“รสนา” ฉะรัฐไม่รู้ร้อนรู้หนาวความทุกข์ยากประชาชน แก้ปัญหานมโรงเรียน-อาหารกลางวันล่าช้า หลังโรงเรียนปิดหนีโควิดยาว หวั่นเด็กยากจนเกิดทุพโภชนาการ ทั้งที่ ครม. ประชุม 7 พ.ค. ควรสรุปได้เลย แต่กลับอ้างติดข้อกฎหมายต้องทบทวนใหม่ ลั่นทีเพิ่มเบี้ยประชุมให้พวกตัวเองทำรวดเร็ว แต่บริการประชาชนกลับไร้ประสิทธิภาพ
วันที่ 13 พ.ค. 63 น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว.กรุงเทพมหานคร ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ว่า ... หยุดแก้ปัญหาอาหารกลางวันและนมโรงเรียนในช่วงวิกฤตโควิดแบบเช้าชาม เย็นชามเสียทีจะดีไหม!?
ช่วงวิกฤตโควิดที่รัฐบาลมี นโยบายล็อกดาวน์ (lock down) ปิดห้างร้าน สถานประกอบการต่างๆ รวมทั้งโรงเรียน และสถานศึกษา และให้ประชาชน อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ ตั้งแต่ปลายมีนาคม 2563 และมีแนวโน้มว่าโรงเรียนต่างๆ จะเลื่อนการเปิดเทอมในกลางเดือนพฤษภาคมออกไปเป็นวันที่ 1 กรกฎาคม และอาจจะเลื่อนออกไปอีก หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังไม่ดีขึ้น
วิกฤตโควิดครั้งนี้กระทบเศรษฐกิจภาพรวมอย่างหนัก และมีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ขั้นพื้นฐานของประชาชนรายได้น้อยมากที่สุด แม้แต่ชนชั้นกลางที่ต้องหยุดงาน ทำงานลดลง ทำให้รายได้ลดน้อยลงไปด้วย ย่อมกระทบต่อปัจจัยยังชีพโดยเฉพาะอาหารที่ไม่เพียงพอจนกระทบต่อโภชนาการของครอบครัวรายได้น้อย
เมื่อโรงเรียนเลื่อนการเปิดเทอมออกไป เด็กเล็ก เด็กในวัยเรียนชั้นประถมตั้งแต่ ป.1-ป.6 ที่เคยได้รับนมและอาหารกลางวันฟรี ยิ่งได้รับผลกระทบมากขึ้นที่ไม่ได้นมและอาหารกลางวัน ยิ่งครอบครัวรายได้น้อย ยิ่งไม่สามารถจัดหาอาหารที่เพียงพอให้กับลูกที่เป็นเด็กเล็ก เด็กชั้นประถมที่อยู่ในวัยเจริญเติบโต
ลองดูตัวอย่างประเทศอังกฤษที่มีงานศึกษาตั้งแต่ ปี 2480 ว่า มีความเชื่อมโยงระหว่าง “รายได้ต่ำ ทุพโภชนาการ และผลการเรียนที่แย่” สมัยสงครามโลก แม้จะมีความวุ่นวายจากสงคราม มีระเบิดลงจนบ้านเรือนเสียหาย ประชาชนไม่ใช่แค่อยู่แต่ในบ้าน แต่ต้องหนีไปอยู่ในหลุมหลบภัย แต่รัฐบาลอังกฤษยังให้คนส่งนมทำหน้าที่ส่งนมให้เด็กและประชาชนทุกวัน วินสตัน เชอร์ชิล นายกรัฐมนตรีอังกฤษ กล่าวปราศรัยบอกฮิตเลอร์ ว่า “คุณทำสิ่งที่เลวร้ายที่สุด-และเรา จะทำสิ่งที่ดีที่สุด” (You do your worst-and we will do our best) หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 พรรคแรงงานชนะการเลือกตั้ง และมีการผลักดันรัฐสภาออก “พ.ร.บ.นมโรงเรียน” สำเร็จเมื่อ พ.ศ. 2489 โดยกำหนดให้เด็กนักเรียนอายุต่ำกว่า 18 ปีทุกคนได้ดื่มนม วันละ 1/3 ไปนต์ (1 ไปนต์ = 0.47 ลิตร) ต่อมาใน พ.ศ. 2514 มาร์กาเร็ต แทตเชอร์ ซึ่งขณะนั้นเป็นรัฐมนตรีศึกษา ตัดนมฟรี จากเด็กที่อายุเกิน 7 ปี ทุกคน จึงได้รับฉายาว่า “แทตเชอร์ คนฉกนม” (Thatcher, Thatcher, milk snatcher) ต่อมาเมื่อมีการเสนอปริญญากิตติมศักดิ์แก่แทตเชอร์ในมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด คณะกรรมการปฏิเสธ เพราะ “เธอเริงร่าเมื่อฉกนมจากปากเด็กไร้เดียงสา” (จากบทความเรื่องนมโรงเรียนของ นพ วิชัย โชควิวัฒน)
โครงการนมโรงเรียนในประเทศไทยเป็นนโยบายของรัฐบาลไทยที่จัดตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2535 เพื่อแก้ปัญหาการขาดสารอาหารในเด็กวัยเรียน และสนับสนุนอุตสาหกรรมโคนมไทยสำหรับประเทศไทย ปัจจุบันเด็กระดับชั้นอนุบาล-ป.6 ทุกคนจะได้ดื่มนมโรงเรียนเทอมละ 100 วัน สำหรับวันมาโรงเรียน และอีก 30 วันสำหรับนำกลับไปดื่มที่บ้านในวันปิดเทอม
กรณีนมโรงเรียนสำหรับเด็กเล็กและเด็กประถม ดิฉันเห็นว่า สมควรที่จะเพิ่มจากการจัดสรรนมให้เทอมละ 100 วัน และปิดเทอม 30 วันนั้น เป็นจัดสรรนมให้ทั้งปี 365 วัน นอกจากช่วยเรื่องโภชนาการของเด็กแล้ว ยังช่วยเกษตรกรที่เลี้ยงโคนมด้วย
ส่วนอาหารกลางวันนั้น มีการริเริ่มทดลองทำตั้งแต่ปี 2495 แต่ก็ลุ่มๆ ดอนๆ จนมาถึงปี 2535 จึงมีพระราชบัญญัติกองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวัน ในโรงเรียนประถมศึกษา พ.ศ. 2535 ต่อมาคณะรัฐมนตรีมีมติ เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2542 ให้ถือว่าการส่งเสริมให้นักเรียนทุกคนได้รับประทาน อาหารกลางวันทุกวันเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2544 กระทรวงศึกษาธิการ ได้ถ่ายโอนงบประมาณค่าอาหารกลางวัน ไปให้กระทรวงมหาดไทย ตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้จัดตั้ง และจัดสรรงบประมาณเอง มาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2546 จนถึงปัจจุบัน
เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2563 ปลัดกระทรวงมหาดไทย มีหนังสือแจ้งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดให้แจ้งไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ให้จัดหาอาหารให้เด็กเล็กในศูนย์เด็กเล็กที่ขึ้นอยู่กับ อปท.ในระหว่างวิกฤตโควิด
แต่คำสั่งของปลัดกระทรวงมหาดไทยไม่ได้รวมการจัดหาอาหารกลางวันในส่วนของโรงเรียนประถม ซึ่งอาจเพราะโรงเรียนส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับกระทรวงศึกษาธิการ ยกเว้น กทม.ที่เป็นองค์กรปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษที่มีโรงเรียนในสังกัด 437 แห่ง ซึ่งน่าจะมีอิสระในการจัดทำระเบียบเกี่ยวนมและอาหารกลางวันของเด็กนักเรียนใน ร.ร. สังกัด กทม.
เมื่อไม่นานมานี้ดิฉันได้เข้าไปเยี่ยมเยียนชุมชนแออัดแห่งหนึ่งใน กทม. ผู้นำชุมชนปรับทุกข์กับดิฉันว่า “ในช่วง ร.ร. ปิดเทอม เด็กๆ ไม่ได้รับอาหารกลางวันและนม ยิ่งวิกฤตโควิดอาจทำให้การเปิดเทอมต้องเลื่อนออกไปอีก เด็กๆ ยิ่งไม่ได้รับอาหาร โดยเฉพาะเด็กในครอบครัวรายได้น้อย ยิ่งลำบากมากขึ้นในช่วงนี้ ทาง กทม.น่าจะเข้ามาดูแลเด็กๆ ใน ร.ร. ของ กทม.” ดิฉันไม่ทราบว่าทาง กทม. มีการ เตรียมการเรื่องระเบียบเกี่ยวกับนมและอาหารกลางวันสำหรับนักเรียนในช่วงที่มีการเลื่อนเปิดเทอมหรือไม่อย่างไร?
เมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2563 มีการประชุมเพื่อแก้ปัญหานมโรงเรียนและอาหารกลางวันนักเรียน โดยมีรองนายกรัฐมนตรี นายวิษณุ เครืองามเป็นประธาน และมีตัวแทนจากกระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสำนักงบประมาณ ร่วมประชุมด้วย การประชุมดังกล่าวสืบเนื่องจาก ครม.มีความห่วงใยว่าการหยุดการเรียนการสอน เนื่องจากการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นั้น อาจส่งผลกระทบต่อเด็กเล็กในศูนย์เด็กเล็ก และนักเรียนที่ไม่สามารถเข้าเรียนตามปกติ ทำให้ไม่ได้รับนมและอาหารกลางวัน ที่จะส่งผลกระทบ ทำให้ได้อาหารไม่เพียงพอตามหลักโภชนาการ
ข่าวระบุว่า ทั้งที่งบประมาณปี 2563 ในการดำเนินการทั้งเรื่องนมโรงเรียน และ อาหารกลางวัน นั้น ได้มีการตั้งงบประมาณไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่เนื่องจากการเลื่อนเปิดเทอม เมื่อไม่มีการเรียนการสอน การเบิกจ่ายค่านมและอาหารในช่วงไม่มีการเรียนการสอน อาจมีปัญหาในข้อกฎหมาย ระเบียบปฎิบัติได้ และผลที่เกิดตามมา คือ นอกจากนักเรียนอาจไม่ได้รับโภชนาการที่ดี เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมอาจเกิดปัญหาน้ำนมล้นตลาด จากการไม่มีผู้บริโภค
แม้ว่าที่ประชุมจะมีการทบทวนในเรื่องวิธีการที่จะนำเงินงบประมาณที่ตั้งไว้แล้วไปดำเนินการได้อย่างไรในสถานการณ์ที่ยังไม่สามารถเปิดการเรียน การสอนในสถานศึกษาได้ตามปกติ และมอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการ เป็นเจ้าภาพในการรวบรวมข้อมูล เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุม ครม.เพื่อทราบและพิจารณาต่อไปนั้น
ดิฉันเห็นว่า ระยะเวลาที่โรงเรียนเปิดเทอมหากไม่มีวิกฤตโควิด คือวันจันทร์ที่ 18 พ.ค. ที่จะถึงนี้ เด็กควรได้รับนมและอาหารตั้งแต่วันที่ 18 พ.ค. เป็นต้นไป แทนที่การประชุมในวันที่ 7 พ.ค. จะมีข้อสรุปเพื่อการปฏิบัติได้เลย แต่กลับต้องมอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการไปรวบรวมข้อมูลมาพิจารณากันใหม่อีกรอบนั้น เป็นเรื่องที่สาธารณชนตั้งข้อสงสัยในเชิงประสิทธิภาพการบริหารจัดการ เพราะกว่าจะได้ข้อสรุป การจัดสรรนมและอาหารให้เด็กนักเรียนย่อมล่าช้าออกไปอีกมาก และอาจทำให้มองได้ว่ารัฐบาลขาดความรู้สึกรู้ร้อน รู้หนาวกับความทุกข์ยากของประชาชน ปล่อยให้ระเบียบ มีความสำคัญเหนือกว่าความเร่งด่วนในเรื่องการขาดอาหารของเด็กนักเรียนทั้งประเทศหลายล้านคน ทั้งที่ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินไปแล้วเดือนกว่า แต่หน่วยราชการยังปฏิบัติงานแบบภาวะปกติ ยังเช้าชาม เย็นชามเหมือนเดิมใช่หรือไม่
หากจะเปรียบวิกฤตโควิดในสมัยนี้ กับวิกฤตสมัยเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ความรุนแรงและอันตรายของสงครามโลก ย่อมรุนแรงและอันตรายมากกว่ายุคนี้อย่างเทียบกันไม่ได้ แต่รัฐบาลอังกฤษเห็นความสำคัญของภาวะทุพโภชนาการของเด็กหากขาดนมว่าจะมีผลต่อเด็กที่จะโตเป็นพลเมืองของอังกฤษ จึงสั่งให้มีการส่งนมทุกวัน แม้มีความวุ่นวายจากภาวะสงครามก็ตาม แต่ประเทศไทยแค่จะคิดวิธีส่งนมและอาหารกลางวันให้เด็กนักเรียนให้ทั่วถึงในยามนี้ กลับไม่มีปัญญา กลัวผิดระเบียบ มีระเบียบไว้เป็นอุปสรรคในการบริการประชาชนเจ้าของภาษี แต่เวลาจะออกระเบียบปรับค่าเบี้ยประชุมให้กับคนในแวดวงของรัฐบาล กลับทำได้รวดเร็วทันใจ ไม่มีอุปสรรคใดๆ ใช่หรือไม่
การประกาศภาวะฉุกเฉินของรัฐบาล เพื่อรับมือกับสงครามโควิด สิ่งที่สังคมคาดหวังคือรัฐบาล และหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องควรมีความกระตือรือร้นในการดูแลประชาชนในภาวะวิกฤตที่แตกต่างจากภาวะปกติประชาชนเจ้าของภาษีในยามวิกฤต ตกงาน ไม่มีรายได้ ขาดปัจจัยยังชีพ แต่รัฐมนตรี ข้าราชการยังได้รับเงินเดือนเต็มเวลา และรัฐบาลยังมีแก่ใจในยามประชาชนลำบาก จะเพิ่มเบี้ยประชุม 20% โดยจ่ายเป็นรายเดือนให้กับคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ-ปฏิรูปประเทศ แต่การบริการประชาชน กลับไม่มีประสิทธิภาพให้สมกับภาษีประชาชนที่ต้องจ่ายให้ฝ่ายการเมือง และข้าราชการในภาวะวิกฤตเอาเสียเลยใช่หรือไม่