ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
อาจารย์ประจำสาขาวิชา Business Analytics and Intelligence
และ Actuarial Science and Risk Management
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
อนุกรรมาธิการติดตามการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข วุฒิสภา
อาจารย์ประจำสาขาวิชา Business Analytics and Intelligence
และ Actuarial Science and Risk Management
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
อนุกรรมาธิการติดตามการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข วุฒิสภา
เงินค้างท่ออันเป็นเบี้ยหัวแหลกไม่ได้ผลในการส่งเสริมและป้องกันโรคแต่อย่างใดและมีค้างมานานต้องมีการกระทุ้งออกมาเป็นคราวๆ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ผู้ดูแลบัตรทอง 30 บาทรักษาทุกโรค (ซึ่งก็ไม่ได้รักษาได้ทุกโรคจริง) จึงพยายามคายเงินหรือกระตุ้นให้องค์กรปกครองท้องถิ่นใช้เงินดังกล่าว
หลักฐานที่ว่ามีเงินค้างท่ออยู่จริง สามารถอ่านได้จากบทความ เงินค้างท่อคือปัญหาเก่าที่ไม่ได้รับการแก้ไขโดย สปสช. ซึ่งนายแพทย์เจตน์ ศิรธรานนท์ อดีตประธานคณะกรรมาธิการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และประธานคณะกรรมาธิการสาธารณสุข วุฒิสภา ในปัจจุบันได้ศึกษาและผลักดันให้แก้ไขประเด็นปัญหานี้มาโดยตลอด โปรดอ่านได้จากบทความ “นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์” ย้ำ“งบสาธารณสุข” มีปัญหา บีบสปสช.ปล่อยเงินค้างท่อ 17,000 ล้าน อุ้มรพ.ขาดสภาพคล่อง ลงพิมพ์เผยแพร่ตั้งแต่ 13 ตุลาคม 2011 ดังนี้ https://thaipublica.org/2011/10/health-budget-problems/ และบทความ ปลัด มท.ตั้งคณะทำงานแก้ "งบสุขภาพท้องถิ่น" ค้างท่อกว่า 7,000 ล.บาท http://manager.co.th/QOL/detail/9600000021716
ปัญหาเงินค้างท่อของ สปสช. นี้ยังคงมีอยู่จนปัจจุบัน โปรดอ่านได้จาก เงินค้างท่อในวันนี้มีอยู่มากแค่ไหน?
กทม.พร้อมปล่อยงบ “กองทุนบัตรทอง” ส่งเสริมสุขภาพคนกรุง หลังค้างท่อนาน 3 ปี 1.7 พันล.
เผยแพร่เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2563 https://www.matichon.co.th/local/quality-life/news_2017107
เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจที่ในเหตุการณ์มหาโรคระบาดโควิด-19 ในครั้งนี้ องค์กรตระกูล ส เช่น สปสช. กับ สสส. อาจจะมีบทบาทไม่มากนักในการแก้ไขปัญหา เพราะบทบาทเด่นอยู่ที่กระทรวงสาธารณสุข มดงานตัวจริง และทีมอาจารย์อาวุโสในโรงเรียนแพทย์ ดังที่ผมได้ตั้งข้อสังเกตว่าบทบาทของสสส. ในเหตุการณ์วิกฤติครั้งนี้ค่อนข้างล่าช้าและไม่ทันเหตุการณ์เลย โปรดอ่านได้จาก ในวิกฤตโควิด-19 ... สสส. หายไปไหน? https://mgronline.com/daily/detail/9630000028213 และบทความ แนวหลัง ตระกูล ส. เผยแพร่วันพุธที่ 15 เมษายน พ.ศ.2563 https://www.matichonweekly.com/column/article_295564
อันที่จริงแล้ว การตั้งกองทุนในกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เพราะใน พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2545 มาตรา 38 ระบุว่าต้องมีได้เพียงกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเพียงกองทุนเดียว ต้องไม่มีกองทุนย่อย เจตนารมณ์คงเพื่อให้เกิดการแบ่งสรรปันส่วนเงินและทรัพยากรได้สะดวกขึ้น และทำให้เกิด risk sharing หรือ risk pooling และผันเงินไปใช้ในการแก้ปัญหาในคราจำเป็น ได้ง่าย จะได้ไม่มีเงินค้างท่อ
แต่ สปสช. ก็ยังฝืนทำผิดกฎหมาย การตั้งกองทุนย่อยของสปสช. นั้นผิดกฎหมาย และสร้างปัญหากับระบบสาธารณสุขมาโดยตลอด เป็นการจัดสรรเงินที่ไม่ตรงกับปัญหาและสภาพความเป็นจริง นอกจากนี้ปัญหาหนึ่งก็คือปัญหาเงินค้างท่อ ทำให้เกิดการใช้เงินไม่ได้ผล ใช้เงินไม่หมด และเนื่องจากเป็นองค์การมหาชนที่มีพระราชบัญญัติเป็นของตัวเอง ทำให้ไม่ต้องส่งเงินคืนกระทรวงการคลังด้วย ตามพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 มีกำหนดไว้ ตามมาตรา 39 ว่า “เงินและทรัพย์สินที่เป็นของกองทุนไม่ต้องนําส่งกระทรวงการคลังเป็นรายได้ของแผ่นดินตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลังและกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ” ดังนั้นเท่าที่ทราบในอดีตเคยมีเงินค้างท่อรวมกันเป็นเงินหลายพันล้านจนเกือบหมื่นล้านบาท และต้องมีการทะลวงท่อเป็นพัก ๆ เงินถึงถูกนำออกมาใช้และเกิดประโยชน์กับประชาชน
ที่มาของเงินค้างท่อดังกล่าว เกิดจากการที่ สปสช. ที่มีนั้นเขียนไว้บนหน้าเว็บไซต์ของดังนี้
กองทุนดังกล่าวต้องบริหารโดยคณะกรรมการร่วมจาก อปท. ผู้แทนชุมชน ภาคประชาชน และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ นพ.ประทีปกล่าวว่ากองทุนนี้ให้ อปท.เป็น “พระเอก” ในการดำเนินการ โดย สปสช.ควบคุมเพียงเรื่องกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง กองทุนครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ เด็ก สตรี ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเรื้อรัง คนพิการ และคนที่มีอาชีพเสี่ยง เช่น เกษตรกรที่ใช้สารเคมี นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการส่งเสริมป้องกันโรค ฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ และการสร้างสภาพแวดล้อมและสังคมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดีของประชาชน ทั้งหมดนี้เพื่อเสริมระบบสาธารณสุขใหญ่ที่กระจุกตัวในโรงพยาบาล โดยมองว่าจะใช้โรงพยาบาลเป็นแนวรับโรคภัยไข้เจ็บอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีการทำงานเชิงรุกโดยท้องถิ่นในพื้นที่เพื่อทำให้ประชาชนมีสุขภาพดี
ผมโทรศัพท์ไปไหว้วานผู้บริหาร สปสช. ที่รักความเป็นธรรมและความถูกต้อง ให้ดาวน์โหลดข้อมูลเงินค้างท่อมาให้ผมดูรายละเอียด ทำให้พบว่า สามกองทุนย่อยมีเงินค้างท่อรวมกันประมาณ หกพันสี่ร้อยล้านบาท
เร็วๆ นี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่ารัฐบาลอาจจะไม่มีเงินพอที่จ่ายเยียวยาประชาชน ต้องรีบกู้เงิน และทุกกระทรวงถูกเรียกงบประมาณที่ไม่ได้ใช้กลับมา แต่กองทุนย่อยของ สปสช. ไม่ได้โดนเรียกกลับ เพราะเป็นองค์การมหาชน มี พ.ร.บ. เป็นของตนเอง
แต่โดยอำนาจตามกฎหมาย พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ได้กล่าวไว้ในการประกาศ พ.ร.ก. ว่า
ตามที่มีประกาศสถานการณ์ ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร อาศัยอำนาจตามมาตรา 7 พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ให้บรรดาอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงตามกฎหมาย หรือที่เป็นผู้รักษาการตามกฎหมาย หรือที่มีอยู่ตามกฎหมาย โอนมาเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีเป็นการชั่วคราว เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการอนุญาตอนุมัติ สั่งการ บังคับบัญชา หรือช่วยในการป้องกัน แก้ไข ปราบปราม ระงับยับยั้งในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือฟื้นฟูหรือช่วยเหลือประชาชน ทั้งนี้ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ถูกครอบคลุมในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินด้วย
นอกจากนี้ ประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์เพื่อสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดำเนินงานและบริหารจัดการ ระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ พ.ศ.2561 ข้อ 10 ระบุว่าเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพตามข้อ ๗ วรรคหนึ่ง ให้ใช้จ่ายเพื่อสนับสนุน และส่งเสริมเป็นค่าใช้จ่ายตามแผนงาน โครงการ หรือกิจกรรม ที่คณะกรรมการกองทุนอนุมัติ ดังต่อไปนี้ (5) เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมกิจกรรมกรณีเกิดโรคระบาดหรือภัยพิบัติในพื้นที่ ในการป้องกัน และแก้ไขปัญหาสาธารณสุขได้ตามความจำเป็น เหมาะสม และทันต่อสถานการณ์ได้
ดังนั้นเงินค้างท่อของกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ (กองทุนสุขภาพตำบล) นี้ เป็นกิจกรรมหลักที่นำเงินงบประมาณไปใช้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาลประชาชนผู้มีสิทธิที่เจ็บป่วยแต่อย่างใด ถือเป็นกิจกรรม/โครงการที่ไม่เร่งด่วน สามารถรอได้ มีความชอบธรรมที่สามารถนำเงินค้างท่อจากกองทุนฯนี้ไปใช้กับสถานการณ์การแพร่กระจายโรค COVID-19 ตามประกาศ ข้อ10 (5) และพรก. บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน
เช่นเดียวกันกับ กองทุนผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง เป็นงบประมาณที่ใช้ในกิจกรรมต่างๆ ดังนี้คัดกรองและประเมินผู้สูงอายุ จัดทำแผนการดูแลรายบุคคล (Care Plan: CP) (ตามแนบท้ายประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์เพื่อสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดำเนินงานและบริหารจัดการ ระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ พ.ศ. 2561) ซึ่งงบประมาณไปใช้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาลประชาชนผู้มีสิทธิที่เจ็บป่วยแต่อย่างใด แต่เป็นกิจกรรมที่นำเงินไปจ่ายผ่านให้ อปท.เพื่อไปจัดสรรจ่ายเป็นค่าตอบแทนให้หน่วยงานหรือบุคคลที่สมัครเข้าเป็นผู้ดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน ซึ่งโครงการที่ไม่เร่งด่วน สามารถรอได้ มีความชอบธรรมที่สามารถนำเงินค้างท่อจากกองทุนฯนี้ไปใช้กับสถานการณ์การแพร่กระจายโรค COVID-19 เช่นกัน
รัฐบาลยังสามารถล้วงเงินค้างท่อมาใช้ตามประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2555 เรื่องหลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุนฯในกรณีฉุกเฉิน กรณีเกิดโรคระบาดหรือภัยพิบัติ ข้อ 1 ซึ่งให้นำเงินเหลือจ่ายมาใช้ได้ในการแก้ไขปัญหาโรคระบาดหรือภัยพิบัติ ได้ในทันที
ดังนั้นโดยอำนาจตามกฎหมายทั้ง พรก. บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตลอดจนประกาศตามพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จำนวนมาก ก็ให้อำนาจในการนำเงินค้างท่อมาใช้แก้ปัญหาสำหรับโรงพยาบาลและประชาชนในวิกฤติโรคระบาดทั้งสิ้น
นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกุล ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ควรเร่งดำเนินการล้วงท่อนำเงินค้างท่อของกองทุนย่อยในกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ทำผิดกฎหมาย มาใช้ในเกิดประโยชน์แก่โรงพยาบาลและประชาชนในมหาโรคระบาดโควิด-19 อย่างรวดเร็วที่สุด และควรแก้ไข พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มาตรา 39 ให้เป็นดังนี้
“เงินและทรัพย์สินที่เป็นของกองทุนต้องนําส่งกระทรวงการคลัง ถือเป็นรายได้ของแผ่นดินตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลังและกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ”
เพื่อแก้ไขปัญหาเงินค้างท่อ และแก้ปัญหาการตั้งกองทุนย่อยผิดกฎหมาย ของ สปสช. อย่างยั่งยืน ตลอดไป