xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

สุขภาพจิตโคม่า (กักตัว)อยู่บ้านนาน ระเบิดเวลาทำลายครอบครัว?

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ผลกระทบจากโรคระบาด “โควิด-19” ไม่เพียงทำลายปอดคร่าชีวิตผู้คนทั่วโลก ยังส่งผลต่อสุขภาพจิตอย่างคาดไม่ถึง “ความเครียด-วิตกกังวล” ระหว่างกักตัวอยู่บ้านเป็นเวลานานติดต่อกันหลายสัปดาห์ ทำให้เราต่างเผชิญปัญหาสุขภาพจิตโดยไม่รู้ตัว

และไม่สามารถล่วงรู้ได้เลยว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดจะยุติลงเมื่อใด ที่สำคัญแม้ผู้คนจะกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติหลังโรคระบาดหายแล้ว แต่ผลกระทบทางจิตใจยังตกค้างไปอีกพักใหญ่ๆ

ความเครียดเปรียบเสมือนสัญญาณเตือนภัย ให้เตรียมรับมือกับสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น แต่หากสัญญาณเตือนภัยนี้ทำงานมากเกินไป อาจกลายเป็น “โรคเครียดสะสม” และความเครียดสะสมเรื้อรังนี้เองเป็นต้นตอทำให้เกิดทั้งโรคทางกายและทางจิต

การกักตัวเองอยู่บ้านเป็นระยะเวลานานหลายสัปดาห์ติดต่อกัน ตามแนวปฏิบัติของรัฐบาลหลายประเทศ แง่มุมหนึ่งทำให้เกิดผลกระทบด้านความสัมพันธ์ หลายครอบครัวจากที่เคยแยกย้ายกันไปทำงานแล้วกลับมาใช้เวลาร่วมกันบางช่วงเวลา ทว่า ตอนนี้อาจต้องเจอกันตลอด 24 ชั่วโมง ใช้เวลาร่วมกันมากเกินไป จนไม่มีความเป็นส่วนตัว

บางครอบครัวอาจเป็นช่วงเวลาแห่งความสุข แต่ก็มีครอบครับจำนวนไม่น้อยที่เป็นจุดเริ่มต้นของความทุกข์ เกิดปัญหาทะเลาะวิวาท ใช้ความรุนแรงในครอบครัว สู่การเลิกราและหย่าร้างในท้ายที่สุด

ดังเช่น ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศจีน แผนกทะเบียนสมรส ในมณฑลเสฉวน ของจีน เปิดเผยว่า อัตราหย่าร้างพุ่งสูงเป็นปรากฏการณ์ทั่วจีนแผ่นดินใหญ่ และเกิดขึ้นในอีกหลายเมือง หลังจากการปิดเมืองสู้โควิด-19 ตั้งแต่ช่วงปลายเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา มีคู่รักกว่า 300 คู่ นัดหมายกับเจ้าหน้าที่เพื่อขอจดทะเบียนหย่า ซึ่งถือเป็นอัตราที่เพิ่มสูงขึ้นเทียบกับช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19

คาดว่าคู่รักอาจใช้เวลาอยู่ด้วยกันที่บ้านมากเกินไปในช่วงที่ทางการสั่งปิดเมือง ทำให้โอกาสที่จะมีปากเสียงกัน จนนำไปสู่การหย่าร้างมีเพิ่มขึ้น และอีกหนึ่งปัจจัยที่เป็นไปได้ คือมาตรการปิดเมืองทำให้หน่วยงานราชการต้องปิดทำการไปนานนับเดือน พอหลังจากสถานการณ์ดีขึ้นคู่ที่ตั้งใจหย่าจึงแห่มาจดทะเบียนหย่าพร้อมกัน

ประเทศญี่ปุ่น ผุดแฮชแท็กที่แปลไทยได้ว่าหย่าเพราะโควิด-19 ติดเทรนด์ทวิตเตอร์ในญี่ปุ่น เกิดกระแสคู่สมรสหย่ากันเพราะโควิด-19 มีรายงานข่าวว่าคู่รักในเมืองโตเกียวเริ่มรู้สึกไม่พอใจการใช้ชีวิตคู่ หลายคู่ต้องติดอยู่ในอพาร์ทเมนท์คับแคบหลังจากรัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน จนทำให้บริษัทให้เช่าที่พักระยะสั้นในญี่ปุ่นพลิกวิกฤตเป็นโอกาส เสนอห้องพักเป็นที่พักชั่วคราวให้แก่ผู้ที่ต้องการหนีความเครียดช่วงปิดเมือง เป็นตัวเลือกลดกระแสหย่าหลังเกิดกระแสหย่าร้างเพราะโควิด-19 ซึ่งลูกค้าคนหนึ่งเป็นภรรยาที่หนีมาพักหลังจากทะเลาะเพราะกับสามี หรืออย่างลูกค้าอีกต้องการให้เวลากับตัวเอง เพราะเหนื่อยกับการดูแลลูกและสามีที่อยู่บ้านทั้งวันเพราะโรงเรียนและที่ทำงานปิด

ขณะที่ ประเทศฝรั่งเศส พบว่ามีการร้องเรียนการถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มขึ้นนับตั้งแต่มีคำสั่งให้ประชาชนกักตัวอยู่ในบ้านเมื่อวันที่ 17 มี.ค. 2563 กรุงปารีสมีการแจ้งความเพิ่มขึ้น 36% ส่วนพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศเพิ่มขึ้น 32% ทำให้รัฐบาลเตรียมจัดหาโรงแรม 20,000 แห่งสำหรับเป็นที่พักของผู้ที่ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว รวมทั้ง จัดตั้งศูนย์ให้คำปรึกษาอีก 20 แห่งตามร้านค้าทั่วประเทศ

บทความเรื่อง “ยิ่งใกล้ยิ่งเจ็บ อยู่บ้านอย่างไร ไม่ให้ทะเลาะกัน” โดย รศ. พญ. นิดา ลิ้มสุวรรณ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ให้คำแนะนำหากต้องเผชิญสถานการณ์เปราะบางระหว่างคู่รักในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตัดทอนบางช่วงบางตอน ความว่า

1. บอกกับตัวเองว่าเรื่องราวบางอย่างไม่มีถูกไม่มีผิด แต่มันแค่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ เพราะทุกคนต่างมีประสบการณ์ในอดีตที่แตกต่างกัน มีระบบความเชื่อระบบความคิดที่แตกต่างกัน มีข้อมูล มีความรู้ มีการตัดสินใจที่เป็นตัวของตัวเอง ดังนั้นการที่เราคิดต่างกัน เชื่อต่างกัน จึงเป็นเรื่องธรรมดา

2. แยกแยะว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของฉัน เรื่องของเธอ หรือ เรื่องของเรา เมื่ออยู่ด้วยกันใช้ชีวิตร่วมกัน จำเป็นต้องเห็นชอบด้วยกันก่อน หรืออย่างน้อยก็หาจุดตรงกลางที่ทั้ง 2 ฝ่ายยอมรับได้ทั้งคู่ แม้จุดตรงกลางนั้นอาจไม่ถูกใจเรา 100% ปัญหาที่มักพบบ่อยๆ คือเมื่ออีกฝ่ายหนึ่งไม่เห็นด้วยอีกคนหนึ่งก็ตัดสินใจทำไปตามที่ตัวเองต้องการเลยโดยไม่ได้พยายามหาจุดตรงกลางที่ว่านั้นสุดท้ายความสัมพันธ์ก็ยิ่งแย่ลง ขัดแย้งกันมากขึ้นไปเรื่อยๆ

3. พิจารณาว่าอะไรสำคัญกว่ากัน? เมื่อเผชิญความขัดแย้ง หรือสถานการณ์ที่ต้องตัดสินใจบางอย่าง

4. ความรู้สึกดีๆ ที่สะสมมาและจะสะสมต่อไป ช่วงเวลาดีๆ ประสบการณ์ดีๆ ที่มีร่วมกัน ความเข้าใจ ความเห็นใจ ความรัก การดูแลกัน ยิ่งมีมากยิ่งสะสมมากมาก เมื่อเกิดเรื่องราวทะเลาะกันเล็กน้อย เห็นไม่ตรงกันนิดหน่อย เรื่องแบบนี้ก็จะทำอะไรความสัมพันธ์ของคุณไม่ได้ คุณก็จะร่ำรวย ไม่ยากจนในเชิงความสัมพันธ์

5. เรียนรู้และเติบโตจากความแตกต่าง อย่ารังเกียจความแตกต่าง เพราะมันช่วยให้เราเรียนรู้และเติบโต มีความแข็งแกร่งทางจิตใจ เปรียบเหมือนเหตุการณ์ COVID-19 ในครั้งนี้ ซึ่งช่วยให้เราเก่งขึ้น ดูแลสุขภาพมากขึ้น ปรับตัวกับการทำงานได้หลากหลายมากขึ้น

6. ปรับเต็มที่แล้วไม่ไหว แยกกันไว้ก็ ok ศิลปะในการ “อยู่เป็น” อีกอย่างที่สำคัญ คือ การรู้ว่าเมื่อไหร่ควรจะหยุด เมื่อไหร่ควรจะพอ ถ้าคุณมั่นใจว่าคุณพยายามกับมันมามากพอแล้ว และไม่ได้ผล คุณควรจะ “พอ” ให้เป็น เพื่อลดความเสียหายจากการสู้ต่อไป (damage control) การแยกกันอยู่บางครั้งอาจจะดีกว่าการอยู่ด้วยกันก็เป็นไปได้ คุณยังมีทางเลือกนี้เสมอ ในเชิงความสัมพันธ์มันไม่ได้ผิดที่จะแยก เหมือนกับตอนแรกมันไม่ได้ผิดที่จะเลือกมาอยู่ร่วมกัน

อย่างไรก็ตาม ผู้คนจำนวนไม่น้อยที่ไม่ตระหนักว่าตนกำลังเกิดความผิดปกติด้านอารมณ์ เกิดความเครียดสะสม หรืออาจรู้สึกเหนื่อยล้าหมดเรี่ยวหมดแรงทั้งๆ ที่กักตัวอยู่บ้านไม่ได้ทำกิจกรรมหนักใดๆ ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 นั้นเป็นผลกระทบทางอารมณ์ที่ส่งผลต่อร่างกาย

กล่าวสำหรับอาการเหนื่อยล้าหมดแรงระหว่างการกักตัวเองอยู่บ้านในช่วงเกิดโรคระบาดนั้น ดร.ซาริตา โรบินสัน อาจารย์ผู้สอนด้านจิตวิทยาประจำมหาวิทยาลัยเซนทรัลแลงคาเชียร์ ประเทศอังกฤษ และ ดร. จอห์น ลีช นักวิจัยอาวุโสด้านจิตวิทยาความอยู่รอด จากมหาวิทยาลัยพอร์ตสมัท ประเทศอังกฤษ อธิบายร่วมกันผ่านบทความที่เผยแพร่ทางเว็บไซต์ The Conversation ความว่า

“ความรู้สึกเหนื่อยล้าในบางกรณีอาจมีสาเหตุมาจากภาวะจิตใจ มากกว่าจะเป็นอาการหมดแรงพลังทางร่างกายจริง ๆ ยิ่งในภาวะที่ทุกคนรู้สึกเครียดและวิตกกังวลกับสถานการณ์โรคระบาด ทั้งยังต้องใช้ชีวิตแบบซ้ำซากจำเจเป็นเวลานานระหว่างการกักตัวเองอยู่ที่บ้าน ก็ยิ่งทำให้เบื่อและหมดหวังจนรู้สึกไร้พลังชีวิตได้

“...โดยทั่วไปแล้ว การปรับตัวต่อสภาพชีวิตที่ถูกกักบริเวณได้อย่างสมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ สามารถจะเกิดขึ้นได้หลังผ่านช่วง 3 สัปดาห์แรกไปเป็นอย่างเร็ว แต่กว่าบางคนจะปรับตัวได้อย่างเต็มที่ ก็อาจต้องใช้เวลาถึง 3 เดือนเป็นอย่างช้า”

นอกจากนี้ องค์การยูนิเซฟ เปิดเผยผลสำรวจเรื่องผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ต่อเด็กและเยาวชนในประเทศไทย กลุ่มตัวอย่างจากเด็กและเยาวชนจำนวน 6,771 คนทั่วประเทศ อายุ 15-19 ปี พบว่า เด็กและเยาวชนกว่า 7 ใน 10 คน ยอมรับว่าวิกฤตโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจ เครียด วิตกกังวลและเบื่อหน่าย นอกจากนี้ เด็กและเยาวชนกว่า 8 ใน 10 คน ยังมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาการเงินของครอบครัว เนื่องจากพ่อแม่ผู้ปกครองไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ อันเป็นผลมาจากการปิดตัวของธุรกิจต่าง ๆ ตลอดจนการถูกเลิกจ้าง

ความเครียดและความกังวลนั้นเกิดขึ้นกับผู้คนไม่จำกัดช่วงอายุ พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้อำนวยการศูนย์จิตรักษ์ โรงพยาบาลกรุงเทพ อธิบายไว้ว่าความเครียดเป็นกลไกโดยธรรมชาติที่ช่วยให้มนุษย์เตรียมตัววางแผนและรับมือกับสถานการณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โดยแนะเทคนิคใช้ชีวิตให้ปกติ (Healthy Routine) อาทิ กินให้เป็นปกติ ทำอาหารง่ายๆ เช่น หุงข้าว ทอดไข่ เป็นต้น, นอนให้ปกติ การนอนหลับให้เพียงพอเป็นภูมิคุ้มกันชั้นดี ป้องกันไวรัสและภาวะซึมเศร้าได้, เชื่อมต่อกับผู้คน แม้เจอเพื่อนฝูงผู้คนเหมือนเมื่อก่อนไม่ได้ แต่ยังสามารถเชื่อมต่อผ่านช่องทางออนไลน์พูดคุยปรึกษาหารือกันได้, หากิจกรรมทำอย่าให้ว่าง แม้จะ Work From Home ก็ควรทำตัวเหมือนปกติ ตื่นเช้า อาบน้ำ แต่งตัว หรือออกกำลังกายตามยูทูบแทนการไปฟิตเนส, ทำสิ่งที่สนใจและงานอดิเรกที่ชอบ เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ออกกำลังกายสมอง เป็นต้น.

ผ่อนคลายไปกับ “คอร์สออนไลน์” และ “การออกกำลังกาย”

เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ผ่าน “คอร์สออนไลน์” หนึ่งในกิจกรรมคลายเครียดช่วง “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ระหว่างเก็บตัวอยู่บ้านฝ่าวิกฤตการณ์โรคระบาดไปด้วยกัน หลายองค์กรทั้งรัฐและเอกชนพร้อมใจเปิดคอร์สเรียนออนไลน์ฟรี

สมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดแคมเปญ“ปั่นในบ้าน ต้านโควิด” โดยนำนักกีฬาจักรยานทีมชาติไทย เช่น “บีซ” ร้อยโทหญิง จุฑาธิป มณีพันธุ์, จาย อังค์สุธาสาวิทย์ มาเป็นผู้นำปั่น ผ่านแอปพลิเคชั่น Zwift ในลูป Watopia Tick Tock

สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดาเปิดคอร์สแล้วครับ กับไลฟ์สดสอนทำอาหารออนไลน์ “อยู่บ้าน ไม่ตกงาน สร้างรายได้”
เริ่มต้นที่ “คอร์สภาษาอังกฤษ” เพิ่มทักษะภาษาอังกฤษเรียนภาษาจากมหาวิทยาลัยชื่อดังและสถาบันต่างๆ เช่น มหิดล จุฬาฯ ฯลฯ ตั้งแต่ ทักษะการฟัง การพูด อ่าน เขียน หรือเน้นเรื่องการสื่อสารเป็นหลัก เพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน ไปจนถึงภาษาอังกฤษขั้นสูง มีให้เลือกตามพื้นฐานและความสนใจของแต่ละคน

คอร์สทำอาหาร” ปลุกความเป็นเชฟในตัวเอง สร้างสรรค์เมนูอาหารต่างๆ ผ่านคอร์สสอนทำอาหารออนไลน์นับร้อยเมนู โดยสามารถเรียนฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย มีหลายแห่งเปิดสอนทั้งอาหารคาวและขนมหวาน ตลอดจนเมนูสุขภาพ อาหารนานาชาติต่างๆ

คอร์สงานช่าง” โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดคอร์สให้เรียนออนไลน์ฟรีถึง 15 อาชีพ ได้แก่ ช่างซ่อมรถจักรยานยนต์ ช่างซ่อมรถยนต์ ช่างเชื่อมไฟฟ้า ช่างซ่อมเครื่องรับโทรทัศน์ การตรวจซ่อมโน้ตบุ๊ค ช่างเครื่องปรับอากาศ เป็นต้น สำหรับรายละเอียดติดตามได้ที่ผ่านเว็บไซต์ของกรมฯ

“คอร์สถ่ายภาพ” แบรนด์กล้องชื่อดังไม่ว่าจะเป็น Leica, Nikon หรือ Olympus เปิดคอร์สถ่ายภาพเบื้องต้นทางออนไลน์ฟรี เกี่ยวกับการถ่ายภาพบุคคล ภาพสัตว์ ภาพวิวธรรมชาติ พร้อมเผยเทคนิคต่างๆ เปิดมุมมองใหม่ๆ เป็นความรู้ติดตัวไว้ถ่ายรูปสวยๆ นอกจากนี้ยังมีคอร์สเพิ่มทักษะเกี่ยวกับโปรแกรมกราฟฟิกตระกูล Adobe เป็นต้น

หรือ กิจกรรมคลายเครียดด้วยการ “ออกกำลังกาย” ที่ปรับวิถีจากการ “เดิน วิ่ง ปั่นจักรยาน” งดการออกกำลังกายในสถานที่สาธารณะ ซึ่งเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส เปลี่ยนมาออกกำลังกายในพื้นที่ส่วนตัวอย่างในห้องหรือรอบรั้วในบริเวณบ้าน

นพ.บัญชา ค้าของ รองอธิบดีกรมอนามัย ให้คำแนะนำว่าการออกกำลังกายที่บ้าน ควรเน้นความเหมาะสม ตามบริบทของผู้ออกกำลังกาย อุปกรณ์ สถานที่ หากไม่มีอุปกรณ์ หรือพื้นที่ อาจเลือกชนิดการออกกำลังกาย ที่ไม่ต้องใช้อุปกรณ์มาก ออกกำลังกายแบบง่ายๆ เช่น การเดินเร็วรอบๆ บ้าน กระโดดเชือก เต้นแอโรบิก โยคะ ฝึกความแข็งแรงแบบบอดี้เวท ยกน้ำหนัก โดยอาจใช้ขวดน้ำแทนได้ ทำงานบ้าน หรือ เปิดยูทูบดูตัวอย่างการออกกำลังกาย

สิ่งสำคัญในการออกกำลังกาย ต้องความสม่ำเสมอให้ได้อย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 วัน วันละ 30 นาที เพียงเท่านี้ก็จะทำให้มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงและสุขภาพจิตที่ดี



กำลังโหลดความคิดเห็น