เอนก เหล่าธรรมทัศน์
ภาคีสมาชิกราชบัณฑิตยสภา
สังคมไทยมีอะไรดีจริงหรือเปล่า ? ในยามอื่น คำถามอย่างนี้คงตอบได้หลายแบบ ตอบกันยาว ใช้ทฤษฎีและข้อมูลมากมาย แต่ความสำเร็จจากการขับเคี่ยวกับโควิด-19 ที่เกิดมาไม่กี่เดือนนี้ ทำให้เราตอบได้ค่อนข้างมั่นใจว่า ใช่ ! สังคมไทยมีอะไรดีจริงๆ ดี อย่างที่เราเองไม่เคยคิดกันมาก่อน
ภาคสังคม-ชุมชน หรือ “ประชาชน” ของเรา นั้น เก่ง เข้าใจ และยอมรับสถานการณ์ระบาดที่หนักหน่วงได้และ พร้อมใจกันอยู่ในกฏเกณฑ์และระเบียบวินัย มีความเห็นใจและโอบอ้อมอารีคนที่ลำบาก และยังได้หนุนช่วยหยูกยา อุปกรณ์ ของใช้ ของกินแก่บรรดา “นักรบแนวหน้า” รวมทั้งให้กำลังใจพวกเขาอย่างเหลือล้น
อนึ่ง ในภาวะฉุกเฉินเช่นนี้ แม้ นายก รัฐมนตรีจะรวบอำนาจของกรม และ กระทรวงมามากมาย แต่สังเกตเถิด ระบบฉุกเฉินของเราก็ส่งมอบอำนาจและการวินิจฉัยสั่งการต่อให้จังหวัดต่างๆ ปรากฏการณ์ “กระจายการตัดสินใจ” ไปยังพื้นที่ หรือ ไป “หน้างาน” อย่างนี้ ก็แทบไม่เคยเห็นกันมาก่อน และ ก็น่ายินดี นะ ครับ ในแทบทุกจังหวัด เราคุมการระบาดของโรคอย่างได้ผล
พระราชกำหนดให้รัฐกู้เงินมาหนึ่งล้านล้านบาท เพื่อนำมาช่วยเหลือชดเชยเยียวยาประชาชนทั่วไป รวมทั้งเกษตรกร หรือ ฟื้นฟูเศฐษฐกิจกิจสังคม ก็ออกมาได้อย่างรวดเร็ว เมื่อประสานเข้ากับกองทุนประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ที่สามารถนำเงินสะสมที่ผู้ใช้แรงงานใส่เข้าไปในกองทุน มาจ่ายให้แก่ผู้ว่างงานจากเหตุการณ์ โควิด-19 โดยที่เป็น “เหตุสุดวิสัย” ได้ ก็ทำให้ประชากรที่ได้รับผลกระทบหลายสิบล้านคน จะได้รับเงินเยียวยาจาก “ส่วนรวม” คือ จากรัฐบาล ได้
แน่นอน ประชาชนที่ไม่อยู่ในระบบประกันตน ได้รับเงินเยียวยาคนละ 5,000 บาท แต่ ประชาชนที่ว่างงานแต่ประกันตนอยู่ในกองทุนประกันสังคมนั้น จะได้ราว 5- 9 พันบาท อาจมีคำถามครับ ว่า ทำไมถึงได้รับเงินไม่เท่ากัน ? เหตุผล: ก็เพราะผู้ใช้แรงงานผู้ประกันตนกับกองทุนนั้นได้จ่ายเงินเดือนส่วนหนึ่ง สมทบเข้าไปในกองทุนนี้ มาเป็นเวลาหนึ่ง แล้ว บางคนพูดได้ด้วยว่า “ฉันจ่ายมาให้ช้านานแล้ว ตั้งแต่ยังสาว” ดังนั้น เงินที่จะได้รับนั้น ย่อมชอบธรรมที่จะได้มากกว่าผู้ที่ไม่ได้ประกันตน
เงินที่บรรดาผู้ประกันตน ซึ่ง ณ บัดนี้ว่างงาน จะได้รับมากกว่าประชาชนทั่วไปที่ได้รับผลกระทบนี้ อาจคิดได้ว่ามาจากเงินที่พวกเขาได้จ่ายสมทบเข้าไปทุกเดือน หนึ่ง บวก กับ เงินท่ีนายจ้างจ่ายสมทบจำนวนเดียวกัน อีกหนึ่ง และ ยังบวกกับเงินที่รัฐบาลจ่ายสมทบเข้าไปอีกเป็นจำนวนครึ่งหนึ่งของที่ผู้ประกันตนได้จ่ายไป อีกหนึ่ง
แม้ว่าเงินราว 5- 9 พันบาทนี้ จะไม่ถือว่ามากมายนัก แต่อย่างน้อย ก็ทำให้ผู้ประกันตนตระหนักว่า เงินที่พวกตน ผู้ใช้แรงงาน ได้จ่ายสมทบกองทุนเข้าไปทุกเดือน ทุกเดือนนั้น ไม่ได้สูญเปล่า ในคราวนี้ เงินนั้นก็หวลกลับมาช่วยตนเองที่ตกงานจาก “เหตุสุดวิสัย” ในภาวะที่ผลกระทบต่อนายจ้างก็หนักหน่วง รุนแรง และฉันพลัน จนส่วนใหญ่นั้น แบกรับค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างที่ว่างงานไม่ได้อยู่แล้ว