เอเอฟพี - กองทัพเรือสหรัฐฯ เริ่มอพยพทหารเรือหลายพันนายลงจากเรือบรรทุกเครื่องบินพลังงานนิวเคลียร์ ยูเอสเอส ธีโอดอร์ รูสเวลต์ ซึ่งจอดอยู่ที่เกาะกวม ภายหลังผู้บังคับการเรือได้ร่อนจดหมายเตือนถึงการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ‘โควิด-19’ ที่กำลังคุกคามชีวิตของทหารบนเรือลำนี้
ล่าสุดมีรายงานลูกเรือติดเชื้อไวรัสแล้วรวมทั้งสิ้น 93 นาย จากทั้งหมด 4,800 นาย
เจ้าหน้าที่เพนตากอนระบุวานนี้ (1 เม.ย.) ว่า พวกเขากำลังเร่งจัดหาห้องโรงแรมบนเกาะกวมเพื่อรองรับทหารเหล่านี้ ขณะเดียวกันก็ต้องจัดทีมลูกเรือที่ยังไม่ติดเชื้อให้ปฏิบัติหน้าที่ควบคุมเรือต่อไป
“แผนของเราในตอนนี้คืออพยพคนลงจาก เท็ดดี้ รูสเวลต์ ให้ได้มากที่สุด โดยจะต้องทิ้งทหารบางส่วนไว้บนเรือเพื่อคอยปฏิบัติหน้าที่รักษาการตามปกติ” พล.ร.ต. จอห์น เมโนนี ผู้บัญชาการทหารเรือสหรัฐฯ ประจำภูมิภาคหมู่เกาะมาเรียนา ให้สัมภาษณ์สื่อที่เกาะกวม
โทมัส มอดลีย์ รักษาการรัฐมนตรีทบวงทหารเรือของสหรัฐฯ ยืนยันว่าขณะนี้มีการอพยพลูกเรือแล้วเกือบ 1,000 นาย และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 2,700 นายในอีก 2-3 วันข้างหน้า แต่มีความจำเป็นที่จะต้องคงกำลังพลอย่างน้อย 1,000 นายไว้ควบคุมเรือ ระหว่างที่มันผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อ
“เราไม่สามารถนำทหารลงจากเรือได้ทั้งหมด เรือลำนี้มีอาวุธ มีเครื่องกระสุน มีอากาศยานราคาแพง และมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อยู่ด้วย” เขาอธิบาย
เมื่อต้นสัปดาห์นี้ เบร็ตต์ โครเซียร์ ผู้บังคับการเรือ ได้ส่งจดหมายแจ้งไปยังผู้บังคับบัญชาของเขาว่าเรือ ธีโอดอร์ รูสเวลต์ กำลังมีการแพร่กระจายของไวรัส “อย่างควบคุมไม่ได้” และขอให้เพนตากอนมีคำสั่งอย่างเด็ดขาดลงมาเพื่อช่วยลูกเรือให้ได้รับการกักกันโรค
“การแพร่กระจายของไวรัสกำลังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เราไมได้อยู่ในภาวะสงคราม ทหารไม่จำเป็นต้องตาย” เขาวิงวอน
จากข้อมูลในวันพุธ (1 เม.ย.) พบว่ากระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ มีเจ้าหน้าที่, พนักงานสัญญาจ้าง และผู้อยู่ในอุปการะติดเชื้อไวรัสโคโรนาแล้วมากกว่า 1,400 คน ในจำนวนนี้เป็นทหาร 771 นาย
การเข้าจอดที่เกาะกวมของเรือบรรทุกเครื่องบิน ธีโอดอร์ รูสเวลต์ เมื่อวันที่ 28 มี.ค. ทำให้ขณะนี้เรือบรรทุกเครื่องบินทั้ง 2 ลำของสหรัฐฯ ในแปซิฟิกถูกจอดนิ่งอยู่ที่ท่าเรือทั้งคู่ โดยเรือ ยูเอสเอส โรนัลด์ เรแกน ที่จอดอยู่ในญี่ปุ่นก็มีรายงานพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ด้วยเช่นกัน
มาร์ค เอสเปอร์ รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ยืนยันว่า กองทัพได้ปฏิบัติตามคำแนะนำในการเว้นระยะห่างทางสังคมและสุขอนามัย และปัญหาที่เกิดกับเรือรูสเวลต์ ตลอดจนโรคระบาดใหญ่ที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก จะไม่บั่นทอนศักยภาพในการทำสงครามของสหรัฐฯ
“มีหลายคนออกมาพูดว่า เราควรจะชัตดาวน์กองทัพสหรัฐฯ ทั้งหมด แต่การจัดการปัญหาแบบนั้นไม่ใช่เรื่องเหมาะสม” เอสเปอร์ แถลงที่ทำเนียบขาว