xs
xsm
sm
md
lg

สหรัฐฯ ปลดผู้บังคับการเรือบรรทุกเครื่องบิน ‘ธีโอดอร์ รูสเวลต์’ หลังร่อนจม.เตือน ‘โควิด-19’ ระบาด

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กัปตัน เบร็ตต์ โครซิเยอร์ ผู้บังคับการเรือบรรทุกเครื่องบิน ยูเอสเอส ธีโอดอร์ รูสเวลต์
รอยเตอร์ - กองทัพเรือสหรัฐฯ สั่งปลดผู้บังคับการเรือบรรทุกเครื่องบิน ยูเอสเอส ธีโอดอร์ รูสเวลต์ เมื่อวานนี้ (2 เม.ย.) โทษฐานเลือกใช้วิธีสื่อสารที่ไม่เหมาะสม หลังพบการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่บนเรือ

คำสั่งปลดกัปตัน เบร็ตต์ โครซิเยอร์ จากตำแหน่งผู้บังคับการเรือบรรทุกเครื่องบินซึ่งมีลูกเรือราว 5,000 นายถูกประกาศโดยรัฐมนตรีทบวงทหารเรือ โทมัส มอดลีย์ ซึ่งให้เหตุผลว่าผู้การฯ รายนี้ขาดความยับยั้งชั่งใจ

คำสั่งปลดมีขึ้นเพียง 2 วันหลังจดหมายร้องเรียนที่ผู้การฯ รายนี้ส่งไปถึงกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ รั่วไหลถึงมือสื่อมวลชน และสะท้อนให้เห็นว่าไวรัสโควิด-19 กำลังเป็นความท้าทายยิ่งยวดต่อสถาบันหลักของอเมริกา ไม่เว้นแม้แต่กองทัพสหรัฐฯ ซึ่งเผชิญภารกิจที่ซับซ้อนและอันตรายมามากต่อมาก

ชะตากรรมของ โครซิเยอร์ อาจทำให้เจ้าหน้าที่กองทัพเรือคนอื่นๆ ที่อยากจะออกมาตีแผ่ปัญหารู้สึกร้อนๆ หนาวๆ ไปตามๆ กัน ในขณะที่เพนตากอนยังพยายามเก็บงำรายละเอียดเกี่ยวกับการระบาดของไวรัสโคโรนาในหมู่ทหาร เนื่องจากเกรงจะบั่นทอนภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นในกองทัพ

มอดลีย์ ระบุว่า แม้จดหมายจะถูกส่งขึ้นไปตามสายบังคับบัญชา แต่ โครซิเยอร์ ก็มีความผิดที่ไม่ได้ป้องกันจดหมายรั่วไหลสู่คนภายนอก

“ผมไม่มีข้อมูล และไม่ได้จะกล่าวหาว่าเขาจงใจปล่อยให้จดหมายรั่ว” มอดลีย์ แถลงต่อสื่อมวลชน “แต่เขาส่งมันอย่างกว้างขวาง และไม่ได้ระวังหรือป้องกันจดหมายรั่วไหลออกไป ซึ่งถือเป็นความรับผิดชอบส่วนหนึ่งของเขา... มันเป็นการสั่นกระดิ่งเตือนที่ไม่จำเป็น”

มาร์ก วอร์เนอร์ ส.ว.เดโมแครต ออกมาวิพากษ์วิจารณ์คำสั่งของกองทัพเรือ โดยชี้ว่า โครซิเยอร์ เป็นหนึ่งในผู้รักชาติ “ที่พยายามทำดีที่สุดเพื่อลูกน้องของเขา” ส่วนประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ก็ให้สัมภาษณ์สื่อที่ทำเนียบขาวว่า “ไม่เห็นด้วยเลยสักนิด” กับคำสั่งปลดผู้การฯ รายนี้

ลูกเรือ ธีโอดอร์ รูสเวลต์ กว่า 100 นายได้รับการยืนยันแล้วว่าติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่

จดหมายความยาว 4 หน้ากระดาษของ โครซิเยอร์ อธิบายถึงสถานการณ์ที่ล่อแหลมบนเรือบรรทุกเครื่องบินพลังงานนิวเคลียร์ลำนี้ หลังมีลูกเรือล้มป่วยจากการติดไวรัสเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และเรียกร้องให้กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ “ตัดสินใจอย่างเด็ดเดี่ยว” ในการสั่งอพยพลูกเรือกว่า 4,000 นายเพื่อทำการกักโรค

เขาเตือนว่า “เราไม่ได้อยู่ในภาวะสงคราม และทหารไม่จำเป็นต้องตาย” แต่ถ้าหากกองทัพเรือยังคงเพิกเฉยไม่ทำอะไร “ก็จะต้องสูญเสียทรัพย์สินที่มีค่าที่สุด นั่นคือนายทหารของเรา”

จดหมายฉบับนี้ทำให้เพนตากอนต้องออกมาแก้ตัวพัลวันเกี่ยวกับมาตรการดูแลความปลอดภัยของลูกเรือ และยังสร้างความตื่นตกใจแก่ครอบครัวทหารที่ประจำการอยู่บนเรือลำนี้

เรือบรรทุกเครื่องบินพลังงานนิวเคลียร์ ยูเอสเอส ธีโอดอร์ รูสเวลต์ ขณะเดินทางไปถึงเมืองดานังของเวียดนาม เมื่อวันที่ 5 มี.ค. (แฟ้มภาพ – รอยเตอร์)
กำลังโหลดความคิดเห็น