xs
xsm
sm
md
lg

พักยกสังเวียน สู่แม่ค้าข้าวเหนียวหมูปิ้ง! เจาะใจ “วีวี่ สวยสังหาร” สับขาทุกหมัด “เพื่อครอบครัว” [มีคลิป]

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สู้ทั้งนอกเวที และในเวที!! เขาคือนักมวยหญิง เจ้าของฉายา “สวยสังหาร” คือคนที่ต่อสู้ เพื่อความฝัน ไม่ยอมแพ้ในโชคชะตา – ทำทุกอย่างเพื่อครอบครัว จากเด็กที่โดนดูถูกต้องไปขายตัว อีกทั้งมองว่าสวยแต่ไร้ความสามารถ ในเส้นทางบนสังเวียนที่กำลังรุ่งโรจน์ เมื่อคิวงานถูกยกเลิกหมด เพราะผลพวงไวรัสโควิด-19 ซึ่งเจ้าตัวถึงกับเผยว่ากระทบหนัก มีแต่รายจ่าย ไร้รายได้ จนล่าสุดต้องออกมาขายหมูปิ้งเลี้ยงชีวิตคนในค่าย




จากนักมวย...สู่แม่ค้าข้าวเหนียวหมูปิ้ง!!


“หนูไปช่วยขายหมูปิ้ง เพื่อเอาเงินมาเลี้ยงคนในค่ายต่อไป เพราะว่าค่ายเขาไม่มีรายได้” มะนาว - มนัสวี ศรีทองคำ นักสู้สาวน่าจับตามอง หรือ “วีวี่ ศิษย์ชาญสิงห์” สวยสังหาร วัย 16 ปี


แน่นอนว่าท่ามกลางกระแสเศรษฐกิจในยุคนี้ บรรดาพ่อค้าแม่ค้า หรือแม้กระทั่งบริษัทน้อยใหญ่ต่างก็ทยอยปิดตัวลงไปบ้างแล้ว โดยเฉพาะในแวดวงการค้าขายถือว่าได้รับผลกระทบอย่างหนัก ซึ่งอีกหนึ่งอาชีพที่ได้รับผลกระทบไม่ต่างกันในตอนนี้ก็คือ “นักมวย”


“พอมาเจอโควิด เส้นทางการเป็นนักมวยเราเปลี่ยนไป ก็ต้องรอให้กลับมาเหมือนเดิม ตอนนี้นาวก็ทำอย่างอื่น หารายได้ไปก่อน อะไรที่หาได้ก็ต้องทำก่อน ตอนแรกนาวจะได้ต่อยของ 8 super ของช่อง 8 พี่สาวสิงห์ ส.โสพิศ เป็นคนจัด ต่อยวันที่ 22 มีนาฯ แต่ว่าเขายกเลิกมวยก่อน นาวก็เลยไม่ได้ต่อย และวันของนายขนมต้ม วันที่ 17 มีนาฯ หนูก็ไม่ได้ต่อย เพราะว่าเขายกเลิก
เธอเล่าถึงจุดเปลี่ยนของชีวิต จากนักมวยหญิงสู่การเป็นแม่ค้าขายหมูปิ้ง หวังหาเงินมาจุนเจือเลี้ยงคนในค่ายมวย หลังพิษโควิด-19 ส่งผลให้สนามมวยปิด คนมวยไม่มีงาน ไร้รายได้ ชวดงานที่ฝันเอาไว้

ภายในค่ายมวยศิษย์ชาญสิงห์ที่เป็นบ้านไม้ 2 ชั้น อัดแน่นไปด้วยนักมวยกว่า 10 ชีวิต ใครจะรู้ล่ะว่าจะเต็มไปด้วยภาระค่าเช่าบ้านหลังนี้กว่า 10,000 บาทต่อเดือน สาวน้อยยิ้มสดใส รูปร่างดี แทบไม่น่าเชื่อว่าเด็กหญิงวัย 16 ปีคนนี้ จะกลายเป็นความหวังของค่ายในตอนนี้

“ค่ายหนูเขาขายหมูปิ้งอยู่แล้ว เขาทำ เขาขายอย่างนี้มานานแล้ว หนูก็ไปช่วยบ้าง ไม่ช่วยบ้าง เพราะว่าหนูซ้อมมวย แต่พอโควิดมาหนูไม่ได้ซ้อมมวย หนูก็มาช่วยเขาขายของ



ไม่มีมวยต่อย แล้วทุกคนไม่มีรายได้ หนูก็เลยต้องไปช่วยเขาหารายได้ มาช่วยกันเลี้ยงค่ายทุกคน เขาขายมานานแล้ว ขายนานมาก มีสูตรของเขาด้วย ขายทุกวันตอนเช้า


เตรียมตัวตั้งแต่ตี 4 หนูไปตั้งแต่ตี 5 ตอนเช้าไปขายที่สีลมซอย 20 เวลา 9-10 โมงก็ขายหมด แล้วก็กลับมาตั้งร้าน (หน้าค่ายมวย) ประมาณเที่ยงถึง 6 โมงเย็น

ผลตอบรับดี ตอนเช้าขายดี ขายหมด ขายวันละ 10 โล มาขายที่ค่ายต่ออีก 5 โล ไม้ละ 10 บาท ข้าวเหนียว 5 บาท”




สำหรับหน้าที่ภายในร้านของมะนาว เธอไม่เพียงรับหน้าที่ขายเท่านั้น หากแต่ยังต้อนรับลูกค้าอีกด้วย เมื่อถามว่าอะไรที่ทำให้ตัดสินใจมาขาย ออกมาทำงานเสี่ยงๆ แบบนี้ เธอยิ้มออกมาพร้อมให้คำตอบไว้ว่า ที่ออกมาสู้ชีวิตเพราะไม่มีเงินเก็บส่วนตัว ด้านค่ายมวยมีค่าใช้จ่ายที่ต้องหมุนเวียน เลี้ยงดูนักมวยทุกคน การขายหมูปิ้งขายได้วันละเพียง 3,000 บาท



“รายได้หายไป 100% ลำบากมาก ไม่มีรายได้เลย ก็ต้องประหยัดกัน เงินเก็บหนูไม่มี
ส่งให้พ่อกับแม่ และใช้เอง หนูไม่กลัวติดโควิด แค่ป้องกัน คิดว่าเราไม่ติดแน่นอน ป้องกันด้วยการใส่มาสก์ และล้างมือ

เราก็ต้องหาเลี้ยงตัวเอง ส่งเงินให้พ่อแม่เอง ช่วยแบ่งเบาภาระเขาทุกอย่าง ค่าใช้จ่าย ค่ากิน ที่หนูอยากกินมากกว่าข้าวในค่าย หนูก็หาให้ตัวเอง ตัวเองอยากได้อะไรก็ต้องซื้อของตัวเอง”

ชีวิตที่ผ่านการดิ้นรน มาแล้วนับไม่ถ้วน ทำให้เธอมองเหตุการณ์ครั้งนี้เป็นเพียงเรื่องหนึ่งที่ต้องต่อสู้ดิ้นรนเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา แววตาที่ไม่กลัวสิ่งใดเปิดเผยให้เห็นได้ชัดเจน



“หนูอยู่บนเวทีมวย ต่อยมวยแป๊บเดียวก็ได้ค่าตัว
แต่ว่าอันนี้ต้องเรียกลูกค้า และต้องรอลูกค้ามาซื้อ ไม่เคยคิด (ต้องมาขายหมูปิ้ง ดิ้นรน แทนที่จะไปต่อยมวย) หมดโควิดก็ทำต่อ ไม่เลิกขาย คิดว่าจะทำยังไงให้มันขายได้เยอะขึ้น และเอาไปต่ออะไรได้อีก

การขายหมูปิ้งสอนทำให้เราต้องดิ้นรน ขยันขึ้น ต้องตื่นแต่เช้า แล้วต้องตากแดดแบบนี้ ต้องมีเรียกคนให้ซื้อ ต้องรอคนซื้อ ก็ต้องมานั่งหาเงิน สู้ชีวิต เก็บเงินให้พ่อแม่ ช่วยพ่อช่วยแม่ให้มาก”





ฟิตหุ่น-ออกกำลังกาย เพื่อขึ้นสังเวียน!!


ย้อนกลับไปเด็กหญิงวัย 14 ปี...เริ่มเข้าสู่วงการนักมวยหญิง แทนที่การเที่ยวเล่นกับเพื่อนวัยเดียวกันอย่างเด็กๆ ทั่วไป แรกเริ่มเธอยอมรับว่ายากอยู่พอสมควร แต่ความโชคดีคือการเริ่มต้นตั้งแต่ยังอายุยังน้อยจึงทำให้ได้ฝึกฝีมือ และเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว
“ตอนแรกหนูไปออกกำลังกายที่สาธารณะ มันเป็นสวนสาธารณะ แล้วมียิมมวยให้ซ้อมอยู่ หนูก็ไปซ้อมมวยเล่นๆ กับเพื่อน เป็นค่ายมวย แต่ว่าเขาก็ลองให้หนูไปต่อยไฟต์แรกไฟต์หนึ่ง หนูลองต่อยดู ตอนแรกจะไม่เล่น แค่จะไปซ้อมออกกำลังกายเฉยๆ พอหนูได้ลองต่อยไฟต์แรกไฟต์หนึ่งแล้วหนูชอบ แล้วมันได้เงิน หนูก็เลยอยากแบ่งเบาภาระของพ่อแม่ก็เลยมาซ้อมที่ค่ายนี้”


เมื่อได้ถามเรื่องราวบนสังเวียน แววตามีความสุขก็ปรากฏชัดเจนขึ้น ซึ่งก่อนจะเป็น “วีวี่ ศิษย์ชาญสิงห์” จุดเริ่มต้นสำคัญที่ทำให้สาวน้อยคนนี้ได้เข้ามาสนใจมวยแบบจริงจัง คือได้ไปลองซ้อมมวยเล่นๆ ในสวนสาธารณะ

จากครั้งนั้นทำให้เธอสนใจกีฬาในด้านนี้ ในที่สุดเธอก็ได้ปรับเข็มทิศชีวิตเดินเข้าสู่เส้นทางวงการมวยอย่างจริงจัง ด้วยการเข้าไปขอฝึกในค่ายมวยศิษย์ชาญสิงห์ ซึ่งทำให้ทางเจ้าของค่ายเห็นแวว จึงทาบทามมาอยู่ในค่ายแห่งนี้



“หนูอยากต่อยมวย ก็เลยมาขอซ้อมที่นี่ (ค่ายมวยศิษย์ชาญสิงห์) มาอยู่ที่นี่ ได้ 2 ปี ตอนนั้นได้เงิน ไฟต์แรก 300 บาท ถ้ามีรายการก็จะซ้อมหนัก แต่ว่าถ้าไม่มีรายการก็จะทำร่างกายเราวันละรายการ

ถ้าตอนที่ยังไม่ปิดเทอม ตื่นเช้ามา 6 โมงเช้าก็ออกกำลังกาย วิ่ง ตอนเช้าวิ่ง 10 กิโลฯ กลับมาก็เปลี่ยนเสื้อผ้า แล้วออกไปวิ่ง 5 กิโลฯ จากนั้นกระโดดเชือก 20 นาที กระโดดยาง 20 นาที แล้วก็เตะกระสอบ 20 นาที เตะเป้า 20 นาที ปล้ำ 45 นาที แล้วก็เล่นเวต เล่นเป็นชุด ก็ประมาณ 10 ชุด
ถึงเวลาไปโรงเรียน นาวก็ไป ถึงเวลาซ้อมหนูก็ซ้อม เวลาที่ซ้อมเสร็จก็ทำการบ้าน ทำงานค้าง เวลามีรายการก็ขอคุณครูหยุด การต่อยมวยก็มีกระทบต่อการเรียนนิดหนึ่ง เรื่องตามงาน หนูก็ต้องกลับไปตามงานทีหลัง ทำงานไม่ทันเพื่อน”

เจ้าของฉายาสวยสังหาร บอกเล่าประสบการณ์ผ่านถ้อยคำที่มีความสุข และมีแววตาที่เห็นชัดว่าเธอรักกับสิ่งที่เลือก และเธอเองยังไม่อยากเชื่อว่าวันหนึ่งจะต้องมาทำหน้าที่ตรงนี้

โดยกิจวัตรประจำวันในค่าย เธอจะต้องซ้อม และออกกำลังกายทุกวันก่อนแข่ง ซึ่งกว่าจะมาจุดที่มีชื่อเสียงที่ใครๆ ต่างรู้จัก เป็นแบบอย่างให้ใครอีกหลายคน เธอเคยผ่านการฝึกซ้อมจนร้องไห้มาแล้ว


“ถ้าเรารู้ตัวว่าเรามีรายการ เราก็ต้องซ้อมหนักขึ้น ถ้าไม่มีก็ซ้อมเบาๆ วอร์มร่างกาย เขาก็อัดนัวเลย หนูก็ซ้อมแต่กับผู้ชาย ปกติเขาจะเบาให้ แต่ว่าถ้าหนักเขาก็อัดเลย ไม่เบาให้ ต้องมีมาตรการ น้ำหนักต้องตรงเป๊ะ ถึงเวลาชั่ง หนูน้ำหนักประมาณ 45 กก. เวตที่หนูชั่งต่อยคือ 43 โล เวลาไปชั่งหนูก็ต้อง 43.00 เป๊ะ”
แม้จะเจอบททดสอบของชีวิตมาอย่างหนักหน่วง ในระหว่างทางบนสังเวียนแห่งนี้ก็ไม่ใช่ว่าจะมีรอยน้ำตาเท่านั้น แต่มีสิ่งที่ทำให้เธอเรียนรู้ได้เสมอ บวกกับการดูแลของค่ายมวยที่เปรียบเสมือนคนในครอบครัวไปแล้ว

เจ้าของค่าย ผู้พลิกชีวิต “วีวี่”

“รายได้แล้วแต่เวที ที่นาวต่อยได้ก็ประมาณ 3,000 บาท ขึ้นไป ค่าตัวนาวสูงสุดเคยได้ทั้งหมด 8,000 บาท ถ้าต่ำๆ เริ่มเลยก็ 2,500-3,000 บาท ต้องแบ่งให้ทางค่าย 50 %


2 ปีที่มาอยู่ที่นี่ ชีวิตเปลี่ยนไปเยอะมาก เรารู้สึกว่าเราโตขึ้นเยอะเลย ความคิดเปลี่ยนเยอะ เขาดูแลทุกอย่าง ดูแลเหมือนลูกตัวเองเลย กินนอนที่นี่ สัญญาเป็นการจดทะเบียนมวย เซ็นกับค่ายนี้ไว้ไม่รู้กี่ปี เขาเป็นคนเซ็นให้หนู

แต่หนูจะอยู่ค่ายนี้จนกว่าจะเลิกมวย จะไม่ย้ายไปค่ายไหน เพราะว่าหนูมีทุกวันนี้ก็เพราะค่ายนี้เขาเป็นคนสร้างหนูมา”




มวยหญิงไทย มีดีกว่าประดับเวที!!



แม้ที่ผ่านมาการแข่งขันบนสังเวียน เป็นเพียงการเริ่มต้นในวงการนี้ เพราะนักมวยหญิงอย่างวีวี่ ผ่านเวทีสังเวียนเพียงแค่ 40 ครั้งเท่านั้นขณะที่ รายการที่เธอประทับใจจากทั้งหมดที่เคยร่วมแข่งขัน วีวี่ยกให้กับรายการของมวยทหารที่ได้กลับไปแก้มือกับ “พระจันทร์ฉาย ศศิประภายิม” หนึ่งในนักมวยฝีมือดี หลังเคยแพ้มาแล้ว ซึ่งครั้งนี้เธอได้ชนะ 3 ยก
“สไตล์การต่อย เตะขาต่อยหมัด เดินบู๊ เหมือนรุ่นพี่ในค่ายโบวี่ ส.อุดมสร เขาเป็นมวยบู๊ เดินเตะขา ต่อยหมัด กฎเหล็กของค่าย และสำหรับหนูต้องเดิน เดินบวก เดินบู๊ เหมือนที่หนูซ้อม เดินต่อยแรกกับเขาเลย ต่อยกันเลย

หนูชอบไฟต์ที่หนูได้กลับไปแก้มือกับคนเก่งๆ ที่เคยต่อย ตอนนั้นที่ไปเตะกับเขา หนูยังไม่เป็นมวยเลย ผ่านมาไม่ถึงปีหนูไปต่อยเก็บเกี่ยวประสบการณ์ แล้วหนูกลับไปแก้มือกับเขาอีก ปรากฏว่าชนะคะแนน

ฝ่าสังเวียนเดือดเย็บ 11 เข็ม
เขาชื่อพระจันทร์ฉาย ศศิประภายิม เราแพ้มากกว่า หนูคิดว่าคนที่หนูแพ้ คือเขาเก่งกว่า ดีกว่าหลายคนเลย บางคนหนูไม่น่าต่อยด้วย เพราะหนูคิดว่าต่อยกับเขาไม่ได้แน่นอน”
ทว่า ในบางแมตช์ก็ยังมีจุดอ่อนอยู่เหมือนกัน หากว่าผลออกมาต้องพ่ายแพ้ เธอก็มีวิธีก้าวข้ามความรู้สึกไม่ดีในแบบของตัวเองด้วยเช่นกัน ซึ่งกว่าจะเป็นเธอในวันนี้ แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องง่าย

สำหรับเรื่องราวต่อสู้บนสังเวียน เธอเล่าให้ฟังเพิ่มเติมด้วยว่า หากแข่งขันในประเทศไทย นักมวยหญิงยังไม่ถูกการสนับสนุน มักไม่มีรายการให้ไปโชว์ฝีไม้ลายมือ เพราะด้วยความที่นักแข่งหญิงมีจำนวนน้อย และถูกมองเป็นเพียงแค่ประดับบนเวทีเท่านั้น


“อยากให้สนับสนุนมวยหญิงบ้างค่ะ เพราะว่าผู้หญิงก็สร้างชื่อเสียงได้เหมือนกัน มันไปไกลระดับโลกได้ ถ้ามีโอกาส(ไปมวยโลก)หนูก็ไป ถ้าเปรียบเป็น A , B , C นาวอยู่ระดับ C เป็นระดับกลางๆ

ตอนนี้ก็มีนักมวยหญิงที่มีชื่อระดับโลก เป็นแชมป์โลกที่เป็นคนไทย ของวันแชมเปียนชิพ คือ พี่แสตมป์ แฟร์เท็กซ์




นาวอยากให้มีผู้ใหญ่มาสนับสนุนนักมวยหญิงเยอะๆ ไม่ได้รับการสนับสนุน ตอนนี้มีคนเดียวคือพี่เดียร์ เกียรติเพชร ที่เอามวยหญิงมาจัดออกทีวี

มวยหญิงเวทีทั่วๆ ไป จะได้ค่าตัวน้อย เอามวยหญิงเป็นเพียงแค่ประดับรายการ แต่ของพี่เดียร์ เกียรติเพชร เขาเอามวยหญิงเข้าไปอยู่ในรายการเลย มีต่อยคู่เอกได้เงินเป็นหมื่น ค่าตัวได้เงินสูง”
แม้ว่าสัดส่วนผู้หญิงในไทยที่ต่อยมวยได้ถือว่ามีอยู่มาก ทว่าการเป็นนักกีฬาลงแข่งอย่างจริงจังก็ยังถือว่าน้อย ซึ่งเธอเองก็สะท้อนให้ฟังว่าผู้เล่นสาวไทยเก่งไม่แพ้ของต่างชาติ เพียงแต่ขาดแคลนผู้สนับสนุนในการลงสนาม

นอกจากนั้น เมื่อถามเจ้าของรอยยิ้มสวยๆ คนนี้ไปว่าการเป็นมวยต้องต่อสู้ จะต้องมีประสบการณ์ที่อาจทำให้ผู้หญิงคนหนึ่งต้องบาดเจ็บ สำหรับเธอไม่ได้มีความกลัว และหวงความสวยใดๆ


“โดนฟันศอกแตกเย็บ 11 เข็ม (ตรงบริเวณคิ้ว) แต่หนูว่ามันไม่เจ็บเท่ากับหนูโดนเตะที่พับใน (ขา) เขียวไปทั้งขา เดินไม่ได้เลย ไฟต์ที่หนูโดนฟันศอกแตก หนูรอแผลหาย แล้วขึ้นชกเลย

ถึงกลัว (เสียโฉม) ก็ต้องต่อย เพราะว่าหนูต้องเอาเงินมาเลี้ยงตัวเอง และก็แบ่งเบาภาระพ่อกับแม่ ไม่ได้หวงสวย ไม่ได้กลัว
เราดูแลหน้าตา ฟื้นฟูด้วยการซื้อครีมทั่วไปมาทา เวลาแตกที่เขาทาให้หายแผลเป็น ก็ดูแลปกติ แล้วเวลาที่ช้ำ ก็เอาลูกประคบ มาประคบให้มันหายเขียว หายช้ำ ก็จะกลับมาเป็นเหมือนเดิม


นาวไม่ได้ติดเสพความรุนแรง อายุหนูเท่านี้ไม่สามารถทำงานที่ไหนได้เหมือนผู้ใหญ่ ก็เลยต่อยมวย เพราะต่อยมวยหารายได้ ได้เยอะ สามารถหาเงินเลี้ยงครอบครัวได้




ฝ่าดงคำดูถูก - อดทนสู้เพื่อครอบครัว






ด้วยรูปลักษณ์ หน้าตาที่ดีเธอ ทำให้ โอ๊ต ศิษย์ชาญสิงห์” เจ้าของค่ายให้ฉายาเธอว่า “วีวี่ สวยสังหาร” ด้วยเส้นทางมวยของเธอไม่ได้โรยไปด้วยกลีบกุหลาบ ต้องผ่านการต่อสู้ การดูถูกว่าหน้าตาแบบนี้ คงสู้ใครบนสังเวียนไม่ได้

“คนดูถูกหนู ไปต่อยมวยก็บอกว่าสู้เขาไม่ได้ ต่อยไปก็ร้องไห้ แล้วพอหนูต่อยออกมาก็ไม่ได้เป็นอย่างที่เขาพูด หนูก็เฉยๆ นะคะ หนูไม่เคยคิดว่าตัวเองเก่ง หนูก็พยายามในแบบของหนู พยายามให้มันดีขึ้นเรื่อยๆ หนูต้องคิดในใจว่าต้องทำให้ได้ ก็ต้องตั้งใจมากขึ้น”


แต่เหตุการณ์ฝังใจในครั้งนั้นก็ไม่ใช่ครั้งแรก ยังมีอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่สำคัญเช่นเดียวกัน เมื่อย้อนกลับไปก่อนจะมาเส้นทางนักมวยหญิงที่มีชื่อเสียง โดนล้อ “โตมาต้องขายตัว” เพราะบ้านที่เคยอาศัยอยู่ รอบข้างเป็นพื้นที่เสี่ยง ทำให้เธอถูกมองว่าอาจจะเข้าไปอยู่ในสังคมนั้นได้
มาถึงจุดที่ผู้หญิงที่นั่งอยู่ตรงหน้าคนนี้เชื่อว่า เพราะความกตัญญู อดทน มุ่งมั่น ล้มแล้วลุก ไม่ยอมแพ้ถอดใจง่ายๆ จนนำพามาสู่หนทางที่สำเร็จได้ เลี้ยงดูพ่อแม่ ด้วยเงินจากการต่อยมวยได้

“จากเด็กที่บ้านจน มีแต่คนดูถูก ตอนนี้ก็มีชื่อเสียงขึ้นมา โตมาเขาคิดว่าเราโตมา จะเป็นเด็กที่ไม่ดี เป็นเด็กเกเรอะไรอย่างนี้ เราก็พิสูจน์ ทำให้คนเห็นว่าหนูก็ไม่ได้เป็นแบบที่เขาคิด

เขาดูถูกหนูประมาณว่าหนูจะเกเร ติดเพื่อน ติดผู้ชายอะไรอย่างนี้ หนูก็พยายามทำให้เขาเห็นว่าหนูก็มีชื่อเสียงได้ และเลี้ยงตัวเอง ช่วยตัวเอง เป็นเด็กดีได้ค่ะ


สอดคล้องกับ “โอ๊ต ศิษย์ชาญสิงห์” เจ้าของค่ายมวยศิษย์ชาญสิงห์ เป็นหนึ่งคนที่คอยผลักดันให้เธอมีอนาคตที่ดี บอกเล่าให้ฟังว่ารับสภาพที่เขาอยู่ตรงนั้นไม่ได้ เมื่อเห็นความสามารถและมุ่งมั่นของวีวี่ จึงตัดสินใจขอครอบครัวพาวีวี่มาดูแล
“โตมาต้องขายตัวประมาณนั้น โตมาแบบนั้น เป็นเด็กเกเรตามผู้ชายเที่ยว อะไรประมาณนี้ เขาดูถูกว่าต้องเที่ยวเล่นตามผู้ชาย ไม่เรียนหนังสือ ก็เลยทำให้เขาเห็นว่าเราสู้ชีวิต มีชื่อเสียงได้ ไม่เหมือนที่เขาดูถูก

เขาอยู่ในวัยช่วงที่คนคิดไม่ดี เพราะฉะนั้นมันวิ่งในบ้าน ตอนอายุ 10 กว่าขวบ มันไม่มีใครคิดหรอก แต่พออายุ 12-13 ปี คนเริ่มคิด เขาเป็นผู้หญิง ตัวเริ่มยืด ตัวก็ยิ่งโต ก็เลยเอามาเลี้ยง พ่อแม่เขาก็ไม่ได้ยอม เลยบอกคุณมีปัญญาหรือเปล่า คุณไม่มีปัญญา ควรจะห่วงมันทำไม เพราะค่าใช้จ่ายเด็กโตขึ้น มันสูงขึ้น

ตอนประถมเรียนฟรี เอาไปโรงเรียนวันละ 10 บาทก็อยู่ได้ ทุกวันนี้มัธยมคนละ 50 บาท ยังอยู่ลำบากเลยในชีวิตจริง พ่อเป็นยาม ได้วันกี่บาท กลับมาต้องกินข้าวด้วย แม่เป็นแม่บ้าน ก็เลยเอามา เอามาก็กินอยู่กับค่ายเลย”



ทว่า แม้ชีวิตนักมวยหญิงจะพลิกผันกลายมาเป็นแม่ค้าร้านหมูปิ้งในวันนี้ นาวสาวน้อยนักสู้ก็ยอมรับอีกว่าหากมองย้อนกลับไป ชีวิตไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะปัญหาทางบ้าน ที่ไม่ยอมรับกับความฝันของเธอ กว่าจะมายืนหยัดได้ถึงทุกวันนี้ จนถือว่าชีวิตตอนนี้มีความสุข และประสบความสำเร็จได้

“สถานะทางบ้านนาวไม่ดี พ่อแม่ทำงานรับจ้าง หาเช้ากินค่ำ แล้วมีลูก 3 คน เขาก็ต้องเลี้ยง เราเป็นพี่คนโต หนูก็เลยอยากแบ่งเบาภาระพ่อกับแม่ เพราะหนูก็เริ่มโตขึ้นทุกวัน ค่าใช้จ่ายหนูก็เยอะ

หนูเห็นถึงความลำบาก เราก็ออกจากบ้านมาเลย มาซ้อมมวยและมาเรียนที่นี่เลย หนูก็เอาเงินตัวเองแบ่งเบาไปให้พ่อแม่และแบ่งเบาตัวเองด้วย ช่วยตัวเองและช่วยน้องๆ ด้วย”
แน่นอนว่าความสามารถของสาววัย 16 ปี ถูกพิสูจน์ผ่านรางวัล และเงินจากน้ำพักน้ำแรง ฝ่าคำดูถูกนั้นมาพัฒนา ทำให้ทุกคน รวมทั้งครอบครัวเธอยอมรับ ซึ่งเมื่อถามประเด็นเกี่ยวกับครอบครัว คำพูดและแววตาวีวี่ก็มีน้ำเสียงที่สั่นเครือ และมีน้ำตาคลอเห็นได้ชัด

“ก่อนที่จะมาต่อยมวย ชีวิตตอนนั้นหนูก็ลำบากนะ พ่อกับแม่เขาต้องเลี้ยงหนู หนูก็ยังเด็กหาเงินไม่ได้ ก็ต้องของเงินเขาไปเรียนทุกวันอย่างนี้ ได้น้อยบ้าง ไม่ได้บ้าง หนูต้องให้น้อง เพราะเป็นพี่คนโต

ตอนแรกเขาว่า (เรื่องการต่อยมวย) เขาเป็นห่วงหนู เขาก็ไม่ยอมให้หนูต่อย แต่หนูก็อยาก แล้วพอหนูเจ็บแบบนี้ เขาก็ยิ่งไม่อยากให้ต่อยเลยค่ะ แต่พอเวลาผ่านมาเรื่อยๆ หนูมีชื่อเสียงขึ้นนิดนึง เขาก็เห็นว่าหนูชอบทางนี้ เขาก็ปล่อย

หนูก็ขอเขาดีๆ เขาไม่อยากให้นาวต่อยมวย เพราะว่ามันเจ็บตัว แต่เรารั้นอยากต่อย อยากทำให้เขาเห็น แรกๆ ที่นาวต่อยมันก็เจ็บ เขาก็ไม่อยากให้ต่อย แต่พอไปเรื่อยๆ เขาก็เห็นความพยายาม แล้วเขาก็ได้ให้เราต่อย”


ทั้งนี้ ภาพแห่งความสำเร็จถูกฉายขึ้นมา ทำให้พิสูจน์ให้เห็นว่าเส้นทางที่เธอเลือกไม่ผิด สามารถหล่อเลี้ยงและแบ่งเบาภาระครอบครัวได้ในฐานะหัวหน้าครอบครัว

แต่ระหว่างทางกว่าจะมาถึงตรงนี้ หากไม่ได้กำลังใจและการสนับสนุนจากค่ายแห่งนี้ ครอบครัวคงไม่มีความมั่นคง อยู่สบาย และสามารถเลี้ยงดูพ่อแม่ได้
“ตัวหนูนี่แหละ หนูเห็นว่ามันลำบากยังไง แล้วหนูก็ไม่อยากให้เขาลำบากไปกว่านี้ หนูก็เลยต้องช่วยตัวเอง พอเราเอาเงินที่ต่อยมวยไปให้เขา เขาก็ดีใจ เขาก็บอกว่าเขาภูมิใจ เขาก็ให้กำลังใจบอกนาวว่าสู้ๆ”

ในฐานะของนักมวยหญิงอาชีพที่อยู่ในแวดวงมากว่า 2 ปี เธออยากให้หลายคนเปิดใจให้กับกีฬาว่าไม่ได้เล่นเพราะชอบความเจ็บปวด แต่ยังสร้างรายได้เป็นอาชีพได้ด้วย รวมถึงความสามารถของคนไทยเองก็ไม่แพ้ชาติอื่นด้วยเช่นกัน

สุดท้ายในฐานะคนที่ต่อสู้เพื่อครอบครัว และถือว่าเป็นหนึ่งคนที่อายุยังน้อย ไม่ละความพยายาม เธอฝากให้กำลังใจให้อย่ายอมแพ้ต่อโชคชะตา


“หลังจบโควิด หนูก็จะขายของไปเรื่อยๆ อะไรที่ให้หนูหาเงินเพิ่มได้อีกหนูก็จะทำ ถ้ามวยกลับมาต่อยเมื่อไหร่ หนูก็จะซ้อมแล้วก็ต่อยเหมือนเดิม

นาวก็ต่อยไปเรื่อยๆ เก็บเกี่ยวประสบการณ์ไปเรื่อยๆ จนประสบความสำเร็จ เหมือนที่คนอื่นเขาอยากทำ ได้แชมป์ ชิงแชมป์ประเทศไทย อยากให้ทุกคนสู้ๆ นะคะ ถ้าใครท้อก็อยากให้สู้ แล้วก็ดูแลตัวเองด้วยนะคะ ใส่มาสก์ ล้างมือ รักษาความสะอาดด้วย”







สัมภาษณ์โดย MGR Live
เรื่อง : ภูริฉัตร ปริยเมธานัยน์
ภาพ : พลภัทร วรรณดี

คลิป : อิสสริยา อาชวานันทกุล
ภาพเคลื่อนไหว : พัชรินทร์ ชัยสิงห์
ขอบคุณภาพ : เฟซบุ๊ก “มนัสวี ศรีทองคำ”
ขอบคุณสถานที่ : ค่ายมวย "ศิษย์ชาญสิงห์"




** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **
กำลังโหลดความคิดเห็น