xs
xsm
sm
md
lg

“โควิด” ทุบหุ้น มี.ค.ดิ่งเหว พ.ร.ก.ฉุกเฉินดันกลุ่มค้าปลีกสดใส

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“โควิด-19” ยังทุบหุ้นไทย ภาพรวมมีนาคมร่วงกว่า 230 จุด โชคดีได้ยาแรงทั้งภายนอกและภายในประเทศช่วยกระตื้อง โบรกฯ เชื่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินรอบนี้ รวมทั้งมาตรการที่ออกมาหวังหนุนตลาด นักลงทุนขานรับเพราะไม่ใช่วิกฤตจากความขัดแย้งทางการเมือง แจงรอบนี้มีทั้งกลุ่มได้ประโยชน์ และรับผลกระทบ โดยรวมหุ้นกระแสเงินสดสูงยังได้รับความนิยม และหลายคนเลือกกอดเงินสดมากกว่าเสี่ยงเข้าลงทุน

สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 (Covid-19) สร้างความผันผวนให้แก่ระบบเศรษฐกิจและตลาดหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง รวมถึงความเป็นอยู่ของประชาชน จนในที่สุด พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกแถลงการณ์ประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) พ.ศ. 2548 เพื่อควบคุมการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เริ่มตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563

ขณะเดียวกัน รัฐบาลได้ออกมาตรการดูแลผู้ได้รับผลกระทบในหลายด้าน เช่น การสนับสนุนเงินเลี้ยงชีพเดือนละ 5 พันบาทเป็นระยะเวลา 3 เดือน ให้กลุ่มแรงงานนอกระบบประกันสังคม, สินเชื่อฉุกเฉิน 1 หมื่นบาทต่อราย อัตราดอกเบี้ยต่ำ 0.1% ต่อเดือน ไม่ต้องมีหลักประกัน, การยืดระยะเวลาการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาทั้งการยื่นแบบและชำระภาษีออกไปเป็นเดือนสิงหาคม 2563 ฯลฯ ซึ่งหลายสิ่งที่ภาครัฐกระทำออกมาถือว่าช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่ตลาดทุนได้ในระดับหนึ่งเช่นกัน

ภาพรวมในเดือนมีนาคม (จนถึงวันที่ 26 มี.ค.) ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลดลงแล้ว 243 จุด จากวันที่ 3 มี.ค. ปิดตลาดที่ระดับ 1,335.72 จุด และกำลังเคลื่อนไหวอยู่บริเวณ 1,025-1,100 จุด โดยนักลงทุนต่างประเทศขายสะสมจากต้นเดือน มี.ค.ไปแล้ว 7.59 หมื่นล้านบาท หรือมากกว่าครึ่งหนึ่งของยอดขายสะสมตั้งแต่ต้นปีที่ระดับ 1.12 แสนล้านบาท ขณะที่นักลงทุนทั่วไปซื้อสะสมในช่วง มี.ค.ไปแล้ว 4.47 หมื่นล้านบาท ตามมาด้วยสถาบันในประเทศ 3.77 หมื่นล้านบาท ส่วนบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ขายสะสมช่วง มี.ค. 6.51 พันล้านบาท

ขณะที่ นักลงทุนยังคงกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มผลการดำเนินงานไตรมาส 1/63 ที่หุ้นหลายกลุ่มคาดว่าจะรายงานผลการดำเนินงานอ่อนแอลงอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็น สายการบิน ท่องเที่ยว การเงิน, ศูนย์การค้าและกลุ่มที่มีรายได้ค่าเช่า เป็นต้น ส่งผลให้กลุ่มที่แข็งแกร่งหรือฟื้นตัวดีกว่าตลาดยังมีค่อนข้างจำกัด ซี่งจะอยู่ในหุ้นที่มีกระแสเงินสดมั่นคง หรือได้ประโยชน์จากสถานการณ์ช่วงนี้ เช่น ค้าปลีก, อาหาร, สื่อสาร, ไฟฟ้า เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลพบว่าการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 4 จากก่อนหน้าที่การประกาศเคอร์ฟิวเกิดขึ้นครั้งแรกในวันที่ 17-24 พ.ค. 2535 ซึ่งเป็นช่วงพฤษภาทมิฬ ครั้งที่ 2 ปี 2550 เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในภาคใต้ และครั้งที่ 3 ปี 2553 การชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดง โดยการประกาศเคอร์ฟิวส่วนใหญ่เป็นเรื่องการเมือง ยกเว้นครั้งนี้ที่เป็นเรื่องเศรษฐกิจ

“ณัฐชาต เมฆมาสิน” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทรีนีตี้ จำกัด คาดว่าดัชนีหลักทรัพย์น่าจะตอบรับในเชิงบวกต่อเรื่องดังกล่าว สำหรับมาตรการลดผลกระทบทางเศรษฐกิจที่รัฐบาลจะสนับสนุนค่าใช้จ่ายระยะสั้น รวมถึงมาตรการยืดระยะเวลาการชำระภาษีเงินได้ทั้งนิติบุคคล และบุคคลธรรมดา ถือเป็นปัจจัยบวกอ่อนๆ ต่อกลุ่ม Consumer Staple เช่น CPALL, BJC, และ MAKRO

ขณะที่ บล.เคทีบี (ประเทศไทย) มองว่า เมื่อเริ่มมีการประกาศมาตรการต่างๆ ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินออกมาถือว่าเป็นลบต่อตลาดหุ้นไทย เพราะเป็นการออกมาตรการที่เข้มงวดมากขึ้น โดยเฉพาะการปิดช่องทางเข้าในประเทศสำหรับชาวต่างชาติ และการเดินทางข้ามจังหวัดที่เข้มงวดขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อหลายๆ ธุรกิจใช้เวลาฟื้นตัวนานขึ้น อย่างไรก็ตาม มีบางธุรกิจที่ยังได้รับผลบวกจากมาตรการนี้เช่นกัน โดย ธุรกิจและบริษัทที่ได้รับผลกระทบเชิงลบคือ

1) สนามบิน, ธุรกิจการบิน (AOT, AAV, BA, NOK, THAI)

2) โรงพยาบาล (BDMS, BH, BCH, THG)

3) โรงแรม (ERW, CENTEL, MINT, AWC)

4) ปั๊มน้ำมัน (PTG, PTT, ESSO, BCP, SUSCO)

5) ขนส่งน้ำมัน/ก๊าซ (SCN, WP, PRM, VL, KIAT)

6) เรือเฟอร์รี (RP)

ธุรกิจและบริษัทที่ได้รับผลกระทบเชิงบวก คือ

1) ซูเปอร์มาร์เกต+ร้านสะดวกซื้อ (BJC, MAKRO, CPALL)

2) ผู้ผลิตอาหาร (CPF, TU, ASIAN, TFMAMA)

3) ICT (ADVANC, TRUE, JAS, DTAC)

4) ประกัน (TQM)

ด้าน “วิจิตร อารยะพิศิษฐ” ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) กล่าวว่า ดัชนีหลักทรัพย์ดีดตัวขึ้นนั้นมีปัจจัยสนับสนุนจากต่างประเทศ ได้แก่ ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ได้ออกมาประกาศนโยบายกระตุ้นทางการเงินแบบสุดขั้วซึ่งชุดใหญ่กว่าครั้งที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจในสหรัฐฯ เมื่อปี 2551 โดยเฟดแถลงว่าจะเข้าซื้อตราสารทางการเงินหลายรูปแบบ ทั้งพันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรที่มีสินทรัพย์ค้ำประกัน กองทุนตลาดเงิน ตั๋วเงิน และ เป็นครั้งแรกที่เฟดประกาศซื้อหุ้นกู้เอกชนที่มีเครดิตดีอีด้วย ส่วนปัจจัยในประเทศ มีแรงเก็งในมาตรการของภาครัฐที่จะออกมา ซึ่งเบื้องต้นจะเป็นมาตรการเยียวยาผู้ที่ประสบปัญหาจากโควิด-19 ซึ่งน่าจะเป็นกลไกเล็กๆ ที่สามารถช่วยสนับสนุนตลาดหุ้นไทยได้บ้าง

สำหรับการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินครั้งนี้มองว่าไม่ได้เหมือนกับในอดีตที่ผ่านมา ซึ่งมักจะนำออกมาใช้ในช่วงที่มีปัญหาความไม่สงบทางการเมือง แต่ขณะนี้นำมาใช้ในช่วงการเกิดโรคระบาดเพื่อให้การควบคุมโควิด-19 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงไม่ได้มองว่ามาตรการดังกล่าวจะเป็นลบมากจนเกินไป อย่างไรก็ตาม คาดว่าโรคระบาดน่าจะส่งผลกระทบรุนแรงและยาวนานกว่าที่คาดไว้ โดยข้อดีในส่วนของมาตรการที่ภาครัฐออกมาช่วยผ่อนคลายความกังวลบ้าง แต่ยังเชื่อว่าตลาดคงไม่ได้ปรับระดับขึ้นได้ในเร็วๆ นี้

“ดัชนีวิ่งขึ้นไปได้บ้าง แต่โซนนี้ยังเป็นระดับต่ำของดัชนี เพราะโควิด-19 ยังไม่จบ ทำให้ตลาดน่าจะยังปรับระดับขึ้นได้ไม่เร็วเท่าที่ควร โดยหากตลาดยังไม่ถูกกระแทกแรงๆ จนปรับลงต่ำกว่า 1,000 จุด คงยังมีนักลงทุนที่เลือกหาหุ้นลงทุนในระยะสั้นอยู่ แม้จะลงไปในระดับ 900 จุด ก็มีนักลงทุนทยอยสะสมหุ้นอยู่เช่นกัน โดยหากตลาดจะสามารถปรับขึ้นได้ต่อเนื่อง จะต้องหาจุดสูงสุดของการระบาดในประเทศ และต่างประเทศให้ได้ แต่ขณะนี้ยังไม่มีสัญญาณว่าจะเกิดขึ้นโดยเฉพาะการระบาดในเดือนเมษายนนี้ ซึ่งเป็นระยะต่อไปที่น่าจะพบผู้ติดเชื้อมากขึ้นต่อเนื่อง ดังนั้นระดับที่ดัชนีจะขึ้นได้ในระยะสั้นก็คงไม่เกิน 1,000-1,200 จุด ซึ่งภาพตลาดจากนี้น่าจะเหวี่ยงผันผวนต่อเนื่อง แต่ไม่น่าจะเหวี่ยงได้ไกลกว่าที่ผ่านมา” นายวิจิตรกล่าว

“วิลาสินี บุญมาสูงทรง” ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.โกลเบล็ก จำกัด ประเมินทิศทางตลาดหุ้นไทยมีโอกาสปรับตัวลงต่อหลังกรุงเทพฯ และปริมณฑลประกาศ Lockdown ส่งผลให้ประชาชนที่ไม่มีงานทำเดินทางกลับภูมิลำเนา ซึ่งอาจให้เกิดการแพร่เชื้อในต่างจังหวัด ขณะที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ยังเพิ่มขึ้น ประกอบกับการรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และเสียชีวิตในโซนยุโรปและสหรัฐอเมริกาเร่งตัวขึ้นเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม มาตรการเยียวยาผลกระทบโควิด-19 ของสหรัฐฯ ที่อาจจะออกมาล่าช้า ส่งผลให้นักลงทุนกังวลว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มได้รับผลกระทบรุนแรงจากการแพร่ระบาดครั้งนี้ โดยนักเศรษฐศาสตร์จากมอร์แกน สแตนลีย์ คาดว่า GDP ของสหรัฐฯ ในช่วง Q2/63 อาจร่วงลงได้ถึง 30.1% ขณะที่ประธานเฟดเซนต์หลุยส์เตือนว่าอัตราว่างงานสหรัฐฯ อาจพุ่งแตะ 30% ส่วนราคาน้ำมันดิบ WTI ที่แกว่งตัวผันผวนยังคงกดดันหุ้นกลุ่มพลังงานไปด้วย จึงให้กรอบการเคลื่อนไหวของดัชนี 970-1,100 จุด ทำให้ยังคงต้องจับตาอย่างใกล้ชิดสำหรับความเคลื่อนไหวต่างๆ ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสดังกล่าว

"ตอนนี้ต้องยอมรับว่านักลงทุนแทบไม่ได้มองปัจจัยต่างๆ ที่เห็นว่าเป็นเรื่องบวกเลย เช่น ค่าเงินบาทที่อ่อนลงมาจะส่งผลดีต่อการส่งออกที่พลิกขยายตัว 1.51% ในเดือน ก.พ. 2563 เมื่อหักการส่งออกทองคำ น้ำมัน และอาวุธออกแล้วก็ตาม และรวมทั้งธนาคารแห่งประเทศไทยออกมาตรการเสริมสภาพคล่องตลาดตราสารหนี้และจัดตั้งกองทุนเสริมสภาพคล่องการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ (BSF) สร้างความเชื่อมั่นต่อการลงทุนในตลาดตราสารหนี้ และกระทรวงการคลังจะเตรียมเสนอมาตรการระยะ 2 ดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบ แต่ก็ไม่ได้สร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนได้ เพราะต่างปรับลดสถานะเพื่อถือเงินสดไว้เป็นหลัก"

ส่วนกลยุทธ์การลงทุน แนะนำว่าทยอยสะสมหุ้นที่ได้ประโยชน์จาก Bangkok Lockdown เช่น MAKRO, BJC, CPALL, TU, TFMAMA และหุ้นที่ได้ประโยชน์จากการส่งเสริมการทำงานที่บ้าน เช่น ADVANC, INTUCH, DTAC, TRUE, JAS, JASIF, DIF, COM7, SIS และ SYNEX


กำลังโหลดความคิดเห็น