(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.asiatimes.com)
US Pacific carriers face virus crisis
By DAVE MAKICHUK
31/03/2020
ทั้ง “ยูเอสเอส โรนัลด์ เรแกน” และ “ยูเอสเอส ธีโอดอร์ รูสเวลต์” 2 เรือบรรทุกเครื่องบินซึ่งสหรัฐฯส่งมาประจำการในย่านแปซิฟิก ต่างกำลังเจอกับปัญหาไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาด ทำให้เกิดความหวั่นกลัวกันว่า อเมริกาจะไม่มีเรือรบใหญ่บิ๊กเขี้ยวเล็บเพียบประเภทนี้ ที่พรักพร้อมออกปฏิบัติการได้ ในภูมิภาคแถบนี้
มันเป็นพัฒนาการที่กำลังสร้างความหวาดกลัวขึ้นในแวดวงเพนตากอน (กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ) เพราะถ้าหากเรือบรรทุกเครื่องบินใหญ่บิ๊กเขี้ยวเล็บเพียบ 2 ลำของอเมริกาต้องอยู่ในอาการเดี้ยงขึ้นมาสืบเนื่องจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่แล้ว ก็จะไม่เหลือเรือบรรทุกเครื่องบินซึ่งถูกส่งมาประจำการในภูมิภาคแปซิฟิกในเวลานี้อีกแล้ว ที่สามารถออกปฏิบัติการได้ ทำให้เกิดความกังวลในเรื่องความพร้อมรบและการรับมือกับสถานการณ์ด้านต่างๆ ตามมาอีกเป็นแถว
ตามรายงานชิ้นหนึ่ง โดย โจเซฟ เทรวิธิค (Joseph Trevithick ) (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.thedrive.com/author/joseph-trevithick) แห่ง เดอะ วอร์ โซน (The War Zone) (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.thedrive.com/the-war-zone) ลูกเรือจำนวน 2 คนของ “ยูเอสเอส โรนัลด์ เรแกน” (USS Ronald Reagan) เรือบรรทุกเครื่องบินชั้น “นิมิตซ์” (Nimitz class) ซึ่งประจำการอยู่ที่ฐานทัพส่วนหน้าในญี่ปุ่น และปัจจุบันก็ยังจอดอยู่ที่นั่น มีผลตรวจทดสอบโควิด-19 ออกมาเป็นบวก
เรื่องนี้ปรากฏออกมาเพียงวันเดียวหลังจากกองทัพสหรัฐฯประกาศว่า ได้สั่งกักกันโรคพวกลูกเรือทั้งหมดของเรือบรรทุกเครื่องบินอีกลำหนึ่ง ซึ่งก็คือ ยูเอสเอส ธีโอดอร์ รูสเวลต์ (USS Theodore Roosevelt) โดยเป็นการกักอยู่บนเรือลำนี้เอง ซึ่งกำลังจอดเทียบที่ท่าเรือในเกาะกวม หลังจากลูกเรือจำนวนหนึ่งติดเชื้อไวรัสโคโรนาชนิดนี้
โทรทัศน์ช่องข่าว “ฟอกซ์นิวส์” (Fox News ) เป็นเจ้าแรกที่รายงานเรื่องลูกเรือ 2 รายของเรือ เรแกน ติดเชื้อโควิด-19 เมื่อวันที่ 27 มีนาคม รายงานข่าวชิ้นนี้ระบุ
ฐานทัพของกองทัพเรือสหรัฐฯในเมืองโยโกสุกะ (Yokosuka) ซึ่งมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า ฐานทัพ “ฟลีต แอคทีวิทีส์ โยโกสุกะ” (Fleet Activities Yokosuka) และเป็นสถานที่ซึ่งเรือเรแกน จอดเทียบท่าอยู่ในปัจจุบันนั้น มีรายงานว่าถูกล็อกดาวน์อย่างน้อยที่สุดก็จนกระทั่งถึงสุดสัปดาห์นี้ รายงานชิ้นนี้กล่าว ยังไม่เป็นที่ชัดเจนในเวลานี้ว่าทางกองทัพเรืออเมริกันจะดำเนินขั้นตอนอะไรต่อไป เป็นต้นว่า การสั่งกักกันโรคเรือบรรทุกเครื่องบินลำนี้ทั้งลำ
ถึงแม้ญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในชาติแรกๆ นอกประเทศจีนซึ่งรายงานว่าพบเคสที่ยืนยันว่าติดเชื้อโควิด-19 แต่แดนอาทิตย์อุทัยก็ประสบความสำเร็จเป็นอันดีในการจำกัดการแพร่ระบาดของไวรัสนี้ รายงานชิ้นนี้บอก
อย่างไรก็ตาม ยังมีรายงานข่าวจากด้านอื่นๆ ซึ่งระบุว่า ที่เมืองหลวงโตเกียว ซึ่งอยู่ห่างจากโยโกสุกะ ไปทางเหนือเพียงราวๆ 40 ไมล์ มีเคสรายใหม่พุ่งพรวดขึ้นมาในสัปดาห์นี้ และพวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบได้ออกมาแนะนำชาวเมืองทั้งหมดแล้วให้อยู่แต่ในบ้านในช่วงสุดสัปดาห์นี้ เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ทะยานลิบลิ่วอย่าง “ระเบิดเถิดเทิง” (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.theguardian.com/global-development/2020/mar/26/tokyo-governor-tells-residents-to-stay-home-to-avoid-coronavirus-explosion)
ไม่เป็นที่ชัดเจนว่า การเกิดเคสโควิด-19 จะมีผลกระทบอะไรหรือไม่ต่อภาวะความพร้อมของเรือ เรแกน เรือบรรทุกเครื่องบินลำนี้ปัจจุบันยังกำลังอยู่ระหว่างการซ่อมบำรุงขณะจอดที่ท่าเรืออีกด้วย รายงานชิ้นนี้กล่าว
อย่างไรก็ตาม นี่ยังคงถือเป็นพัฒนาการที่น่ากังวลใจประการหนึ่ง เนื่องจากมันอาจทำให้กองทัพเรือสหรัฐฯไม่เหลือเรือบรรทุกเครื่องบินที่ถูกส่งมาประจำการยังส่วนหน้าในภูมิภาคแปซิฟิก ซึ่งอยู่ในสภาพพรักพร้อมใช้งานได้ เรือรูสเวลต์ และเรือเรแกน เมื่อรวมกันแล้วยังเท่ากับเศษหนึ่งส่วนห้าของจำนวนเรือชั้น “นิมิตซ์” ซึ่งนาวีอเมริกันมีอยู่เวลานี้ โดยที่เรือชั้นนี้แหละเป็นเรือบรรทุกเครื่องบินระดับ “ซูเปอร์” ที่สามารถออกปฏิบัติการได้อย่างแท้จริงของกองทัพเรือสหรัฐฯ
สำหรับสภาพของเรือรูสเวลต์นั้น รักษาการรัฐมนตรีทบวงทหารเรือ (Acting Navy Secretary) โธมัส ม็อดลีย์ (Thomas Modly) กล่าวเน้นย้ำกับพวกผู้สื่อข่าวในวันจันทร์ (30 มี.ค.) ว่า เรือบรรทุกเครื่องบินลำนี้ “มีความสามารถที่จะออกปฏิบัติการได้ ถ้าหากได้รับคำสั่ง” (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.nbcnews.com/news/us-news/coronavirus-outbreak-diverts-navy-aircraft-carrier-guam-all-5-000-n1169726) (หมายเหตุผู้แปล – ในวันที่ 2 เมษายน ผู้บังคับการของเรือรูสเวลต์ได้ถูกสั่งปลดออกจากตำแหน่ง สืบเนื่องจากเขาเขียนจดหมายร้องเรียนถึงผู้บังคับบัญชา ขออนุมัติให้ส่งลูกเรือทั้งหมดไปกักกันโรคบนบก แล้วจดหมายนี้รั่วไหลถึงสื่อมวลชน ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://mgronline.com/around/detail/9630000034225)
แต่ถ้าหากเกิดมีจำเป็นต้องดำเนินการเปลี่ยนแปลงใดๆ ขึ้นมาแล้ว เรือบรรทุกเครื่องบินของกองทัพเรืออเมริกันอีก 2 ลำซึ่งประจำการอยู่ทางฟากตะวันตกของสหรัฐฯ อันได้แก่ “ยูเอสเอส อับราฮัม ลินคอล์น” (USS Abraham Lincoln) และ ยูเอสเอส คาร์ล วินสัน (USS Carl Vinson) ก็ยังไม่พรักพร้อมในทันทีที่จะรับคำสั่งออกปฏิบัติการในแปซิฟิก รายงานชิ้นดังกล่าวระบุ
เรือลินคอล์นนั้นอยู่ในระยะพักฟื้นภายหลังประจำการ (post-deployment phase) หลังจากปฏิบัติหน้าที่อยู่ในตะวันออกกลางเป็นระยะเวลายาวนานเป็นประวัติการณ์ในช่วงก่อนหน้านี้ของปีนี้ ขณะที่เรือคาร์ล วินสัน เวลานี้จอดซ่อมอยู่ในอู่แห้ง
กองทัพเรือสหรัฐฯเวลานี้กำลังตรวจทดสอบลูกเรือทั้งหมดซึ่งมีจำนวนรวมกว่า 5,000 คนของเรือรูสเวลต์ เพื่อวินิจฉัยว่ามีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเท่าใด โดยในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีผู้ติดเชื้อไวรัสนี้พุ่งขึ้นจาก 8 รายเป็น 25 ราย
เวลานี้มีความหวั่นกลัวกันว่า ไวรัสนี้ยังอาจแพร่กระจายกว้างขวางออกไปในหมู่บุคลากรที่ประจำอยู่ที่เกาะกวม เมื่อมีการนำเอาผู้ป่วยจากเรือรูสเวลต์ขึ้นฝั่งเพื่อเข้ารับการบำบัดรักษา “พวกเราซวยแล้ว” ลูกเรือคนหนึ่งของเรือลำนี้บอกกับสื่อ “เดอะ เดลี่ บีสต์” (The Daily Beast) ถึงสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นมา (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.thedailybeast.com/coronavirus-outbreak-on-aircraft-carrier-sends-troops-scrambling?source=twitter&via=desktop )
“ผมให้แนวทางปฏิบัติแก่กองเรือนี้ โดยบอกว่า เราต้องทำ 3 เรื่องให้ได้” พลเรือเอกจอห์น อาคีลิโน (Admiral John Aquilino) ผู้บัญชาการของกองเรือแปซิฟิกสหรัฐฯ (U.S. Pacific Fleet) บอกกับสื่อ ยูเอสเอ็นไอ นิวส์ (told USNI News) เมื่อวันที่ 25 มีนาคม “เรื่องแรก คือทำให้มั่นใจได้ในเรื่องสุขภาพของทหารของเราและครอบครัวของพวกเขา เรื่องที่สองคือทำให้มั่นใจได้ว่าเราไม่ได้แพร่กระจายเชื้อโรคนี้ไม่ว่าในมาตุภูมิของเราเอง หรือใส่พวกพันธมิตรและพวกหุ้นส่วนของเรา และจากนั้นเรื่องที่สาม คือเราต้องทำให้มั่นใจได้ว่าเราธำรงรักษาความพร้อมในการสู้รบทำสงครามของเราเอาไว้” (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://news.usni.org/2020/03/25/pacfleet-commander-aquilino-adjusting-to-operating-under-threat-of-coronavirus )
ในอีกด้านหนึ่ง เดอะ วอร์ โซน ยังรายงานด้วยว่า ลูกเรือทั้งหมดของ 1 ใน 8 เรือดำน้ำติดขีปนาวุธนำวิถี ชั้นออสการ์ 2 โปรเจ็คต์ 949 เอ (Project 949A Oscar II class guided missile submarines) ของกองทัพเรือรัสเซีย (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.thedrive.com/the-war-zone/30917/putin-names-ships-subs-that-will-get-shadowy-zircon-hypersonic-missile-as-test-date-approaches) ได้ถูกสั่งกักกันโรคเนื่องจากความกังวลว่าพวกเขาอาจจะติดเชื้อไวรัสโควิด-19
“บี-พอร์ต” (B-port) สื่อข่าวออนไลน์ของรัสเซียซึ่งตั้งฐานอยู่ในเมืองมูร์มันสค์ (Murmansk) เมืองท่าทางภาคเหนือของแดนหมีขาว เป็นเจ้าแรกที่รายงานข่าวลูกเรือของเรือดำน้ำชั้นออสการ์ 2 ที่มีชื่อว่า “โอเรล” (Orel) ถูกกักกันโรค (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://b-port.com/news/238203)
พวกเจ้าหน้าที่ทหารเรือรัสเซียตัดสินใจทำเช่นนี้ ภายหลังทราบว่ามีผู้รับเหมาพลเรือนคนหนึ่งซึ่งเคยมาเยือนเรือดำน้ำลำนี้ในการติดต่อด้านธุรกิจอย่างเป็นทางการ ได้เคยไปติดต่อสัมผัสกับบุคคลอีกผู้หนึ่งซึ่งได้รับการตรวจทดสอบไวรัสโควิด-19 โดยผลออกมาเป็นบวก รายงานข่าวระบุ
โอเรล ใช้ฐานทัพเรือดำน้ำ กูบา บอลชายา โลปัตคา (Guba Bolshaya Lopatka submarine base) เป็นท่าเรือหลักของตน โดยที่ฐานทัพเรือดำน้ำแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของฐานทัพเรือซาปัดนายา ลิตซา (Zapadnaya Litsa naval base) ซึ่งตั้งอยู่บนคาบสมุทรโคลา (Kola Peninsula)