"ฝั่งขวาเจ้าพระยา"
"โชกุน"
หน้าร้อนทุกปี ครัวเรือนส่วนใหญ่ต้องควักกระเป๋าจ่ายค่าไฟฟ้าสูงขึ้นกว่าปกติ ค่าไฟที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่ก็มาจาก เครื่องปรับอากาศที่ต้องใช้พลังงานไฟฟ้ามากขึ้น ในการต่อสู้กับความร้อน
ปีนี้ค่าไฟหน้าร้อนสูงเป็นประวัติการณ์กว่าทุกปี เพราะมาตรการหยุดอยู่บ้าน-ทำงานจากบ้าน เพื่อควบคุมการระบาดของไวรัสโควิด-19 ตามนโยบายของรัฐบาล ทำความเดือดร้อนให้ประชาชนที่ต้องจ่ายค่าไฟมากขึ้น จนกระทรวงพลังงานต้องออกมาตรการช่วยลดค่าไฟฟ้าช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ดังนี้
1. ครัวเรือนที่ใช้ไฟไม่เกิน 5 แอมป์ จากเดิมที่ให้ใช้ไฟฟรีไม่เกิน 80 หน่วย ขยับเพิ่มขึ้นเป็น 150 หน่วย
2. ครัวเรือนที่ใช้ไฟเกิน 5 แอมป์ แบ่งออกเป็น 3 ขั้น
- ใช้ไฟไม่เกิน 800 หน่วย จ่ายค่าไฟเท่ากับเดือนกุมภาพันธ์
- ใช้ไฟเกิน 800 หน่วย แต่ไม่เกิน 3,000 หน่วย จะลดให้ 50 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนหน่วยที่เกิน 800 ขึ้นไป
- ใช้ไฟเกิน 3,000 หน่วย จะลดให้ 30 % ของจำนวนหน่วยที่เกินจากหน่วยใช้ไฟของเดือนกุมภาพันธ์
มาตรการนี้ ไม่ใช่เป็นการลดค่าไฟฟ้าต่อหน่วย แต่เป็นการลดจำนวนหน่วยไฟฟ้าที่ต้องจ่ายตามหลักการข้างต้น เพราะค่าไฟต่อเดือนที่แพงขึ้น เป็นเพราะปริมาณใช้ไฟมากขึ้น แต่ค่าไฟฟ้าต่อหน่วยที่คิดจากประชาชนเท่าเดิม
มีผู้พยายามสร้างความเข้าใจผิดให้กับประชาชนว่า สาเหตุที่ค่าไฟแพง เป็นเพราะเอกชนมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าที่สูงกว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ซึ่งไม่จริง เพราะราคาค่าไฟที่เอกชนขายให้กับ กฟผ.นั้น เป็นราคาที่มีการแข่งขันกันระหว่างผู้ผลิตไฟฟ้าหลายราย ผู้เสนอราคาต่ำสุดได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ.ให้เป็นผู้ขายไฟฟ้า กฟผ.ในราคาคงที่ตอลดอายุสัญญา 25 ปี
ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นหน้าร้อน หน้าฝน จะมีการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้คนต้องอยู่บ้านหรือไม่ ราคาไฟฟ้าต่อหน่วยของโรงไฟฟ้าเอกชนขายให้ กฟผ.เท่าเดิม คือ ประมาณ 2 บาทกว่าต่อหน่วยโดยประมาณ
ราคาขายไฟฟ้าของเอกชนจะถูกหรือแพงขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพในการบริหาร เทคโนโลยีที่ใช้ และเชื้อเพลิงที่ใช้
ก๊าซธรรมชาติ เป็นเชื้อเพลิงที่ต้นทุนถูกที่สุด โรงไฟฟ้าทั้งของ กฟผ. และเอกชนโดยส่วนใหญ่จึงใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง
ไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานทดแทน เช่น พลังแสงอาทิตย์ ลม ชีวมวล ราคาแพงกว่าไฟฟ้าจากแก๊สธรรมชาติ เพราะเชื้อเพลิงที่ราคาสูงกว่า เทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิตยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะทำให้ต้นทุนลดลงมาเท่ากัน หรือใกล้เคียงกับไฟฟ้าจากแก๊สธรรมชาติ ที่ผ่านมา รัฐให้เงินอุดหนุน จึงทำให้เอกชนผู้ผลิตไม่มีแรงจูงใจที่จะพัฒนาการผลิตให้มีประสิทธิภาพ เพื่อลดต้นทุน
สมัยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนก่อน นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ มีนโยบาย ไม่รับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเป็นเวลา 5 ปี ยกเว้นโครงการที่สามารถขายไฟได้ในราคาไม่เกิน 2.40 บาทต่อหน่วย เพื่อลดต้นทุนค่าไฟฟ้าเฉลี่ยลง เพราะที่ผ่านมา ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมีราคาแพง และรัฐต้องให้เงินอุดหนุน
การงดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และการเพิ่มการใช้แก๊สธรรมชาติมากขึ้น จะทำให้ค่าไฟฟ้าต่อหน่วยตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ. 2561-2580 หรือพีดีพี 18 ไม่เกินหน่วยละ 3.576 บาทต่อหน่วย ต่ำกว่าแผนพีดีพี 2015 ซึ่งเป็นแผนจากปี 2558-2079 ซึ่งอยู่ที่หน่วยละ 5.55 บาท
นอกจากนั้น ตามแผนพีดีพี 18 ฉบับก่อนแก้ไขระหว่างปี 2561-2568 ยังไม่จำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ เพราะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าเพียงพอ
อย่างไรก็ตาม หลังการเลือกตั้งทั่วไป เดือนมีนาคมปีที่แล้ว การจัดตั้งรัฐบาลในเดือนกรกฎาคม รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานคนใหม่ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รื้อแผนพีดีพี 18 ทันที โดยให้มีการตั้งโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน กำลังการผลิตรวมทั้งสิ้น 1,933 เมกะวัตต์ โดยรับซื้อไฟฟ้าระหว่างปี 2563-2567 ในราคาหน่วยละ 2.90-5.30 บาท ขึ้นอยู่กับประเภทเชื้อเพลิง
การรื้อแผนพีดีพีครั้งนี้ก็คือ การยกเลิกนโยบายไม่รับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ที่แพงกว่าหน่วยละ 2.4 บาทนั่นเอง ต้นทุนรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่ถูกยัดกลับเข้ามาใหม่ผ่านการแก้ไขแผนพีดีพี จะทำให้ค่าไฟฟ้าต่อหน่วยตามแผนพีดีพีสูงขึ้นหน่วยละ ประมาณ 20 สตางค์ และรัฐต้องอุดหนุนค่าไฟฟ้าในรูป Feed in Tariff ตั้งแต่ 5.22-5.84 บาทต่อหน่วย ซึ่งจะถูกผลักภาระมาให้ผู้ใช้ไฟในรูปค่าเอฟที 7-8 สตางค์ต่อหน่วย
นอกจากนี้ กำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนอีก 1,933 เมกะวัตต์ จะทำให้กำลังสำรองไฟฟ้าของไทย ซึ่งปัจจุบันสูงเกินมาตรฐานคือ 30 เปอร์เซ็นต์ จากอัตราที่ควรจะเป็น 15% ยิ่งสูงขึ้นไปอีก กำลังสำรองที่สูงเกินไปล้วนแต่เป็นต้นทุนที่จะถูกผลักภาระมาอยู่ในค่าไฟของประชาชนในรูปของค่าเอฟทีด้วยเช่นกัน
สถานการณ์โควิด ทำให้ประชาชนต้องจ่ายค่าไฟแพงขึ้น แต่เป็นค่าไฟต่อเดือน เนื่องจากปริมาณการใช้ไฟมากขึ้น โดยที่ค่าไฟต่อหน่วยเท่าเดิม เมื่อการระบาดยุติลง ประชาชนไม่ต้องอยู่บ้าน ปริมาณการใช้ไฟก็จะกลับมาเป็นปกติ แต่แผนพีดีพี 18 ฉบับแก้ไขโดยกลับไปรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนราคาแพง รัฐต้องให้เงินอุดหนุน จะทำให้ค่าไฟต่อหน่วยที่ประชาชนต้องจ่ายแพงขึ้นโดยไม่จำเป็น และโดยไม่รู้ตัวว่า ค่าไฟที่จะแพงขึ้น แพงเพราะอะไร