xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 12-18 เม.ย.2563

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชายนายทักษิณ ชินวัตร จำเลยคดีฟอกเงินแบงก์กรุงไทย
1.คณะอัยการคดีศาลสูงมีมติไม่อุทธรณ์คดี "โอ๊ค" ฟอกเงินแบงก์กรุงไทย ด้าน "วัชระ" ถามมีใบสั่งหรือไม่ ขณะที่ "ดีเอสไอ" ยังไม่เคาะเห็นแย้งหรือไม่!

เมื่อวันที่ 14 เม.ย. นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวถึงความคืบหน้าการพิจารณาอุทธรณ์คดีของนายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชายนายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเป็นจำเลย ในคดีที่อัยการยื่นฟ้องร่วมกันฟอกเงิน 10 ล้านบาท คดีธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้ให้เครือกฤษดามหานครว่า คดีนี้ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีคำพิพากษายกฟ้อง (มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 25 พ.ย.62) และว่า เมื่ออัยการคัดถ่ายคำพิพากษามาแล้ว คณะทำงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษซึ่งเป็นผู้ดำเนินคดี ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า คำพิพากษาของศาลอาญาคดีทุจริตฯ นั้น ชอบแล้วที่ยกฟ้อง เห็นด้วยกับคำพิพากษาของศาล จึงเสนอความเห็นควรไม่อุทธรณ์ไปที่สำนักงานอัยการคดีศาลสูงที่มีนายมนต์ชัย บ่อทรัพย์ เป็นอธิบดีอัยการฯ ก็ตั้งคณะทำงานขึ้นมา 5 คน ร่วมกันพิจารณาสำนวน

โดยคณะทำงานทั้ง 5 คนเห็นเป็นเอกฉันท์ เห็นพ้องต้องกันว่า คำพิพากษาของศาลที่ยกฟ้องนายพานทองแท้ว่าไม่ได้กระทำผิดนั้น ชอบแล้ว เท่ากับอัยการสำนักงานคดีพิเศษและอัยการสำนักงานคดีศาลสูงเห็นด้วยกับคำพิพากษาของศาลอาญาคดีทุจริตฯ ที่ยกฟ้อง โดยอัยการเสนอสำนวนไปที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) แล้ว ตามขั้นตอนก็ต้องรอว่า ดีเอสไอจะมีความเห็นอย่างไร ถ้าดีเอสไอเห็นด้วยกับอธิบดีอัยการศาลสูง ก็จบ ไม่ต้องไปอัยการสูงสุด จะไปอัยการสูงสุดต่อเมื่อดีเอสไอเห็นแย้งอัยการเท่านั้น

เมื่อถามว่า ในการพิพากษาของศาลชั้นต้น มีองค์คณะท่านหนึ่งทำความเห็นแย้ง โดยให้ลงโทษนายพานทองแท้ จำเลย นายประยุทธ กล่าวว่า เป็นรายละเอียด ไม่สามารถลงไปตรงนั้นได้ คดีอยู่ระหว่างพิจารณา ไม่สามารถชี้รายละเอียดได้ ยังไม่ถึงที่สุด เพราะสามารถไปอีกหลายขั้นตอนตามกฎหมาย แต่เหตุผลง่ายๆ ที่อัยการสำนักงานคดีพิเศษ และอัยการสำนักงานคดีศาลสูง เห็นควรไม่อุทธรณ์ เพราะเห็นด้วยกับคำพิพากษาที่ยกฟ้อง สิ่งที่อัยการเราเห็น ก็คือสิ่งเดียวกับที่ศาลท่านยกฟ้อง กระบวนการทั้งหมดมีการตรวจสอบละเอียด รอบคอบ รัดกุมอยู่แล้ว โดยเฉพาะการที่ศาลท่านตัดสินมาอย่างนั้น ก็แสดงว่าศาลท่านดูละเอียดแล้ว

ทั้งนี้ 3 วันต่อมา (17 เม.ย.) นพ.ไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) รักษาราชการแทน อธิบดีดีเอสไอ กล่าวว่า ตามที่คณะอัยการคดีศาลสูงมีมติเอกฉันท์ไม่อุทธรณ์คดีนายพานทองแท้ จำเลยคดีร่วมกันฟอกเงิน 10 ล้านบาท กรณีธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้ให้เครือกฤษดามหานครว่า ดีเอสไอ โดยกองบริหารคดีพิเศษ พิจารณาเห็นว่า เป็นคดีที่มีข้อเท็จจริงซับซ้อน เพื่อให้การพิจารณาในชั้นความเห็นแย้งเป็นไปโดยครบถ้วนและรอบคอบ เห็นสมควรพิจารณาในรูปคณะกรรมการ โดยดีเอสไอได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานขึ้นเพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าว จำนวน 5 คน เพื่อมีความเห็นประกอบการพิจารณาสั่งของอธิบดีดีเอสไอ

นพ.ไตรยฤทธิ์ กล่าวด้วยว่า “ดีเอสไอจะดำเนินการโดยเร็วและรอบคอบ หากสามารถมีความเห็นกลับไปยังพนักงานอัยการทันภายในวันที่ 25 เม.ย.นี้ ซึ่งครบขยายเวลาอุทธรณ์ก็จะดำเนินการในทันที แต่หากไม่เสร็จก็มีเหตุจำเป็นจะต้องมีหนังสือถึงพนักงานอัยการในฐานะโจทก์ เพื่อขอขยายเวลาอุทธรณ์ต่อศาลต่อไป โดยขอยืนยันว่า การพิจารณาเป็นการดำเนินการในรูปคณะทำงาน มีความโปร่งใส รอบคอบ และเป็นไปตามกฎหมาย”

ด้าน พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีพิเศษและรองโฆษกดีเอสไอ กล่าวเพิ่มเติมว่า คดีดังกล่าว สืบเนื่องจากสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ได้มีหนังสือกล่าวโทษต่อดีเอสไอ ให้ดำเนินคดีอาญากับนางเกศินี จิปิภพ, นางกาญจนาภา หงษ์เหิน ,นายวันชัย หงษ์เหิน และนายพานทองแท้ ชินวัตร รวม 4 คน ในความผิดฐานสมคบกันตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ร่วมกันฟอกเงินและได้มีการกระทำความผิดฐานฟอกเงิน เพราะเหตุที่ได้สมคบกัน โดยดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษที่ 25/2560

โดยทางคดี ได้สอบสวนเสร็จสิ้นและส่งสำนวนการสอบสวนไปยังพนักงานอัยการเมื่อวันที่ 26 ก.ค.2561 ต่อมาพนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษ สำนักงานอัยการสูงสุด ได้ยื่นฟ้องต่อศาล และต่อมา เมื่อวันที่ 25 พ.ย.2562 ศาลอาญาคดีทุจริตฯ มีคำพิพากษายกฟ้อง

จากนั้นพนักงานอัยการ ในฐานะโจทก์ ได้ขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์คำพิพากษา 4 ครั้ง ประกอบด้วย ครั้งที่ 1 ศาลอนุญาตถึงวันที่ 19 ธ.ค. 2562 ครั้งที่ 2 ศาลอนุญาตถึงวันที่ 25 ก.พ.2563 ครั้งที่ 3 ศาลอนุญาตถึงวันที่ 25 มี.ค. 2563 โดยระหว่างนั้น (วันที่ 19 มี.ค. 2563) พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่อุทธรณ์ (อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีศาลสูง)

ต่อมา วันที่ 26 มี.ค. 2563 พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการคดีพิเศษ (ฝ่ายคดีพิเศษ 4) ส่งสำนวนให้ดีเอสไอ พร้อมความเห็นไม่อุทธรณ์คำพิพากษามายังอธิบดีดีเอสไอ เพื่อพิจารณาว่าจะมีความเห็นแย้งหรือไม่ และพนักงานอัยการได้ขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์คำพิพากษา เป็นครั้งที่ 4 ศาลอนุญาตถึงวันที่ 25 เม.ย. 2563

ด้านนายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ได้เดินทางไปยื่นหนังสือถึงนายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อัยการสูงสุด เมื่อวันที่ 17 เม.ย. ขอทราบเหตุผลรายละเอียดที่อัยการไม่อุทธรณ์คดีฟอกเงินธนาคารกรุงไทยให้กลุ่มกฤษดามหานคร จำนวน 10 ล้านบาท ที่นายพานทองแท้ บุตรชายของนายทักษิณ ชินวัตร เป็นจำเลย พร้อมนำบทความคอลัมน์ “กวนน้ำให้ใส” ของผู้ใช้นามปากกา “สารส้ม” จากหนังสือพิมพ์แนวหน้า เรื่อง “อย่าหักดิบคดีพานทองแท้ ระวังสึนามิวิกฤติศรัทธา” ซึ่งมีเนื้อหาสรุปความเห็นแย้งของผู้พิพากษาในคดีนี้มามอบให้อัยการ โดยมีนายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เป็นผู้แทนรับเรื่อง

นายวัชระ กล่าวว่า ตามที่อัยการสำนักคดีพิเศษและอัยการศาลสูง ได้เห็นพ้องต้องกันมีมติเป็นเอกฉันท์ไม่อุทธรณ์คดีนายพานทองแท้ฟอกเงินนั้น พี่น้องประชาชนผู้เสียภาษีมีความสงสัยในการปฏิบัติหน้าที่ของสำนักงานอัยการสูงสุดคดีนี้เป็นอย่างมาก จึงให้ตนส่งหนังสือถามในหลายประเด็น อาทิ การที่อัยการไม่อุทธรณ์คดีนายพานทองแท้โดยอ้างคำพิพากษายกฟ้องนั้น ท่านได้อ่านความเห็นแย้งของผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนที่ตัดสินลงโทษจำคุกนายพานทองแท้ 4 ปี หรือไม่ ซึ่งคดีนี้มีองค์คณะผู้พิพากษา 2 ท่านเท่านั้น และความเห็นแย้งของท่านผู้พิพากษาฉบับเต็มนั้นย่อมติดอยู่ท้ายคำพิพากษา ส่วนตัวจึงขอให้เปิดเผยเหตุผลการไม่อุทธรณ์คดีนายพานทองแท้โดยละเอียด และขออนุญาตถามตรงๆ ว่า มีใบสั่ง หรือมีการแทรกแซงทางการเมือง หรือมีการวิ่งเต้นคดีนี้หรือไม่

2.ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ในไทย เพิ่มขึ้นวันละไม่ถึง 40 ราย อัตราการตายต่ำกว่าประเทศอื่นทั่วโลก!

ประชาชนจำนวนมากไปรอรับบริจาคอาหารและเงินที่ผู้ใจบุญมาบริจาคที่วัดแถวดอนเมือง ซึ่งไม่มีการทิ้งระยะห่าง จนหลายฝ่ายเกรงว่า อาจเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดโควิด-19
สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 ในไทยตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในแต่ละวันยังอยู่ที่เลข 2 หลัก โดยเมื่อวันที่ 12 เม.ย. นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) แถลงมีผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ 33 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 3 ราย รวมยอดผู้ป่วยสะสมรวม 2,551 ราย โดยผู้เสียชีวิต 3 ราย ได้แก่ 1.ชายไทย อายุ 74 ปี เป็นโรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง มีประวัติไปสถานที่ชุมชน คือ ตลาดนัด 2.หญิงไทย อายุ 65 ปี มีโรคอ้วน ไขมันในเลือดสูง มีอาการป่วยหลังกลับจากเยี่ยมญาติที่ จ.ชุมพร 3.ชายไทย อายุ 44 ปี เป็นเคสที่รับส่งต่อจาก รพ.เอกชน และมีอาการหนักตั้งแต่แรก

วันต่อมา 13 เม.ย. นพ.ทวีศิลป์ แถลงมีผู้ป่วยโควิด-19รายใหม่ 28 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 2 ราย รวมยอดผู้ป่วยสะสมรวม 2,579 ราย โดยผู้เสียชีวิต 2 ราย ได้แก่ 1.ชายไทย อายุ 56 ปี มีประวัติสัมผัสกับผู้ยืนยันก่อนหน้า 2.ชายไทย อายุ 43 ปี อาชีพพนักงานบริษัท มีโรคประจำตัว คือ โรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง และไตวายเรื้รอัง

วันต่อมา 14 เม.ย. นพ.ทวีศิลป์ แถลงมีผู้ป่วยโควิด-19รายใหม่ 34 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย รวมยอดผู้ป่วยสะสม 2,613 ราย โดยผู้เสียชีวิตรายใหม่ คือ หญิงไทย อายุ 52 ปี อาชีพพนักงานขับรถ ขสมก.สาย 140 มีโรคประจำตัว คือ ความดันโลหิตสูง หัวใจโต มีประวัติไปสังสรรค์ดื่มสุราในวงกับเพื่อนๆ ซึ่งหนึ่งในเพื่อนที่สังสรรค์เป็นผู้ติดเชื้อโควิด-19 มาก่อน โดยวงสังสรรค์นี้มีการติดเชื้อไป 10 ราย

วันต่อมา 15 เม.ย. นพ.ทวีศิลป์ แถลงมีผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ 30 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 2 ราย รวมยอดผู้ป่วยสะสม 2,643 ราย สำหรับผู้เสียชีวิตใหม่ 2 ราย ได้แก่ 1. หญิงไทย อายุ 65 ปี อาชีพขายอาหารที่ถนนคนเดิน มีโรคประจำตัว คือ โรคเบาหวาน โรคไตเรื้อรัง ความดันโลหิตสูง 2. ชาวไทย อายุ 60 ปี มีอาการป่วยหลังเดินทางกลับจากการร่วมพิธีทางศาสนาที่อินโดนีเซีย

วันต่อมา 16 เม.ย. นพ.ทวีศิลป์ แถลงมีผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ 29 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 3 ราย รวมยอดผู้ป่วยสะสม 2,672 ราย สำหรับผู้เสียชีวิตรายใหม่ ได้แก่ 1. ชายชาวมาเลเซีย อายุ 55 ปี อาชีพไกด์ทัวร์ ไม่มีโรคประจำตัว โดยเป็นไกด์ไปประเทศจอร์เจีย วันที่ 13-19 มี.ค. ซึ่งมีลูกทัวร์ป่วยโรคโควิด-19 หลังเดินทางกลับไทยได้ 2 วันจึงมีอาการป่วย 2. หญิงไทย อายุ 45 ปี เป็นพนักงานบริษัท มีโรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง แต่รักษาไม่ต่อเนื่อง เริ่มป่วยวันที่ 20 มี.ค. 3. ชายไทย อายุ 37 ปี อาชีพรับจ้างทั่วไปขับรถแบ็กโฮ มีโรคประจำตัว ความดันโลหิตสูง อ้วน ประวัติเสี่ยง คือ ภรรยาทำงานร้านอาหารย่านสุขุมวิท หลังปิดร้านกลับมาอยู่ที่ปราจีนบุรี

วันต่อมา 17 เม.ย. นพ.ทวีศิลป์ แถลงมีผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ 28 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย รวมยอดผู้ป่วยสะสมรวม 2,700 ราย สำหรับผู้เสียชีวิตรายใหม่ คือ หญิงไทย อายุ 85 ปี อาชีพแม่บ้าน มีโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง มีประวัติสัมผัสผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้า

ล่าสุด 18 เม.ย. นพ.ทวีศิลป์ แถลงมีผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ 33 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต ยอดรวมผู้ป่วยสะสม 2,733 ราย รักษาหายกลับบ้าน 1,787 ราย ยังรักษาใน รพ. 899 ราย เสียชีวิตรวม 47 ราย กลุ่มอายุ 20-29 ปีป่วยสูงที่สุด ซึ่งพบว่ามีการสลับกันกับกลุ่มอายุ 30-39 ปีที่ผลัดกันขึ้นมาเป็นกลุ่มที่ป่วยสูงที่สุด สำหรับผู้ป่วยที่รักษาใน รพ.ถือว่าต่ำกว่า 900 รายแล้ว ทำให้มีเตียงเพิ่มขึ้นในการดูแลรักษาผู้ป่วยอย่างเต็มที่

สำหรับผู้ป่วย 33 รายใหม่ ได้แก่ 1.กลุ่มสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยก่อนหน้า 11 ราย ซึ่งเป็นผู้ป่วยจาก กทม.ทั้งหมด 2.กลับมาจากต่างประเทศ 2 ราย 3.สัมผัสผู้เดินทางจากต่างประเทศ 1 ราย 4.ไปสถานที่ชุมนุมชน 2 ราย 5.อาชีพเสี่ยง 4 ราย 6.บุคลากรการแพทย์ 1 ราย 7.อยู่ระหว่างสอบสวนโรค 10 ราย และ 8.กักตัวอยู่ในสถานที่ที่รัฐกำหนด 2 ราย

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ผู้เสียชีวิตทั้ง 47 ราย พบว่า อัตราป่วยตายอยู่ที่ 1.7% ถือว่าต่ำกว่าประเทศอื่นทั่วโลก แสดงถึงศักยภาพด้านสาธารณสุขประเทศ สำหรับผู้ป่วยมีสัญชาติไทย 87% อายุเฉลี่ย 57 ปี ต่ำสุด 28 ปี สูงสุด 85 ปี ในคนอายุน้อยไม่มีเสียชีวิตเลย ตั้งแต่อายุ 0-19 ปี ส่วนกลุ่มอายุ 50-59 ปีเสียชีวิตสูงสุด 14 ราย ผู้ชายเสียชีวิตมากกว่าผู้หญิง มีโรคประจำตัวร่วม คือเบาหวานมากที่สุด 43% ความดันโลหิตสูง 38% ปัจจัยเสี่ยง คือ สัมผัสผู้ป่วยยืนยันมากที่สุด 9 ราย สถานที่แออัด เช่น สถานบันเทิง ร้านอาหาร ปาร์ตี้ บ่อน 9 ราย ดังนั้น ที่มีข่าวการไปรอรับบริจาคยืนแออัดกันจำนวนมาก จึงเป็นความเสี่ยงทั้งสิ้น ส่วนอาชีพเสี่ยง เช่น ขับรถสาธารณะ มี 7 ราย

3."บิ๊กตู่" เตรียมส่ง จม. ถึงมหาเศรษฐี 20 อันดับแรกของไทย ขอแรงช่วยปท.สู้โควิด-19 ก่อนเดินสายคุยตรงภาคธุรกิจ!

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
เมื่อวันที่ 17 เม.ย. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้แถลงผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย (ทรท.) โดยนอกจากสวัสดีวันปีใหม่ไทยกับคนไทยทั้งประเทศ และอวยพรให้ทุกคนมีสุขภาพกาย-ใจสมบูรณ์แข็งแรงแล้ว ยังกล่าวถึงความพยายามแก้ปัญหาและเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 ด้วยว่า "...หน้าที่ของผม คือ การบัญชาการและควบคุมการทำงานทั้งหมดของรัฐบาล แทนพี่น้องประชาชน ผมต้องเป็นผู้นำให้ทุกกระทรวง ทุกหน่วยงาน ทำหน้าที่อย่างถูกต้อง เหมาะสม และมีประสิทธิภาพ"

"...เราต้องยอมรับว่า ปัญหาความเสียหายที่เกิดจากไวรัสโควิด-19 จะแก้ไขได้ด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลกับภาคส่วนต่างๆ และเราต้องยอมรับว่า รัฐบาลเพียงฝ่ายเดียวคงไม่สามารถหาคำตอบให้กับทุกปัญหาได้ คนกลุ่มอื่น และภาคส่วนอื่นๆ ก็อาจจะมีคำตอบที่ดีและมีความคิดที่ดีได้ด้วยเช่นเดียวกัน"

"วิกฤตโควิดครั้งนี้ ใหญ่และซับซ้อนมาก หน้าที่ของเราจึงต้องต่อสู้ไปด้วยกัน แบบเป็นหนึ่งเดียวทั้งประเทศ เราทุกคน จะต้องเป็นทีมประเทศไทยด้วยกัน เราจะต้องหาความร่วมมือ ดึงทุกภาคส่วนของสังคม รวมถึงกลุ่มธุรกิจ ทุกกลุ่ม ทุกคน ที่มีความรู้ความสามารถ และพร้อมที่จะช่วยเหลือประเทศ เราต้องการคนเก่งที่มีอยู่มากมายในประเทศของเราให้มาร่วมมือกันนี่คือ ทีมประเทศไทย”

"...สิ่งที่ผมจะทำในช่วงสัปดาห์ข้างหน้า ประการแรก คือ ผมจะออกจดหมายเปิดผนึกถึงมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดในประเทศไทย 20 ท่าน ขอให้ท่านเหล่านั้นได้บอกผมว่า ในฐานะที่ท่านเป็นผู้อาวุโสของสังคม ท่านจะร่วมมือกันกับเราอย่างไร และท่านจะลงมือช่วยเหลือประเทศไทยของเราให้มากขึ้น ได้อย่างไรบ้าง ...ผมขอให้ท่านได้มีบทบาทสำคัญ ในการร่วมกันช่วยเหลือประเทศ และร่วมเป็นทีมประเทศไทยด้วยกันกับเรา"

"ผมเข้าใจและซาบซึ้งที่หลายท่านได้ลงมือทำไปแล้วหลายเรื่อง แต่ผมต้องการให้ทุกท่านทำเพิ่มเติม มากกว่าที่ท่านได้ทำไป ผมรู้ว่าทุกท่านต่างก็เต็มใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่ประเทศต้องการความช่วยเหลืออย่างมากที่สุด เพราะผมรู้ว่า ความเดือดร้อนของคนไทยก็คือความเจ็บปวดของท่านด้วย"

"ผมขอให้ทุกท่านได้แบ่งปันความสามารถ และความฉลาดหลักแหลม รวมทั้งมุมมองอันมีวิสัยทัศน์ของพวกท่าน พร้อมกับใช้องค์กรที่มีศักยภาพสูงของท่าน มาช่วยกันจัดการกับวิกฤตที่เรากำลังเผชิญอยู่ในวันนี้ นอกเหนือจากกลุ่มมหาเศรษฐีของประเทศไทย ผมยังอยากจะรับฟังและใช้ความรู้ความสามารถของภาคเอกชนทั้งหมดอีกด้วย"

"ดังนั้น สิ่งที่ผมจะทำในช่วงสัปดาห์ข้างหน้า ประการที่สอง คือ ผมจะไปพบกับสมาคมภาคธุรกิจไม่ว่าจะขนาดกลางหรือขนาดเล็ก เพื่อรับฟังพวกท่านด้วยตัวของผมเองโดยตรง ...ผมต้องการรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะความต้องการ และความท้าทายที่ทุกคนกำลังเผชิญอยู่ ผมต้องการรับฟังว่า พวกท่านต้องการที่จะร่วมมีบทบาทในการแก้ปัญหาครั้งนี้อย่างไร รวมทั้งสิ่งที่ท่านได้ทำไปแล้ว และสิ่งที่ท่านจะช่วยกันทำต่อไป"

"และที่สำคัญ ผมต้องการได้ยินความคิดเห็นของพวกท่านว่า มีจุดไหนบ้าง ที่รัฐบาลควรจะทำงานให้มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม แน่นอนว่า เป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของรัฐบาล ที่ต้องช่วยเหลือคนไทยทั้งประเทศ แต่เราสามารถขยายแรงกำลังในการช่วยเหลือให้ใหญ่ขึ้นได้ ด้วยการร่วมมือกับภาคเอกชน ที่มีทรัพยากรมาก มีวิธีการทำงาน และวิธีการเข้าถึงผู้เดือดร้อนได้อย่างรวดเร็ว และคล่องตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากรัฐบาลจะเข้าไปช่วยอำนวยความสะดวก ให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

"...ผมเชื่อว่า ความคิดเห็นของท่านทั้งหลาย แม้จะมีความแตกต่างกัน แต่ล้วนเกิดจากความรักชาติและความปรารถนาดีต่อประเทศทั้งสิ้น และเมื่อเราเลือกที่จะปฏิบัตทางใดทางหนึ่งแล้ว ขอให้ทุกคนร่วมมือกัน สนับสนุน เพื่อช่วยกันผลักดันให้เกิดความสำเร็จตามที่เราต้องการ"

"...ขอให้พวกเราทุกคนได้ร่วมกันแสดงพลังของความเป็นไทยออกมาอีกครั้ง ให้โลกได้เห็นว่า พวกเราคนไทยได้ร่วมมือช่วยเหลือกัน และต่อสู้ไปด้วยกัน โดยไม่มีสีเสื้อ และไม่มีฝักมีฝ่ายทางการเมือง ในอนาคตเมื่อมองย้อนกลับมาดูเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แม้จะเห็นว่า เป็นช่วงเวลาแห่งความทุกข์ยาก และความเสียหายมากมาย แต่ในอีกด้านหนึ่ง เราจะเห็นว่า นี่คือช่วงเวลา ที่เราได้อะไรที่ยิ่งใหญ่กลับคืนมาด้วย นั่นคือ เราได้ค้นพบตัวตนที่แท้จริงของคนไทยอีกครั้ง และเราได้ค้นพบความกลมเกลียว เป็นครอบครัวเดียวกันของพวกเราคนไทยทั้งประเทศ"

"ผมมีความหวังแบบนั้นครับ และผมเชื่อว่า คนไทยทุกคนก็มีความหวังแบบนั้นเช่นกัน ผมขอให้ทุกคนมาร่วมมือกัน ทำให้ความหวังของพวกเราเป็นความจริง เราจะต้องชนะไปด้วยกัน"

4.“คลัง” เตรียมเปิดให้ผู้ไม่ผ่านเกณฑ์รับเงินเยียวยา 5 พัน อุทธรณ์ได้ตั้งแต่ 20 เม.ย.นี้!


เมื่อวันที่ 13 เม.ย. นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวถึงการแจกเงินเยียวยา 5,000 บาท ที่มีหลายคนที่ลงทะเบียนและโดนตัดสิทธิ เนื่องจากคุณสมบัติไม่ผ่าน ทั้งเป็นเกษตรกร นักศึกษา เจ้าของกิจการ แต่ผู้ลงทะเบียนยืนยันว่า ข้อมูลดังกล่าวไม่เป็นความจริงว่า กระทรวงการคลังกำลังเร่งตรวจสอบผู้ลงทะเบียนรับเงินเยียวยา 5,000 บาทให้เสร็จภายในสัปดาห์นี้ หลังจากนั้นจะเปิดให้กลุ่มที่ไม่ผ่านเกณฑ์ ซึ่งล่าสุดมีตัวเลขกว่า 5 ล้านคน ยื่นอุทธรณ์ผ่าน www.เราไม่ทิ้งกัน.com โดยมีการเพิ่มปุ่มให้อุทธรณ์ได้

นายลวรณ กล่าวอีกว่า สำหรับมัคคุเทศก์ เรียนหนังสือแล้วไม่ได้รับเงินเยียวยานั้น กระทรวงการคลังอิงฐานข้อมูลกับกระทรวงศึกษาธิการ ขณะนี้กำลังพิจารณาว่า กรณีนักศึกษาเรียนภาคค่ำ หรือเสาร์-อาทิตย์ ทำงานเป็นหลัก และแบ่งเวลามาเรียนนั้น จะช่วยเหลืออย่างไร ส่วนที่ระบุว่าเป็นเจ้าของกิจการ เช่น ร้านเสริมสวย ร้านขายสินค้าในตลาด แต่ไม่ได้รับการช่วยเหลือ เพราะถูกระบุว่าเป็นเจ้าของกิจการนั้น พบว่ากลุ่มนี้มีรายได้สูงมากเกินร้านค้ารายย่อยทั่วไป และมีรายได้สูงกว่าแรงงานปกติ ระบบจึงประเมินว่า เป็นเจ้าของกิจการ สามารถไปขอความช่วยเหลือด้านอื่น เช่น ด้านภาษีกับกรมสรรพากร สินเชื่อดอกเบี้ยค่ำ (ซอฟต์โลน) จากธนาคารทั่วไป อย่างไรก็ตาม หากมั่นใจว่าเป็นลูกจ้าง และร้านค้ารายย่อย ให้ยื่นอุทธรณ์ต่อกระทรวงการคลังได้ “ยืนยันว่า ระบบการตรวจสอบของกระทรวงการคลัง ผ่านระบบเอไอนั้น ไม่ได้มั่วอย่างแน่นอน กระทรวงการคลังไม่ได้ไปกำหนดว่าใครจะเป็นเกษตรกร เป็นเจ้าของกิจการ หรือเป็นนักศึกษา เพื่อไม่ให้เงินเยียวยา แต่เป็นเพราะระบบตรวจสอบเจอในฐานข้อมูลของหน่วยงานต่างๆ ดังนั้นยืนยันว่า ระบบที่วางไว้นั้นมีมาตรฐาน และพร้อมเปิดให้กลุ่มคนที่ไม่ผ่านเกณฑ์อุทธรณืผลการพิจารณา”

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 16 เม.ย. นาลวรณ เผยความคืบหน้าการลงทะเบียนรับเงินเยียวยา 5,000 บาทว่า คาดว่าภายในวันที่ 19 เม.ย. จะคัดกรองคนที่ลงทะเบียนได้ครบทั้งหมด และเปิดให้ทบทวนสิทธิในกลุ่มที่ไม่ได้รับเงินในวันที่ 20 เม.ย. คาดว่าจะมีผู้ขอทบทวนสิทธิกว่า 1 ล้านคน

นายลวรณ เผยด้วยว่า ได้หารือกับกระทรวงมหาดไทย ทั้งปลัดกระทรวงฯ และอธิบดีกรมการปกครอง เพื่อให้มาช่วยคัดกรองกลุ่มที่ขอทบทวนสิทธิ เช่น เมื่อมีการขอทบทวนในวันที่ 20 เม.ย. คัดรายชื่อแยกเป็นรายจังหวัด ส่งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในวันที่ 21 เม.ย. ไปช่วยคัดกรองผู้ขอทบทวนสิทธิ ซึ่งผู้ว่าฯ จะหารือกับคลังจังหวัด ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน ให้ช่วยกันลงพื้นที่ไปตรวจสอบข้อมูลของผู้ทบทวนสิทธิ

โดยในการเข้าไปตรวจสอบสิทธิ ผู้ที่ลงไปตรวจสอบใช้ภาพถ่าย 3 ภาพ คือ รูปถ่ายของผู้ทบทวนสิทธิ รูปถ่ายกับบัตรประชาชน และรูปถ่ายแสดงเป็นหลักฐานการทำงานของคนที่ขอทบทวนสิทธิ โดยหลักฐานการทำงาน เช่น รูปถ่ายกับร้านค้า หรือรูปถ่ายเป็นเอกสารว่า เป็นการทำงานในร้านค้านั้นจริง เช่น ค่าเช่าแผง หรือหลักฐานการรับเงินเดือนในส่วนของลูกจ้าง

ล่าสุด 18 เม.ย. นายลวรณ เผยความคืบหน้าการลงทะเบียนรับเงินเยียวยา 5,000 บาทว่า ตั้งแต่วันที่ 8-17 เม.ย. ได้จ่ายเงินให้ผู้ลงทะเบียนที่ผ่านเกณฑ์แล้วรวม 3.2 ล้านคน และมีกำหนดจะจ่ายเงินในวันจันทร์และอังคารสัปดาห์หน้าอีก 900,000 คน รวมเป็น 4.1 ล้านคน คิดเป็นเงินกว่า 20,000 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างคัดกรองผู้ลงทะเบียนเพื่อให้เงินถึงมือโดยเร็ว และยังมีผู้ไม่ได้รับเงินเยียวยาตกค้างประมาณ 24.4 ล้านราย ทั้งนี้ กระทรวงการคลังเตรียมปิดรับลงทะเบียนในวันที่ 22 เม.ย. เวลา 24.00 น.

สำหรับผู้ที่ถูกตัดสิทธิ์ไม่ได้รับเงินเยียวยาหลังจากลงทะเบียนไปแล้ว จะเปิดให้มีการยื่นอุทธรณ์หรือร้องเรียนเพื่อเข้าสู่กระบวนการพิจารณารับเงินเยียวยา 5,000 บาท ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 20 เม.ย. เวลา 06.00 น.เป็นต้นไป ผ่านช่องทางเดิมคือ www.เราไม่ทิ้งกัน.com เพียงช่องทางเดียว เพื่อลดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดโควิด-19

5.ครม.ไฟเขียวโยกสลับผู้ว่าฯ 3 จังหวัด สะพัดเซ่นแก้ปัญหาโควิด-19 ล่าช้า ด้าน ผบช.ภ.1 เด้งผู้การเมืองนนท์เข้ากรุ!

(ซ้าย) นายภัคพงศ์ ทวิพัฒน์ ผู้ว่าฯ ผู้เก็ต (กลาง) นายกอบชัย บุญอรณะ ผู้ว่าฯ เพชรบุรี (ขวา) นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าฯ ชัยภูมิ
เมื่อวันที่ 15 เม.ย. น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.ได้อนุมัติตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ ให้โยกย้ายผู้ว่าราชการจังหวัด ประกอบด้วย 1.นายกอบชัย บุญอรณะ จากผู้ว่าฯ เพชรบุรี ไปเป็นผู้ว่าฯ ชัยภูมิ 2.นายภัคพงศ์ ทวิพัฒน์ ผู้ว่าฯ ภูเก็ต ไปเป็นผู้ว่าฯ เพชรบุรี 3.นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าฯ ชัยภูมิ ไปเป็นผู้ว่าฯ ภูเก็ต ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง

มีรายงานว่า การโยกย้ายครั้งนี้ เป็นการย้ายกลางปี ซึ่งปกติจะมีการย้ายผู้ว่าฯ สลับตำแหน่งประมาณ 10 กว่าคน แต่ครั้งนี้มีการย้ายน้อยมาก เพื่อให้ผู้ว่าฯ แต่ละจังหวัดได้แก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยกเว้นจังหวัดที่มีปัญหาเท่านั้น โดยจะมีการปรับใหญ่อีกครั้งจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น หรือจะมีการโยกย้ายใหญ่ในช่วงเดือน ก.ย.

รายงานแจ้งด้วยว่า การโยกย้ายครั้งนี้ เพื่อแก้ปัญหาการจัดการโควิด-19 โดยเฉพาะ จ.ภูเก็ต ที่มีการแพร่ระบาดเป็นอันดับ 2 รองจากกรุงเทพฯ เพราะเกิดความล่าช้าในการดำเนินการ เนื่องจากหลังมีการระบาดของโควิด-19 ยังปล่อยปละละเลยให้สถานที่ท่องเที่ยว ผับ บาร์ ชายหาดเปิดตามปกติ จนมีการแพร่ระบาดเป็นวงกว้าง ก่อนจะมีคำสั่งปิดเมืองภูเก็ต ทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก

ทางด้านตำรวจ ก็มีการโยกย้ายเกิดขึ้นเช่นกัน โดย พล.ต.ท.อำพล บัวรับพร ผบช.ภ.1 ได้เซ็นคำสั่งให้ พล.ต.ต.ไพศาล วงศ์วัชรมงคล ผบก.ภ.จว.นนทบุรี ไปปฏิบัติราชการที่ ศปก.ภ.1 โดยให้ขาดจากตำแหน่งเดิม มีกำหนด 30 วัน ทั้งนี้ พล.ต.ท.อำพล เผยถึงเหตุที่สั่งย้าย พล.ต.ต.ไพศาล ว่า มาจากหลายเรื่องที่อาจจะยังทำงานไม่เข้มแข็ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเตรียมงานป้องกันต่างๆ ด่านป้องกันโควิด-19 ซึ่งมีเรื่องที่เจ้าหน้าที่กรมการปกครองไปบุกจับบ่อนพนันไฮไลในพื้นที่รวมอยู่ด้วย จึงต้องเอามาอบรมกันใหม่ แล้วให้คนที่เชี่ยวชาญลงไปขับเคลื่อนงานก่อน

พล.ต.ท.อำพล กล่าวด้วยว่า การทำงานต้องทำตามนโยบายที่ตนเองสั่ง แต่ก็ยังปล่อยปละละเลยให้ลูกน้องไปทำสิ่งนอกเหนือนโยบาย ซึ่ง พล.ต.ต.ไพศาลอาจจะใจดีเกินไป จึงต้องมาขันนอตกันใหม่ แล้วค่อยให้กลับไปปฏิบัติหน้าที่ตามเดิม
กำลังโหลดความคิดเห็น