xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ลัล ลั้ล ลา “โควิด”... เสิร์ฟ “ดรามา” เย้ยเคอร์ฟิว

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ดรามาคุกรุ่นเสิร์ฟไม่เว้นแต่ละวัน นับตั้งแต่รัฐบาลไทยประกาศ “เคอร์ฟิว” บังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค. 2563 เป็นต้นมา เพื่อควบคุมการระบาดของ โควิด-19 ด้วยยังมีกลุ่ม “คนขวางโลก” ไม่เคารพกฎระเบียบ “No สน No แคร์” สร้างความเดือดร้อนแก่ส่วนร่วม จนเกิดเหตุการณ์ท้าทายอำนาจรัฐ

นอกจากนี้ ยังเกิดดรามารสแซ่บหลายกรณีกลายเป็น Case Study ตั้งแต่เรื่องเล็กๆ ที่จับพลัดจับผลูเป็นมหากาพย์ระดับชาติ แสบๆ คันๆ เข้ามาสร้างสีสันแต่คงไม่ถึงกับเกิดความแตกแยก รวมทั้ง บทเรียนจากความมั่นหน้าคะนองปาก พูดจาสามหาวเหยียบย่ำซ้ำเติมผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จนถูกชาวโซเชียลฯ ถล่มเละ ส่วนจะมีเรื่องใดบ้าง รวบรวมไว้ดังต่อไปนี้

แหกกฎเคอร์ฟิว
หลังจากรัฐบาลประกาศเคอร์ฟิวในเวลา 22.00 - 04.00 น. ตัวเลขผู้ฝ่าฝืนคำสั่งในแต่ละวันแตะ 1,000 ราย โดยการฝ่าฝืนคำสั่งห้ามออกนอกเคหสถาน 3 อันดับแรก คือ 1. เดินทางกลับที่พัก 2 . ออกมาทำธุระ และ 3. ดื่มสุรา เล่นการพนัน ยาเสพติด

กรณีฝ่าฝืนคำสั่งเคอร์ฟิว มั่วสุมดื่มสุรา เล่นการพนัน ยาเสพติด เป็นกระทำการเย้ยกฎหมายท้าทายอำนาจรัฐ ยกตัวอย่างเหตุการณ์ใน จ.ปทุมธานี ที่มีตัวเลขผู้ฝ่าฝืนสูงสุด เจ้าหน้าที่ตั้งด่านตรวจพบผู้กระทำผิดลักษณะเมาแล้วขับ แต่งรถซิ่งขับรถเร็วพยายามหลบหนี รวมทั้งครอบครองยาเสพติด

หรือ กรณี จ.สมุทรสาคร จับกุมกลุ่มวัยรุ่น 21 คน มั่วสุมกันที่ร้านเหล้าแห่งหนึ่งยามค่ำคืน จัดปาร์ตี้ฟังเพลง ดื่มสุรา และบางคนมียาเสพติดไว้ในครอบครอง และ จ. ประจวบคีรีขันธ์ จับกุมกลุ่มวัยรุ่นชายหญิง 13 คน ร่วมปาร์ตี้ฉลองวันเกิดยามวิกาล มั่วสุมในสถานที่แออัด เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคติดต่ออันตราย เป็นต้น

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. กล่าวถึงมาตรการเคอร์ฟิวใน ภาคกลาง มีการดำเนินคดีมากที่สุด รองลงมาคือ ภาคตะวันออก มีการรวมกลุ่มมั่วสุมเป็นจำนวนมาก

ไลฟ์โชว์สาดน้ำสงกรานต์
ก่อนหน้านี้ สื่อโทรทัศน์ วิทยุ และอินเทอร์เน็ต ต่างประโคมข่าวให้ทราบโดยทั่วกันว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเลื่อนวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ปี 2563 ช่วงวันที่ 13 - 15 เม.ย. 2563 ยกเลิกกิจกรรมต่างๆ ในวันสงกรานต์ เป็นการคุมเข้มลดกิจกรรมในการสังสรรค์ ป้องกันการเกิดซูเปอร์สเปรดเดอร์เพื่อลดการระบาดของโรคโควิด-19

แต่มิวาย เกิดกรณีกลุ่มวัยรุ่นอีสาน จ.ร้อยเอ็ด ฝ่าฝืนคำสั่งเล่นน้ำสงกรานต์และมั่วสุ่มดื่มสุรากันอย่างสนุกสนาน แถมทำการไลฟ์สดมีคนดูกว่า 10,000 วิว พฤติกรรมยั่วยุตำรวจท้าทาย นายกฯ ลุงตู่ ทั้งๆ ที่บ้านเมืองอยู่ในช่วงการประกาศใช้ พ.ร.ก ฉุกเฉิน

เป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ในสังคม สู่การนำจับหัวโจ บักตี๋-นายเอมพิราช แสนสมัค ลูกจ้างชั่วคราว อบต. โพธิ์ทอง ลูกชายของรองประธานสภา อบต.โพธิ์ทอง จ.ร้อยเอ็ด, น.ส.อรพิน กกกลาง, นายชัยพร บูรณะกิติ,นายสมพาน มาโยธา และนายชัยวัฒน์ วันทา

ศาลพิพากษา จำคุก 1 เดือน ปรับ 10,000 บาท แต่รับสารภาพลดกึ่ง คงจำคุก 15 วัน ปรับ 5,000 บาท รอลงอาญา 2 ปี ขณะที่เดอะแก๊งโดนโทษหนักเจอข้อหาเสพยาบ้า

กักตุนเหล้าเบียร์ ตั้งวงมั่วสุม
หลังมีการประกาศให้งดจำหน่ายแอลกอฮอล์เป็นเวลา 10 วัน ระหว่าง 10 เม.ย. - 20 เม.ย.นี้ ประชาชนในหลายพื้นที่แห่ไปกักตุนเหล้าเบียร์กันเป็นจำนวนมาก โดยรัฐมีนัยเพื่อลดความเสี่ยงโรคติดเชื้อโควิด-19 จากการรวบตัวชุมนุมสังสรรค์ดื่มสุราในช่วงเทศกาลสงกรานต์ แม้จะมีประกาศเลื่อนงานสงกรานต์ออกไปแล้วตามข้อมูลข้างต้น

ปรากฎว่ายังมีสายเมาอยากลองของ ซื้อเหล้าเบียร์กักตุน แอบตั้งวงมั่วสุมกินดื่ม เช่น กรณี จ.ศรีสะเกษ เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุมกลุ่มหนุ่มใหญ่ ขณะตั้งวงดื่มสุราและกินอาหารกันอย่างสนุกสนาน ซึ่งเป็นการกระทำที่เป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนด หรือใน จ.เชียงใหม่ มีการจับกุมกลุ่มแรงงานต่างด้าวชาวเมียร์มา ขณะรวมตัวมั่วสุมดื่มสุราภายในห้องเช่า โดยอ้างว่าอยากจะฉลองสงกรานต์และไม่ได้ออกไปนอกที่พักในช่วงเวลาเคอร์ฟิว ฝ่าฝืนข้อกำหนด ข้อ 2 ตามความผิด พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 2)

ฝ่าฝืนไม่กักตัว
หลายประเทศทั่วโลก ออกคำสั่งล๊อคดาวน์ปิดเมืองตลอดจนกำหนดให้ประชาชนที่เป็นกลุ่มเสี่ยง กล่าวคือกลุ่มที่เดินทางมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง หรือมีประวัติติดต่อสัมผัสผู้ป่วย ให้ทำการกักตัวอย่างเคร่งครัด เพื่อควบคุมและลดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ประกาศบทลงโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืนทั้งจำคุกและปรับเงินไว้ชัดเจน หากจับกุมจะมีการดำเนินคดีเด็ดขาดไม่มีการผ่อนปรน แต่ก็ยังมีผู้ฝ่าฝืนถูกลงโทษอย่างต่อเนื่อง

สำหรับประเทศไทย ผู้ที่ฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานที่สั่งให้กักตัว จะมีความผิดตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2563 โทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมีอายุความ 10 ปี

หรือกรณี ศาลแขวงลำปาง สั่งฟ้องชาย อายุ 24 ปี ชาวลำปาง ฝ่าฝืนคำสั่งกักกัน เดินออกจากบ้านพักไปพบปะบุคคลอื่นภายในหมู่บ้าน พร้อมทั้งชักชวนคนในหมู่บ้านไปมั่วสุมที่บ้านพักของตน เป็นเหตุโดนจำคุก 15 วัน

นอกจากนี้ การฝ่าฝืนกักตัวในต่างประเทศมีการดำเนินคดีรุนแรง เช่น กรณีหญิงชาวไทยเดินทางไปไต้หวัน และทำการไม่กักตัวเป็นเวลา 14 วัน ต่อมา เจ้าหน้าที่ตามตัวเจอ สุดท้ายถูกส่งตัวไปอยู่สถานกักกันในนครนิวไทเป และมีคำสั่งปรับ 1 ล้านดอลลาร์ไต้หวันใหม่ (ประมาณ 1,090,000 บาท) แต่เนื่องจากไม่มีเงินจ่ายค่าปรับ จึงต้องเข้าสู่กระบวนการบังคับคดีต่อไป

ไลฟ์โค้ชขวางโลก
เป็นดรามาร้อนแรงโลกออนไลน์ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลให้ประชาชนจำนวนมากทุกข์ร้อนเสนสาหัญ โดยเฉพาะสาเหตุมาจากการขาดรายได้เศรษฐกิจหยุดชงัก กรณี ผู้กองเบนซ์ หรือ ร.ต.อ.สี่ทิศ อ่ำถนอม ไลฟ์โค้ช หรือนักสอนการใช้ชีวิต ที่มีผู้ติดตามมากกว่า 2.6 ล้านคนในเฟซบุ๊ก ตกเป็นประเด็นดรามาหลังจากโพสต์คลิป เมื่อวันที่ 11 เม.ย.ที่ผ่านมา ใช้ถ้อยคำรุนแรง โดยเนื้อหาทำนองดูหมิ่นผู้ประสบความเดือดร้อนในช่วงโควิด-19 ว่าเป็นพวกไม่รู้จักหาวิธีการใหม่เอาตัวรอด เป็นการซ้ำเติมคนที่ได้รับผลกระทบซึ่งกำลังลำบากอยู่ในขณะนี้

นัยอาจพยายามแรงบันดาลให้คนพลิกวิกฤตเป็นโอกาส แต่ในความเป็นจริงถ้อยคำเต็มไปด้วยความรู้สึกเหยียดหยามซ้ำเติม สุดท้ายต้านทานกระแสสังคมไม่ไหวออกมาขอโทษ น้อมรับความผิดพลาด เพื่อนำไปปรับปรุง

นอกจากนี้ ชาวเน็ตยังแชร์ข้อความ เจ.เค. โรว์ลิ นักเขียนนิยายชื่อดัง ที่เคยวิจารณ์ไลฟ์โค้ชที่ชอบดูถูกและตีตราคนอื่น สอดคล้องกับกรณี ผู้กองเบนซ์ ที่ออกมาพล่ามในช่วงโควิด-19 จนกลายเด็นดรามาร้อนแรง

“ไม่ได้ว่าใครนะคะ แต่ถ้าคุณเป็น 'ไลฟ์โค้ช' ที่เที่ยวฉอดคนอื่นว่ากระจอก เพราะไม่เรียนรู้ทักษะใหม่ๆ หรือไม่มีแบรนด์ของตัวเองในช่วงกักตัวอยู่บ้าน ให้หยุดเถอะค่ะ” และ “คนเรามีความท้าทายที่คุณเองก็อาจจะไม่รู้ บางทีแค่ผ่านเรื่องบางเรื่องไปได้ก็ดีแค่ไหนแล้ว” เจ เค โรว์ลิง โพสต์ผ่านทวิตเตอร์ เมื่อช่วงต้นเดือน เม.ย. 2563 ประจวบเหมาะกับดรามาร้อนๆ ที่เกิดขึ้นในเมืองไทยพอดี

เกรียนคีย์บอร์ด สงครามข้ามชาติ
อีกหนึ่งดรามามาแรงแซงโค้งสวนทางตัวเลขผู้ติดเชื้อที่กำลังลดลงในเมืองไทย เกิดสงครามเกรียนคีย์บอร์ดข้ามชาติ ขยายประเด็นจากคอมเมนท์ของชาวเน็ตมหามิตร “ไทย -ไต้หวัน -ฮ่องกง” ปะทะ “จีน” สงครามที่เต็มไปด้วยแปลกและขบขัน จากปัญหาเรื่องดาราหนุ่มเนื้อหอมชาวไทย ที่มียอดฟอลโลจากแฟนคลับชาวจีน ด้วยบริบททางภาษาและวัฒนธรรมทำให้เกิดความเข้าใจผิด และเรื่องละเอียดอ่อนความขัดแย้งระหว่างจีนแผ่นดินใหญ่ ทำให้เกิดการปะทะคารมระหว่างแฟนคลับนานาชาติ โต้ตอบคอมเมนท์ลุกลามเป็นปัญหาระดับชาติแบบงุนงง

มีคอมเมนท์จำนวนมากเชือดเชือนกันไปมา รวมทั้งเรื่องการวิพากษ์วิจารณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีต้นตอมาจากประเทศจีน อย่างไรก็ดี ดันแฮชแท็ก #nnevvy, #ชานมข้นกว่าเลือด และ #StopMekongDam ติดเทรนด์เป็นซีรีส์ให้รับชมกันยาวๆ ที่น่าสนใจคือสงครามคีย์บอร์ดข้ามชาติ ขยายประเด็นเป็นปัญหาระดับชาติ โดยเฉพาะแฮชแท็ก #StopMekongDam การสร้างเขื่อนหลายแห่งในประเทศจีนที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อระบบนิเวศน์ในลุ่มน้ำโขง รวมทั้ง การทำเกษตรริมฝั่ง การทำประมง ฯลฯ ทำให้หลายประเทศอาเซียนได้รับผลกระทบอย่างหนักรวมทั้งประเทศไทยด้วย

และทั้งหมดเป็นเพียงส่วนหนึ่งของเรื่องดรามาที่เกิดขึ้น ระหว่างที่โลกกำลังถูกคุกคามจากการแพร่ระบาดของโควิด-19



กำลังโหลดความคิดเห็น