xs
xsm
sm
md
lg

‘ทรัมป์’ จะยุบหน่วยต้านไวรัส

เผยแพร่:   โดย: โสภณ องค์การณ์


ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ
โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำทำเนียบขาว จะยุบหน่วยเฉพาะกิจที่ดูแลสถานการณ์โรคระบาดโคโรนาไวรัส เพื่อเดินหน้าปลดล็อกมาตรการควบคุมต่างๆ ทั้งที่วิกฤต

ในสหรัฐอเมริกายังไม่ลดลงในระดับที่น่าพอใจ จำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตยังขยับขึ้นทุกวัน

การตัดสินใจดังกล่าว ทรัมป์ไม่คำนึงถึงความเสี่ยงที่คนอเมริกันจะต้องติดเชื้อและเสียชีวิตโดยที่วัคซีนและยารักษายังไม่มีบริษัทใดรับประกันได้ว่าจะได้ผล ทั้งนี้มองเพียงแต่ว่าเศรษฐกิจของประเทศจะต้องเดินหน้าต่อไป และการระบาดของโคโรนาไวรัสจะไม่เป็นอุปสรรค ซึ่งจะทำให้ตัวเองพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งชิงเก้าอี้ผู้นำประเทศในสมัยที่สอง

ขณะเดียวกัน ผู้นำทำเนียบขาวยังพยายามเล่นเกมอันตรายด้วยการชวนจีนทะเลาะด้วยข้อกล่าวหาที่ว่า จีนเป็นต้นตอการระบาดของเชื้อไวรัสและจะต้องรับผิดชอบด้านความเสียหายทั้งหมด รวมทั้งโอกาสที่ตัวเองจะต้องพ่ายแพ้การเลือกตั้งด้วย

นอกจากทรัมป์แล้ว ยังมีคนในคณะรัฐมนตรีและที่ปรึกษาในรัฐบาลร่วมกันเป็นคอหอยกับลูกกระเดือกในการกล่าวหาจีนโดยเริ่มมีเสียงสนับสนุนจากประเทศอื่นๆเช่น ออสเตรเลีย และยุโรปบางประเทศ

เมื่อผู้นำสหรัฐฯ ดึงประเทศให้เข้าอยู่ภาวะความเสี่ยงก็จะทำให้สถานการณ์เผชิญหน้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน สุ่มเสี่ยงในการที่จะเปิดแนวความขัดแย้งจากสงครามน้ำลายไปสู่สงครามการค้าที่ยังยืดเยื้อเรื้อรัง และถึงขั้นการเผชิญหน้ากันด้วยแสนยานุภาพในทะเลจีนใต้ เพราะทั้งสองประเทศมีทั้งกองทัพเรือและเครื่องบินลาดตระเวนอยู่ในพื้นที่

เหตุผลที่ทรัมป์ต้องการเปิดประเทศให้ทุกอย่างเข้าสู่ภาวะปกติ เพราะเล็งเห็นว่าตัวเองจะต้องไม่เป็นผู้ต้องหาในกรณีความล้มเหลวในการจัดการวิกฤตโคโรนาไวรัสซึ่งทำให้คนอเมริกันตกงานมากกว่า 30 ล้านคน บริษัทต่างๆ โดยเฉพาะบริษัทน้ำมันเสี่ยงต่อการล้มละลายและทำให้เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศมีปัญหา การขยายตัวลดกว่า 4.8% ในไตรมาสแรกของปีนี้

เมื่อสถานการณ์เป็นอย่างนี้การหดตัวของเศรษฐกิจในไตรมาสที่สองคงจะไม่ต่างกัน และนั่นหมายความว่าโอกาสที่ผู้นำทำเนียบขาวจะชนะการเลือกตั้งในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้จะเป็นไปได้ยาก เพราะคนอเมริกันจะเห็นว่าผู้นำประเทศห่วงเรื่องของตัวเองมากกว่าชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน

แต่ก็มีคนอเมริกันส่วนหนึ่งมองว่าประเทศจะต้องเดินหน้าต่อไปแม้จะมีความเสี่ยง เพราะไม่มีใครกำหนดได้ว่าถ้ายังปล่อยให้มีมาตรการคุมเข้มเศรษฐกิจจะเสียหายจนถึงขั้นอยู่ในภาวะตกต่ำ และยากแก่การฟื้นตัว เพราะมาตรการอัดฉีดจำนวนมหาศาลยังไม่สามารถหยุดยั้งการถดถอยได้

ทั้งในสหรัฐอเมริกาและยุโรปกำลังเผชิญวิกฤตที่ไม่เคยเกิดขึ้นในรอบ 100 ปีโดยเฉพาะอังกฤษซึ่งตัวเลขผู้เสียชีวิตเกือบจะถึง 30,000 ราย และยังไปต่อเรื่อยๆ ถือว่าเป็นอันดับสองรองจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งก็สะท้อนให้เห็นว่ากลุ่มประเทศพัฒนาในซีกโลกตะวันตก ไม่มีความสามารถรับมือกับภาวะวิกฤตของโรคระบาดได้

ขณะเดียวกัน ผู้เชี่ยวชาญด้านแพทย์ก็ได้เตือนว่าประเทศใดก็ตามที่ปลดล็อกการควบคุมมาตรการเร็วเกินไปจะทำให้เกิดการระบาดระลอกสอง จะทำให้เกิดความเสียหายมหาศาลและยากแก่การควบคุม เพราะกลไกต่างๆ เริ่มอ่อนล้าเห็นได้ชัดว่าแม้กระทั่งการจัดการจำนวนผู้เสียชีวิตก็ยังทำได้ไม่เต็มที่ มีจำนวนศพค้างอยู่ในประเทศที่มียอดผู้เสียชีวิตสูง

แม้จะมีตัวอย่างให้เห็นว่าประเทศที่ปลดล็อกเร็วจะมีการระบาดซ้ำ แต่ก็ยังมีหลายประเทศที่อยากจะเสี่ยงเพียงเพราะไม่อยากให้เศรษฐกิจตกต่ำจมลึกเกินไปโดยที่จะยอมรับสภาพว่าการระบาดจะยังมีต่อไป แต่ธุรกิจต่างๆ ก็ต้องเดินหน้า เป็นความเสี่ยงที่ผู้นำการเมืองไม่คำนึงถึงชีวิต และความปลอดภัยของประชาชน

จากนี้ไปต้องดูว่าสงครามน้ำลายระหว่างสหรัฐอเมริกาและพวกกับจีนจะเข้มข้นไปมากน้อยเพียงใด และผู้นำทำเนียบขาวจะใช้อิทธิพลกดดันหน่วยงานด้านข่าวกรองให้หาหลักฐานว่าจีนมีเจตนาปกปิดหลักฐานการระบาด และใช้มาตรการอื่นเพื่อป้องกันตัวเองโดยไม่ใส่ใจต่อสังคมโลก

หลายประเทศยกเว้นสหรัฐอเมริกาได้ลงขันจำนวนเงินมหาศาลเพื่อเร่งคิดค้นวิจัยวัคซีน และยาป้องกันรักษาโคโรนาไวรัสเพื่อหยุดยั้งการระบาดให้ได้ แต่จะสำเร็จในเร็ววันหรือไม่ เป็นคำถามที่ยังไม่มีคำตอบในวันนี้ และคนที่มีส่วนในการกุมชะตาและกำหนดทิศทางอนาคตของโลกก็คือผู้นำทำเนียบขาว ซึ่งคนอเมริกันเองก็เริ่มรู้สึกว่าเป็นบุคคลที่ไม่น่าไว้ใจและไม่ควรให้เป็นผู้นำ ยกเว้นพวกมีแนวคิดขวาจัดเท่านั้น

และโลกก็ยังอยู่ในความเสี่ยงจากโรคระบาดวิกฤตเศรษฐกิจ และสงครามด้านแสนยานุภาพเหมือนเช่นเคย
กำลังโหลดความคิดเห็น