ความขัดแย้งทางความคิดในเชิงอุดมการณ์การเมืองของคนในสังคมไทยกำลังก่อตัวขึ้น โดยเฉพาะจากการเติบโตของพรรคอนาคตใหม่ ที่ชนะเลือกตั้งจำนวนมากในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา โดยมีเสียงสนับสนุนอย่างท่วมท้นจากคนรุ่นใหม่ที่มองว่า พรรคการเมืองพรรคนี้คือพรรคที่เป็นตัวแทนของคนรุ่นเขา
แต่ความผิดพลาดในความไม่จัดเจนการเมืองทำให้พรรคนี้เดินเกมพลาดในข้อกฎหมาย จนกระทั่งศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรคและตัดสิทธิการเมืองแกนนำของพรรค 10 ปี ถามว่า ฝ่ายพรรคอนาคตใหม่มองว่า เป็นความผิดพลาดของตัวเองหรือไม่ คำตอบคือไม่ พวกเขากลับมองว่า พรรคถูกยุบเพราะไปท้าทายกลุ่มอำนาจเก่าที่เป็นกลุ่มชนชั้นอภิสิทธิ์ของสังคม
แล้วชนชั้นอภิสิทธิ์ของสังคมของพวกเขาหมายถึงใคร หมายถึงประชาชนด้วยกันไหม หมายถึงกลุ่มคนรวยคนจนไหม คำตอบคือไม่ เพราะธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ก็เป็นชนชั้นมหาเศรษฐีของสังคมไทย นั่นสะท้อนว่า วาทกรรมที่พวกเขาปั้นแต่งนั้นไปไกลกว่าชนชั้นประชาชนด้วยกัน และสังคมไทยก็ไม่มีชนชั้นวรรณะที่แบ่งแยกประชาชนด้วยกันมานานนมแล้ว
ภายหลังจากพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ เราเห็นคนหนุ่มสาวแสดงพลังคั่งแค้นโกรธเคือง เหมือนกับตัวแทนความหวังและศรัทธาของเขาถูกทำลายลงต่อหน้า ไม่มีใครสนใจเนื้อหา ข้อกฎหมาย และพฤติกรรมที่พรรคได้ทำลงไป แต่มีความเชื่อเหมือนที่แกนนำพรรคต้องการให้เชื่อนั่นคือ การกลั่นแกล้งจากอำนาจเก่าชนชั้นอภิสิทธิ์ที่ฝังรากลึกในสังคมไทย
และด้วยความฮึกเหิมของชัยชนะจากการเลือกตั้ง ทำให้แกนนำของพรรคเชื่อว่า พวกเขามีพลังพอที่จะสั่นคลอนสังคมไทย ความเชื่อมั่นนี้ไม่แตกต่างไปจากคนหนุ่มสาวหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ที่คนหนุ่มสาวยุคนั้นเชื่อมั่นว่าตัวเองมีสิทธิเสรีภาพอย่างเต็มที่ และพวกเขาคือพลังงานที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมไทยไปสู่หนทางที่ดีกว่าและพากันยึดมั่นในอุดมการณ์สังคมนิยม จนกระทั่งเกิดกระแสแห่แหนฝักใฝ่จีนคอมมิวนิสต์เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง
มีการชักธงแดง จัดนิทรรศการจีนแดง ตีพิมพ์สรรนิพนธ์เหมาเจ๋อตง นิทรรศการแสดงประวัติบุคคลสำคัญของลัทธิคอมมิวนิสต์ในรั้วมหาวิทยาลัย และตีพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับประเทศจีน ปรัชญาลัทธิมาร์กซ์-เลนินออกมาจำนวนมาก มีพรรคการเมืองที่ฝักใฝ่สังคมนิยมเกิดขึ้น
เรียกได้ว่าเป็นระยะเวลาที่ดอกไม้ร้อยดอกเบ่งบานสำหรับแนวคิดสังคมนิยม มีการปลุกปั่นให้เป็นการต่อสู้ทางชนชั้นมีการลุกฮือขึ้นทั้งกรรมกร ชาวนา
ในขณะที่เพื่อนบ้านของเราตอนนั้นถูกคอมมิวนิสต์เข้ายึดครองทั้งในเขมร เวียดนาม และราชวงศ์กษัตริย์ของลาวถูกโค่นล้มลงในเวลาไล่เลี่ยกัน แน่นอนว่า สำหรับอำนาจรัฐแล้วนี่เป็นมหันตภัยที่กระทบต่อความมั่นคงของชาติ ฝ่ายต่อต้านจึงเกิดการจัดตั้งมวลชนขึ้นมา ถามว่านี่เป็นความชอบธรรมไหม ผมคิดว่าจากมุมของอีกฝั่งก็ชอบที่ลุกขึ้นมาตอบโต้เพื่อป้องกันการโค่นล้มอำนาจของฝ่ายตัวเอง เพราะแรงเหวี่ยงย่อมเท่ากับแรงกระทบ แรงกิริยาทุกแรงจะทำให้เกิดแรงปฏิกิริยาที่มีขนาดเท่ากัน
ความรุนแรงจึงยากจะยับยั้งและเกิดเป็นโศกนาฏกรรม 6 ตุลาคม 2519 ที่กลายเป็นฉากเศร้าของสังคมไทยอย่างที่เราทราบกันแล้ว
วันนี้ดูเหมือนสายลมแห่งความรุนแรงจะกลับมา และดูเหมือนว่ายากจะหลีกเลี่ยงความรุนแรงความเสียหายหลังจากสายลมพัดผ่านไป
เมื่อคนกลุ่มหนึ่งเชื่อว่าสังคมไทยต้องเปลี่ยนแปลงไปตามความคิดอุดมการณ์ของเขา เขาไม่พอใจสภาพสังคมที่เป็นอยู่ แน่นอนส่วนหนึ่งมาจากสภาพการเมืองที่เกิดขึ้นจากรัฐธรรมนูญที่เขียนขึ้นมาให้คณะรัฐประหารได้เปรียบในการเลือกตั้งแล้วตั้งพรรคการเมืองเข้ามาแข่งขันจนจัดตั้งรัฐบาลสืบทอดอำนาจได้สำเร็จ แต่ถามว่า เหตุผลแค่นี้หรือไม่ที่พวกเขาต้องการเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เราเห็นจากการแสดงออกของฝั่งที่ต้องการเปลี่ยนแปลงนั้น สามารถพูดได้ว่าพวกเขาต้องการเปลี่ยนแปลงที่มากกว่านั้น
ความเปลี่ยนแปลงที่มากกว่านั้นคืออะไร คำตอบก็คือว่า เขาไม่ได้ขัดข้องเฉพาะอำนาจรัฐที่ช่วงชิงมาไม่ได้และกติกาที่ไม่เป็นธรรม แต่เราเห็นว่า เขาขัดข้องในรูปแบบของรัฐเสียมากกว่า
ผมจำได้ว่า ตอนที่เสื้อแดงชุมนุมที่ราชประสงค์และเกิดการเจรจาระหว่างรัฐบาลกับแกนนำ ตอนแรกทำท่าจะจบลงด้วยดี และรัฐบาลขณะนั้นสัญญาแล้วว่า จะมีการยุบสภาเพื่อจัดการเลือกตั้งกันใหม่ แต่สุดท้ายฝ่ายเสื้อแดงไม่ยอมรับเงื่อนไข ถ้าใครอ่านบันทึกของวิสา คัญทัพ ที่ถอยออกจากกลุ่มเสื้อแดงหลังการเจรจาพร้อมวีระกานต์ มุสิกพงศ์ เขาเปิดเผยว่า ที่ฝ่ายเสื้อแดงพลิกคำไม่ยอมรับเงื่อนไขก็เพราะ “ต้องการชัยชนะที่มากกว่านั้น”
แต่วิสาไม่ได้เฉลยว่า...ชัยชนะที่มากกว่านั้นคืออะไร
ที่เป็นเช่นนั้นเชื่อว่าเพราะตอนนั้นพวกเขาปลุกปั่นมวลชนจนมั่นใจว่า มวลชนมีความเข้มแข็งมีความพร้อมที่จะลุกขึ้นเปลี่ยนแปลงสังคมไทยแล้ว
ผมเชื่อว่าวันนี้ธนาธร และปิยบุตร แสงกนกกุลก็มีความคิดไม่ต่างกัน เขาเชื่อว่าพลังมวลชนคนหนุ่มสาวคนที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงยืนอยู่ข้างเขา และพร้อมที่จะแตกหักกับโครงสร้างสังคมค่านิยมแบบเก่า พร้อมที่จะพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน และถากถางเส้นทางสายใหม่ในแบบประชาธิปไตยที่พวกเขาพูดเสมอว่าคนเท่าเทียมกัน
คำพูดของปิยบุตรหลังการยุบพรรคจึงมุ่งที่จะท้าทายพลังที่เป็นรากลึกของสังคมไทยที่มีคนอีกฝั่งหนึ่งเชื่อมั่น และพร้อมจะปกป้องศรัทธาของพวกเขา วิพากษ์วิจารณ์ในสิ่งที่คนไทยเรียกว่าเป็นการก้าวล่วง และพยายามเปรียบเปรยเชิดชูอุดมการณ์การปฏิวัติฝรั่งเศสมาเปรียบเทียบกับสังคมไทย ทั้งที่วันนั้นกับวันนี้มีบริบทความแตกต่างของสองสังคมที่ต่างยุคกันอย่างสิ้นเชิง
น่าคิดว่ามวลชนคนหนุ่มสาวหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 16 ต่อเนื่องมาจนถึง 6 ตุลาคม 2519 กับมวลชนคนหนุ่มสาวในวันนี้นั้นมีความแตกต่างกันอย่างไร ทั้งเชิงเนื้อหาและความคิด พวกเขาเข้าใจแค่ไหนในอุดมการณ์คนที่พวกเขาศรัทธาจะนำพาไป และสังคมไทยที่เป็นอยู่ในวันนี้นั้นได้สร้างความข้นแค้นขุ่นเคืองให้กับชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขาอย่างไร
ทั้งที่ว่าไปแล้ววันนี้คนรุ่นนี้มีความคิดและเสรีภาพที่เปิดกว้างในการแสดงออกในทุกด้าน วัฒนธรรมและค่านิยมของสังคมปัจจุบันไม่เคยไปกีดกั้นอิสรภาพของพวกเขา เหมือนที่คนยุคโน้นต้องลุกขึ้นมาเสนอ “ศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อประชาชน”เพราะเชื่อว่าแนวคิดวัฒนธรรมเก่านั้นมุ่งรับใช้ชนชั้นปกครองศักดินาและทุนนิยม วันนี้ไม่มีศักดินา แต่มีชนชั้นนายทุนที่เป็นสถานะของธนาธรที่พวกเขายกย่องนั่นแหละ
แม้การแสดงออกด้วยถ้อยคำสวิงสวายในโซเชียลมีเดียเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์จะเป็นเรื่องที่สนุกสนาน และรู้สึกสนุกขึ้นทุกวันในการผลิตถ้อยคำตราบที่ภัยยังมาไม่ถึงตัว แต่ถ้าเราก้าวล้ำไปมากกว่านั้นตามแรงยุยงปลุกปั่นเพื่อจะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐในแบบคนที่เราศรัทธาชักนำไป ต้องยอมรับให้ได้ว่ามันย่อมจะต้องเกิดแรงปะทะที่ตอบสนองกลับมา ดังที่กล่าวไว้ข้างบนว่า แรงกิริยาทุกแรงจะทำให้เกิดแรงปฏิกิริยาที่มีขนาดเท่ากัน
ความคิดและความฝันอุดมการณ์ทางการเมืองไม่ใช่เรื่องที่ผิด แต่ถ้าความคิดและอุดมการณ์การเมืองที่ขัดแย้งแล้วปะทะกัน ก็ต้องยอมรับผลพวงของความรุนแรงที่จะตามมาด้วย
ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan