xs
xsm
sm
md
lg

ยื่น"สนธิรัตน์”อุ้มค่าไฟ32อุตฯ กกพ.แย้มตรึงค่าไฟถึงสิ้นปี

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“สนธิรัตน์” เผย ส.อ.ท.ส่งข้อเสนอแนวทางช่วยเหลือลดภาระค่าไฟ 32 กลุ่มอุตสาหกรรม บรรเทาผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 พร้อมหนุนเรื่องเงินช่วยเหลือลดค่า Ft “กกพ.”แย้มข่าวดี แนวโน้มค่าไฟงวด ก.ย.-ธ.ค.ไม่เปลี่ยนแปลง พร้อมดีล “3 การไฟฟ้า”

จากกรณีการประชุมมาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าจากสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ที่มี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อวันที่ 23 เม.ย.ที่ผ่านมา ได้มอบหมายให้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ไปจัดทำรายละเอียดธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ และข้อเสนอมาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้ากลับมานำเสนอนั้น

วานนี้ (30 เม.ย.) นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า ส.อ.ท.ได้ส่งเรื่องกลับมา เพื่อขอให้กระทรวงพลังงานพิจารณาหามาตรการช่วยเหลือ 32 กลุ่มอุตสาหกรรมจาก 45 กลุ่ม เพิ่มเติมจากมาตรการที่กระทรวงพลังงานได้ดำเนินการไปแล้ว สำหรับมาตรการที่เสนอมาหลักๆ ได้แก่ 1.ขอให้ขยายระยะเวลาการผ่อนผันการเรียกเก็บค่าไฟฟ้าขั้นต่ำ 70% (Demand Charge) ออกไปจนถึงสิ้นปี 63 แก่ผู้ประกอบการตามที่กำหนด จากเดิมที่กำหนดมาตรการช่วยเหลือเวลา 3 เดือน (มี.ค.-พ.ค.63) และแสดงความเห็นด้วยกับความช่วยเหลือจากกระทรวงพลังงานเรื่องการช่วยเหลือค่าไฟฟ้า ภาคประชาชนด้วยการบริหารจัดการแต่ขอให้พิจารณาเรื่องเงินที่ช่วยเหลือดังกล่าว ต้องไม่นำไปกระทบค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ ( Ft) ในอนาคต จึงเสนอให้หักเงินช่วยเหลือส่วนนี้จากรายได้ของการไฟฟ้าแทนที่นำส่งกระทรวงการคลัง โดยใช้วิธีการคำนวณค่า Ftแบบค่าเฉลี่ย 3 เดือน และเทียบเป็นรายไตรมาส เพื่อสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงเร็วขึ้น

"ในส่วนของการลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานเรื่อง Demand Charge ทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ดำเนินการแล้ว โดยจะเร่งออกประกาศเพื่อทราบสัปดาห์หน้า ส่วนในเรื่องค่า Ft และเงินช่วยเหลือค่าไฟฟ้า กระทรวงพลังงานจะพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป" นายสนธิรัตน์ กล่าว

เปิดรายชื่อ 32 กลุ่มอุตฯ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับ 32 กลุ่มอุตสาหกรรม ที่ ส.อ.ท.เสนอพิจารณาขอมาตรการช่วยเหลือมานั้น ได้แก่ เครื่องนุ่งห่ม, ยานยนต์, ชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์, เครื่องสำอาง, สิ่งทอ, หนังและผลิตภัณฑ์หนัง, รองเท้า, อัญมณีและเครื่องประดับ, เหล็ก, ปูนซีเมนต์, หลังคาและอุปกรณ์, แกรนิตและหินอ่อน, แก้วและกระจก, เซรามิก, โรงเลื่อยและโรงอบไม้, ไม้อัด, ไม้บาง และวัสดุแผ่น, เฟอร์นิเจอร์, เครื่องจักรกลและโลหะการ, เครื่องจักรกลการเกษตร, ต่อเรือซ่อมเรือและก่อสร้างงานเหล็ก, หล่อโลหะ, ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม, สมุนไพร, น้ำมันปาล์ม, ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร, โรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม, ปิโตรเคมี, ก๊าซ, พลังงานหมุนเวียน, หัตถกรรมสร้างสรรค์, การจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยีชีวภาพ

อุดหนุนค่าไฟลด 3,000 ล้านบ.

อีกด้าน นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงาน กกพ.ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า จากการประเมินต้นทุนราคาพลังงานที่ยังอยู่ระดับต่ำเบื้องต้น กกพ.คาดว่าอัตราค่า Ft งวดใหม่ เดือน ก.ย.-ธ.ค.63 มีแนวโน้มจะไม่เปลี่ยนแปลง โดยคาดว่าจะสามารถตรึง Ft ไว้ที่ -11.60 สตางค์ต่อหน่วย ต่อไปได้ สำหรับการประชุม กกพ. เมื่อ 29 เม.ย.ได้เห็นชอบแนวทางบริหารจัดการทางการเงินร่วมกับ 3 การไฟฟ้า (การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.), การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เพื่อให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 21 เม.ย. ที่เห็นชอบให้ลดค่าไฟฟ้าเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือประชาชนช่วงได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ครอบคลุม 22 ล้านครัวเรือน ในเดือน มี.ค.-พ.ค.63

“เดิมมีการคาดการณ์ว่าจะใช้เม็ดเงินดังกล่าวเพื่อการอุดหนุนค่าไฟฟ้าประชาชน ประมาณ 23,000 ล้านบาท แต่เมื่อ กกพ.พิจารณาร่วมกับ 3 การไฟฟ้าฯ และความทับซ้อนจากเดิมอุดหนุน 50 หน่วย ทำให้เงินอุดหนุนลดลงเหลือ 20,000 ล้านบาท” นายคมกฤช กล่าว

3 การไฟฟ้าลงขันหมื่นล้าน

นายคมกฤช เปิดเผยที่มาของเงินอุดหนุน 20,000 ล้านบาทว่า กกพ.มีวงเงินเดิมที่บริหารไว้ 10,000 ล้านบาท ดังนั้นที่เหลือ 10,000 ล้านบาท เพิ่มเติมได้พิจารณาแหล่งที่มาของเงิน 3 การไฟฟ้า เพื่อสนับสนุนที่รวบรวมได้จากการกำกับฐานะการเงิน เงินส่งคืนจากการลงทุนที่ไม่เป็นไปตามแผน เงินค่าปรับที่เกิดขึ้นจากการบริหารสัญญาของผู้ผลิตไฟฟฟ้าเอกชน ในช่วงปี 57-62 รวมทั้งเงินช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้าตาม มาตรา 97 (1) แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน ที่มีรวมประมาณ 3,000 ล้านบาท รวมวงเงินที่ได้ประมาณ 10,000 ล้านบาท

ทั้งนี้การลดค่าไฟดังกล่าวแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ 1. มิเตอร์ไฟขนาดไม่เกิน 5 แอมป์ จะได้ใช้ฟรีทั้งหมด 2. มิเตอร์ไฟขนาดเกิน 5 แอมป์ จะมีข้อกำหนดคือ หากแต่ละเดือนใช้มากกว่าเดือน ก.พ. แต่ไม่เกิน 800 หน่วย ให้จ่ายค่าไฟฟ้าเท่าเดือน ก.พ. แต่หากใช้เกิน 800 หน่วย แต่ไม่เกิน 3,000 หน่วย ให้จ่ายค่าไฟฟ้าเท่าเดือนก.พ. บวกกับส่วนที่เกินซึ่งได้รับส่วนลด 50% และหากใช้เกิน 3,000 หน่วย ให้จ่ายค่าไฟฟ้าเท่าเดือน ก.พ. บวกกับส่วนเกินซึ่งได้รับส่วนลด 30%

ชงเว้น Minimum Change ถึงสิ้นปี

รายงานข่าวระบุว่า นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ยังต้องการให้ กกพ.ช่วยต้นทุนค่าไฟให้กับภาคธุรกิจโดยขอให้ยกเว้นการคิดค่าไฟฟ้าขั้นต่ำ (Minimum Change) หรือการคิดแบบเหมาจ่าย เป็นคิดตามการใช้จริง (Demand Change) จากเดิม กกพ.ยกเว้นให้ช่วงเดือน เม.ย.-มิ.ย.63 ไปจนถึงสิ้นปี แต่ในการประชุม กกพ.เมื่อวันที่ 29 เม.ย. มีมติให้คิดแบบ Demand Change ไปจนถึงมิ.ย.นี้ไปก่อน ส่วนข้อเสนอให้ยกเว้นถึงสิ้นปีนั้น ในเดือน มิ.ย.ทาง กกพ.จะกลับมาพิจารณาอีกครั้ง โดยหลังจากนี้ นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ประธาน กกพ. จะเสนอมติทั้งหมดแก่ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน พิจารณาต่อไป



กำลังโหลดความคิดเห็น