xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“กองทัพ” ถอดเขี้ยว (ชั่วคราว) ยอมตัดงบ”ซื้ออาวุธ” สู้ศึกโควิด-19

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เห็นพ้องต้องกันทุกฝักฝ่าย ในการระดมสรรพกำลังห้ำหั่นกับมหันตภัย “โควิด-19” ที่คุมคามประเทศไทย และนับวันจะยิ่งแผ่ความเสียหายในวงกว้างมากยิ่งขึ้น จนรัฐบาลต้องงัดมาตรการยาแรง-ยาเบา ออกมารับมือสารพัด ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลเองก็พยายามปรับการบริหารจัดการเพื่อระดม “กระสุน” มาสู้วิกฤตครั้งนี้เป็นระยะๆ

ทั้งนี้ เป็นที่น่ายินดีไม่น้อยที่หลายมาตรการของรัฐบาลได้รับการสนับสนุนจาก “ฝ่ายค้าน” ที่ยอมถอดวิญญาณ “ลูกอีช่างติ” หันมาเห็นด้วยกับรัฐบาลในหลายเรื่อง

อาทิ มาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบเบื้องต้น อย่างการแจกเงินช่วยเหลือแรงงานนอกระบบ คนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน ที่ไม่เพียงสนับสนุนเท่านั้น ยังยุส่งให้จัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อให้ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสร้ายไม่น้อยไปกว่ากัน

หรือในขณะที่สนับสนุน ก็ยังมี “แต่...” ในทีให้สมกับเป็นฝ่ายค้านเสียหน่อย

อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่า เมื่อมีการพูดถึงการการปรับลดตัดโอนงบประมาณเพื่อนำมาช่วยเหลือประชาชนในช่วงสถานการณ์โรคโควิด-19 ระบาดทีไร หลีกเลี่ยงไม่พ้นที่ “กระทรวงกลาโหม-เหล่าทัพ” จะถูกเพ่งเล็งในเรื่องปรับลดงบประมาณในการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์มาเพื่อนำมาสนับสนุนช่วยเหลือประชาชนทุกครั้งไป

วาทกรรมจะวนเวียนอยู่กับ “เรือดำน้ำ-รถถัง-เครื่องบิน”

ย้อนไปดูข้อเสนอของ “หญิงหน่อย-คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” แห่งพรรคเพื่อไทย ในระหว่างบรรทัดก็ไม่ลืมแวะเข้ากระทรวงกลาโหม ที่บอกว่า “...ก่อนจะกู้เงินสร้างหนี้เพิ่ม จึงควรตัดงบปี 2563 ที่ไม่จำเป็น เช่น ซื้อเรือดำน้ำ อาวุธ ตึกใหม่ รถใหม่...”

หรือรายของ “เสี่ยโรจน์” วิโรจน์ ลักขณาอดิศร โฆษกพรรคก้าวไกล กระบี่มือหนึ่งเรื่องกองทัพชั่วโมงนี้ ที่เคยเสนอให้กองทัพปรับแผนด้านความมั่นคง จากการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ และกิจกรรมที่ไม่จำเป็นในห้วงเวลานี้ ราว 63,500 ล้านบาทออกมา เพื่อให้รัฐบาลใช้ในภารกิจความมั่นคงด้านการสาธารณสุข แทน

น่าสนใจว่า ก่อนหน้านี้จากที่เคยถูกขนานนามว่ากองทัพเป็น “แดนสนธยา” แตะต้องไม่ได้ ก็มีสัญญาณตอบรับในการทบทวนงบประมาณออกมาจากองทัพเพื่อร่วมสู้ศึกโควิด-19 บ้างแล้ว

จากคำให้สัมภาษณ์ของ “เสธ.ต้อง” พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ที่ระบุว่า “โครงการไหนสมควรชะลอก็ควรชะลอ โครงการไหนสามารถดำเนินการในปีต่อๆ ไป โดยไม่กระทบต่อสัญญากับต่างประเทศก็ต้องทำ ขณะนี้เหล่าทัพกำลังพิจารณาอยู่ว่าจะมีโครงการใดบ้างในงบประมาณปี 2563 และจะหารือกันต่อเนื่องไปถึงโครงการในงบประมาณปี 2564 ในภาพรวมด้วยหลักการทบทวนโครงการคือ ดูการดำรงสภาพความพร้อมต่อไป ส่วนการเพิ่มขีดความสามารถก็ให้ชะลอไปก่อน และต้องไม่กระทบต่อสัญญาที่ทำไว้กับต่างประเทศ”





โดยมีรายงานจากกระทรวงกลาโหม คู่ขนานออกมาถึงการพิจารณากรอบวงเงินงบประมาณปี 2563 กระทรวงกลาโหมได้รับการจัดสรรงบประมาณ “2.3 แสนล้านบาท” แบ่งเป็นงบประจำ 70 % และ งบลงทุน 30 %

หลักใหญ่เน้นไปที่ “งบลงทุน” ที่ต้องทบทวนและอาจต้องชะลอ ในส่วนของ “กองทัพบก” ได้แก่ โครงการจัดหายุทโธปกรณ์ ที่หมายรวมถึงการซ่อมบำรุง และการปรับปรุงพัฒนาขีดความสามารถของอาวุธยุทโธปกรณ์ เพื่อให้เกิดความพร้อมใช้ โดยมีแผนจัดซื้อยานเกราะลำเลียงพล หรือ สไตรเกอร์ ล็อต 2 จำนวน 50 คัน วงเงิน 4,500 ล้านบาท, แผนจัดซื้อปืนใหญ่ขนาด 155 ม.ม. เพื่อทดแทนของเก่า วงเงิน 2,000 ล้านบาท, โครงการจัดซื้อปืนใหญ่ขนาด 105 ม.ม.วงเงิน 900 ล้านบาท โครงการจัดซื้อเครื่องบินแบบใช้งานทั่วไปวงเงิน 1,350 ล้านบาท และแผนจัดซื้อรถถังวีที 4 ล็อตที่ 3 วงเงิน 1,600 ล้านบาท เป็นต้น

ขณะที่ กองทัพเรือ มีแผนจะจัดซื้อเรือดำน้ำลำที่ 2-3 จำนวน 2 ลำ ตามงบประมาณที่ตั้งไว้ประมาณ 2.2 หมื่นล้านบาท รวมถึงตั้งงบก่อสร้างที่จอดเรือไว้อีก 900 ล้านบาท ผูกพันงบประมาณตั้งแต่ปี 2563-2569

ส่วน กองทัพอากาศ มีโครงการจัดหาเครื่องฝึกทดแทน 12 เครื่อง ผูกพันงบประมาณ 4 ปี ( 2563-2566) วงเงิน 5,195 ล้านบาท, โครงการจัดหาเครื่องฝึกนักบินขับไล่ขั้นต้น T-50 (ระยะที่ 4) 2 เครื่องวงเงิน 2,450 บาท (ผูกพันงบประมาณ 2563-2565) เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีความเป็นไปได้ที่จะยกเลิกงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับการดูงานต่างประเทศ การสัมมนาหรือปรับแผนลดขนาดการฝึกไปพร้อมๆ กันด้วย

ทั้งนี้ รายงานข่าวแจ้งว่า กระทรวงกลาโหมให้เหล่าทัพพิจารณาความจำเป็นแต่ละโครงการเอง โดยโครงการที่ตั้งในงบประมาณปี 2563 และยังไม่ได้มีการอนุมัติขอให้ดูข้อกฎหมายและเจรจาประเทศคู่สัญญาเพื่อขอชะลอโครงการออกไปก่อน อีกทั้งต้องพิจารณาควบคู่กับการทำแผนงบประมาณปี 2564 ที่ผ่านการพิจารณาไปแล้วว่าควรไปบรรจุในงบประมาณปี 2564 หรือไม่ รวมทั้งทำแผนสองหากสถานการณ์งบประมาณในปี 2564 ยังไม่ดีขึ้นให้ชะลอออกไปอีก โดยให้คำนึงถึงการดำรงความพร้อมขั้นต่ำของกองทัพเท่าที่ทำได้

แม้จะไม่รู้ว่าสุดท้ายกองทัพจะตัดงบประมาณส่วนใดบ้าง แต่ต้องบอกว่า ท่าทีของกองทัพเป็นไปในทิศทางที่ดี ที่สำคัญคือเป็น “กองทัพที่ฟังเสียงประชาชน” โดยเฉพาะในยามที่เดือดร้อนกันทั้งประเทศ ซึ่งต้องถือเป็นเรื่องที่ต้องยกนิ้วให้กับ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รวมทั้ง “ผบ.ทุกเหล่าทัพ” คือกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศกันเลยทีเดียว.



กำลังโหลดความคิดเห็น