xs
xsm
sm
md
lg

“ก้าวไกล” ชง 7 ข้อ ทำงบปี 64 ตอบโจทย์คุมระบาด ยกระดับ สธ.พยุงเศรษฐกิจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



พรรคก้าวไกล ชี้ งบปี 64 เพิ่มจากเดิมแสนล้าน แต่แทบไม่มีอะไรเปลี่ยนจากเดิม ไม่คำนึงวิกฤตจริงจัง เสนอ 7 ข้อจัดการ สับหน่วยไม่เกี่ยววิกฤตไม่เฉือนเนื้อตัวเอง แนะจัดลำดับใหม่เน้นความมั่นคงสุขภาพ ให้ สธ.-พม.-แรงงาน และเงินสำรองฉุกเฉิน รีดงบตัดดูงาน, สัมมนา ออก เพิ่มงบกลาง ปฏิรูประบบราชการ ทบทวนสัญญางบผูกพันทั้งซื้ออาวุธ-รถไฟเร็วสูง รอบคอบก่อหนี้ใหม่ซื้อยุทโธปกรณ์ต้องคิดหน้าคิดหลัง ระบุ งบต้องตอบโจทย์คุมระบาด ยกระดับระบบสาธารณสุข และ พยุงเศรษฐกิจ

วันนี้ (6 เม.ย.) เครือข่ายสังคมออนไลน์เฟซบุ๊กแฟนเพจพรรคก้าวไกล ได้เผยแพร่คลิปวิดีโอพร้อมบทความหัวข้อ 7 ข้อเสนอจัดงบประมาณแผ่นดินปี 64 อย่างมียุทธศาสตร์ พาไทยพ้นวิกฤต ซึ่งบรรยายโดย น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ถึงร่างพระราชบัญญัติงบประมาณแผ่นดินประจำปี 2564 กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในเดือนพฤษภาคม จะเริ่มใช้ในเดือนตุลาคม และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพิ่งจะมีมติเห็นชอบรายละเอียดงบดังกล่าวไปเมื่อไม่นานมานี้ ว่า เบื้องต้นพบว่างบประมาณเพิ่มขึ้นจาก 3.2 ล้านล้านบาท เป็น 3.3 ล้านล้านบาท แม้ว่าในมติ ครม.จะมีแนวทางการปรับปรุงรายละเอียดงบประมาณให้คำนึงถึงสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 และภัยแล้งแล้ว แต่จากที่คณะทำงานงบประมาณพรรคสังเกตการณ์มาตลอดพบว่า การจัดสรรงบประมาณปี 2564 ที่ปรากฏออกมาแทบไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ยังยึดกรอบการทำงบประมาณแบบเดิมๆ เพียงแค่ปรับเพิ่มๆ ลดๆ แต่ละรายการนิดๆ หน่อยๆ ไม่ได้จัดลำดับความสำคัญใหม่ และไม่ได้คิดคำนึงถึงวิกฤตที่ประเทศกำลังเผชิญอย่างจริงจัง

“ถ้าไม่มีการทบทวนงบประมาณแผ่นดินประจำปี 2564 เราจะต้องพบกับปัญหาแบบเดิมๆ เหมือนเคย ไม่ว่าจะเป็นงบกลางหมดกะทันหัน ไม่มีเงินเยียวยาอีกต่อไป ไม่มีเงินซื้อหน้ากาก อุปกรณ์แพทย์ขาดแคลน จำเป็นต้องกู้เงินเพิ่มมหาศาล และอื่นๆ อีกนานับประการ ถ้ารัฐบาลจะกู้เงินเพิ่ม มาใช้แก้ปัญหาโควิด-19 หรือเยียวยาประชาชนเราไม่ขัด แต่ต้องใช้ประโยชน์จากงบประมาณประจำปีให้เต็มที่เสียก่อน ไม่ว่าจะเกลี่ยงบปี 63 หรือจัดงบปี 64 ใหม่ จะทำให้เม็ดเงินที่จะต้องกู้น้อยลง”

ดังนั้น อดีตกรรมาธิการงบประมาณฯ ทั้ง 7 คน และคณะทำงานพรรคจึงได้มีความเห็น 7 ข้อ คือ 1. งบประมาณฐานศูนย์ สถานการณ์ในประเทศเปลี่ยนไปมาก ยังคงเป็นการทำงบโดยเอางบปีก่อนเป็นตัวตั้ง แล้วขยับตัวเลขขึ้นลงเพียงเล็กน้อย สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่า หน่วยงานรัฐที่ไม่มีภารกิจเกี่ยวข้องแต่อย่างใด ไม่ยอมเฉือนเนื้อ ตัวเอง ส่วนหน่วยงานที่มีภารกิจสำคัญโดยตรง กลับไม่ได้รับการเพิ่มงบในส่วนที่จำเป็น 2. จัดลำดับความสำคัญใหม่ งบประมาณปี 2563 ตั้งเป้าหมายประเทศไทยเป็นประเทศรายได้สูง ปีนี้เป้าหมายคือความมั่นคงด้านสุขภาพของทุกคน พร้อมรับมือกับผู้ติดเชื้อที่จะเพิ่มขึ้น และการเยียวยาช่วยเหลือประชาชน ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุข เงินสำรองฉุกเฉิน กระทรวงพัฒนาสังคมฯ กระทรวงแรงงาน ควรได้รับความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ

3. รีดให้เรียบ เรากำลังเผชิญกับปัญหา 2 ต่อ ต่อที่ 1 คือ วิกฤตโควิดที่ทำให้พี่น้องประชาชนไม่สามารถหากินได้เช่นยามปกติ ต่อที่ 2 คือ รายได้ที่เข้ารัฐ เช่น ภาษีก็จะลดลงด้วย เนื่องมาจากเศรษฐกิจชะลอตัว เราจึงจำเป็นต้องรีดไขมันสุดตัว ไม่เว้นแม้แต่ในหน่วยงานที่ควรได้รับความสำคัญเป็นพิเศษด้วย ซึ่งเท่าที่เราเห็น ยังมีงบอีกจำนวนมากที่สามารถตัดออกไปได้เลย เช่น งบดูงานต่างประเทศ งบสัมมนา งบรับรองแขก งบรถประจำตำแหน่ง ฯลฯ รวมถึงโครงการต่างๆ ที่ไม่ตอบโจทย์ตอบสถานการณ์ตอนนี้ด้วย

4. เพิ่มงบกลาง พร้อมรับสถานการณ์ไม่แน่นอน วิกฤตการระบาดของโควิดเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ในยามปกติเราไม่เห็นด้วยกับงบกลางขนาดใหญ่เนื่องจากนายกรัฐมนตรีมีอำนาจเต็มในการสั่งจ่ายได้ตามอำเภอใจ แต่ในยามวิกฤตเช่นนี้ เราเห็นด้วยกับการเพิ่มงบกลางในส่วนของเงินสำรองฉุกเฉิน เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นในการบริหาร พร้อมรับสถานการณ์ได้ตลอดเวลา 5. เร่งปฏิรูประบบราชการในยามวิกฤต ต้องยอมรับว่า สถานการณ์ที่ผ่านมาสะท้อนปัญหาว่ารัฐไทยไม่มีความสามารถในการจัดการกับวิกฤต จำเป็นต้องมีการเร่งปฏิรูป ถือเป็นโอกาสที่ดี ในการเพิ่มประสิทธิภาพระบบราชการ ปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ รวมถึงการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศต่างๆ เข้ามาช่วยเหลือในระบบการบริการสาธารณะ

6. ทบทวนสัญญาของงบผูกพัน ในสัญญาการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ โครงการเมกะโปรเจกต์ที่ซ้ำซ้อน เกินความจำเป็น และไม่คุ้มค่า ยกตัวอย่างเช่น รถไฟความเร็วสูงกรุงเทพ-หนองคาย พิจารณาสามารถที่จะยกเลิกได้หรือไม่ หรือสามารถเลื่อนกำหนดการส่งมอบ และการชำระเงินได้หรือไม่ อย่ากลัวว่าจะทำได้หรือไม่ เพราะเราเคยทำลักษณะนี้มาแล้วในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 7. รอบคอบในการก่อหนี้ผูกพันใหม่ จากนี้ประเทศจะยังจำเป็นที่ต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ก่อนจะก่อหนี้ครั้งใหม่ จำเป็นต้องคำนึงถึงภาระหนี้ที่จะเกิดขึ้น ถ้าไม่ได้มีประโยชน์โดยตรงกับประชาชน ก็ไม่จำเป็นที่ต้องก่อหนี้ขึ้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กับการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์เพิ่มเติม ดังนั้นต้องคิดหน้าคิดหลังดีๆ ว่า การก่อหนี้แต่ละครั้งเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติหรือไม่

ด้าน นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ และ โฆษกพรรคก้าวไกล ระบุว่า งบประมาณปี 2564 จะต้องตอบโจทย์ 3 ภารกิจหลัก คือ 1. ควบคุมการระบาดไม่ให้เกินขีดความสามารถของระบบสาธารณสุข 2. การยกระดับขีดความสามารถของระบบสาธารณสุข ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลสนาม อุปกรณ์ทางการแพทย์ เครื่องช่วยหายใจ ยาและเวชภัณฑ์ บุคลากรทางการแพทย์ สาธารณสุข ฯลฯ ตลอดจนระบบในการติดตามการรักษาพยายาลของผู้ป่วยอาการไม่หนักที่กักตัวรักษาตัวเองที่บ้าน 3. การพยุงเศรษฐกิจ การดูแลประชาชนตัวเล็กตัวน้อย และผู้ประกอบการรายย่อย เพื่อให้พวกเราคนไทยทุกคนพ้นภัยเศรษฐกิจและพ้นภัยโควิดไปในเวลาเดียวกัน

ทั้งนี้ พรรคก้าวไกลเชิญชวนประชาชนมาสะท้อนความคิดเห็นต่อการจัดสรรงบประมาณแผ่นดินประจำปี 2564 ผ่านเว็บไซต์ของสำนักงานงบประมาณที่ publichearing.bb.go.th/bbph64 ภายในวันอังคารที่ 8 เม.ย.นี้ จัดสรรงบให้เป็น แล้วจะเห็นประเทศไทยรอดพ้นวิกฤต
กำลังโหลดความคิดเห็น