มหกรรมวิ่งไล่ลุงในหลายจังหวัด กับเดินเชียร์ลุง ได้เปิดหน้าใหม่สำหรับกิจกรรมเสริมขับเคลื่อนในการเมืองไทย ถ้าจะคิดมาก ก็ส่อให้เห็นนัยหลายอย่าง ถ้าไม่คิดอะไรมากก็ต้องทำใจ เพราะต่อให้วิ่งจนลิ้นห้อยกี่วัน “ลุง” ก็ไม่ยอมไป ก็บอกแล้วนี่!
ผ่านมากว่า 5 ปี ระบอบ 3 ลุงได้หยั่งรากลงลึกพอสมควร หลังจากใช้เงินหว่านผ่านโครงการประชานิยมถมไม่เต็มไปหลายแสนล้านบาท ขณะที่ขบวนการอื่นๆ อ่อนล้าจากการอยู่ภายใต้ท็อปบูตและกฎหมายพิเศษ ขยับตัวแทบไม่ได้
อย่าว่าจะคิดขยับแข้งขาไปออกกำลังกายเดินหรือวิ่ง แค่ขยับปากก็ลำบากแล้ว ครั้ง 2 ครั้ง แค่แสบๆ คันๆ พอทำเนา ถ้าเล่นลูกหนัก สร้างความไม่สบายใจให้คณะ 3 ลุง เค้าก็สั่งไปนั่งเก้าอี้นั่งขยับปากกระสับกระส่ายช่วงปรับทัศนคติในค่ายท็อปบูต
แต่วันอาทิตย์ที่ผ่านมา เครือข่ายของค่ายอนาคตใหม่ได้ชิมลางกับมหกรรมวิ่งไล่ลุงที่สวนรถไฟ มีคนไปร่วมมากพอใช้ได้ คณะ 3 ลุงไม่ว่าอะไร ต่อให้วิ่งในนั้นทั้งวันทั้งคืนก็ไม่มีปัญหา มีหน่วยรักษาความปลอดภัยหลายหน่วยงานไปเฝ้าระวังให้
ที่ไปเฝ้าไม่ได้เป็นเพราะห่วงใย แต่กลัวนักวิ่งไล่ลุงจะออกมาเพ่นพ่านข้างนอกมากกว่า ที่คณะ 3 ลุงกลัวคือการเดิน ไม่ใช่การวิ่ง ถ้าเดินเป็นกลุ่มใหญ่ แถวยาวไปตามถนน ตรงไปหน้าทำเนียบฯ จะสร้างความรู้สึกตะครั่นตะครอมากกว่าการวิ่งเยอะ
ภายใต้กฎหมายควบคุมการชุมนุม ต่อให้มีระบอบประชาธิปไตยอย่างไร ก็เคลื่อนไหวได้ยาก ถ้าแกนนำมีชนักปักหลังด้วยคดีอื่นๆ ด้วยแล้ว ก็เหมือนการถูกมัดแข้งขา จะกระโดดโลดเต้นอย่างไร ก็ไม่สะดวกเหมือนการเดิน มีป้ายแสดงเจตนา
กลุ่มเดินตามลุงก็มีคนเข้าร่วมมากเช่นกัน มีทั้งประเภทติ่ง หูด สิว ตาปลา เนื้องอก ฝี ซึ่งอาจกลายเป็นเนื้อร้ายถ้ามีการถูกเสียดสีบ่อยครั้ง โดยธรรมชาติ การเดินเชียร์ไม่ได้รับความสนใจจากคนทั่วไปเหมือนมหกรรมขับไล่ เพราะร้อนแรงกว่ามาก
และกองเชียร์รัฐบาลมักไม่ได้รับความนิยม เสี่ยงถูกครหาว่ามีการจัดตั้ง การออกมาเชียร์แสดงให้เห็นว่าคนถูกเชียร์ต้องการเสียงเชียร์มาก ถ้าจะปล่อยให้มีคนมาวิ่งไล่อย่างเดียว ไม่มีกระแสค้าน จะทำให้เห็นว่าคณะ 3 ลุงมีปัญหาความนิยมแห้ง
ดังนั้น “วิ่งไล่” กับ “เดินเชียร์” ดูอย่างไรก็ให้อารมณ์ต่างกัน ยิ่งมีประเด็นต้องถามว่า “วิ่งไล่” เพราะอะไร และ “เดินเชียร์” มีประเด็นอะไรทำให้น่าเชียร์ ก็เกิดการเปรียบเทียบ ฝ่ายหลังจะดูลำบากกว่า เพราะถ้ามีเรื่องต้องเชียร์ คงไม่มีคนออกมาไล่
สุดท้าย ยุคที่ผ่านมา การ “เดินขบวน” มีน้ำหนัก น่ากลัวกว่า “วิ่งไล่” เยอะ ถ้าปักหลักพักค้างยืดเยื้อ ไม่ยอมสลายตัว ก็เป็นการประจาน เมื่อคนบนเวทีพยายามลากไส้ของเป้าหมายออกมาให้ชาวบ้านได้รับรู้ บางรายเน่าก่อนตายจริงด้วยซ้ำ
ประเด็นน่าสังเกตก็คือ กลุ่มวิ่งไล่ลุงได้ถูกติดตามเฝ้ามองความเคลื่อนไหวโดยฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐด้านรักษากฎหมายและรับผิดชอบงานความมั่นคง สวนรถไฟมีเจ้าหน้าที่ตั้งจุดตรวจคนเข้าออก เพื่อไม่ให้มีอาวุธ เพื่อกดดันหรือระแวงก็สุดแล้วแต่
ทั้ง 2 แห่งไม่มีปัญหาว่ามีใครไปป่วน ไม่มีความรุนแรง หรือเหตุร้าย ฝ่ายวิ่งไล่ลุงประกาศว่าจะจัดงานต่อเนื่องทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด อ้างว่าเป็นสิทธิเสรีภาพภายในระบอบประชาธิปไตย เพราะเป็นกิจกรรมสงบ สันติ ปราศจากอาวุธ
กิจกรรม “วิ่งไล่” และ “เดินเชียร์” พิสูจน์ให้เห็นรอยร้าว การแบ่งฝักฝ่าย มีแกนนำประเภทไอดอลตั้งเองหรือพวกเดียวกันทึกทักให้เป็น สะท้อนให้เห็นว่ายังไม่มีบรรยากาศของความปรองดอง ซึ่งก็ไม่มีใครว่าอะไร เพราะย่อมมีคนเห็นต่างกัน
ตราบใดที่ยังไม่มีการใช้ความรุนแรง หรือพละกำลังเข้าห้ำหั่นกันเอาแพ้ชนะ ก็ถือว่าเป็นสิทธิของทุกคนสามารถทำได้ ไม่ต้องมองโลกสวย อ้างว่าทุกคนต้องร่วมมือกันเลิกความขัดแย้ง “เพื่อให้บ้านเมืองเดินหน้าไปได้” ไม่เสียบรรยากาศการลงทุน
ที่ผ่านมา ต่อให้เดินขบวนขับไล่กลุ่มไหนที่กุมอำนาจรัฐ ก็ทำไม่สำเร็จ ปักหลักพักค้าง ปิดเมือง เดินกลางเมืองเป็นเดือนๆ ก็เอาไม่อยู่ เห็นได้จากความพยายามของกลุ่มพันธมิตรมือตบ ฝ่ายกลุ่มนกหวีดของลุงกำนัน และกลุ่มเสื้อแดงก็เช่นกัน
จากนั้นก็มีความรุนแรง การใช้อาวุธ การปะทะกันระหว่างกลุ่ม และกับเจ้าที่รัฐ เมื่อได้ที่แล้วก็จะมีกลุ่มชุบมือเปิบใช้ปืนเข้ามาล้มกระดาน รวบอำนาจตีกินยาว ดังที่เกิดขึ้นในยุคนี้ เป็นการสืบทอดยาวอำนาจ ดูแล้วจะเดินหรือวิ่งไล่ก็ไม่ออกแน่
ลุงประกาศย้ำซ้ำหลายครั้งแล้วว่าจะยอมทำงานไม่ยอมเหนื่อยเพื่อชาติบ้านเมืองใครมาไล่ก็ไม่ไป ยิ่งเป็นการเดินขบวนหรือวิ่งไล่ ก็ไม่มีวันได้ผล เว้นแต่จะมีรูปแบบใหม่ ซึ่งผู้เข้าร่วมจะต้องมีจำนวนมาก พร้อมใจกันยอมเสียสละบ้าง
ไม่ต้องเดินขบวน วิ่งไล่ เพียงแต่ไม่ยอมออกจากบ้านหลายวัน! ไม่ออกจากบ้านไปทำงาน สำนักงานบริษัทห้างร้านต่างๆ ไม่มีคนไปทำงาน สำนักงานรัฐบาลก็ต้องทำเหมือนกัน แต่เมืองไทยคนทำได้ยากเพราะทุกคนต้องคิดถึงตัวเองก่อนเสมอ
คนส่วนใหญ่คิดอย่างไร เมื่อเห็นกิจกรรมวิ่งไล่และเดินเชียร์ เลิกพูดได้เลยว่าขอให้หยุดเพื่อสร้างบรรยากาศความปรองดอง เพราะผู้ได้แท้จริง คือผู้กุมอำนาจ และกลุ่มทุนใหญ่ซึ่งมีอิทธิพลและอำนาจแท้จริงเหนือผู้กุมอำนาจรัฐ เป็นมาทุกยุค
ทั้งพรรคการเมือง และคณะรัฐประหาร ต้องใช้เงินสนับสนุนจากกลุ่มทุนใหญ่ในการเลือกตั้ง และทำรัฐประหาร! เมื่อได้อำนาจก็ใช้เป็นฐานโกยผลประโยชน์ การเมืองในสภาไม่ทำให้เปลี่ยนรัฐบาลได้ มีแต่อำนาจปืนและรถถังกดดันเท่านั้น
แต่ในยุค 3 ลุง วิกฤตเศรษฐกิจถ้ารุนแรง จะเป็นประเด็นชี้วัดความอยู่รอด!