ศาสตราจารย์ ดร. ศิวัช พงษ์เพียจันทร์
คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
Email: pongpiajun@gmail.com
ณ วินาทีนี้หลายท่านคงเริ่มคุ้นชินกับการยอดตัวเลขผู้ติดเชื้อและจำนวนผู้เสียชีวิตที่ล่าสุด (09/05/63) มียอดติดเชื้อทั่วโลกอยู่ที่ 3,989,975 คนและจำนวนผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 274,816 คน สหรัฐอเมริกาเองกลายเป็นประเทศที่มียอดผู้ติดเชื้อสูงถึง 1,312,683 คนและจำนวนผู้เสียชีวิตมากถึง 78,098 คน ท่ามกลางเสียงก่นด่าของคนอเมริกันจำนวนนึงเกี่ยวกับมาตรการ Lockdown ที่เข้มงวดเกินไปเรียกร้องให้มีการผ่อนปรนเพื่อที่เศรษฐกิจของประเทศจะได้เดินหน้าไปได้ แต่ก็มีอเมริกันชนจำนวนไม่น้อยโดยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์ที่สนับสนุนให้มีการใช้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมเพื่อควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อให้น้อยที่สุด แน่นอนความคับแค้นใจส่วนหนึ่งย่อมพุ่งตรงไปที่ตัวของผู้นำประเทศ ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์
ท่ามกลางวิกฤติสาธารณสุขและความล่มสลายของเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์นับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง ทรัมป์ กลับเดินหน้าหาแนวร่วมเพื่อทำ ข้อตกลงอาร์มิทิส (ชื่อเทพีแห่งดวงจันทร์ ภาษาอังกฤษคือ Diana) [1] หรือการแสวงหาประเทศพันธมิตรที่จะไปร่วมลงทุนทำเหมืองแร่บนดวงจันทร์! ประเทศพันธมิตรก็มี แคนนาดา ญี่ปุ่น กลุ่มประเทศ EU รวมทั้ง UAE แต่ไม่มี รัสเซีย จีน เข้าร่วมด้วย พูดง่าย ๆ ก็คืออเมริกาพยายามกันประเทศที่อยู่ขั้วตรงข้ามออกไปด้วยการหาแนวร่วมกลุ่มพันธมิตรเดิม ๆเพื่อที่จะแสวงหาผลประโยชน์ทางธุรกิจร่วมกัน ก่อนหน้านี้เชื่อว่าหลายท่านคงยังจำกันได้ว่าเมื่อสิ้นปี 2019 ทรัมป์ มีการประกาศการจัดตั้งกองทัพอวกาศ (US Space Force) ขึ้นเป็นครั้งแรกซึ่งถือว่าเป็นการจัดตั้งกองกำลังใหม่ในรอบ 70 ปีและมีการจัดสรรงบประมาณไว้ให้สูงถึง 1.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ [2]
อ่านถึงตรงนี้หลายท่านคงสงสัยว่า ทรัมป์คิดยังไงถึงมาร่างข้อตกลงอาร์ทิมิส ในช่วงที่เกิดวิกฤติโคโรน่า แล้วบนดวงจันทร์มันมีอะไรน่าดึงดูดถึงขนาดประเทศมหาอำนาจต้องร่วมกันลงขันไปทำเหมืองแร่กัน ผมเลยลองเรียบเรียงข้อได้เปรียบในการทำเหมืองแร่บนดวงจันทร์ซึ่งมีดังนี้
1. มิติทางการเมืองในประเทศ : ทรัมป์กำลังจะลงสมัครเป็นประธานาธิบดีต่อเป็นสมัยที่สองในช่วงสิ้นปี ข้อเท็จจริงที่ว่าอเมริกากลายเป็นประเทศที่มีผู้ติดโรค Covid-19 สูงเป็นอันดับหนึ่งของโลกย่อมสะท้อนความไร้ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการโรคระบาดของตัวผู้นำ ดังนั้นวิธีที่ง่ายที่สุดคือหาแพะรับบาปและต่อจากนี้เราจะเห็นกระบวนการ IO จากทั้งสองฝั่งตอบโต้กันไปมาอย่างรุนแรงมากขึ้น และอีกยุทธวิธีหนึ่งที่ง่ายแต่ใช้ได้ผลดีมาตลอดทุกยุคทุกสมัย คือสร้างเรื่องใหม่มากลบเรื่องเก่าและนั้นคือที่มาของการร่างข้อตกลงฉบับนี้
2. มิติทางการเมืองระหว่างประเทศ : ทรัมป์กำลังทำทุกวิถีทางที่จะสกัดกั้นไม่ให้จีนขึ้นมาเป็นผู้นำโลกเริ่มตั้งแต่ เตะตัดขาเทคโนโลยี 5G ของจีนด้วยการจับลูกสาวประธานบริษัท Huawei (หัวเหว่ย) ที่แคนนาดา แล้วยัดข้อหาการโจรกรรมข้อมูลแล้วส่งต่อไปให้อิหร่าน [3] ท่านผู้อ่านที่ใช้มือถือของ Huawei คงจำเหตุการณ์นี้ได้ดีเพราะหลายท่านเริ่มกังวลว่าอาจใช้บริการของ Google หรือ Facebook ไม่ได้หากใช้มือถือ Huawei แต่สุดท้ายเรื่องก็คลื่คลายลง นอกจากการรุดหน้าแบบก้าวกระโดดในด้านเทคโนโลยี AI ของจีนที่ประยุกต์เข้ากับระบบ 5G ได้อย่างยอดเยี่ยมแล้ว จีนยังประกาศศักดาที่จะแผ่ขยายอำนาจต่อไปยังอวกาศโดยเริ่มโครงการ Chinese Lunar Exploration Program หรือการทำเหมืองแร่บนดวงจันทร์ อาจกล่าวได้ว่าการที่ทรัมป์ตัดสินใจริเริ่มข้อตกลง อาร์ทิมิส ก็เพื่อจะมาลดทอนอำนาจการรุกคืบในอวกาศของจีน
3. บนผิวดวงจันทร์มีแร่โลหะหายาก (Rare Earth Metals) ซึ่งเป็นสินแร่ที่จำเป็นต่อการผลิตอุปกรณ์เทคโนโลยี (โดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือ) นอกจากนี้ยังมี
• Promethium ใช้ในการผลิตแบตเตอรี่พลังงานนิวเคลียร์
• Lanthanum ใช้ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์และกล้องถ่ายภาพ
• Yttrium ใช้ในการผลิตหลอดภาพของทีวีสี เตาไมโครเวฟ
• Neodymium ใช้ในการผลิตแม่เหล็กที่ใช้ในการผลิตลำโพงและฮาร์ดดิสก์คอมพิวเตอร์
• Praseodymium ใช้ในการผลิตใยแก้วนำแสงและเครื่องยนต์ของเครื่องบิน [4]
ประเด็นคือ เหมืองแร่ในจีนผลิตแร่โลหะหายากคิดเป็น 70% ของผลผลิตทั้งโลก ที่เหลือเป็นการผลิตในเมียนมา ออสเตรเลีย และสหรัฐฯ กับอีก 2-3 ประเทศ [5] ซึ่งหมายความว่าหากอเมริกาจะทำสงครามการค้าด้านไอทีกับจีน แค่จีนหยุดส่งออกแร่โลหะหายากเหล่านี้ไปสหรัฐ แค่นี้ทรัมป์ก็หนาวแล้ว ดังนั้นเพื่อที่จะปลดแอกตัวเองจากการที่ต้องตกเป็นเบี้ยล่างให้กับจีนในเรื่องวัตถุดิบของอุตสาหกรรมไอที สหรัฐฯ จำเป็นต้องแสวงหาแหล่งแร่ธาตุใหม่และนั้นคือการทำเหมืองแร่บนดวงจันทร์
4. ความสำคัญอีกประการของผิวดวงจันทร์คือมีปริมาณของ ฮีเลียม-3 (Hellium-3 )อยู่มาก ธาตุชนิดนี้สามารถนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงสำคัญในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์แบบฟิวชันซึ่งเป็นการจำลองปฏิกิริยาทางนิวเคลียร์ที่เกิดขึ้นบนดวงอาทิตย์ซึ่งมีความปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า การผลิตพลังงานจากปฏิกิริยา “ฟิชชัน (Nuclear fission)” โดยใช้ ยูเรเนียมหรือพลูโตเนียม
5. หากโครงการนี้สำเร็จเท่ากับว่าจะมีการสร้างงานจำนวนมากให้กับคนอเมริกันและนี้คือหนึ่งในไพ่ตัดสำคัญสำหรับ ทรัมป์ ที่จะโกยคะแนนความนิยมได้อย่างเป็นกอบเป็นกำในช่วงโค้งสุดท้ายของการลุยศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2020 อีกเรื่องคือการทำเหมืองแร่บนดวงจันทร์ไม่ต้องผ่านขั้นตอนการพิจารณา EIA หรือการประเมินผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมให้ยุ่งยาก
ต่อจากนี้เราคงได้เห็นการรบกันระหว่างสองมหาอำนาจ จีน และ อเมริกา อยู่ในหลายเวที ต่างกรรมต่างวาระ แต่มีเป้าหมายเดียวกันคือช่วงชิงความเป็นที่หนึ่งในการเป็นผู้นำโลก!
แหล่งที่มาข้อมูล
[1] https://www.reuters.com/…/exclusive-trump-administration-dr…
[2] https://www.theguardian.com/…/donald-trump-officially-launc…
[3] https://globalnews.ca/…/…/huawei-founder-canada-us-pressure/
[4] https://ngthai.com/environment/22041/rareearthuschina/
[5] https://www.bbc.com/thai/international-48448166