ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - การบินไทยเจอกระแสปั่นข่าวลากแมงเม่าขึ้นดอยอีกครั้งกับเรื่องที่ว่า ปตท.จะเข้าซื้อหุ้น ซึ่งที่สุดก็ไม่ใช่ คล้ายก่อนหน้าที่ร่ำลือว่ากลุ่มเจ้าพ่อน้ำเมา “เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี” จะเข้ามา ทว่าก็ไม่จริง หรือ ออมสิน กับ ทอท. จะเข้าก็เปล่าทั้งเพ งั้นเอาที่แน่ๆ ดีกว่า ไม่ว่าการบินไทยจะอยู่ในสภาพย่ำแย่ขนาดไหน “คลัง” ไม่มีวันทิ้งหรือปล่อยให้ล้มละลายแน่นอน
ยืนยัน นั่งยัน นอนยัน ฟังกันชัดๆ อีกครั้งจากกระทรวงการคลัง โดย นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ยืนยันว่า กระทรวงการคลัง ไม่มีแผนขายหุ้น บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI ให้กับเอกชน ทั้ง บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) PTT และบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด(มหาชน) AOT รวมทั้งธนาคารออมสิน ตามที่มีกระแสข่าว
ส่วนแนวทางการแก้ไขปัญหาและฟื้นฟูการบินไทยเบื้องต้นรัฐจะดำเนินการเองทั้งหมดเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับทุกฝ่าย โดยวางเป้าหมายแผนการฟื้นฟูของการบินไทยจะต้องแล้วเสร็จภายในเดือนเมษายนนี้ ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สั่งการมาให้ดำเนินการโดยเร็ว แต่การฟื้นฟูจะเป็นด้วยวิธีการใด อยู่ระหว่างศึกษาแผนที่เป็นประโยชน์และกระทบต่อกิจการน้อยที่สุด อาจจะเป็นแนวทางให้การบินไทย ออกหุ้นกู้ ที่มีกระทรวงการคลัง ค้ำประกัน เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้ซื้อหุ้นกู้ หรือการเพิ่มทุน รวมทั้งการพิจารณาวงเงินกู้ระยะสั้นเพื่อเสริมสภาพคล่อง ซึ่งต้องพิจารณาถึงโครงสร้างทางการเงินของการบินไทยว่าเร่งรีบขนาดไหน
ขณะที่ฝั่งถูกกล่าวอ้างว่าจะเป็นผู้มาซื้อหุ้นการบินไทย ไม่ว่าจะเป็นแบงก์ออมสิน ปตท. หรือ บมจ.การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย (ทอท.) ก็อยู่ในอาการงง และเรียงหน้ากันออกมาปฏิเสธข่าวเป็นที่เรียบร้อย โดย นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน พูดชัดว่าไม่มีนโยบายให้ธนาคารออมสินเข้าไปซื้อหุ้นการบินไทยแต่อย่างใด
ก่อนหน้านี้ **นายนิตินัย ศิริสมรรถการ** กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. ยืนยันไม่มีแผนเข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนของการบินไทย โดย บมจ.ท่าอากาศยานไทย หรือ AOT แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อวันที่ 13 เมษายนที่ผ่านมา ปฏิเสธข่าวเข้าร่วมแผนเพิ่มทุนในการบินไทย ว่า “ปัจจุบัน ทอท.ยังไม่มีแผนที่จะเข้าเพิ่มทุนใน บมจ.การบินไทย ตามข่าวแต่อย่างใด”
เช่นเดียวกันกับ **นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร** ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. (PTT) ที่ออกมาดับกระแสว่า ปตท.จะไม่เข้าไปซื้อหุ้นการบินไทย (THAI) เพื่อช่วยฟื้นฟูธุรกิจตามที่มีกระแสข่าวออกมาแต่อย่างใด ทั้งในส่วนของการซื้อหุ้น THAI โดยตรงหรือการเข้าซื้อบางหน่วยธุรกิจ เช่น ธุรกิจอาหารของการบินไทย
“ขอยืนยันว่าไม่ใช่ ปตท.อย่างแน่นอนที่จะเข้าซื้อหุ้นในการบินไทย เพราะไม่ใช่ธุรกิจที่มีความถนัด รวมถึงยังไม่มีแนวคิดที่จะเข้าไปซื้อหน่วยธุรกิจอาหารของการบินไทยในขณะนี้เช่นกัน” นายชาญศิลป์ กล่าว
ข่าวร่ำลือกันทั้งเมืองมาจากกระแสที่ว่ากระทรวงการคลัง ได้เร่งหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเข้าไปแก้ไขปัญหาฐานะการเงินของการบินไทย เพื่อเร่งฟื้นฟูกิจการ และให้จัดทำแผนปฏิบัติการให้แล้วเสร็จภายในเดือนเมษายนนี้ ผ่านการออกหุ้นกู้หรือเพิ่มทุน วงเงินราว 0.7-1 แสนล้านบาท โดยจะเจรจาให้ธนาคารออมสิน กองทุนวายุภักษ์ และ AOT รวมทั้ง ปตท.เข้ามาร่วมซื้อหุ้น แต่ ณ เวลานี้ ทุกฝ่ายก็ออกมาปฏิเสธดังกล่าวข้างต้น
อย่างไรก็ตาม ช่วงกระแสข่าวลือเรื่องการเข้าซื้อหุ้นร้อนแรง หุ้นของ THAI ก็พุ่งชนเพดานสูงสุด 15% ติดต่อกัน 5 วันทำการ ก่อนที่ข่าวลือจะถูกสยบลง ทั้งนี้ เมื่อสิ้นปี 2562 หุ้น THAI ปิดที่ 6.85 บาท ก่อนจะรูดลงเมื่อเกิดวิกฤตไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาด ทำให้ราคา THAI ทรุดฮวบลงจนสร้างจุดต่ำสุดนับตั้งแต่เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เมื่อปี 2535 โดยลงมาที่ 2.74 บาท ระหว่างชั่วโมงซื้อขายวันที่ 24 มีนาคม 2563
ทั้งนี้ ก่อนเกิดวิกฤต “โควิด-19” ฐานะการดำเนินงานของ THAI ย่ำแย่หนัก ขาดทุนต่อเนื่อง 3 ปีติดต่อกัน โดยปี 2560 ขาดทุนสุทธิ 2,107.35 ล้านบาท ปี 2561 ขาดทุนสุทธิ 11,625.17 ล้านบาท ปี 2562 ขาดทุนสุทธิ 12,042.41 ล้านบาท และมียอดขาดทุนสะสม 19,383.39 ล้านบาท และนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ ประเมินว่า ปี 2563 นี้ THAI ยังคงขาดทุนหนักต่อไปในระดับกว่า 1 หมื่นล้านบาท
ปัญหาของการบินไทย ไม่ได้มีแต่การขาดสภาพคล่อง ที่คลังเตรียมใส่เงินลงไปแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ซึ่งอาจเป็นการกู้ระยะสั้นอย่างที่ว่า แต่ยังมีปัญหาด้านผลประกอบการที่ยังโงหัวไม่ขึ้นทั้งก่อนและหลังจากเกิดสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ระบาด
ขณะที่ฐานะการเงินของการบินไทย ทรุดลงอย่างต่อเนื่อง กลับปรากฏข่าวลือว่ามีรายการเตรียมปรับตำแหน่งเครือญาติของบอร์ดการบินไทยบางคน ให้ใหญ่ขึ้น มีสิทธิพิเศษเยอะขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ถือว่าสวนกระแสวิกฤตการบินไทย จะรอดมิรอดแหล่ และพนักงานกำลังลุ้นใจเต้นตุ้มๆ ต่อมๆ จะถูกปรับให้ออกภายใต้นโยบายการปรับโครงสร้างบริษัทและลดพนักงาน หรือไม่
ไลน์หลุดที่ว่อนกันในหมู่พนักงานการบินไทยก็คือ ข่าวที่ว่าจะมีการเสนอแต่งตั้งโยกย้ายผู้บริหารระดับผู้จัดการ (ระดับ 9) สังกัดฝ่ายความปลอดภัย ความมั่นคงและมาตรฐานการบิน ไปเป็นผู้อำนวยการระดับ 10 สังกัดสายการพาณิชย์ ซึ่งวิพากษ์วิจารณ์กันว่า ไม่เหมาะสมมากๆ เนื่องจากเป็นการแต่งตั้งข้ามฝ่ายอีกด้วย โดยหลักการแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงจะคัดสรรจากฝ่ายเดียวกันก่อน ยกเว้นสรรหาแล้วไม่มีบุคคลที่เหมาะสมจึงพิจารณาคัดสรรจากฝ่ายอื่น
อีกประเด็น คือ การเลื่อนจากระดับ 9 ไปเป็นระดับ 10 นั้น มีผลต่อสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับเพิ่มขึ้นไปด้วย โดยนอกจากเงินเดือน ค่าน้ำมันรถที่เพิ่มขึ้นแล้วจะได้รับสิทธิ์ที่นั่งชั้นเฟิร์สคลาสตลอดชีวิตทั้งครอบครัว ขณะที่ระดับ 9 จะได้สิทธิ์ที่นั่งชั้นธุรกิจ หรือบิสซิเนสคลาส เท่านั้น
คำถามที่ใหญ่กว่านั้นก็คือว่า การแต่งตั้งโยกย้ายในช่วงนี้มีความจำเป็นหรือไม่ ในภาวะที่บริษัทฯ ต้องหยุดทำการบินเพราะพิษไวรัสฯ และออกประกาศให้พนักงานหยุดงาน 2 เดือน ตั้งแต่ 4 เมษายน -31 พฤษภาคม 2563 โดยลดเงินเดือนรวมค่าตอบแทน 10-40% ขณะเดียวกัน ระดับรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่-ผู้อำนวยการใหญ่ ต้องลดเงินเดือนลง 40-50% อีกด้วย
“..... ยังเป็นเพียงข่าวลือเพราะยังไม่มีเอกสารหลักฐานยืนยัน โดยมีการส่งต่อข้อมูลในไลน์กลุ่มพนักงานทำให้มีการพูดถึงกันอย่างมากถึงความไม่เหมาะสม ... เรื่องนี้อาจจะเป็นเพียงแนวคิดของฝ่ายบริหารบางคนที่ต้องการทำเพื่อเอาใจบอร์ด....” นายนเรศ ผึ้งแย้ม ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย ตั้งข้อสังเกตและกำลังติดตามตรวจสอบกันต่อไป
ถามถึงแผนฟื้นฟูและทางรอดของการบินไทย ทางกระทรวงคลัง มีแนวทางเป็นเบื้องต้นสำหรับการปรับโครงสร้างใหญ่แล้ว รอแต่ว่าจะเคาะแนวทางไหนก่อนหลังดังที่ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ว่าเอาไว้ข้างต้น ในส่วนกระทรวงคมนาคม ซึ่ง “รัฐมนตรีโลกลืม” นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งกำกับดูแลการบินไทย เกิดไอเดียกระฉูด เจาะลงไปยังธุรกิจในส่วน “ครัวการบินไทย” ซึ่งขึ้นชื่อลือชาในด้านอาหารมีรางวัลการันตีผลงานมากมาย
ก่อนหน้านี้ไม่นาน นายถาวร สังการให้ปรับวิธีหารายได้จากทางอื่นของครัวการบินไทย ที่กลายมาเป็นการให้บริการจัดส่งอาหารถึงบ้าน (Delivery) ตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยเจาะฐานลูกค้าโรงพยาบาล ผลิตอาหารให้ผู้ป่วย แพทย์ และลูกค้าทั่วไป ด้วยการสั่งซื้อวัตถุดิบจากกลุ่มเกษตรกรโดยตรงแล้ว
นายถาวร ยังมีแผนให้จัดตั้งบริษัทลูกของการบินไทย เพื่อดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตอาหารแยกออกมาต่างหากอีกด้วย เพื่อลดขั้นตอนการดำเนินธุรกิจให้มีความรวดเร็ว ทันต่อสถานการณ์ แข่งขันกับเอกชนได้ โดยการบินไทย เป็นผู้ถือหุ้นบริษัทลูก 100% และจะขยายการให้บริการเป็น Lounge Operator ให้แก่สายการบิน Qatar และ Air France จากปัจจุบันทำ lounge operators ให้สายการบินสิงคโปร์ แอร์ไลน์ สายการบิน China Airline และส่งเฉพาะอาหารให้สายการบิน EVA Airlines และ Air France
ล่าสุด นายเจือ ราชสีห์ ผู้ช่วยเลขานุการ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งรับลูกจากนายถาวร ไปเวิร์กต่อให้เป็นจริง เผยว่า การจัดตั้งบริษัทครัวการบินไทย ได้ข้อสรุปเบื้องต้นหลังการหารือฝ่ายที่เกี่ยวข้องว่า จะใช้เงินทุนจัดตั้งประมาณ 10 ล้านบาท แบ่งสัดส่วนการลงทุนเป็นการบินไทย 49% และพนักงานการบินไทย 51% คาดว่าการจัดตั้งบริษัทครัวการบินไทย จะเรียบร้อยภายในสิ้นปี 2563 นี้
รูปแบบของการลงทุนดังกล่าว เป็นลักษณะเดียวกันกับการจัดตั้งบริษัทย่อยอื่นๆ ของการบินไทย เช่น บริษัท ทัวร์เอื้องหลวง จำกัด เพื่อให้การบริหารงานคล่องตัวมากขึ้น
ส่วนแผนธุรกิจเบื้องต้น ประกอบด้วย งานธุรกิจรองรับ(เลานจ์) เพื่อให้บริการสายการบินอื่นๆ นอกเหนือจากการบินไทย ซึ่งมีการติดต่อให้การบินไทยไปดำเนินการแล้ว 4-5 สายการบิน, งานจำหน่ายอาหารพร้อมทานส่งออกไปยังต่างประเทศ และธุรกิจนำเข้าวัตถุดิบที่ใช้ในการประกอบอาหาร จำหน่ายให้ภัตตาคาร ร้านอาหาร หรือโรงแรม โดยตั้งเป้าปีแรกจะสร้างรายได้ไม่น้อยกว่า 300 ล้านบาท ซึ่งในปี 2562 ที่ผ่านมา ครัวการบินไทย สามารถทำรายได้ให้บริษัทการบินไทย ประมาณ 8,500 ล้านบาท
ชื่อเสียงด้านอาหารของการบินไทยกระฉ่อนโลกจริง ล่าสุด เมื่อต้นเดือนเมษายน 2563 บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้รับรางวัลสายการบินที่ให้บริการอาหารบนเครื่องบินยอดเยี่ยมอันดับ 1 ของภูมิภาคเอเชีย โดยได้รับรางวัลติดต่อกันเป็นปีที่ 2 และรางวัลยอดเยี่ยมกระเป๋าชุดอำนวยความสะดวกบนเครื่องบิน สำหรับผู้โดยสารชั้นหนึ่ง จากงานประกาศรางวัล PAX International Readership Awards 2020 ณ โรงแรมเรดิสัน บลู กรุงฮัมบูร์ก สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี
หาหนทางรอดกันต่อไปเพราะไม่ว่าจะอย่างไร ไม่อาจทิ้ง “THAI” ไว้เบื้องหลังอยู่แล้ว และที่สำคัญไปกว่าการหารายได้ของครัวการบินไทย ยังต้องมีอีกหลายส่วนที่ต้องเขย่ากันใหม่ ทั้งฝูงบิน ทั้งเส้นทางบิน ฯลฯ ระหว่างนี้ก็เร่งแผนรื้อใหญ่กันไปเพื่อว่าเมื่อวิกฤตสิ้นสุด THAI จะบินไปได้ต่ออย่างสง่างาม