รองนายกฯ เผย 3 มาตรการใหญ่แก้โควิด-19 ทั้งการแพทย์ ป้องกันระบาด เศรษฐกิจ แจงยังไม่ปิดประเทศ แต่ขอชะลอเข้าไทย แย้มถ้าเคอร์ฟิวยังไร้ผลอาจขยายเพิ่มเป็น 8-12 ชม.หรือมากกว่านั้น โดยต้องไม่มีคนออกมาเดินเพ่นพ่านตามถนนแม้แต่คนเดียว ตร.ขู่ลอบเปิดสถานบริการผิดมากกว่ากรรมเดียว
วันนี้ (3 เม.ย.) นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลมี 3 มาตรการใหญ่ในการแก้ปัญหาการระบาดของโควิด-19 คือ มาตรการทางการแพทย์, มาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค และมาตรการด้านเศรษฐกิจ เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งมาตรการที่ 1 จะทำดำเนินการตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ ส่วน พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่รัฐบาลประกาศใช้ไม่สามารถดำเนินการตรงนี้ได้ แต่ พ.ร.ก.ฉุกเฉินจะมาเกี่ยวข้องกับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคที่ พ.ร.บ.โรคติดต่อไม่อาจรับมือได้ เช่น การประกาศเคอร์ฟิว ซึ่งกฎหมายอื่นไม่ได้ให้อำนาจไว้ และเพิ่งใช้ข้อกำหนดฉบับที่ 2 บังคับใช้ให้มีผลวันนี้ รวมถึงอาจจะมีฉบับที่ 3,4,5 ตามมาอีก ในส่วนมาตรการฟื้นฟูนั้น พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็ไม่มีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้อง แต่จะใช้กฎหมายอื่นและมติ ครม.ในการดำเนินการ
นายวิษณุกล่าวว่า ข้อกำหนดฉบับที่ 2 เน้นเรื่องของเคอร์ฟิว แต่จนถึงนาทีนี้ยืนยันว่าประเทศไทยยังไม่ได้ปิดประเทศเพราะสนามบินยังไม่ได้ปิด แต่มีการเคร่งครัดและเข้มงวดมากขึ้น และคนไทยที่อยู่ต่างประเทศยังสามารถกลับมาได้เพราะเป็นสิทธิตามกฎหมาย อีกทั้งการขนส่งสินค้าเข้าออกยังทำได้ปกติ สำหรับคนต่างประเทศที่เข้ามาเราจะเข้มงวดเป็นสองเท่า ทั้งเรื่องการตรวจใบขออนุญาต ใบรับรอง จึงขอร้องว่าให้ชะลอการเข้ามาในประเทศไทยไปก่อนอย่างน้อยจนถึงวันที่ 15 เม.ย.แล้วค่อยว่ากันใหม่ แม้แต่คนไทยก็ต้องกักตัว 14 วันด้วยเช่นกัน
นายวิษณุกล่าวว่า ข้อกำหนดฉบับที่ 2 ที่ห้ามบุคคลทุกคนทั่วราชอาณาจักรออกจากเคหสถานในเวลา 22.00-04.00 น. หรือรวมเวลา 6 ชั่วโมงนั้น ถ้ามาตรการนี้ยังไม่ได้ผล หรือยังมีผู้ฝ่าฝืน หรือดีและป้องกันได้ดีก็จะประเมินเหตุการณ์วันต่อวัน อาจจะขยับเป็น 8 ชั่วโมง 10 ชั่วโมงต่อไปก็ได้ ช่วงเวลา 6 ชั่วโมงนี้ไม่ควรมีผู้ใดออกมาเดินเหินตามถนน หรืออยู่ตามร้านต่างๆ ไม่ได้ทั้งสิ้น เพราะนี่คือการห้ามออกจากเคหสถาน โดยจะมีตำรวจ ทหาร คอยตรวจตรา ถ้าพบว่าเป็นบุคคลที่ไม่ได้รับการยกเว้น จะมีความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา 18 โทษรุนแรงมาก คุก 2 ปี ปรับสี่หมื่น หรือทั้งจำทั้งปรับ
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลตระหนักดีว่าการประกาศเคอร์ฟิวจะเข้มงวดโดยไม่มีข้อยกเว้นเลยไม่ได้ เพราะเป็นความจำเป็นของคนบางประเภท จึงมีข้อยกเว้นให้กับบุคคลสองประเภท ประเภทที่ 1 ได้แก่ บุคคลทั่วไปที่มีภารกิจ ผู้ปฏิบัติหน้าที่ทางการแพทย์ ผู้ป่วย ผู้มีอาชีพขนส่งสินค้าอุปโภคบริโภค ยาเวชภัณฑ์ หนังสือพิมพ์ ที่ต้องมีใบรับรองจากต้นสังกัด ประเภทที่ 2 ได้แก่ พวกที่มีความจำเป็น แต่ยังไม่ได้มีการกำหนด ซึ่งกำลังรวบรวมอยู่และจะออกประกาศตามมาเพิ่มเติม เช่น ชาวประมง คนกรีดยาง พนักงานซ่อมสายโทรศัพท์ ระหว่างนี้หากจำเป็นต้องออกนอกเคหสถานก็ให้ขออนุญาตพนักงานเจ้าหน้าที่ที่จะขยายความไปถึงตำรวจ ทหาร กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน ไปพลางก่อน ถ้านึกไม่ออกให้ขออนุญาตเจ้าหน้าที่ที่ด่าน โดยจะพิจารณาถึงความจำเป็น แต่จะไม่อนุญาตให้เดินกอดขวดเหล้า เดินเตร็ดเตร่ หรือคิดถึงญาติ
นายวิษณุกล่าวว่า ทั้งนี้ ถ้ามีการประเมินแล้วต้องขยายเวลาเคอร์ฟิวจาก 6 ชั่วโมง เป็น 8 ชั่วโมง 10 ชั่วโมง 12 ชั่วโมง หรือมากกว่านั้นก็จะได้ทยอยประกาศ โดยแจ้งให้ทราบล่วงหน้าต่อไป ส่วนข้อกำหนดฉบับที่ 2 ที่มีการประกาศเคอร์ฟิวในช่วงเวลา 22.00-04.00 น.นั้น ในบางจังหวัดที่ผู้ว่าราชการจังหวัดได้กำหนดการห้ามออกจากบ้านแตกต่างจากข้อกำหนดของรัฐบาล ก็ให้ยึดมาตรการที่เข้มงวดกว่า และต่อไปเราจะพยายามปรับให้ทุกจังหวัดในเกณฑ์เดียวกัน สำหรับข้อ 3 ในข้อกำหนดฉบับที่ 2 หมายถึงแรงงานต่างด้าวที่จะกลับประเทศแต่ด่านพรมแดนปิด ไม่สามารถไปประเทศปลายทางได้ และจะไปในที่ต่างๆ ก็ไม่ได้ เราจึงกำหนดให้คณะกรรมการโรคติดต่อประจำจังหวัดจัดสถานที่เอกเทศ ซึ่งเป็นสถานที่ใดสถานที่หนึ่งไว้กักตัวคนเหล่านี้ 14 วัน เพื่อตรวจโรค หากด่านพรมแดนเปิดก่อนก็สามารถเดินทางข้ามไปได้ หรือเมื่อครบกำหนดก็จะปล่อยกลับ
ผู้สื่อข่าวถามว่า สื่อมวลชนสามารถออกไปทำข่าวในช่วงเวลาเคอร์ฟิวได้หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ได้เด็ดขาด เพราะช่วง 6 ชั่วโมงไม่น่าจะมีข่าวอะไรให้ทำ ส่วนที่จะไปถ่ายบรรยากาศด่านต่างๆ นั้นก็ขออนุญาตเป็นการเฉพาะราย แต่เราคงไม่เขียนยกเลิกให้เป็นกลุ่ม ส่วนการขนส่งอาหาร เช่น แกร็บ ไลน์แมน ถือว่าอยู่ในข้อยกเว้นการขนส่งอยู่แล้ว แต่ขอให้มีหนังสือรับรองไว้แสดงกับเจ้าหน้าที่
เมื่อถามว่า มีการตั้งข้อสังเกตว่า การเคอร์ฟิวแค่ 6 ชั่วโมงจะนำมาซึ่งการลดจำนวนได้อย่างไร นายวิษณุกล่าวว่า มันเป็นเชื้อโรค ไวรัส กลางคืนไม่หยุดพัก มันไป 24 ชั่วโมง แต่เราพิจารณาความจำเป็นของประชาชนที่กลางวันไม่สามารถปิดได้ หรือปิดก็คงไม่ฟัง จนกว่าจะรู้สึกสำนึก ตระหนัก รับผิดชอบ และสมัครใจได้มากกว่านี้ ซึ่งก่อนจะเคอร์ฟิวทั่วราชอาณาจักรมีการทดลองมาแล้ว 5 จังหวัด คิดว่าเป็นการส่งสัญญาณได้ระดับหนึ่งจึงประกาศทั่วราชอาณาจักร หวังว่าจะลดคนที่ออกมาตามท้องถนนได้พอสมควร และจะใช้ช่วงเวลาดังกล่าวทำความสะอาดบ้านเมืองด้วย ที่สำคัญพบการว่าการแพร่ระบาดเกิดจากการรวมตัวกันในเวลากลางคืนที่คนพักผ่อน ทำกิจกรรมร่วมกัน ต่างจากกลางวันที่ทำงานกันส่วนใหญ่ เมื่อคนคุ้นเคยและชินกับมาตรการนี้อาจจะขยายต่อไปได้ เชื่อว่าจะลดเปอร์เซ็นต์การแพร่ระบาดลงได้ ส่วนที่มีคนท้วงว่าทำไมไม่ประกาศช่วงหัวค่ำไปเลยนั้น อีกหน่อยก็ถึงหัวค่ำ
พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) กล่าวว่า เจ้าหน้าที่จะทำงานเป็นจุดตรวจและมีสายตรวจแทรกซึมไปทุกจุดในช่วงเวลาเคอร์ฟิว จะออกมาเดินข้างนอกบ้านหรือในหมู่บ้านไม่ได้ ส่วนการคมนาคมนั้น ได้มีการปรับเวลาเดินรถให้สอดคล้องแล้ว ขอให้ประชาชนเผื่อเวลาเดินทางด้วย อย่างไรก็ตาม ถ้ายังพบว่ามีการลักลอบเปิดสถานบริการอยู่สามารถแจ้ง 191 ได้ ตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครอง จะเข้าไปตรวจสอบ ซึ่งจะผิดมากกว่ากรรมเดียว ทั้ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ร.บ.โรคติดต่อ โดยที่ผ่านมาตำรวจและอัยการได้สั่งฟ้องทุกกรณี และศาลได้ลงโทษโดยไม่รอลงอาญา