xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ทบ.ฝ่าดรามาสไตรเกอร์ ร่าง พ.ร.บ. โอนงบฯ สู้โควิด เฉือนสุดฤทธิ์ได้มา“แสนล้าน” “กห.-มท.-ศธ.”ท๊อปทรีหั่นงบ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


(ภาพบน) พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก ทำพิธีรับมอบยานเกราะล้อยาง STRYKER จาก พล.อ.โรเบิร์ด บี บราวน์ ผบ.กองกำลังทางบกสหรัฐอเมริกาประจำภาคพืนแปซิฟิก, (ภาพล่าง) รถเกราะล้อยาง สไตรเกอร์ M1126 STRYKER ล็อตแรกเดินทางจากสหรัฐฯ มาถึงประเทศไทยเมื่อปี 2562
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ – ไม่วายดรามากันอีกแล้ว

“เอกสารหลุด” โดยกรมสรรพาวุธทหารบก เรื่อง เผยแพร่แผนการจัดซื้อจัดจ้าง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ที่มีรายละเอียดเอกสารแนบท้ายเป็น โครงการจัดซื้อจัดจ้าง ยานเกราะล้อยาง พร้อมระบบอาวุธ และการบริการเทคนิค จำนวน 50 คัน โดยวิธี FMS (Foreign Military Sales) งบประมาณโครงการ 4,515 พันล้านบาท

เป็นเจ้า “ยานเกราะล้อยาง” ที่มีนิคเนมภาษาฝรั่งว่า “สไตรเกอร์” นั่นเอง


น่าสนใจที่ เอกสารฉบับที่ว่าระบุชัด ประกาศ ณ วันที่ 20 เม.ย.63 หรือเรียกว่า เซ็นกันหมาดๆ เลยทีเดียว

ก็เลยมีคำถามว่า “ไทม์มิ่ง” ในการจัดซื้อฝูงสไตรเกอร์ หรือยุทโธปกรณ์อะไรก็ตามแต่ในยามนี้ มีความเหมาะสมหรือไม่ เพราะอยู่ในห้วงที่ประเทศกำลังเผชิญวิกฤตการณ์แพร่ระบาดโรคติดเชื้อโคโรนา 2019 (โควิด-19) ซึ่งรัฐบาลเองก็ยอมรับว่า มีข้อขัดข้องเรื่องงบประมาณในการนำมาแก้ปัญหา และบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนพอสมควร

โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรการ “เราไม่ทิ้งกัน” ที่รัฐจะจ่ายเงินเยียวยา 5 พันบาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน กำลังถูกโจมตีอย่างหนักว่า “ฝนตกไม่ทั่วฟ้า” ไม่ครอบคลุมผู้ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ทั้งหมด แต่กลับกลายเป็นว่า กองทัพบกจะทุ่มเงินถึง 4,515 พันล้านบาทไปซื้อยานเกราะสไตรเกอร์ดังกล่าว

ทั้งนี้ประกาศดังกล่าวออกไปเป็นไปขั้นตอนตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ที่กำหนดให้หน่วยงานของรัฐทำแผนการจัดซื้อจัดจ้างประจำปี และประกาศเผยแพร่ในระบบเครือข่ายสารสนเทศของกรมบัญชีกลาง และของหน่วยงานของรัฐตามที่กรมบัญชีกลางกำหนด และให้ปิดประกาศโดยเปิดเผย ณ สถานที่ปิดประกาศของหน่วยงานของรัฐ เท่านั้น

ทราบกันดีว่า เดิมการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ของกองทัพก็เป็น “ผู้ร้าย” ในสายตาประชาชนอยู่แล้ว ยิ่งเกิดวิกฤต ก็ไม่พ้นยิ่งถูกเพ่งเล็งหนักไปเป็นเท่าทวีคูณ

ส่งให้แฮชแท็ค “#ยานเกราะพ่องง” ขึ้นอันดับ 1 ทวิตเตอร์ประเทศไทยในเวลาอันรวดเร็ว

ร้อนถึง “กองทัพบก” ในฐานะเจ้าของโปรเจ็กต์ ต้องออกมาชี้แจงแถลงไข โดย ผู้พันต๊อด” พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก ประกาศชัดว่าข่าวการจัดซื้อยานเกราะสไตรเกอร์ จำนวน 50 คัน ภายใต้งบประมาณ 4,515 พันล้านบาท “คลาดเคลื่อนไปจากข้อเท็จจริง”

อีกทั้งกระทรวงกลาโหมก็ได้ให้ความร่วมมือกับรัฐบาลในการดำเนินนโยบายตามร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณของรัฐบาลเพื่อนำไปช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนจากโควิด-19 เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้นกว่า 1.8 หมื่นล้านบาทของกระทรวง ที่ถูกโอนเข้าสู่งบกลาง

จำนวนนี้เกือบ 1 หมื่นล้านบาท หรือ 50% ก็มาจาก “กองทัพบก” ที่ได้ตัดลดการจัดซื้อและการใช้งบประมาณต่างๆ ลงตามแนวนโยบายของรัฐบาล

ย้ำด้วยว่าโครงการใหญ่ 4 โครงการถูกตัดหมด ไม่ว่าจะเป็นรถถัง เรดาร์ ปืนใหญ่ เป็นต้น ขณะที่โครงการขนาดกลางและขนาดย่อยราว 26 โครงการ จะถูกปรับลดงบประมาณลงอย่างน้อย “ครึ่งหนึ่ง”

ส่วน “สไตรเกอร์” เจ้าปัญหานั้น เป็นการจัดซื้อแบบ “ผูกพันข้ามปี” ระหว่าง 2563-2565 เดิมมีแผนที่จะใช้งบประมาณปี 2563 จำนวน 900 ล้านบาท เมื่อให้มีการปรับลดประมาณเกิดขึ้นก็จะเหลือให้ใช้เพียง 450 ล้านบาท

สรุปแล้วโครงการจัดซื้อจัดจ้างยานเกราะล้อยางยังคงมีอยู่ แต่จะใช้จ่ายงบประมาณปี 2563 ได้ 450 ล้านบาทเท่านั้น ในลักษณะวาง “มัดจำ” ไว้ก่อน เพื่อคง “ราคา” และ “ของแถม” ไว้ตามข้อเสนอโครงการช่วยเหลือของ “ผู้ขาย”


ฟังแล้วใครก็ว่าเป็นคำชี้แจงที่พอให้ “ฟังขึ้น” ปล่อยผ่านไปได้ ด้วยมีการยก “ความดีความชอบ” ของกองทัพบกภายใต้การนำของ “บิ๊กแดง-พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์” ที่หั่นงบประมาณปี 2563 เกือบ 1 หมื่นล้านบาท เติมเข้างบกลางเพื่อสู้กับวิกฤตโควิด-19 ซึ่งเมื่อรวมทั้งกระทรวงกลาโหมคือกองทัพบก กองทัพเรือและกองทัพอากาศก็พุ่งไปถึง 1.8 ล้านบาทเลยทีเดียว

แน่นอนว่า 1.8 หมื่นล้านบาท ในมุมมองของคนนอกที่มี “อคติ” เรื่องการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ดูเหมือน “ไม่มากเท่าที่ควร” โดยเฉพาะในมุมมองของ “พรรคก้าวไกล” ที่เคยเสนอให้ตัดงบประมาณจัดซื้อยุทโธปกรณ์ของกระทรวงกลาโหม “ทั้งหมด”

แต่เมื่อดูจากจำนวนเต็ม 100,395 ล้านบาท ของร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ.2563 ที่เพิ่งผ่านความเห็นชอบจากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปเมื่อวันที่ 21 เม.ย.ที่ผ่านมา ก็ต้องถือว่า “มากพอสมควร” คิดเป็นเกือบ 20% ของงบประมาณที่เฉือนจากหน่วยงานภาครัฐ และเมื่อลงรายละเอียดก็พบว่ากระทรวงกลาโหม เป็นอันดับ 1 ของหน่วยงานทั้งหมดที่คืนงบประมาณเข้างบกลางในครั้งนี้ด้วย


แต่ที่ต้อง “ทำใจ” กันไว้บ้าง ก็ด้วยแนวทางของ กระทรวงกลาโหม คือ “ปรับลด” งบประมาณของปีนี้ แต่ไม่ได้ “ยกเลิก” โครงการ เพราะทุกโครงการที่อยู่ในแผนงบประมาณนั้น มี “ความจำเป็น” และผ่านความเห็นของ ครม.และกระทรวงกลาโหมไปทั้งหมดแล้ว

หรือเรียกได้ว่า ยอม “ถอดเขี้ยวเล็บ” แต่ก็แค่ “ชั่วคราว” เท่านั้น

หันมาดูความคืบหน้า ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ.2563 วงเงิน 100,395 ล้านบาท ที่ผ่านมติ ครม.ไปแล้วกันบ้าง

ต้องยอมรับว่าจำนวนเงิน 1 แสนล้านบาทเศษ ที่แต่ละกระทรวงร่วมใจกันเฉือนออกนั้น ดูจะ “น้อยไปนิด” เมื่อเทียบกับ พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 วงเงิน 1 ล้านล้านบาท ที่มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปแล้ว

อย่างไรก็ตามข้อดีของร่าง พ.ร.บ.โอนงบฯ นั้น คือการที่ไม่ใช่ “เงินอนาคต” เหมือนกับ พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ที่รัฐบาลมี “ภาระหนี้สิน” พร้อมดอกเบี้ย ต้องชำระในภายหลัง

อีกทั้งจำนวนเงิน 1 แสนล้านบาทเศษที่ได้มานั้น ก็สามารถทำประโยชน์ได้มากมายมหาศาล คิดง่ายๆ หากใช้ในการจ่ายเงินเยียวมาตรการเราไม่ทิ้งกัน 5 พันบาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน หรือ 1.5 หมื่นล้านบาทต่อราย ก็จะจ่ายให้ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนได้กว่า 6.7 ล้านรายเลยทีเดียว

ที่สำคัญยังเป็นการแบ่งเบาภาระความจำเป็น เพื่อที่รัฐบาลจะไม่ต้องกู้เงินเต็มจำนวน 1 ล้านล้านบาทด้วย

ไปดูกันต่อถึงรายละเอียดว่า หลังจากที่ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้แต่ละหน่วยไปปรับลดงบประมาณ เพื่อนำมาเติมงบกลางในการแก้ไขปัญหาโรคโควิด-19 รวมเพื่อการฉุกเฉินเรื่องอื่น อาทิ แก้ปัญหาภัยแล้ง หรืออุทกภัย เป็นต้น

โดยให้โจทย์ไปในเบื้องต้นว่าให้แต่ละหน่วยงานตัดงบประมาณที่ไม่ใช่รายจ่ายประจำ หน่วยงานละอย่างน้อย 10% แต่ก็ปรากฏว่า ได้ยอดมาเพียงแค่ราว 2 หมื่นล้านบาทเท่านั้น จึงต้องสั่งการย้ำอีกว่าให้ตัดงบประมาณเพิ่มเป็นอย่างน้อย 20% กว่าจะได้ 1 แสนล้านบาทเศษก้อนนี้ออกมา

ที่จำเป็นต้องเค้นกันขนาดนั้นก็ต้องเห็นใจหน่วยงานรัฐเช่นกัน ด้วยงบประมาณปี 2563 เป็นงบประมาณที่ตั้งไว้ใช้ใน “ยามปกติ” ไม่ใช่ “ยามวิกฤต” ที่งบประมาณส่วนใหญ่เป็น “รายจ่ายประจำ” ที่แทบจะแตะต้องไม่ได้ รายจ่ายที่พอจะปรับลดได้ก็จะเป็นงบประมาณที่ไม่ตรงกับ “บริบท” และ “มาตรการ” ในขณะนี้ อาทิ การจัดฝึกอบรมและสัมมนา, การเดินทางไปต่างประเทศ, การจัดกิจกรรม และการรณรงค์ต่างๆ เป็นต้น

ทีนี้มาดูกันว่าหน่วยงานไหนบาดเจ็บมากน้อยเพียงใด เข้าวินมาเป็น “อันดับ 1” สำหรับ “กระทรวงการคลัง” ที่มี “อุตตม สาวนายน” เป็นรัฐมนตรีว่าการ ที่เป็นเจ้าภาพมาตรการเราไม่ทิ้งกัน ตัดงบประมาณไปราว 3.6 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ดีส่วนใหญ่เป็นงบประมาณรายจ่ายเพื่อการชำระหนี้ ที่ขอเลื่อนกำหนดชำระกับสถาบันการเงินออกมา

ส่วน “อันดับ 2” เป็น “กระทรวงกลาโหม” ที่มี “ลุงตู่” เป็นรัฐมนตรีว่าการ ตัดได้ 1.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งหากว่ากันโดยละเอียด ก็ต้องยกให้กระทรวงกลาโหม เป็นอันดับ 1 ในการปรับลดงบประมาณรอบนี้ เพราะงบประมาณที่ถูกปรับลดนั้นมาจาก รายจ่ายประจำ 2.7 พันล้านบาท และรายจ่ายลงทุน 1.5 หมื่นล้านบาท

ตามมาด้วย กระทรวงมหาดไทยปรับลดราว 5 พันล้านบาท, กระทรวงศึกษาธิการ ปรับลดราว 4.8 พันล้านบาท, กระทรวงคมนาคม ปรับลดราว 3.5 พันล้านบาท, จังหวัดและกลุ่มจังหวัด ปรับลดราว 2.6 พันล้านบาท, องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ปรับลดราว 2 พันล้านบาท, กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ปรับลดราว 1.8 พันล้านบาท และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปรับลดราว 1.2 พันล้านบาท เป็นต้น


นอกจากนี้ยังมีในส่วนของงบประมาณแผนบูรณาการ ที่เป็นงบประมาณรวมก่อนแยกไปยังกระทรวงต่างๆ ที่ปรับลดได้ราว 1.4 หมื่นล้านบาทเศษ

โดยขั้นตอนต่อไปของร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ.2563 ยังไม่สามารถนำเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ได้ทันที ด้วยหนึ่งอยู่ในช่วงปิดสมัยประชุมรัฐสภา อีกทั้งตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดไว้ว่าร่างกฎหมายทุกฉบับไม่ว่าเสนอโดยใครต้องผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องหรือทำประชาพิจารณ์เสียก่อน

ระหว่างนี้ผู้รับผิดชอบก็จะนำร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ.2563 ไปผ่านกระบวนการประพิจารณ์ตามขั้นตอน และวางไทม์ไลน์นำกลับมานำเสนอให้ที่ประชุม ครม.รับทราบอีกครั้ง ในวันที่ 12 พ.ค.63 ก่อนส่งไปยังสภาฯ ที่คาดว่าจะนำเข้าสู่วาระการพิจารณาในช่วงปลายเดือน พ.ค.63

ตามกำหนดการที่วางไว้หลังจากเปิดประชุมรัฐสภาสมัยสามัญในวันที่ 22 พ.ค.63 แล้ว ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร จะเรียก ส.ส.ประชุมสภาฯนัดแรกในวันที่ 27 พ.ค.63 ซึ่งคาดว่าจะมีวาระการพิจารณาอื่นก่อนร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ.2563 โดยเฉพาะในส่วนของ พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ที่อาจมีความจำเป็นเร่งด่วนมากกว่า หากไม่มีการเปิดประชุมสมัยวิสามัญก่อน

เป็นประเด็นที่ “พ่อมดดำ” สุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาฯ คนที่ 1 ทักขึ้นมาว่า ในมาตรา 172 วรรค 3 ของรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดถึง “พระราชกำหนด” หลังได้รับโปรดเกล้าฯไว้ว่า ในการประชุมรัฐสภาคราวต่อไปให้ ครม.เสนอ พ.ร.ก.นั้นต่อรัฐสภาเพื่อพิจารณา “โดยไม่ชักช้า” ถ้าอยู่นอกสมัยประชุมและการรอการเปิดสมัยประชุมสามัญจะเป็นการชักช้า ครม.ต้องดำเนินการให้มีการเรียกประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญเพื่อพิจารณาอนุมัติหรือไม่อนุมัติ พ.ร.ก.โดยเร็ว

“สภาฯมีความพร้อม ในการเปิดประชุมสมัยวิสามัญ และได้วางมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ไว้แล้ว โดยขณะนี้มีทั้ง พ.ร.ก.และร่าง พ.ร.บ.ที่ต้องรีบทำโดยไม่ชักช้า ตามรัฐธรรมนูญ เพื่อนำเงินจากส่วนต่างๆ มาช่วยเหลือเยียวยาประชาชน แต่การจะเปิดประชุมสมัยวิสามัญได้หรือไม่นั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับประธานหรือรองประธานสภาฯ แต่ขึ้นอยู่กับรัฐบาลจะเป็นผู้เสนอ หรือสมาชิกทั้ง 2 สภาเข้าชื่อร่วมกันไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ถ้าทำตามขั้นตอนอย่างถูกต้อง ก็เปิดประชุมสมัยวิสามัญได้” คือท่าทีของรองประธานสภาฯ คนที่ 1

แต่เรื่องนี้ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ดูจะ “แทงกั๊ก” พอสมควรเกี่ยวกับการเปิดประชุมสมัยวิสามัญของรัฐสภา เมื่อระบุว่า สามารถยืดหยุ่นเวลาได้ และให้คณะกรรมการประสานงาน (วิป) รัฐบาล และ ฝ่ายค้าน หารือกันว่า พร้อมเมื่อใด มีความจำเป็นมากน้อยเพียงใด ในสภาวะโรคระบาด เพราะเบื้องต้น ตามกำหนดการเดิม จะเปิดประชุมสมัยสามัญ วันที่ 22 พ.ค.นี้อยู่แล้ว

โดยทางพรรคร่วมฝ่ายค้านเองก็มีท่าทีสนับสนุนให้มีการเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ เพื่อพิจารณาในส่วนของ พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท และ พ.ร.ก.ฉบับอื่นๆที่ผ่านไปในคราวเดียวกัน โดยมีการนัดหารือกันไปเมื่อวันที่ 23 เม.ย.ที่ผ่านมา เพื่อปรับจูนแนวทางให้ “เข้าที่” หลังก่อนหน้านี้ “พรรคก้าวไกล” น้องใหม่ทางการเมือง จุดพลุให้มีการเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ.2563 ทั้งที่ “ต้นทาง” อย่างรัฐบาลยังดำเนินการตามขั้นตอนในรัฐธรรมนูญไม่แล้วเสร็จ

ในทางการเมือง การจะเปิดหรือไม่เปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ นอกเหนือจากการตีความให้เป็นไปตามขั้นตอนในรัฐธรรมนูญ ก็อาจต้องพิเคราะห์ถึงการ “ชิงเหลี่ยม” ทางการเมือง ที่ “บางพรรค-บางพวก” จะอาศัยเป็น “เวทีตีกิน” จ้องถล่มรัฐบาลเท่านั้นด้วย

อย่างไรก็ดี เชื่อว่ามาตรการเยียวยาช่วยเหลือ ฟื้นฟูเศรษฐกิจของรัฐบาลคงจะ “ไม่ล่าช้า” เพราะหลัง พ.ร.ก.ฉบับต่างๆประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ก็เป็นอำนาจของรัฐบาลที่จะขับเคลื่อนมาตรการต่างๆออกมาหลังจากนี้

โดยเฉพาะในส่วนของ พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ที่เตรียมทยอยนำโครงการที่ผ่านคณะกรรมการกลั่นกรอง ที่มี ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน นำเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. ตั้งแต่วันที่ 28 เม.ย.63 เป็นต้นไป

โดยทางเงินก้อนแรกที่ กระทรวงการคลัง เตรียม “กดปุ่ม” จะเป็นการกู้เงิน 7 หมื่นล้านบาท เพื่อใช้ในมาตรการเราไม่ทิ้งกัน ที่ขยายกลุ่มเป้าหมายจาก

จ่ายเงินเยียวยาอาชีพอิสระรายละ 5 พันบาทเป็นเวลา 3 เดือน หลังผ่าน ครม.ในวันที่ 28 เม.ย.แล้ว ก็จะเปิดให้สถาบันการเงินให้เข้ามาประมูลเสนอดอกเบี้ยต่ำที่สุดทันทีในวันที่ 29 เม.ย.

คาดว่าไม่เกิดวันที่ 5 พ.ค.เงินก็จะเข้าคลัง พร้อมเบิกจ่ายทันทีใน 2-3 วัน

จ่ายครบ ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง อย่างที่ “ลุงตู่” ประกาศไว้แน่นอน.


กำลังโหลดความคิดเห็น