้งเหี่ยวกันไปนาน
“ฝ่ายค้าน - ฝ่ายแค้น” ดูจะเพิ่งกลับมากระชุ่มกระชวยอีกครั้ง ต้อนรับ “ซีซันใหม่” เปิดประชุมรัฐสภา สมัยสามัญ เริ่มตั้งแต่เมื่อวันที่ 22 พ.ค. และนัดพร้อมประชุมครั้งแรกกันวันที่ 27 พ.ค.นี้
หลังจากช่วงปิดสมัยประชุมสภาไปเมื่อปลายเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา แผลที่เปิดไว้ใน “ศึกซักฟอก” การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีรายบุคคล ไม่มีโอกาสได้ขยายความต่อ เพราะมีวิกฤตโควิด-19 เข้ามาแทรก
ยิ่งในช่วงที่รัฐบาลแก้ไขปัญหาไวรัสมรณะ ผลงานเปรี้ยงเป็นที่น่าพอใจ เสียงโหวกเหวกโวยวายไม่พอใจของฝ่ายค้านก็เลยดูจะแผ่วเบาเหลือเกิน โดยเฉพาะเสียงรบเร้าขอเปิดประชุมสมัยวิสามัญ ที่ฝ่ายรัฐบาลคว่ำทิ้งอย่างไม่ใยดี ด้วยเห็นว่าคาบเกี่ยวกับการเปิดประชุมสมัยสามัญอยู่แล้ว
ฝ่ายค้านได้แต่ตั้งตาคอยให้เปิดเวทีสภาฯ สมัยสามัญ คิวแรก สภาผู้แทนราษฎร เตรียมพิจารณาพระราชกำหนด 4 ฉบับที่รัฐบาลออกไปช่วงปิดสมัยประชุม ประกอบด้วยพระราชกำหนดเกี่ยวกับการเงิน 3 ฉบับ รวม 1.9 ล้านล้านบาท ที่นำเงินไปแก้ไขปัญหาเยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) พ่วงด้วยอีกฉบับว่าด้วยการประชุมออนไลน์
จากนั้นก็มีร่างพระราชบัญญัติการโอนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 เพื่อนำไปแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 มูลค่ากว่าแสนล้านบาท
เป็น 2 คิวเน้นๆ ที่ลับดาบรอฟาดรัฐบาลให้จั๋งหนับ เพื่อสกัดไม่ให้รัฐบาลโกยแต้มฝ่ายเดียว
ด้วยความอัดอั้น เห็นว่าคิวแรก ที่ “วิปรัฐบาล” คณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล ให้เวลา 3 วัน ก็เลย “น้อยเกินไป” ในความรู้สึกฝ่ายค้าน เพราะทั้งติด “เคอร์ฟิว” เลิกดึกไม่ได้ แล้วยังต้องแบ่งครึ่งๆ กับทาง ส.ส.รัฐบาลอีก
สิริรวม 3 วัน เหลือเวลาให้ฝ่ายค้านพูดแค่ 15 ชั่วโมง
เป็นที่มาของอาการ “งอแง” ตามสูตร เหน็บแนมไปว่า ปิดกั้นการทำงานของฝ่ายตรวจสอบเสมือน “ตีเช็คเปล่า” ให้ฝ่ายบริหารเอาเงินกู้ 1.9 ล้านล้านบาท ไปใช้ได้ตามอำเภอใจ
ท่าทีกระตือรือร้นของ “ฝ่ายค้าน” ถือว่า “ดูดี” ทีเดียว แต่ถามว่าเอาเข้าจริง จะ “เหลว” อีกไหม??
เพราะภายในฝ่ายค้านเองก็ยัง “เคลียร์ใจ” กันไม่จบ รอบก่อนอภิปรายไม่วางใจนายกฯ และรัฐมนตรี รวม 6 คน ได้เวลาเนื้อๆ 4 วัน 3 คืน แต่กลับ “เสียของ” ซะงั้น
ฃหลังจบศึกซักฟอก เรตติ้งฝ่ายค้าน โดยเฉพาะ “เพื่อไทย” ร่วงกราวรูด ตามมาด้วยข้อหา “หักหลัง-ล้มมวย” ที่ “อดีตพรรคอนาคตใหม่” ด่าไล่หลัง ยังก้องอยู่ในโสตประสาท “บิ๊กเพื่อไทย” อยู่เลย
อย่างไรก็ดี หลังพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ แล้วย้ายสำมะโนครัวในชื่อใหม่ “พรรคก้าวไกล” นำโดย “เสี่ยทิม” พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค ก็ต้องรอดูว่าการทำงานในสภาฯจะสอดประสานกับพรรคร่วมฝ่ายค้านอื่นได้ดีขึ้นหรือไม่
นอกจากนั้นเกมในสภาฯยังเปลี่ยนไปไม่น้อย หลังอวสาน “อนาคตใหม่” เมื่อ 11 ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่เป็นกรรมการบริหารพรรค พ้นสภาพ และถูกตัดสิทธิ์การเมือง โดยที่ไม่ได้ลาออก ให้คนอื่นเข้ามาแทนที่
ส่งผลให้จำนวนเต็ม ส.ส.ในสภาฯเหลือเพียง 489 เสียง จากจำนวนเต็ม 500 เสียง
ซึ่งตามรัฐธรรมนูญมาตรา 83 วรรคสอง ระบุว่า ในกรณีมีเหตุใดๆ ที่ทําให้ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อมีจํานวนไม่ถึง 150 คน ให้ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อประกอบด้วยสมาชิกเท่าที่มีอยู่ ดังนั้นจึงไม่ต้องมีการไปดำเนินการใดเพื่อให้มี ส.ส.ครบ 500 คน
ทำให้ดุลอำนาจในสภาฯ เปลี่ยนไปพอสมควร แบ่งเป็นฝ่ายรัฐบาล 265 เสียง ฝ่ายค้านเหลือแค่ 224 เสียง เกิด “ช่องว่าง” ถึง 40 เสียง จากก่อนหน้าที่เคย “ปริ่มน้ำ” แล้วยังพลิกโหวตชนะไปได้ในบางครั้งด้วยซ้ำ
เกมในสภาของฝ่ายรัฐบาลก็ดูจะเบาบางไปได้อีกโข ในขณะที่ฝ่ายค้านก็ยังคลำหาฟอร์มไม่เจอ แถมยังดูไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
โดยเฉพาะแกนหลักอย่าง “เพื่อไทย” และ “ก้าวไกล” ที่ดูจะยังมีปัญหาคาใจกันอยู่
อีกทั้งยังมีข้อจำกัดใน “ประสบการณ์” ของพรรคก้าวไกล ที่ต้องยอมรับว่าการทำหน้าที่ผ่านมาในชื่อ “อนาคตใหม่” นั้นถือเป็น “ความหวัง” ของพรรคร่วมฝ่ายค้านเลยทีเดียว แต่ “ทีเด็ดทีขาด” หรือแง่มุมแท็กติกการเมือง ยังอยู่ในขั้น “สมัครเล่น”
ไม่ต้องอะไรมาก การอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ผ่านมา ที่ถูก “ต้มเปื่อย” สนิท เผาเวลาจนเกือบหมด กว่าจะรู้ตัวว่า “โดนต้ม” ก็ปาเข้าไปช่วงเย็นของวันที่ 4 ใกล้ปิดอภิปราย จนต้องมาแถลงข่าวต่อว่า “พรรคเพื่อนบ้าน”
หรืออย่างการเสนอขอเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ ทั้งที่รู้ว่าเสียงไม่พอ ก็ยังดื้อดึงจะยื่นเรื่องให้ได้ จน “เสียรังวัด” ไปอีกดอก
ที่สำคัญ ส.ส.น้อยใหญ่ในพรรค ก็ยังดู “จับจด” กับการทำงานตามแนวทางของเจ้าของพรรคตัวจริง “เสี่ยเอก” ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่วันนี้จำต้องผันตัวไปเป็นแกนนำ “กลุ่มก้าวหน้า” เล่นการเมืองนอกสภา
เห็นได้ชัดจากแคมเปญ “#ตามหาความจริง” ย้อนความเหตุการณ์พฤษภาฯ 35-53 ที่ “เสี่ยเอก” และ “สาวช่อ” พรรณิการ์ วาณิช อดีตโฆษกพรรคอนาคตใหม่ คิกออฟออกมาในนาม “กลุ่มก้าวหน้า” แล้ว ส.ส.ก้าวไกล ก็รับลูกไปเล่นต่อ จนลืมบทบาทฝ่ายตรวจสอบ ที่กำลังไล่เบี้ยรัฐบาล เรื่องงบประมาณแก้โควิด-19 ไปสนิท
กลายเป็นว่าใช้การเมือง “นอกระบบ” มานำ “ในระบบ”
ทั้งที่ศักยภาพของ “ขุนพลก้าวไกล” ที่เหลือจากพรรคเก่า ก็ไม่ได้ขี้ริ้ว ไม่ว่า “ฝ่ายบุ๋น” อย่าง “เสี่ยทิม” พิธา หัวหน้าพรรค เอง หรือ “จารย์ไหม” ศิริกัญญา ตันสกุล ในด้านเศรษฐกิจ หรือ “หมอเก่ง” วาโย อัศวรุ่งเรือง ในด้านสาธารณสุข ที่ฝ่ายรัฐบาลชมเปาะว่า อภิปรายสร้างสรรค์
ขณะที่ “ฝ่ายบู๊” ก็ไม่เบา นำโดย “เฮียโรจน์” วิโรจน์ ลักขณาอดิศร โฆษกพรรค “นายหัวกาย” ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ รองโฆษกพรรค ก็เข้าที
หากเป็น “นักมวย” ก็ยังถือว่าน่าเชียร์ แต่ถ้าพรรคก้าวไกล ก้าวไม่ไกล ไปไม่พ้น “ธนาธร” เลือกเดินตาม “มวยเถื่อน” นอกสังเวียน ก็ถือว่าน่าเสียดาย
และยังน่าหวาดเสียวแทนด้วย เพราะต้องไม่ลืมว่าคณะก้าวหน้ายังเล่น “เกมสุ่มเสี่ยง” โดย “จารย์ป๊อก” ปิยุบตร แสงกนกกุล อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ที่หลายคนว่า “หนักข้อ” ขึ้นเรื่อยๆ
หากยังแยกเส้นทาง “ก้าวหน้า-ก้าวไกล” ก็น่าหวาดหวั่นไม่น้อยว่าจะกลายเป็น “จุดอ่อน” ถูกหยิบมา “เอาผิด” ทั้งคณะก้าวหน้า และพรรคก้าวไกล เข้าอิหรอบ “ตายหมู่” กันไปอีก
หันมาดูหัวเรือใหญ่ฝ่ายค้านอย่าง “เพื่อไทย” ภายใต้การนำของ “เฮียพงษ์” สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรค และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ก็มีปัญหาการบริหารภายในพรรคไม่น้อย
ข่าวว่า “เจ้าของ” ชักไม่แฮปปี้กับ “ทีมเฮียพงษ์” ที่ดูจะไม่ค่อนแอคทีฟเท่าที่ควร
ส่วน “ทีมคุณหญิง” ของ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรค ที่ขยันสร้างอีเวนท์ลงพื้นที่ทำคะแนน กับเครือข่ายไม่กี่หน่อ แล้วยังไม่เป็นน้ำหนึ่งเดียวกันกับ “ทีมเฮียพงษ์” เสียด้วย
นำมาซึ่งข่าวในทำนอง “ลิ่วล้อทักษิณ” ระดับ “ขุนพล” สมัยก่อตั้งพรรคไทยรักไทย นัดหมายไปกระแทกแก้วไวน์กันที่ตึกใหญ่ “อดีตฐานบัญชาการไทยรักไทย” เพื่อร่วมประเมินทิศทางการเมือง พร้อมวางยุทธศาสตร์การต่อสู้กับ “ขั้วอำนาจปัจจุบัน” ตามบัญชาของ “คนแดนไกล”
ตกผลึกไม่เหนือความคาดหมายว่า ต้องมี “พรรคใหม่” คู่ขนานไปกับ “เพื่อไทย” ตามสูตรเก่าที่เคยคิดปั้น “ไทยรักษาชาติ”
แต่คราวนี้ไม่ใช้ “เด็ก” นำหน้าเหมือนตอนพรรคไทยรักษาชาติ ส่ง “ขาใหญ่” เข้าประจำการชูธงนำแทน
รายชื่อ “ขาใหญ่” ที่มาร่วม “รียูเนี่ยน” ย้อนอดีตสมัยทำพรรคไทยรักไทย เห็นว่าตอนนี้แบ่งเป็น 2 สาย ก็ไม่ได้เซอร์ไพร์สอะไรมาก สายหนึ่งคอนเนกชัน “คนเดือนตุลาฯ” นำโดย “เสี่ยอ้วน” ภูมิธรรม เวชยชัย, “หมอเลี้ยบ” นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ร่วมด้วย “เสี่ยอ๋อย” จาตุรนต์ ฉายแสง ที่ยังเคว้งคว้างหาที่ลงไม่ได้
โดยมี “หมอมิ้ง” นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช อดีตเลขาธิการนายกฯ และอดีต รมว.พลังงาน สมัยรัฐบาลทักษิณ เป็นคนวางโครงสร้างกลุ่มที่ว่ากันว่าจะใช้ชื่อ “กลุ่มพลังใหม่” ที่จะกลายเป็นพรรคการเมืองในวันข้างหน้
กับอีกสาย นำโดย “เสี่ยเพ้ง” พงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล อดีตนายทุนพรรคไทยรักไทย ที่อาจหนีบ “ป๋าเหลิม” ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง อดีตรองนายกฯ คนดัง มาด้วย
ที่สุดจะมีใครเป็นผู้ก่อการบ้างยังไม่เคาะ แต่จัดแจงดูฮ้วงจุ้ย “ที่ทำการพรรค” ไว้เสร็จสรรพ ปักหมุดที่ “ตึก บี.บี.ดี.” ที่ย่อมาจาก “บรรณพจน์-บุษบา (ดามาพงศ์) บิวดิ้ง” แถวๆสามย่าน ครั้งหนึ่งเคยใช้เป็นที่ทำการพรรคเพื่อไทยมาแล้
รู้จักกันดี “เสี่ยส่วน” บรรณพจน์ ดามาพงศ์ พี่บุญธรรม “คุณหญิงอ้อ” คุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร อดีตภรรยาทักษิณ นั่นเอง
ทำไปทำมา “ก๊วนไทยรักไทย-เพื่อไทย” ก็ยังไปไม่ถึงไหน วนเวียนรับใช้-พึ่งพาเครือข่าย “ทักษิณ” เหมือนเดิม.