ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เดือดปุดๆ กันไปทั้งบ้านทั้งเมืองเมื่อต้องเจอกับ “ค่าไฟฟ้าแพงมหาโหด” ในยามที่สู้อุตส่าห์กัดฟันอดทนอยู่บ้าน ขาดรายได้ เพื่อ “หยุดเชื้อ(โควิด-19) เพื่อชาติ” แล้วไฉนกลายเป็นว่าอยู่บ้าน (ใช้ไฟ) เพื่อกำไรการไฟฟ้าฯ ไปเสียนี่ ที่สำคัญคือ ถ้า ”ทัวร์ไม่ลง” ถ้าประชาชนไม่โวย รัฐบาลจะกลับมาทบทวนซ้ำและหาทางแก้ไขใหม่อย่างที่เห็น หรือไม่
ความจริงต้องบอกว่า กระแส “ความไม่พอใจ” ของประชาชนคนใช้ไฟฟ้าเริ่มคุกรุ่นมาอย่างต่อเนื่องหลังจากได้รับรู้ถึงมาตรการเยียวยาค่าไฟในช่วงแรกๆ ที่รัฐบาลลดค่าไฟฟ้าให้แบบ “หน่อมแน้ม” คือแค่ 3% ให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าทุกประเภทนาน 3 เดือน และบ้านที่ใช้มิเตอร์ 5 แอมป์ ให้ใช้ไฟฟรี 90 หน่วย เท่านั้น ด้วยเหตุไม่เข้ากับสภาพความเป็นจริงที่ยามนี้ส่วนใหญ่ก็ติดมิเตอร์ 15 แอมป์กันทั้งนั้น เสียงบ่นจึงดังไม่หยุด และดังขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเจอบิลค่าไฟพุ่ง
เรียกได้ว่าโวยวายกันจนหูดับกับค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้นหูฉี่ ทั้งประชาชนทั่วไป ทั้งนักการเมือง ทั้งนักจัดรายการดังอย่าง “สนธิ ลิ้มทองกุล” ที่ขย่มผ่านรายการ “สนธิทอล์ก” จากนั้นสื่อต่างๆ ก็เป็นปากเสียงเฮโลร่วมเรียกร้องให้มีการตรวจสอบค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้นผิดปกติและขอให้ทบทวนการเยียวยาช่วยเหลือค่าไฟฟ้าใหม่
เอาตัวอย่างง่ายๆ ไม่แต่ประชาชนเดินดินกินข้าวแกงทั่วไป แม้แต่บิลค่าไฟของ “ท่านใหม่” ม.จ.จุลเจิม ยุคล อีกบุคคลที่โพสต์เฟซบุ๊ก ขอบ่นว่า “....โควิดไม่กลัวแล้ว กลัวไม่มีเงินจ่ายค่าไฟฟ้า .... ค่าไฟฟ้าบ้านผม ใช้เดือนละ 12,000 บ้านใหญ่ ลูกเต้าเยอะ (ค่าไฟฟ้า ลดบ้าง เพิ่มบ้าง) แต่ในปัจจุบัน ลูกๆ ออกเรือนกันไปหมด อยู่กัน 2 คนตายาย แอร์ 3 ตัว (รวมห้องนอน จะเปิดก่อนนอน และปิดเมื่อตื่นนอน) มาเดือนนี้เห็นบิลค่าไฟฟ้าเดือนปัจจุบัน โดด ขึ้นเป็น 21,000 อะไรกันวะ”
แถมยังแซะด้วยว่า “ค่าไฟที่ขึ้นเท่าตัวชาวบ้านเขามองว่าต้นเหตุน่าจะมาจากรัฐบาลให้คืนค่าประกันมิเตอร์ไฟฟ้า ... เงินที่การไฟฟ้าฯสำรองไว้แจกโบนัสพนักงานมันหายไป จำเป็นต้องหาทางเอาคืน ... จริงไม่จริง ไม่ทราบ แต่ชาวบ้านเขาพูดกัน... ชาวไฟฟ้าย่อมรู้ดีกว่าผมและชาวบ้าน”
แต่ที่เป็นประเด็นใหญ่คือการที่ “ท่านใหม่” ตั้งข้อสงสัยว่า “กระทรวงพลังงาน”** และ 3 การไฟฟ้า คือ ”การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) การไฟฟ้านครหลวง(กฟน.) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)” รัฐวิสาหกิจชั้นดีกำลังเล่นอะไรกัน ไหนบอกว่าซื้อไฟฟ้าจากเอกชนที่ลงทุนกัน ในประเทศ ลาว เขมร พม่า ค่าไฟฟ้าจะถูกลง เพราะ EGAT ไม่ต้องลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าเอง ตอนนี้ซื้อจากเอกชนบางส่วนมาขายให้ประชาชน แต่ทำไมถึงแพงจัง ส่วนต่างระหว่างผลิตเอง หรือซื้อจากเอกชนผลิต มันคงจะได้สมประโยชน์ ทั้งคู่ (กินค่าคอมมิชชั่นจากการซื้อไฟฟ้าจากเอกชน ?????) ส่วนผู้ใหญ่ ผู้น้อย ใน กฟผ. กฟน. กฟภ. รมต.พลังงาน และผู้บริหาร ก็ใช้ไฟฟ้ากันฟรีกัน นอนเปิดแอร์แคะสะดือจุ่นๆ กันเป็นแถวๆ ใครบอกว่าของฟรีไม่มีในโลก
และยังขอไปยัง “นักร้องเสียงดี” นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ให้ร้องเรียนรัฐบาลโดยเฉพาะกระทรวงพลังงาน ให้ชี้แจงด้วยว่า กฟผ.รับซื้อไฟจากเอกชนราคาเท่าไหร่ แล้วเอามาขายให้ประชาชนเท่าใด ช่วยตรวจสอบเส้นทางของการซื้อขายไฟฟ้าของรัฐกับเอกชน ราคาซื้อขายจากต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ จนถึงประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าต้องรับกรรมกัน ทำไมค่าไฟถึงได้กระโดดขึ้นมโหฬาร
ที่เด็ดสุดคือ “ขอถามหน่อยว่า ตอนนี้ค่าแก๊สสำหรับผลิตไฟฟ้าก็ลดแล้วมิใช่หรือครับ แต่ค่าไฟฟ้าสวนกระแส”
เมื่อมีรายการ “ท่านใหม่” ขอมา “นักร้องเสียงดี” ก็รับลูกโดยพลัน นายศรีสุวรรณ จัดแจงบุกสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เมื่อวันที่ 22 เมษายน ที่ผ่านมา เพื่อขอให้ สตง. เข้ามาตรวจสอบตามอำนาจหน้าที่เพื่อนำไปสู่การยับยั้งและเอาผิดผู้ที่เกี่ยวข้องการไฟฟ้าที่ส่อทุจริตต้นเหตุไฟฟ้าแพง เป็นปัญหาที่เดือดร้อนกันมานาน เป็นผลพวงจากนโยบายที่ผิดพลาดและล้มเหลวในการบริหารจัดการระบบพลังงานไฟฟ้าของรัฐ ฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญฯ ที่ให้เอกชนเข้าผลิตไฟฟ้ามากเกินไป และเรียกเก็บค่าไฟจนเป็นภาระแก่ประชาชนเกินสมควร
ขณะเดียวกัน ประชาชนยังสงสัยเกี่ยวกับการใช้อำนาจเอื้อประโยชน์กันของหน่วยงานและการทุจริตคอร์รัปชั่น เช่น จัดหาครุภัณฑ์ที่แพงกว่า ใช่หรือไม่, กำหนดเพดานให้พนักงาน ผู้บริหารใช้ไฟฟ้าฟรีถ้าใช้ไม่ถึงก็นำส่วนที่เหลือไปรับเป็นค่าตอบแทนได้ ใช่หรือไม่, จ่ายโบนัส 3 การไฟฟ้าที่สูงหรือไม่? และซิกแซกทำงานโอทีเพื่อหวังเงินตอบแทน ใช่หรือไม่? ฯลฯ ซึ่งสุดท้ายถูกนำมารวมเป็นค่าต้นทุนค่าบริหารของการไฟฟ้า และนำไปรวมเป็นค่าเอฟทีมาดูดเงินในกระเป๋าของประชาชน
แล้ว “พี่ศรี” ก็งัดตัวอย่างมาให้ประชาชนปวดใจเกี่ยวกับปัญหาการจัดซื้อครุภัณฑ์ของ กฟผ. เช่น การจัดซื้อรถเข็น (ลักษณะเดียวกับรถเข็นผักทั่วไป) เพื่อใช้ในแผนงานโครงการ Supply and Construction of 500/230 kv(GIS) ซึ่งมีราคาต่อ 1 คัน คือ 152,956.21 บาท ซึ่งหากไปหาซื้อแถวย่านวรจักร หรือย่านรังสิต ก็ไม่น่าจะเกินคันละ 1,000-2,000 บาทเท่านั้น แต่ทว่า กฟผ.กลับซื้อในราคาที่แพงลิบลิ่ว ซึ่งไม่แน่ใจว่ารถเข็นดังกล่าวทำด้วยทองคำหรืออย่างไร
“ปัญหาการจัดซื้อครุภัณฑ์ของ กฟผ.ดังกล่าวเป็นเพียงฝุ่นใต้พรมที่ไม่มีการตรวจสอบกันอย่างจริงจัง ปล่อยให้รัฐวิสาหกิจกังกล่าวบริหารจัดการเงินแผ่นดินกันอย่างโจ่งครึ่ม ประหนึ่งเป็นบ่อน้ำมันของรัฐวิสาหกิจที่นำมาหล่อเลี้ยงพนักงานเจ้าหน้าที่ถึง 22,413 คน เพราะค่าใช้จ่ายทั้งหมดดังกล่าวจะถูกนำมาคิดเป็นต้นทุนในการบริหารจัดการไฟฟ้า และผลักภาระทั้งหมดมาให้ผู้ใช้ไฟฟ้าทุกครัวเรือนผ่านค่า FT นั่นเอง ซึ่งถึงเวลาแล้วที่ สตง.จะต้องตรวจสอบองค์กรการไฟฟ้าดังกล่าวอย่างจริงจังและรวดเร็ว ตั้งแต่ฝ่ายจัดซื้อเรื่อยไปจนถึงผู้ว่าการฯ ว่ามีส่วนรับรู้การจัดซื้อจัดหาพัสดุหรืออุปกรณ์ในราคาแพงกว่าปกติหรือไม่อย่างไร เพราะแต่ละแผนงานโครงการฯ มีการตั้งงบจัดซื้อนับพันล้านบาท อาทิ สัญญาเลขที่ W100321-222M-SPPC-S-02 มีมูลค่าถึง 1,130,698,504.73 บาท เพื่อที่จะได้นำมาลงโทษและกำหนดมาตรการป้องกันที่เข้มงวดต่อไป”พี่ศรีซัดเต็มๆ
เสียงประชาชนที่โวยวายกันอื้ออึง ทำให้รัฐบาลต้องหาทางแก้เกมด่วน และนำไปสู่มาตรการลดค่าไฟฟ้าที่เพิ่งผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 20 เมษายนที่ผ่านมา ตามข้อเสนอของ ”นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน” ตามมาตรการเยียวยาภาระค่าไฟฟ้าถ้วนหน้า 22 ล้านหลังคาเรือน ระยะเวลา 3 เดือน รอบบิลเรียกเก็บเดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2563 ซึ่งคิดเป็นเงินประมาณ 23,688 ล้านบาท
มาตรการที่คลอดออกมา กำหนดให้ผู้ใช้ไฟขนาด 5 แอมป์ ได้ใช้ไฟฟรีเพิ่มจาก 90 หน่วยเป็น 150 หน่วย ส่วนผู้ใช้ไฟที่มิเตอร์มากกว่า 5 แอมป์ ให้ใช้ราคาในเดือนกุมภาพันธ์ เป็นฐานค่าไฟในเดือนมีนาคม-พฤษภาคม เป็นเวลา 3 เดือน โดยเพิ่มให้ใช้ได้ถึง 800 หน่วย โดยจ่ายราคาเท่าเดือนกุมภาพันธ์ ส่วนหน่วยไฟฟ้าที่ใช้เกินตั้งแต่ 801-3,000 ลดค่าไฟให้ 50% และหน่วยไฟฟ้าที่ใช้เกินตั้งแต่ 3,001 ขึ้นไป ลดค่าไฟอีก 30%
เสียงบ่นส่วนหนึ่งเงียบลงจริง แต่ก็มีพวก “ขาประจำ” กัดไม่ปล่อย สู้เพื่อประชาชนแบบไม่ถอย แบบก๊วนของ “นางสาวรสนา โตสิตระกูล” อดีต ส.ว.กรุงเทพฯ ซึ่งเปิดตัวลงชิงเก้าอี้ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ออกมาตั้งข้อสังเกตว่า มาตรการลดค่าไฟฟ้าที่ออกมาที่ว่าเพื่อช่วยเหลือประชาชนจริงๆ หรือว่าช่วยผู้ประกอบการ กันแน่ !?
อดีต ส.ว. กรุงเทพฯ วิจารณ์ว่า มาตรการที่ออกมาล่าสุดนั้น สะท้อนวิธีคิดของกระทรวงพลังงาน ที่ชงวิธีการนี้เพื่อประโยชน์ของผู้ประกอบการมากกว่าผู้ใช้ไฟรายย่อย ซ้ำยังกระตุ้นให้มีพฤติกรรมใช้ไฟเพิ่มขึ้นสวนทางกับโครงการรณรงค์ประหยัดไฟอีกด้วย
นอกจากนั้น กรณีที่มีการร้องเรียนบิลค่าไฟที่พุ่งขึ้นแบบผิดปกติ ทำให้น่าสงสัยว่าระยะนี้การใช้ไฟฟ้าโดยรวมลดลงจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ลดลง ทำให้มีปริมาณสำรองเหลือบานเบอะ จะมีการมั่วตัวเลขการใช้ไฟ หรือไม่
อดีต ส.ว. มีข้อเสนอที่ง่ายๆ ไม่ซับซ้อน คือ ลดค่าไฟถ้วนหน้า 1 พันบาททุกครัวเรือน เพื่อจะได้มีเงินในกระเป๋าเพิ่มไว้ใช้จ่าย ส่วนที่เกินจาก 1,000-3,000 บาท ให้ลด 50% และส่วนที่เกินจาก 3,000 บาทขึ้นไป ลด 30% หรือจะเป็นแบบช่วยลดพันบาทแรกถ้วนหน้าหน้าจากนั้นคิดตามที่ใช้จริง ก็ยังจะจับต้องได้ไม่ยุ่งยากซับซ้อน ใช่หรือไม่?
ส่วนคำถามที่ลึกลงไปว่า ค่าไฟฟ้า เราจ่ายให้ใคร? นี่สิ เห็นคำตอบคร่าวๆ แล้วจะอึ้ง โดย อดีต ส.ว. กรุงเทพฯ โพสไว้ในเฟซบุ๊กตอบคำถามแฟนานุแฟนว่า ปัจจุบันระบบไฟฟ้าของประเทศไทย มีกำลังการผลิตตามสัญญารวมทั้งสิ้น 49,002 เมกะวัตต์ (ณ วันที่ 20 เมษายน 2563 เวลา 14.38 น. มีการใช้ไฟอยู่ที่ 25,054 เมกะวัตต์) จากกำลังผลิตไฟฟ้าทั้งหมดดังกล่าว เป็นสัดส่วนของ กฟผ. เองเพียงแค่ประมาณ 30% เท่านั้น นอกนั้น ประมาณ 70% กฟผ. จะซื้อไฟฟ้าจากเอกชนมาขายให้ประชาชนอีกทอด
ตามประมาณการค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าเดือนพฤษภาคม - สิงหาคม 2563 ที่ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เผยแพร่ มีค่าใช้จ่ายเป็นเงินทั้งสิ้น 152,957 ล้านบาท แบ่งเป็น เป็นค่าเชื้อเพลิงของ กฟผ. 29,613 ล้านบาท (19.36%) นอกนั้นเป็นค่าซื้อไฟฟ้าจากเอกชน มากถึง 123,345 ล้านบาท (80.64%) และเป็นค่าซื้อไฟฟ้าจาก SPPs มากถึง 54,510 ล้านบาท (เท่ากับ 44.19% ของค่าซื้อไฟฟ้าจากเอกชนทั้งหมด) ค่าใช้จ่ายทั้งหมดนี้จะส่งผ่านมาเป็นค่าไฟฟ้าเรียกเก็บกับประชาชนผู้ใช้ไฟในท้ายที่สุด
นี่ยังไม่นับผู้ผลิตไฟฟ้า ซึ่งเป็นกลุ่มทุนไทยที่ไปผลิตไฟฟ้าในประเทศเพื่อนบ้านแล้วขายให้ กฟผ.
ทีนี้ เมื่อตามไปดูรายได้และกำไรของการไฟฟ้าฯ ก็มีข้อมูลจากการที่ **“ชัชชาติ สิทธิพันธุ์”** อดีต รมว.คมนาคม ฉายา “บุรุษที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี” โพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัว แสดงความเห็นกรณีดรามา “ค่าไฟแพง” ที่พาไปดูฐานะของการไฟฟ้าฯ เอาในเมืองหลวงกันก่อน มีหน่วยงานหลักสองหน่วย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งผลิตไฟ แล้วขายให้การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) แล้วมาขายให้ประชาชน
“จากข้อมูลงบฯ ปี 2561 (งบฯปี 62 ของ กฟน.ยังไม่เห็นครับ) กฟผ. กำไรเบ็ดเสร็จ 48,776 ล้านบาท กำไรสะสมที่ยังไม่จัดสรร 284,223 ล้านบาท กฟน. กำไรเบ็ดเสร็จ 9,025 ล้านบาท กำไรสะสมที่ยังไม่จัดสรร 95,742 ล้านบาท”
ขณะที่ในปี 2561 นั้น กฟภ. มีรายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าทั้งสิ้น 4.69 แสนล้านบาท กำไรเบ็ดเสร็จ 20,680 ล้านบาท กำไรสะสมที่ยังไม่จัดสรร 165,726 ล้านบาท
ส่วนปี 2562 “สำนักข่าวอิศรา” เจาะงบการเงิน 3 รัฐวิสาหกิจการไฟฟ้า รวมรายได้กว่า 6.8 แสนล้าน กำไรสุทธิ 5.6 หมื่นล้าน ส่งรายได้ให้รัฐ 3.5 หมื่นล้าน โดย กฟน. รายได้รวม 9 เดือน 1.57 แสนล้าน กำไรสุทธิ 8.4 พันล้านบาท, กฟภ. รายได้รวม 6 เดือน 2.63 แสนล้าน กำไรสุทธิ 12,740 ล้าน ส่วน กฟผ. รายได้รวม 9 เดือน 4.26 แสนล้าน กำไรสุทธิ 35,561 ล้านบาท
อู้ฟู่กันขนาดหนักเพียงนี้ “บุรุษที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี” จึงเรียกร้องในช่วงวิกฤตที่ทุกคนกำลังลำบากขอให้รัฐช่วยประชาชนอย่างเต็มกำลัง อย่าตัดไฟชาวบ้าน อย่าไปห่วงเรื่องกำไร ขาดทุน “ผมคิดว่านโยบายง่ายๆ คือ ปีนี้ห้ามมีกำไร ต้องช่วยคนลำบากก่อน อย่าให้คำพูด เราจะรอดไปด้วยกัน เป็นแค่คำปลอบใจ ที่ประชาชนพูดกันเอง...”
ย้อนกลับไปยังคำถามทำไมค่าไฟแพงกันอีกครั้ง เอาตามเหตุผลของการไฟฟ้าฯ ที่ออกมาชี้แจงก็เหตุผลเดิมๆ คือ เดือนเมษายน อากาศร้อนมาก ใช้ไฟฟ้าเยอะ ค่าไฟเลยพุ่งสูง
แต่ในมุมของ “อาจารย์เดชรัต สุขกำเนิด” อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ชำแหละปัญหาราคาค่าไฟฟ้าในช่วงโควิด-19 ทำให้เห็นว่ามีเบื้องหลังมากกว่านั้น โดยตีแสกหน้าไปที่ “ค่าความพร้อมจ่าย” คือ จะใช้ไม่ใช้ก็ต้องจ่าย เป็นการ “พร้อมจ่าย” ตามสัญญาที่ทำกันล่วงหน้า ซึ่งสุดท้ายภาระนี้ผลักให้ประชาชนเป็นผู้จ่าย
อาจารย์เดชรัต ให้ภาพรวมว่า ความต้องการไฟฟ้าสูงสุด เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2563 อยู่ที่ 24,481 เมกะวัตต์ ส่วนความต้องการไฟฟ้าสูงสุดในปีนี้ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2563 อยู่ที่ 28,636.7 เมกะวัตต์ ซึ่งยังต่ำกว่าที่เคยเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2562 ที่มีความต้องการไฟฟ้าสูงสุด 30,853.2 เมกะวัตต์ เรียกว่า ความต้องการใช้ไฟฟ้าในปีนี้ต่ำกว่าปีที่ผ่านมามาก สาเหตุน่าจะเป็นเพราะมาตรการล็อกดาวน์ ซึ่งลดกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศเกือบทั้งหมดลง
ทีนี้มาดูกำลังการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าตอนนี้อยู่ที่ 45,575 เมกะวัตต์ เมื่อเทียบกับความต้องการไฟฟ้าสูงสุดในปีนี้ 28,636.7 เมกะวัตต์ นั่นหมายความว่า มีกำลังการผลิตสำรองในระบบอยู่ที่ 60% ของความต้องการไฟฟ้าสูงสุดในปีนี้ หรืออาจกล่าวได้ว่า ในสถานการณ์ปัจจุบัน โรงไฟฟ้าประมาณ 46% ไม่ได้เดินเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้า
ขณะที่กำลังการผลิตสำรองที่เหลือบานเบอะ (ซึ่งความจริงมาตรฐานสำรองไฟฟ้าอยู่ที่ 15% เท่านั้น) แต่จำเป็นต้องจ่ายค่าตอบแทนการลงทุนในการสร้างโรงไฟฟ้าให้กับผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนและ กฟผ. ที่เรียกว่า “ค่าความพร้อมจ่าย” ซึ่งถูกรวมเข้าไว้ในระบบค่าไฟฟ้าตั้งแต่ทำสัญญารับซื้อไฟฟ้าแล้ว แม้ว่าจะใช้ไฟฟ้าน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้มากแต่ยังต้องจ่ายเงินความความพร้อมจ่าย หรือ “ไม่ใช้ก็ต้องจ่าย” นี้ต่อไปอยู่ดี และรายจ่ายนี้ก็จะถูกเรียกเก็บเงินจากผู้บริโภค
ทางออกที่จะลดราคาค่าไฟฟ้าลง อาจารย์เดชรัต เสนอว่า รัฐบาลจำเป็นต้องเจรจากับผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนทั้งในประเทศและเพื่อนบ้านซึ่งเป็นกลุ่มทุนไทย และบางส่วนเป็นบริษัทลูกของ กฟผ. ให้ลดค่าความพร้อมจ่ายลงมาตามสถานการณ์การใช้ไฟฟ้าที่ลดลง เพราะตรงนี้คือ ค่าใช้จ่ายมากที่สุดในระบบไฟฟ้าของไทยในปัจจุบัน
อีกคำถามสำคัญคือ ค่าใช้จ่ายในการรับซื้อไฟฟ้าจากเอกชนรวมราคาค่าก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงของโรงไฟฟ้าเข้ามาด้วย มีข้อสงสัยทำไมราคาก๊าซฯ ไม่ลดลงตามน้ำมันในตลาดโลกลดลงอย่างมาก
คำตอบคือ ลดแน่ แต่ลดช้า ประมาณ 6 เดือน ตามสูตรคำนวณที่จะคิดราคาก๊าซฯดีเลย์ตามหลังราคาน้ำมันประมาณ 6 เดือน เพื่อป้องกันปัญหาตอนราคาน้ำมันขึ้นเร็วจะได้ไม่กระทบค่าไฟฟ้าพุ่งเร็วเกินไป ทางออกเรื่องนี้คือ รัฐบาลน่าจะขอปรับราคาก๊าซฯในตอนนี้และไปชดเชยราคาก๊าซฯสูงขึ้นในอีก 6 เดือนข้างหน้าแทน เพื่อให้ผู้ใช้ไฟฟ้าได้ใช้ไฟในราคาถูกลง
“ถ้าทำ 2 ประเด็นได้ คือ การลดค่าความพร้อมจ่าย และการลดราคาก๊าซธรรมชาติล่วงหน้าและชดเชยให้ผู้ขายก๊าซในภายหลัง (หรือจ่ายแทนผู้ซื้อก๊าซธรรมชาติล่วงหน้าและเรียกเก็บค่าไฟฟ้าจากผู้ใช้ไฟฟ้า) เราก็จะสามารถลดราคาค่าไฟฟ้าได้มากกว่า 3% แน่นอน ...” และในระยะยาวก็อย่าให้กำลังการผลิตสำรองไฟฟ้ามันล้นเกินจนเป็นภาระของผู้ใช้ไฟฟ้าอย่างที่เป็นอยู่
แต่ก็อย่างว่า อย่าไปโทษ 3 การไฟฟ้า แต่ฝ่ายเดียวคงไม่เป็นธรรมเท่าใดนัก เพราะนี่เป็น “ปัญหาเชิงโครงสร้างราคาพลังงานของประเทศ” ที่มีการวางระบบ การออกแบบ เพื่อจูงใจให้เอกชนเข้ามาลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าแบบประกันรายได้และกำไรไว้ล่วงหน้าของรัฐบาลต่อเนื่องกันมาหลายยุคหลายสมัย โดยเปิดช่องให้สามารถโยนภาระทุกอย่างมาให้ประชาชนแบกรับผ่านค่าไฟฟ้าที่จ่ายกันแต่ละเดือน ทั้งในรูป “ค่าไฟฐานและค่าไฟฟ้าผันแปรหรือค่าเอฟที” ถ้าจะโทษก็ต้องโทษนโยบายของรัฐบาลที่เอื้อประโยชน์ให้เอกชนและทำกันมานานนับเป็น 20 ปี
โครงสร้างที่ออกแบบกันเอาไว้ คงไม่เกินเลยเท่าใดนัก ถ้าจะว่าเป็นการออกแบบระบบการลงทุนผลิตไฟฟ้า การซื้อขายไฟ และขายเชื้อเพลิง แบบที่ว่าต่างสมประโยชน์กันทั้งรัฐบาลและเอกชน นั่นคือ รัฐบาลมีรายได้เข้าแผ่นดินจากการนำส่งรายได้เข้าคลังของบรรดา 3 การไฟฟ้า รวมไปถึงบมจ.ปตท.ที่ขายเชื้อเพลิงคือ ก๊าซธรรมชาติ สำหรับโรงไฟฟ้า ซึ่งประเทศไทยมีโรงไฟฟ้าใช้ก๊าซฯเป็นเชื้อเพลิงสูงเกือบ 70% มานมนานหลายปีแล้ว
หากย้อนกลับไปดูรายได้นำส่งคลังของแต่ละปีก็มากโข ดูคร่าวๆ รวมๆ แล้วรายได้จากรัฐวิสาหกิจด้านพลังงาน 3 การไฟฟ้า กับปตท. ที่ส่งเข้าคลังปีหนึ่งๆ ก็หลายหมื่นล้าน โดยเมื่อปี 2562 ปตท.นำส่ง 29,198 ล้านบาท, กฟผ. 18,924 ล้านบาท, กฟภ.10,903 ล้านบาท และ กฟน. 5,500 ล้านบาท
ส่วนบริษัทเอกชนที่เข้ามาลงทุน ไม่ต้องพูดถึง ไม่มีความเสี่ยงอยู่แล้วจากการทำสัญญาที่การันตีผลตอบแทนอย่างงาม และอย่างที่ว่า “ค่าความพร้อมจ่าย” คือ กฟผ.ในฐานะผู้รับซื้อไฟฟ้า ต้องจ่ายมาไม่ว่าจะใช้ไฟหรือไม่ใช้ ไฟฟ้าจะล้นระบบหรือไม่ ไม่ใช่เรื่องที่เอกชนจะต้องไปกังวลว่า กฟผ.จะไม่ซื้อ เพราะมีสัญญาผูกมัดไว้ล่วงหน้าแล้ว ด้วยเหตุผลที่อ้างว่าการลงทุนตั้งโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ วงเงินลงทุนสูง ต้องมีหลักประกันผลตอบแทนถึงจะจูงใจให้มีผู้มาลงทุน
กิจการไฟฟ้าจึงเป็นการผูกขาดเนื่องจากการลงทุนที่ต้องใช้เม็ดเงินลงทุนสูง รายย่อยเข้ามาร่วมแข่งขันยาก แถมยังไม่สนับสนุนพลังงานหมุนเวียนที่ประชาชนทั่วไปผลิตไฟฟ้าเองได้ในทางความเป็นจริงอย่างแท้จริง เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ อีกต่างหาก ขณะที่ผู้ซื้อไฟฟ้าผูกขาดอยู่รายเดียวคือ กฟผ. ซึ่งผูกขาดระบบสายส่งไฟฟ้าทั้งหมดเอาไว้ในมือ ไม่ต่างไปจากก่อนหน้านี้ที่ ปตท. คุมระบบท่อส่งก๊าซฯ ซึ่งเอื้อต่อการผูกขาดธุรกิจก๊าซฯ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ นั่นแหละ
ความจริงอีกเรื่องก็คือ อันที่จริงเอกชนรายใหญ่ที่ลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าก็หาใช่ใครที่ไหน แต่เป็นบริษัทลูกของ กฟผ.นั่นเอง ทั้งเครือบริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (RATCH) ทั้งเครือบริษัทผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) (EGCO) หรือ เอ็กโก้ กฟผ.ก็ถือหุ้นใหญ่ เป็นอาณาจักรที่ผู้บริหารการไฟฟ้าใช้เป็นฐานที่มั่นมานั่งกินตำแหน่งหลังเกษียณอายุจากรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้า หรือไม่งั้นก็ข้ามฟากไปเติบใหญ่ในบริษัทลูกหลานในเครือเหล่านี้ หรือแม้แต่เอกชนผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ก็เข้าถือหุ้นไขว้กันไปมากับบริษัทลูกหลานของ กฟผ.
ไม่แต่การลงทุนภายในประเทศเท่านั้น การลงทุนผลิตไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านเพื่อนำมาขายให้กับ กฟผ. ก็ไม่แตกต่าง เพราะบริษัททุนไทยเป็นหลักทั้งนั้นที่เข้าไปร่วมลงทุน และลึกๆ ลงไปก็มีบริษัทในเครือ กฟผ. หรือบริษัทลูกหลานของกฟผ.เข้าไปถือหุ้นร่วมอยู่ด้วย
ตัวอย่างเช่น โรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี ที่ สปป.ลาว ขนาด 1,220 เมกะวัตต์ ก็มีบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) เข้าไปถือหุ้นในสัดส่วน 12.50% หรือบริษัท ไฟฟ้า หงสา จำกัด (โรงไฟฟ้าถ่านหินหงสา) ที่ สปป.ลาว ขนาด 1,473 เมกะวัตต์ ก็มีบริษัทในกลุ่มของบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 40%
ดังนั้น อย่าได้แปลกใจว่าใครกันแน่ที่ผูกขาดและได้ผลประโยชน์มากมายมหาศาลจากการขูดรีดค่าไฟฟ้ากับประชาชน และต้องเรียกร้องคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ให้เข้ามาสะสาง วางระบบ กำหนดหลักเกณฑ์ต่างๆ กันใหม่ เผื่ออะไรๆ จะดีขึ้น