xs
xsm
sm
md
lg

COVID-19 กับสงครามและสันติภาพ???

เผยแพร่:   โดย: ทับทิม พญาไท


เบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล
เปิดฉากสัปดาห์นี้...คงต้องขออนุญาตแวะไปแถวๆ ประเทศอิสราเอล ดินแดนลูกหลานกษัตริย์ดาวิดและโซโลมอนดูสักหน่อย เพราะหลังจากพรรคฝ่ายค้าน (Blue and White) และฝ่ายรัฐบาล (Likud) ตัดสินใจยอมรวมตัวเป็น “รัฐบาลแห่งชาติ” เมื่อช่วงปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา ไม่ต้องเสียเวลากลับไปเลือกตั้งรอบใหม่ หลังจากเลือกแบบซ้ำแล้ว ซ้ำเล่า มาถึง 3 ครั้ง 3 ครา โดยนายกรัฐมนตรี “เนทันยาฮู” จะยังคงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอิสราเอลต่อไปประมาณปีกว่าๆ หรือประมาณ 18 เดือนด้วยกัน จากนั้นค่อยถึงคิวนายพล “เบนนี แกนตซ์” แห่งพรรคฟ้า-ขาว ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกประมาณ 3 ปีต่อไป...

การ “เดินหน้า” ในสิ่งที่พรรครัฐบาลของนายกรัฐมนตรี “เนทันยาฮู” เคยสัญญิง สัญญา เคยหยิบมาหาเสียงเอาไว้ก่อนล่วงหน้า นั่นคือการผนวกเอาดินแดน ซึ่งเคยอยู่ภายใต้ราชอาณาจักรอิสราเอลมาตั้งแต่ครั้งเมื่อพระเจ้าเหายังไม่ทันได้ใส่กางเกงหูรูด หรือเมื่อนับพันๆ ปีที่แล้ว ไม่ว่าดินแดนในหุบเขาจอร์แดน อาณาเขตเวสต์แบงก์ ไปจนถึงที่ราบสูงโกลัน ให้กลับมาอยู่ภายใต้ “อำนาจอธิปไตย” ของประเทศอิสราเอลยุคใหม่ ที่ผู้นำอิสราเอลรายนี้เคยย้ำแล้ว ย้ำอีก ว่าใช้ระยะเวลาแค่ไม่เกิน 6 เดือน ก็สามารถเรียบโร้ยย์ย์ย์โรงเรียนอิสราเอล อย่างมิพึงต้องสงสัย เนื่องจากประเทศมหาอำนาจระดับสูงสุดในโลก หรือ “จ้าวโรค” อย่างคุณพ่ออเมริกา ท่านได้เตรียมแผนรองรับ หรือรับรอง เอาไว้เสร็จสรรพ หรือที่เรียกขานกันในนาม “ข้อตกลงแห่งศตวรรษ” (Deal of the Century) โดยมี “ลูกเขยชาวยิว” ของประธานาธิบดีอเมริกัน อย่าง “นายจาเร็ด คุชเนอร์” เป็นผู้ประดิษฐ์ คิดค้น หรือเป็นผู้ “จัดให้” ด้วยมือฝีมือตัวเองนั่นเอง...

ความร่วมมือ ร่วมใจ ระหว่างพรรคฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลอิสราเอล ที่กลายมาเป็น “รัฐบาลแห่งชาติ” ในอันที่จะเดินหน้าแผนผนวกดินแดนต่างๆ เข้ามาอยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยของประเทศ โดยจะเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม เป็นต้นไป จึงกลายเป็นตัว “ส่งสัญญาณ” ถึงความไม่สงบ ความรุนแรง ที่อาจเริ่มก่อตัวขึ้นมาในภูมิภาคตะวันออกกลางรอบใหม่ ชนิดแทบไม่ต่างอะไรไปจากการ “จุดชนวนสงคราม” เอาเลยก็ว่าได้ ทั้งๆที่ “สงครามกับเชื้อโรค” ของบรรดามวลมนุษยชาติยังคงไม่แล้วเสร็จ เรียกว่าเล่นเอาผู้นำประเทศบางประเทศ ที่เคยสงบและสุภาพเรียบร้อยอย่าง “กษัตริย์อับดุลลาห์ที่ 2” (King Abdullah 2) แห่งจอร์แดน อดไม่ได้ที่จะต้องออกมาประทานให้สัมภาษณ์ต่อนิตยสาร“Der Spiegel” ของเยอรมนี เมื่อช่วงวันศุกร์ (15 พ.ค.) ที่ผ่านมา ว่าการเดินหน้าแผนผนวกดินแดนของอิสราเอลนั้น อาจส่งผลให้เกิดการปะทะขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับราชอาณาจักรจอร์แดนรอบใหม่ หลังจากต่างฝ่ายต่างเคยทำ “สัญญาสงบศึก” มาตั้งแต่เมื่อเกือบ 30 ปีที่แล้ว (ค.ศ. 1994) เอาง่ายๆ...

หรืออย่างที่ทรงมีพระราชดำรัสแบบคำต่อคำเอาไว้ประมาณว่า... “จอร์แดนนั้น สนับสนุนทางออกแบบ 2 รัฐ (รัฐปาเลสไตน์และรัฐอิสราเอลที่ต่างเป็นเอกราชด้วยกันทั้งสิ้น) มาโดยตลอด ส่วนผู้นำประเทศรายใดที่หันไปสนับสนุนการแก้ปัญหาแบบรัฐเดียว (ไม่ยอมรับความเป็นเอกราชของปาเลสไตน์) ก็คือผู้ที่ไม่เข้าใจว่ามันหมายถึงอะไร หรือจะนำมาสู่อะไรกันแน่ ไม่เข้าใจว่าอะไรจะเกิดขึ้น ถ้าหากอำนาจอธิปไตยของปาเลสไตน์ถูกทำให้ล่มสลายลงไป เพราะนั่นอาจนำไปสู่ความโกลาหล ความรุนแรง ที่จะอุบัติขึ้นมาและแผ่ซ่านไปทั่วทั้งภูมิภาค” หรือสรุปง่ายๆ ว่า...ทรงพระไม่เห็นควรด้วยกับแนวคิดของรัฐบาลอเมริกัน หรือของลูกเขย “ทรัมป์บ้า” แบบหัวเด็ด ตีนขาด!!! แม้ประเทศจอร์แดนจะยังคงเป็นฐานที่ตั้งในการอำนวยความสะดวกให้กับกองทัพอเมริกันมาโดยตลอด...

การเดินหน้าผนวกดินแดนหุบเขาจอร์แดน เขตเวสต์แบงก์ ไปจนถึงที่ราบสูงโกลัน ที่รัฐมนตรีต่างประเทศอเมริกัน “นายไมค์ ปอมเปโอ” ถึงกับแสดงอาการกระดี้กระด้า บินไปเยือนอิสราเอลทันทีที่การจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติเป็นไปโดยสำเร็จ จึงแทบไม่ต่างไปจากจุดเริ่มต้นของ “กระบวนการจุดชนวนสงคราม” ระดับภูมิภาค หรือแม้แต่ระดับโลก ในอีกไม่ช้า-ไม่นาน นับจากนี้นั่นเอง อันเป็นสิ่งที่บรรดา “ชาวยิว” หรือถ้าพูดให้เฉพาะเจาะจงลงไปอีกสักหน่อย คือ “ขบวนการไซออนิสต์” ของอิสราเอล เคยเข้าไปเกี่ยวข้อง พัวพัน ไม่ว่าครั้งสงครามโลกครั้งที่ 1 ครั้งที่ 2 มาโดยตลอดนั่นเอง จนส่งผลให้สงครามระดับโลก หรือ “สงครามโลก” ทั้ง 2 ครั้ง กลายเป็นตัวเปิดช่อง เปิดทาง ให้ความพยายาม “กลับคืนสู่ภูเขาไซออน” หรือการกลับมาตั้งประเทศอิสราเองขึ้นใหม่ หลังจากสูญหายไปจากแผนที่โลกนับพันๆ ปีมาแล้ว จึงเป็นไปได้มาตั้งแต่บัดนั้น...

ด้วยเหตุนี้...ท่ามกลางสภาพอันปั่นป่วนโกลาหล สับสน ระส่ำระสายของโลกทั้งโลก อันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส “COVID-19” ที่ทำให้ใครต่อใครยังนึกภาพไม่ออก ว่านับจากนี้ หรือหลังจากนี้ โลกทั้งโลกจะมีรูปร่าง หน้าตา ออกไปในแนวไหน อย่างไร รวมทั้งยังไม่อาจสรุปได้ชัดเจนว่า “ผลกระทบ” หรือ “ผลข้างเคียง” จากการแพร่ระบาดเชื้อ “COVID-19” มันจะก่อให้เกิด “สันติภาพ” หรือ “สงคราม” มากหรือน้อยไปกว่ากัน การหันมาให้ความสนใจกับ “นักจุดชนวนสงคราม” ตัวยง อย่างบรรดาชาวยิวในประเทศอิสราเอลเอาไว้ก่อนล่วงหน้า จึงถือเป็นสิ่งที่พึงปฏิบัติและพึงต้องระมัดระวังแบบชนิดก้าวต่อก้าวเอาเลยก็ว่าได้...

เพราะโดยความเป็นไปของโลกโดยเฉพาะในทาง “ยุทธศาสตร์” นั้น...มันคงมีอยู่แค่ 2 รูป 2 แบบ คือถ้าไม่ออกไปทาง “สันติภาพ” ก็คงต้องทำ “สงคราม” เท่านั้นเอง และสำหรับฝ่ายที่ต้องอาศัย “สันติภาพ” เป็นแนวทาง เป็นยุทธศาสตร์ อย่างเช่นรัสเซียและจีนเป็นต้น การหาทางทำให้ “เครื่องจักรสงคราม” หรือประเทศซึ่งมักอาศัย “สงคราม” เป็นทางออก ทางรอด ของตัวเองตามแบบฉบับ “ลัทธิเคนเนเชียนทางทหาร” มาโดยตลอด อย่างประเทศอเมริกา ไม่มีเงื่อนไข เหตุปัจจัย มากพอที่จะ “จุดชนวนสงคราม” ขึ้นมาอีกครั้ง จนอาจต้อง “เหี่ยวปลาย” ไปเอง หรือแตกกระสานซ่านเซ็นไปเป็นประเทศเล็ก ประเทศน้อย ประเทศเดโมแครต ประเทศรีพับลิกัน ประเทศผิวขาว ผิวสี ฯลฯ อะไรต่อมิอะไรก็แล้วแต่ ย่อมถือเป็นแนวทาง ทิศทาง หรือเป็นยุทธศาสตร์ ที่เริ่มยกระดับความเป็นไปได้สูงยิ่งขึ้นเรื่อยๆ...

แต่ก็นั่นแหละ...แม้ว่าประเทศมหาอำนาจสูงสุดอย่างคุณพ่ออเมริกา จะ “กรอบเป็นข้าวเกรียบ” ไปแล้วในทุกวันนี้ ไม่ว่าในทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ไปจนถึง “การทหาร” เอาเลยก็ว่าได้ แต่ภายใต้สภาพอันปั่นป่วนโกลาหล สับสน ระส่ำระสาย ของโลกทั้งโลก อันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส“COVID-19” คราวนี้ ที่ได้ก่อให้เกิด “ฉากสถานการณ์” ต่างๆ ขึ้นมาในแต่ละประเทศ ไม่ว่า 1. การต่อต้าน ลุกฮือ การไร้เสถียรภาพทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ในแต่ละประเทศ 2. ความด้อยประสิทธิภาพ หรือการถูกลดทอนประสิทธิภาพของ “องค์กรระหว่างประเทศ” ไม่ว่า “WHO” ที่ถูกตั้งข้อกล่าวหาจนแก้ตัวแทบไม่ทัน องค์กรการเงินอย่าง “World Bank” หรือ “IMF” ที่นอกจากต้องเผชิญกับ “ปัญหา” ที่ออกจะใหญ่โตเอามากๆ ยังถูกกดดันให้เกิดความลำเอียงต่อการช่วยเหลือเยียวยาประเทศต่างๆ ตลอดจน “กลไกการหาทางออกจากความขัดแย้ง” ระหว่างประเทศที่เป็นไปอย่างติดๆ ขัดๆ 3. เกิดการฉวยโอกาสทางการเมือง ด้วยการขยายความตึงเครียดทั้งภายนอก ภายใน ไม่ว่าการสร้างความเป็น “ศัตรู” กับจีนโดยอเมริกา ในระหว่างช่วงหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีอเมริกันที่กำลังมาถึง การเพิ่มความตึงเครียดในทะเลจีนใต้ อ่าวเปอร์เซีย แคริบเบียน ไปจนถึงทะเลแบเรนตส์กับรัสเซีย อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในรอบ 30 ปี และ 4. ความพยายามดิ้นรนจากปัญหา “เศรษฐกิจ” ของแต่ละประเทศ ที่อาจทำให้เกิดการเลือกข้าง เลือกฝ่าย อย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ ฯลฯ บรรดาสิ่งทั้งหลาย ทั้งปวงเหล่านี้นี่แหละ ที่ทำให้ความพยายาม “จุดชนวนสงคราม” การอาศัย “สงคราม” เป็นทางออก ทางรอด เป็น “ยุทธศาสตร์” จึงยังคงเป็นสิ่งที่เป็นไปได้เสมอๆ...


กำลังโหลดความคิดเห็น