1.“ดีเอสไอ” เห็นแย้งคำสั่งอัยการที่ไม่อุทธรณ์คดี “โอ๊ค” ฟอกเงินแบงก์กรุงไทย วัดใจ “อัยการสูงสุด” จะอุทธรณ์คดีหรือไม่!
วันนี้ (25 เม.ย.) นายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในฐานะรักษาราชการแทนอธิบดีดีเอสไอ เผยว่า เมื่อวันศุกร์ที่ 24 เม.ย. ดีเอสไอได้ทำความเห็นแย้งคำสั่งไม่อุทธรณ์ของสำนักงานอัยการคดีพิเศษ ในคดีนายพานทองแท้ ชินวัตร จำเลยคดีร่วมกันฟอกเงิน 10 ล้านบาท จากธนาคารกรุงไทย ปล่อยกู้ให้เครือกฤษดามหานคร ส่งให้พนักงานอัยการ ซึ่งครบกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์ คือภายในวันที่ 25 เม.ย. 2563
นายไตรยฤทธิ์ เผยด้วยว่า คณะทำงานของดีเอสไอที่ตั้งขึ้นมา 5 คน พิจารณาประเด็นต่างๆ ในคำพิพากษา และหลักฐานการสอบสวนของดีเอสไอแล้ว ดีเอสไอมีความเห็นยึดตามความเห็นเดิม คือนายพานทองแท้มีความผิดฐานร่วมกันฟอกเงิน และว่า กระบวนการหลังจากนี้ ต้องเสนอให้อัยการสูงสุดชี้ขาด และขอขยายเวลาอุทธรณ์ต่อศาลอาญาคดีทุจริต ซึ่งครบกำหนดการขยายอุทธรณ์รอบที่ 4 ในวันที่ 25 เม.ย.
สำหรับคดีนี้ เริ่มจากสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ได้มีหนังสือกล่าวโทษต่อดีเอสไอ ให้ดำเนินคดีอาญาต่อนางกศนี จิปิภพ, นางกาญจนาภา หงส์เหิน, นายวันชัย หงษ์เหิน และนายพานทองแท้ ชินวัตร รวม 4 คน ในความผิดฐานสมคบกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป ร่วมกันฟอกเงินและได้มีการกระทำความผิดฐานฟอกเงินเพราะเหตุที่ได้สมคบกัน
โดยดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษที่ 25/2560 ต่อมา หลังสอบสวนเสร็จสิ้น ได้ส่งสำนวนการสอบสวนไปยังพนักงานอัยการเมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2561 ต่อมาพนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษ สำนักงานอัยการสูงสุดได้ยื่นฟ้องต่อศาล ซึ่งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางมีคำพิพากษายกฟ้องเมื่อวันที่ 25 พ.ย.2562
จากนั้นพนักงานอัยการในฐานะโจทก์ได้ขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์คำพิพากษา จำนวน 4 ครั้ง ประกอบด้วย ครั้งที่ 1 ศาลอนุญาตถึงวันที่ 19 ธ.ค.2562 ครั้งที่ 2 ศาลอนุญาต ถึงวันที่ 25 ก.พ.2563 ครั้งที่ 3 ศาลอนุญาตถึงวันที่ 25 มี.ค. 2563 โดยระหว่างนั้น (วันที่ 19 มี.ค. 2563) พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่อุทธรณ์ (อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีศาลสูง) ต่อมา วันที่ 26 มี.ค. 2563 พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการคดีพิเศษ (ฝ่ายคดีพิเศษ 4) ส่งสำนวนให้ดีเอสไอ พร้อมความเห็นไม่อุทธรณ์คำพิพากษามายังอธิบดีดีเอสไอ เพื่อพิจารณาว่าจะมีความเห็นแย้งหรือไม่ ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 มาตรา 34 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 145 และพนักงานอัยการได้ขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์คำพิพากษา เป็นครั้งที่ 4 ศาลอนุญาตถึงวันที่ 25 เม.ย.2563
2.“บิ๊กตู่” ส่ง จม.เปิดผนึกถึงมหาเศรษฐีแล้ว ยันไม่รับบริจาคเงิน ขอให้ช่วยเหลือ ปชช. ด้านมหาเศรษฐีทยอยตอบรับคำขอแล้ว!
เมื่อวันที่ 20 เม.ย. มีรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ทำจดหมายเปิดผนึกถึง 20 มหาเศรษฐีของไทยแล้ว โดยจดหมายดังกล่าวลงวันที่ 20 เม.ย. มีข้อความระบุว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญสถานการณ์โรคระบาดวิด-19 เป็นวิกฤตการณ์ร้ายแรงของประเทศและของโลก ทำร้ายและทำลายชีวิต ความสัมพันธ์ทางสังคมและเศรษฐกิจไปพร้อมกัน อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เป็นช่วงเวลาที่คนไทยและประเทศไทยต้องการความร่วมมืออย่างมากที่สุดจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคนหรือองค์กรที่มีความรู้ ความสามารถ มีความเข้มแข็ง จึงสื่อสารมายังท่านในฐานะเป็นผู้อาวุโสของสังคม
จดหมายยังระบุต่อไปว่า ผมซาบซึ้งใจที่หลายท่านได้ลงมือช่วยเหลือประชาชนไปแล้วหลายเรื่อง แต่ผมต้องการขอให้ทุกท่านทำเพิ่มเติม โดยใช้ศักยภาพของท่านมาทำให้เกิดการช่วยเหลือเยียวยาพี่น้องประชาชนคนไทยที่กำลังเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ผมขอให้ท่านทำเอกสารนำเสนอสิ่งที่ท่านพร้อมจะทำเพิ่มเติม เพื่อช่วยเหลือพี่น้องคนไทย โดยผมไม่ขอรับเป็นเงินบริจาค แต่ผมขอให้ท่านลงมือทำโครงการที่จะออกไปช่วยเหลือประชาชนคนไทยทุกกลุ่มทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นการบรรเทาความทุกข์ร้อนของประชาชนทางด้านใดก็ตาม หรือด้วยวิธีการใดก็ตาม ขอให้เป็นการช่วยเหลือประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งสิ่งใดที่ท่านเห็นว่า รัฐบาลจะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับโครงการนั้นได้ ขอให้ท่านโปรดส่งมาให้ผมรับทราบภายในสัปดาห์หน้า ก็จะเป็นความกรุณาอย่างยิ่ง จึงเรียนมาเพื่อพิจารณาและขอขอบพระคุณล่วงหน้ามา ณ ที่นี้ด้วย ลงชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
วันต่อมา 21 เม.ย. พล.อ.ประยุทธ์ ได้ให้สัมภาษณ์ถึงจดหมายที่มีถึง 20 มหาเศรษฐีของไทยว่า ความจริงก็เพื่อรับทราบว่า มีการดำเนินการอะไรบ้างในการช่วยเหลือบุคลากรในองค์กรของท่านเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ พนักงาน ลูกจ้าง ซัพพลายเออร์ เพื่อจะช่วยเสริมมาตรการต่างๆ ของรัฐบาลที่ออกไปแล้ว เพื่อให้เกิดพื้นที่กว้างขวางขึ้นในการช่วยเหลือดูแลประชาชน ไม่ได้หมายความว่า รัฐบาลจะไปกู้เงินหรือยืมเงินอะไร รัฐบาลก็มีเงินของรัฐบาล ในส่วนนี้เป็นเรื่องของท่านที่จะดูแลประชาชน และสิ่งที่ทั้ง 20 มหาเศรษฐีทำอยู่ ก็ต้องขอขอบคุณ
พล.อ.ประยุทธ์ ยังยืนยันด้วยว่า “ไม่มีการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น ก็ต้องขอขอบคุณเป็นการล่วงหน้าสำหรับทุกอย่าง เพียงแต่ขอความร่วมมือจากพวกท่าน ซึ่งทราบว่าทุกคนก็ทำมามากพอสมควรแล้ว วันนี้ก็เพียงแต่อยากจะทราบว่า ท่านจะทำอะไรได้มากกว่านี้อีกหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ท่านจะพิจารณาของท่านเอง สิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องของการแข่งขัน การบังคับ หรือการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ใดๆ ต้องการระดมความคิดเห็น ความร่วมมือต่างๆ จากทุกภาคส่วน ซึ่งนอกจากทั้ง 20 ท่านแล้ว ยินดีหากภาคส่วนอื่นๆ จะมีอะไรที่จะช่วยเหลือประชาชนให้ผมทราบ ก็สามารถทำเรื่องมาได้ ทั้งนี้ คงไม่ได้ไปพบด้วยตัวเองทั้ง 20 ท่าน แต่ก็มีรายชื่อมีการประกาศออกมาแล้ว ซึ่งจดหมายเปิดผนึกก็มีรายละเอียดอยู่แล้วว่า ไม่ขอรับเงินบริจาคใดๆ ทั้งสิ้น จึงขอร้องว่าอย่าไปบิดเบือนกัน”
มีรายงานว่า มหาเศรษฐีหลายรายที่ได้รับจดหมาย เริ่มทยอยตอบกลับ พล.อ.ประยุทธ์แล้ว โดยทั้งหมดยินดีและพร้อมช่วยเหลือเพิ่มเติม พร้อมช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจจากสถานการณ์โควิด-19 เช่น นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์, นายฉัตรชัย แก้วบุตตา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทและกลุ่มศรีสวัสดิ์, นายชูชาติ เพ็ชรอำไพ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.เมืองไทยแคปปิตอล (MTC) เป็นต้น ทั้งนี้ แฟนเพจเฟซบุ๊ก "ลุงตู่ตูน" ซึ่งเป็นเพจสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ได้โพสต์รูปภาพของมหาเศรษฐีดังกล่าวเมื่อวันที่ 23 เม.ย. พร้อมระบุข้อความว่า "มหาเศรษฐี เริ่มตอบรับคำขอของนายกฯ ลุงตู่แล้ว"
ส่วนกรณีที่บางฝ่ายลุ้นว่า จะมีการผ่อนปรนมาตรการหรือต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือไม่ ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 30 เม.ย.นี้ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า หลายคนเรียกร้องให้ปลดล็อก แต่คิดว่าต้องระมัดระวังอย่างที่สุด และฟังข้อมูลด้านสาธารณสุขและแพทย์ด้วย รวมถึงมาตรการรองรับเพียงพอแล้วหรือไม่ ไม่ต้องการให้ตัดสินใจด้วยแรงกดดันหลายอย่าง แต่อยากให้เป็นไปตามข้อเท็จจริง ถ้าปลดเร็วเกินไป สิ่งที่ตามมา หากแพร่ระบาดขึ้นอีก สิ่งที่ทำมาทั้งหมดด้วยระยะเวลานานล้มเหลว แล้วจะทำอย่างไร เป็นสิ่งที่ตนต้องดูแลเป็นพิเศษ และว่า การต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะมีการพิจารณาอีกครั้งในวันที่ 28 เม.ย. ว่าจะต้องดำเนินการไปหรือไม่ อย่างไร
ด้าน พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ได้เป็นประธานการประชุมหน่วยงานด้านความมั่นคงเพื่อประเมินสถานการณ์ในการประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และมาตรการข้อกำหนดต่างๆ เมื่อวันที่ 23 เม.ย.
หลังประชุม พล.อ.สมศักดิ์ เผยว่า วันนี้เป็นเพียงการประชุมในระดับเจ้าหน้าที่ ซึ่งในวันจันทร์ที่ 27 เม.ย. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. จะเรียกประชุมร่วมกับ ศบค. อีกครั้งหนึ่ง เพื่อสรุปว่า มีความจำเป็นต้องประกาศต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินออกไปหรือไม่ ซึ่งหากที่ประชุมเห็นสมควรว่าต่ออายุออกไป จะนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) อีกครั้งในวันอังคารที่ 28 เม.ย.
3.ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ในไทยลดลงหลายวัน ก่อนเพิ่มเพราะแรงงานต่างด้าวในศูนย์กักตัวฯ ที่สงขลา!
สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ในไทยสัปดาห์ที่ผ่านมา ช่วงต้นสัปดาห์ วันที่ 20 เม.ย. นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) แถลงพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ 27 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ส่งผลให้ยอดผู้ป่วยสะสมอยู่ที่ 2,792 ราย
วันต่อมา 21 เม.ย. พบผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ 19 ราย มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย ส่งผลให้ยอดผู้ป่วยสะสมอยู่ที่ 2,811 ราย สำหรับผู้ป่วยที่เสียชีวิตเป็นชายไทย อายุ 50 ปี อาชีพขับรถแท็กซี่ มีโรคประตัวเบาหวานชนิดที่ 2 ที่ยังควบคุมได้ไม่ดี สูบบุหรี่ ประวัติเสี่ยง คือ รับส่งผู้โดยสารไปดูมวยที่สนามมวยลุมพินี
วันต่อมา 22 เม.ย. สถานการณ์ดีขึ้นอีก โดยพบผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่แค่ 15 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย ส่งผลให้ยอดผู้ป่วยสะสมอยู่ที่ 2,826 ราย สำหรับผู้เสียชีวิตเป็นหญิงไทย อายุ 58 ปี อาชีพแม่บ้าน มีโรคประจำตัว คือ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง และภาวะอ้วน มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดลูกสาวที่เป็นผู้ป่วยยืนยัน
วันต่อมา 23 เม.ย. พบผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่แค่ 13 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย ส่งผลให้ยอดผู้ป่วยสะสมอยู่ที่ 2,839 ราย สำหรับผู้เสียชีวิต เป็นหญิงไทย อายุ 78 ปี มีโรคประจำตัว คือ หลอดเลือดสมอง
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) กล่าวว่า “คนติดเชื้อมากที่สุดยังเป็นกลุ่มวัยหนุ่มสาว วัยทำงาน คือ คนติดเชื้อมากสุดไม่ได้เสียชีวิตมากสุด แต่คนป่วยน้อยกลับเสียชีวิตมาก" นพ.ทวีศิลป์ ยังกล่าวด้วยว่า แม้ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่จะลดลง แต่การ์ดอย่าตก ถ้าตกแม้แต่นิดเดียว บางประเทศน็อกไปแล้ว ทะยานขึ้นเป็นหลักพันและจะเป็นหลักหมื่น คงเป็นบทเรียนของเรา วันนี้ผู้ป่วยรักษาอยู่ก็ลดลงเป็นกราฟที่เราต้องการ จะใช้ปริมาณทรัพยากรใน รพ.น้อยลง เหลือพื้นที่เตียง ทำให้บุคลากรทางการแพทย์เราได้พักบ้าง”
วันต่อมา 24 เม.ย. พบผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่แค่ 15 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต รวมยอดผู้ป่วยสะสมจำนวน 2,854 ราย นพ.ทวีศิลป์ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้พยายามเน้นมาตรการเชิงรุกในการตรวจหาผู้ป่วย โดยเรียกเคสเข้ามารับการตรวจในกลุ่มผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรค โดยใน กทม.หาผู้ป่วยเข้าเกณฑ์ 11,665 ราย ยะลา 4,448 ราย นนทบุรี 3,630 ราย ชลบุรี 1,879 ราย ภูเก็ต 2,163 ราย และ สมุทรปราการ 1,302 ราย จังหวัดเหล่านี้เป็นกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการจะสแกนหาคนที่มีอาการอยู่และเข้ามารับการรักษา ถ้าอยู่ในจังหวัดดังกล่าว ไม่ว่าจะมีไข้ ไอ มีประวัติเสี่ยง ให้เดินเข้ามายังสถานพยาบาลใกล้บ้านเพื่อขอรับบริการในการตรวจ
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า การตรวจยืนยันเชื้อ มีวันละประมาณ 2,000 กว่าคน ซึ่งศักยภาพการตรวจ โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ศักยภาพของ กทม.ตรวจได้ถึง 10,000 ตัวอย่างต่อวัน ต่างจังหวัดรวมกัน 10,000 ตัวอย่างต่อวัน รวมแล้ว 20,000 ตัวอย่างต่อวัน สามารถทำได้ 123 แห่ง และจะทำให้ได้ครบทุกจังหวัดประมาณ 176 แห่ง
ล่าสุด 25 เม.ย. ปรากฏว่า ผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่เพิ่มจำนวนมากกว่าทุกวัน โดยเพิ่มขึ้น 53 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย รักษาหายกลับบ้านเพิ่ม 57 ราย ยอดผู้ป่วยสะสมรวม 2,907 ราย กลับบ้านแล้ว 2,547 ราย เสียชีวิตรวม 51 ราย และยังรักษาใน รพ. 309 ราย โดยผู้เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย เป็นชายไทย อายุ 48 ปี อาชีพรับจ้าง มีประวัติสัมผัสผู้ป่วยยืนยันในครอบครัวที่มี 4 คนติดเชื้อมาก่อน คือ น้องชายทำงานสถานบันเทิงย่านทองหล่อ น้องสะใภ้ พ่อและแม่ โดยเริ่มป่วยวันที่ 1 เม.ย. มีไข้ ไอ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ รับการตรวจ รพ.แห่งหนึ่งใน กทม. ผลตรวจปกติจึงรับยากลับไป แต่อาการไม่ดีขึ้น รักษาอีกครั้งวันที่ 12 เม.ย. ด้วยอาการไข้สูง 40 องศาเซลเซียส หายใจลำบาก ไอ จึงส่งตรวจหาเชื้อผลตรวจยืนยัน วันที่ 16 เม.ย.อาการแย่ลง แพทย์ใส่ท่อช่วยหายใจและเสียชีวิตวันที่ 24 เม.ย. ด้วยภาวะการหายใจล้มเหลว
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) กล่าวว่า สำหรับผู้ป่วยรายใหม่ 53 ราย ส่วนใหญ่ 42 ราย เป็นแรงงานต่างด้าวที่เข้าไทยโดยผิดกฎหมายและดูแลอยู่ในศูนย์กักตัวตรวจคนเข้าเมือง อ.สะเดา จ.สงขลา ได้แก่ พม่า 34 ราย เวียดนาม 3 ราย มาเลเซีย 2 ราย เยเมน 1 ราย กัมพูชา 1 ราย อินเดีย 1 ราย ส่วนผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่เหลือ มาจากการสัมผัสผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้า 3 ราย, ไปสถานที่ชุมนุมชน 1 ราย และจากการค้นหาเชิงรุกใน จ.ยะลา 7 ราย
4. 22 ล้านครัวเรือนเฮ! ครม.ไฟเขียวลดค่าไฟ 3 เดือน มี.ค.-พ.ค. ใช้งบหนุน 2.3 หมื่นล้าน
สัปดาห์ที่ผ่านมา มีประชาชนหลายรายร้องเรียนผ่านโซเชียลมีเดียว่า ช่วงเดือนที่ผ่านมา บิลค่าไฟฟ้าแพงกว่าปกติมากถึง 2-3 เท่าตัว ด้านนายจาตุรงค์ สุริยาศศิน ผู้ช่วยผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ในฐานะโฆษก กฟน.ได้ออกมาชี้แจงเมื่อวันที่ 20 เม.ย.ว่า สาเหตุที่ค่าไฟฟ้าแพงมีอยู่ 2 ปัจจัย คือ ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าส่วนที่ลอยตัว (FT) เช่น ค่าเชื้อเพลิง ซึ่งการไฟฟ้าไม่สามารถควบคุมได้ โดยกฎหมายจะระบุให้มีการประกาศอัตรา FT ล่วงหน้าทุกๆ 4-5 เดือน ซึ่งล่าสุด เพิ่งประกาศอัตรา FT เมื่อเดือน มี.คง2563 ที่ผ่านมา อยู่ที่ 11 สตางค์ ซึ่ง กฟน.จะใช้อัตรา FT ดังกล่าวคำนวณค่าไฟในเดือน เม.ย.-ส.ค.2563 ดังนั้นแม้ช่วงนี้ราคาน้ำมันจะถูกลง แต่อัตราค่า FT ไม่ได้ลดลงทันทีตามราคาน้ำมัน
ส่วนปัจจัยที่ 2 คือ การคิดอัตราค่าไฟฟ้าแบบก้าวหน้า ถ้าประชาชนใช้ไฟฟ้ามากขึ้น ค่าไฟต่อหน่วยก็จะแพงมากขึ้น คือ 35 หน่วยแรก เหมารวมทั้งสิ้นเป็นจำนวนเงิน 85.21 บาท, 115 หน่วยต่อไป หน่วยละ 1.1236 บาท, 250 หน่วยต่อไป หน่วยละ 2.1329 บาท และส่วนที่เกินกว่า 400 หน่วย หน่วยละ 2.4226 บาท
นายจาตุรงค์ กล่าวด้วย ทั้ง 2 ปัจจัยเป็นสาเหตุหลัก แต่มีสาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้ค่าไฟฟ้าแพงขึ้นเช่นกัน เช่น การใช้เครื่องปรับอากาศ ซึ่งเป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ใช้พลังงานไฟฟ้าสูงสุด หรือความร้อนของอากาศ และอื่นๆ
วันต่อมา 21 เม.ย. ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้พิจารณาเรื่องมาตรการเยียวยาการลดภาระค่าไฟฟ้าระหว่างเดือน มี.ค.-พ.ค.วงเงิน 23,688 ล้านบาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) หลังประชุม นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ขอขอบคุณนายกฯ และ ครม.ที่มีมติรับทราบมาตรการช่วยเหลือประชาชน เพื่อบรรเทาภาระค่าไฟฟ้าในกลุ่มของไฟบ้านที่ใช้ในครัวเรือนอย่างถ้วนหน้า ซึ่งถือเป็นต้นทุนในการใช้ชีวิตของประชาชน ที่ร่วมมือกันดำเนินการตามแนวนโยบายของรัฐบาลในการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ด้วยการทำงานที่บ้าน พร้อมขอบคุณคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และทั้ง 3 การไฟฟ้า คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ที่ร่วมกันหาทางช่วยเหลือประชาชนอย่างเร่งด่วน สำหรับมาตรการดังกล่าวจะช่วยเหลือประชาชนที่ไฟฟ้าประเภทที่อยู่อาศัยจำนวน 22 ล้านราย คาดว่าจะต้องใช้งบประมาณจำนวน 23,688 ล้านบาท
นายสนธิรัตน์ ยืนยันด้วยว่า “จะทำการบ้านพิจารณาหามาตรการมารองรับ เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างรอบคอบต่อไป ส่วนภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการ โรงงานอุตสาหกรรม ที่ได้รับผลกระทบก็เริ่มมีการแสดงความคิดเห็นผ่านสื่อ หรือแจ้งตรงมายังผมอย่างไม่เป็นทางการบ้างแล้ว ซึ่งขณะนี้ห้วยงานที่เกี่ยวข้อง อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูล ศึกษาปัญหาและอุปสรรค ก่อนจะนำมาพิจารณาอีกครั้ง”
รายงานแจ้งว่า มาตรการเยียวยาค่าไฟฟ้าที่ใช้ในครัวเรือน ที่กระทรวงพลังงานประกาศออกมาเมื่อวันที่ 20 เม.ย.ที่ผ่านมา มี 2 กลุ่ม คือ 1.มิเตอร์ไฟขนาดไม่เกิน 5 แอมป์ จะได้ใช้ฟรี 150 หน่วย หากเกินจะได้รับการดูแลให้ใช้ฟรีเช่นกัน เนื่องจากกลุ่มนี้จะใช้ไม่เกินปริมาณ 150 หน่วยเป็นปกติ และถือว่าใช้ไฟน้อย
2. มิเตอร์ไฟขนาดเกิน 5 แอมป์ จะมีข้อกำหนดคือ หากใช้มากกว่าเดือน ก.พ. แต่ไม่เกิน 800 หน่วย ให้จ่ายค่าไฟฟ้าเท่าเดือน ก.พ. แต่หากใช้เกิน 800 หน่วย แต่ไม่เกิน 3,000 หน่วย ให้จ่ายค่าไฟฟ้าเท่าเดือน ก.พ. บวกกับส่วนที่เกิน ซึ่งได้รับส่วนลด 50% และหากใช้เกิน 3,000 หน่วย ให้จ่ายค่าไฟฟ้าเท่าเดือน ก.พ. บวกกับส่วนเกิน ซึ่งได้รับส่วนลด 30% โดยการลดหย่อนดังกล่าวจะมีการคืนค่าใช้จ่ายให้ในรอบบิลถัดไป
5.กรมแพทย์แผนไทยฯ เตรียมใช้ “ฟ้าทะลายโจร” ทดลองรักษาผู้ป่วยโควิด-19 อาการน้อย-ปานกลาง 12 ราย!
เมื่อวันที่ 19 เม.ย. นพ.ปราโมทย์ เสถียรรัตน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เผยที่ทำเนียบรัฐบาลว่า ฟ้าทะลายโจรมีฤทธิ์สำคัญ 4 อย่าง คือ 1.กระตุ้นภูมิคุ้มกัน 2.ต้านไวรัส 3.ต้านการอักเสบ และ 4.ลดไข้ ซึ่งล่าสุด จีนได้พัฒนาฟ้าทะลายโจรเป็นยาฉีดตำรับร่วมรักษาโควิด-19 สำหรับไทยเอง กรมการแพทย์แผนไทยฯ ร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ศึกษาวิจัยฤทธิ์ของฟ้าทะลายโจรในหลอดทดลองในเดือนที่ผ่านมา ทราบว่าในหลอดทดลองได้ผล จึงมาคำนวณว่า ระดับของยาที่เหมาะสมควรเป็นเท่าไหร่
โดยกรมการแพทย์แผนไทยฯ มีแผน 2 เรื่อง คือ 1.ศึกษาวิจัยนำร่องผลของยาสารสกัดฟ้าทะลายโจรขนาดสูง ต่อผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่มีระดับความรุนแรงน้อย ได้ทำร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ นำผลิตภัรฎ์ยาสารสกัดฟ้าทะลายโจรจากบริษัทสมุนไพรไทยเป็นบริษัทในเครือขององค์การเภสัชกรรมมาศึกษาวิจัย และศึกษาวิจัยในสถาบันบำราศนราดูร ใช้เวลาประมาณ 4 เดือนในการหาคำตอบ
นพ.ปราโมทย์ เผยอีกว่า คาดว่าจะเริ่มมีการทดลองกับผู้ป่วยภายในสิ้นเดือน เม.ย.นี้ โดยจะทดลองในผู้ป่วยที่มีอาการน้อยถึงปานกลาง โดยผู้ป่วยทั้งหมดจะเป็นผู้ป่วยที่ไม่ได้รับยาต้านไวรัส จะได้รับเพียงยารักษาตามอาการของโรค โดยจะเริ่มใช้กับผู้ป่วยที่รักษาอยู่ในสถาบันบำราศนราดูร ภายใต้การควบคุมของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งการดำเนินการ จะแบ่งผู้ป่วยออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มละ 6 ราย ผู้ป่วยกลุ่มที่ 1 จะได้รับยาแคปซูลสารสกัดฟ้าทะลายโจรครั้งละ 60 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง เป็นระยะเวลา 5 วัน ซึ่งคิดเป็น 3 เท่าของขนาดปกติ กลุ่มที่ 2 จะได้รับยาแคปซูลสารสกัดฟ้าทะลายโจร ครั้งละ 100 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง เป็นระยะเวลา 5 วัน ซึ่งคิดเป็น 5 เท่าของขนาดปกติ หลังจากนั้น คณะแพทย์ศิริราชและสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์จะตรวจผลในห้องปฏิบัติการต่อไป
อีก 1 ข่าวดี คือการประสบความสำเร็จของแพทย์ไทยที่สามารถตรวจหาเชื้อโควิด-19 จากน้ำลายได้ โดย นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ นพ.อภิชาต วชิรพันธ์ ผู้อำนวยการสถาบันบำราศนราดูร ได้แถลงเรื่องนี้เมื่อวันที่ 24 เม.ย. ว่า กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และสถาบันบำราศนราดูร ได้ร่วมกันพัฒนาวิธีการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ในน้ำลาย ซึ่งวิธีการตรวจดังกล่าว โรงพยาบาลรามาธิบดีวิจัยพบว่า ได้ผลแม่นยำ มีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับวิธีการตรวจจากสารคัดหลั่งหลังจมูกและคอหรือวิธีการตรวจหาสารพันธุกรรม (RT-PCR) ซึ่งวิธีการตรวจหาเชื้อในน้ำลายนี้ได้รับการยอมรับในหลายประเทศ
ซึ่งข้อดีของการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ในน้ำลาย คือ ราคาถูก เก็บตัวอย่างง่ายกว่า สามารถเก็บได้ด้วยตัวเอง ทำให้บุคลากรปลอดภัยมากขึ้น ไม่ต้องใช้หรือลดการใช้ชุดป้องกัน PPE โดยกระทรวงสาธารณสุขใช้การตรวจหาเชื้อโควิด-19 ในน้ำลาย ในกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ ค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก และการค้นหาผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการในชุมชน ทำให้การค้นหาผู้ป่วย/ผู้ติดเชื้อทำได้อย่างรวดเร็ว นำเข้าสู่ระบบการรักษา ป้องกันการแพร่ระบาดของโรค ซึ่งสามารถดำเนินการได้ทันทีทุกพื้นที่ที่มีการระบาด ชุมชนแออัด หรือจุดเข้า-ออกของประเทศ ส่วนผู้เข้าเกณฑ์สอบสวนโรคหรือ PUI คือ มีไข้ มีอาการระบบทางเดินหายใจที่มาตรวจรักษาในสถานพยาบาล จะใช้วิธีตรวจจากสารคัดหลั่งหลังจมูกและคอเป็นหลัก