xs
xsm
sm
md
lg

มะกันเสี่ยงกับภาวะเงินฝืด

เผยแพร่:   โดย: โสภณ องค์การณ์



ภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่เกิดขึ้นเกือบทั่วโลกเป็นผลจากการระบาดของโคโรนาไวรัส ขณะนี้ทำให้ผู้นำประเทศ นักธุรกิจ รวมทั้งผู้รู้ด้านเศรษฐศาสตร์ การเงิน เกิดอาการกังวลว่า ถ้ายังยืดเยื้อต่อไปและเศรษฐกิจทรุดถึงขั้นตกต่ำ จะเป็นภาวะที่เลวร้าย ต้องใช้เวลานานด้วยมาตรการต่างๆ

จะสำเร็จหรือไม่ขึ้นอยู่กับความพร้อมด้านทรัพยากรและกลไก รวมทั้งสภาพที่เป็นอยู่ด้วยว่าฐานของเศรษฐกิจยังแข็งแกร่งหรือไม่

ขณะนี้เริ่มมองกันแล้วว่าเศรษฐกิจบางประเทศโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกามีแนวโน้มที่อาจจะต้องเผชิญกับภาวะเงินฝืด ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับภาวะเงินเฟ้อ

และถ้าเกิดขึ้นก็จะเป็นอันตรายไม่น้อยกว่ากัน

สัญญาณที่ปรากฏชัดก็คือราคาสินค้าอุปโภคเริ่มลดลงในประเภทเสื้อผ้า สิ่งของเครื่องใช้เพราะประชาชนมีความต้องการน้อย ลดค่าใช้จ่าย ทำให้โรงงานจำเป็นต้องลดการผลิต จนถึงเลิกจ้างพนักงาน ถ้ายืดเยื้ออาจถึงขั้นปิดกิจการได้เช่นกัน

ความต้องการสินค้าอุปโภคลดลง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะประชาชนผู้บริโภคไม่มั่นใจในสภาวะเศรษฐกิจทั้งราคาน้ำมันยังกระเตื้องขึ้นไม่มากนัก

หลังจากลดลงถึงขั้นติดลบเดือนที่ผ่านมา เพราะการแข่งขันตัดราคาระหว่างซาอุดีอาระเบียกับรัสเซีย ส่งผลให้น้ำมันล้นตลาดจนไม่มีที่เก็บ

เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาใหญ่เป็นอันดับหนึ่งของโลก ดังนั้นการประหยัดของคนอเมริกันและความต้องการสินค้าลดลงแม้จะไม่ถึง 1% ก็ยังถือว่าเป็นปริมาณและมูลค่ามหาศาล ส่วนสำคัญคือคนอเมริกันตกงานมากกว่า 33 ล้านคน ต้องพึ่งสวัสดิการของรัฐต้องประหยัดทุกวิถีทางที่จะทำได้เพราะไม่แน่ใจว่าจะมีโอกาสได้งานทำเมื่อไหร่นั่นเอง

สภาวะเงินฝืดคือเงินหายาก คนไม่ใช้จ่ายเงิน ผู้ขายสินค้า และผู้ผลิตก็ลำบาก กระแสเงินไม่สะพัด เป็นก้าวสำคัญที่จะทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำได้ แม้สัญญาณของภาวะเงินเฟ้อจะยังไม่เกิดขึ้นในช่วงนี้ นักเศรษฐศาสตร์โดยทั่วไปมองว่ามีความเป็นไปได้ถ้าสถานการณ์ยืดเยื้อ

ตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาสแรกของสหรัฐฯ ถดถอยถึง 4.8% และไตรมาสที่ 2 น่าจะเห็นตัวเลขที่เลวร้ายกว่าเดิมทุกด้าน ทั้งการว่างงาน การปิดตัวของธุรกิจและการเข้าสู่กระบวนการล้มละลายไปต่อไม่ได้ ซึ่งเห็นกันในแทบทุกภาคธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การบิน การท่องเที่ยว การผลิตอุตสาหกรรม และน้ำมัน ซึ่งเป็นหัวใจหลักของประเทศ

ที่น่ากังวลก็คือการตัดสินใจของผู้นำสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของความจำเป็นในการรักษาชีวิตมนุษย์และสกัดการติดเชื้อ แต่มุ่งเน้นผลทางการเมืองและการเอาแต่ได้ เพราะรู้อยู่ว่าถ้าเศรษฐกิจย่ำแย่ไปกว่านี้โอกาสที่จะชนะการเลือกตั้งก็เป็นไปได้ยาก

คนอเมริกันเริ่มตระหนักแล้วว่าประเทศจะต้องเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจ การว่างงานโดยที่ยังมองไม่เห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ ยิ่งเป็นเพราะว่าเงินหายากขาดกำลังซื้อทำให้มาตรฐานการครองชีพตกต่ำลง สินค้าประเภทอาหารและค่าใช้จ่ายด้านยา และการรักษาพยาบาลเพิ่มสูงขึ้น เป็นภาระหนักกว่าที่เป็นอยู่

คนอเมริกันก็ไม่ต่างจากประเทศอื่นๆ ซึ่งมีปัญหาเงินออมในระดับต่ำ เมื่อตกงานทันทีจำเป็นต้องพึ่งสวัสดิการของรัฐ และต้องแบกรับภาระการผ่อนบ้าน รถยนต์ และภาระจำเป็นอื่นๆ ในรูปแบบของสังคมเมืองที่ต้องการความสะดวก

เห็นได้ว่าคนระดับกลางลงมาต้องดิ้นรนออกไปรับการบริจาคสิ่งของ อาหาร และผลิตภัณฑ์การเกษตร เช่น มันฝรั่ง ผัก เพราะจำเป็นต้องอยู่ให้รอดและลดค่าใช้จ่ายให้มากที่สุด ไม่รู้ว่าวิกฤตจากการระบาดของโคโรนาไวรัสจะสิ้นสุดเมื่อไหร่

ถ้ายืดเยื้อเป็นปี และมีความวุ่นวายทางการเมืองด้วยก็จะทำให้เศรษฐกิจของสหรัฐฯ เสี่ยงต่อการจมลึกถ้ามีภาวะล้มละลายกระจายกว้าง และรัฐบาลหมดแรงในการจะต้องอัดฉีดและยังจะต้องทำสงครามการค้ากับประเทศอื่นๆ เช่น จีน และรัสเซีย

สภาพการประหยัดของคนอเมริกันเห็นได้ชัดว่าสินค้าที่ขายดีในห้างขนาดใหญ่จะไม่ใช่สินค้าที่เป็นยี่ห้อมีชื่อเสียงเป็นที่นิยมเหมือนแต่ก่อน เนื่องจากผู้บริโภคหันมาซื้อสินค้าที่ห้างออกจำหน่ายเองหรือเป็นประเภท House Brands ซึ่งเป็นวิถีการเพิ่มยอดขายและสัดส่วนการตลาดของห้างใหญ่โดยทั่วไป

นอกจากนั้นผู้บริโภคยังหันไปซื้อสินค้าผ่านเครือข่ายยักษ์ใหญ่เช่นร้านอเมซอนทำให้ยอดขายในห้างร้านใหญ่ลดลง คนไม่อยากไปเสี่ยงกับการติดเชื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหลายเมืองของสหรัฐฯ ยังมีจำนวนผู้ติดเชื้อในอัตราสูง และยิ่งมีกลุ่มม็อบกดดันผู้บริหารแต่ละรัฐให้ปลดล็อกก็ยิ่งทำให้มีความเสี่ยงมากกว่าเดิม

จากมุมมองของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบาดที่ไปให้ปากคำต่อคณะกรรมาธิการของวุฒิสภาเมื่อคืนวันอังคารตามเวลาประเทศไทยนั้น โดยการประเมินต่างก็เตือนว่า ยังเร็วเกินไปที่จะปลดล็อกมาตรการคุมเข้มและเป็นความเสี่ยงถ้าจะเปิดโรงเรียนให้เด็กนักเรียนไปอยู่ในชั้นเรียนตามปกติ

คนอเมริกันยังมองตัวเลขการติดเชื้อและเสียชีวิตในอันดับหนึ่ง ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าความน่าเชื่อถือของผู้นำทำเนียบขาวมีปัญหา และยังเผชิญกับข้อสงสัยเรื่องขีดความสามารถ ความโปร่งใส และความซื่อสัตย์สุจริต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่ผู้นำไม่ยอมเปิดเผยตัวเลขการเสียภาษีเงินได้จนถูกนำคดีขึ้นสู่ศาล

สถานภาพการนำโดยรวมของผู้นำสหรัฐฯ ก็ไม่ได้รับการยอมรับโดยกลุ่มประเทศยุโรปโดยพฤตินัยเพราะกิจกรรมต่างๆ ไม่ได้รับความร่วมมือจากทรัมป์ ซึ่งยังคงหาเรื่องจีนว่าเป็นต้นตอของการระบาด ทั้งที่ไม่สามารถหาหลักฐานมาสนับสนุนข้อกล่าวหาได้

คนอเมริกันบางกลุ่มอาจอยากถามว่าประเทศจะรอดพ้นจากความล้มเหลวของผู้นำได้อย่างไร
กำลังโหลดความคิดเห็น