ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - สถานการณ์ไฟป่าภาคเหนือปี 2563 โดยเฉพาะในจังหวัดเชียงใหม่รุนแรงผิดปกติ เรียกว่า ไต่ลำดับความรุนแรงตั้งแต่ต้นปีจวบจนกลางเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา มีจุดความร้อน (HOTSPOT) เกิดขึ้นนับร้อยจุดต่อวัน จนเป็นตัวการใหญ่ทำให้คุณภาพอากาศย่ำแย่ ค่าฝุ่นควันพิษ PM 2.5 เมืองเชียงใหม่พุ่งสูงติดอันดับหนึ่งของโลกหลายสัปดาห์ติดต่อกัน
ขณะที่ในโซเชียลมีเดีย ผู้ใช้งานทวิตเตอร์ช่วยกันดันแฮชแท็ก ตั้งแต่ #saveเชียงใหม่ #saveเชียงใหม่2 และ #saveเชียงใหม่3 ปลุกประเด็นให้เป็นกระแสในสังคม พยามเปล่งเสียงให้ถึง “รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” เพื่อให้มีมาตรการเร่งด่วนในการแก้ปัญหา
สถานการณ์หมอกควันไฟป่าในจังหวัดเชียงใหม่ เรื้อรังเป็นปัญหาระดับชาติมานานนับ 10 ปี แม้มีความพยายามในการแก้ปัญหา แต่สถานการณ์ดูเหมือนยังคงแย่ลง โดยเฉพาะบริเวณเขตอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย ต.สุเทพ อ.เมืองเชียงใหม่ และ อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ สร้างความเสียหายเป็นบริเวณกว้างให้แก่พื้นที่โดยรอบกว่า 2,400 ไร่
ขณะที่ “ทัพหน้าดับไฟป่า” อาทิ เจ้าหน้าที่อุทยานฯ, ทหาร, อาสาสมัครชาวบ้าน ฯลฯ ระดมกำลังเข้าดับไฟป่าทั้งกลางวันและกลางคืน ทว่า สถานการณ์รุนแรงและบานปลายกินเวลาแรมเดือน มิหนำซ้ำ เกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดมีผู้เสียชีวิตจากการดับไฟป่าในภาคเหนือแล้ว 3 ราย ประกอบด้วย ทหาร ผู้ใหญ่บ้าน และชาวบ้าน
ต้องยอมรับว่า ปฏิบัติการดับไฟป่าเป็นไปอย่างยากลำบาก ด้วยข้อจำกัดด้านอุปกรณ์และกำลังคน รวมถึงลักษณะพื้นที่เข้าถึงยาก
อย่างไรก็ตาม ในปฏิบัติการดับไฟป่าครั้งนี้ ทางจังหวัดเชียงใหม่ประสานความร่วมกับ “ทีมโดรนอาสา” หรือทีมอาสามัครนำโดรนขึ้นบินเพื่อชี้เป้าจุดไฟไหม้ สำหรับภารกิจหลัก ออกบินโดรนวันละ 2 รอบ เพื่อสำรวจพิกัด ถ่ายภาพและคลิปวีดิโอจุดไฟป่าเพื่อแชร์ในกลุ่มเฉพาะกิจ รอบแรก ก่อน 9.00 น. รอบเย็น ประมาณ 18.00 น. ซึ่งการบินโดรนอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติการดับไฟป่าให้ง่ายขึ้น เพราะสามารถเห็นแนวไฟป่า ทราบพิกัดต้นไฟที่ชัดเจน
ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการแพร่ถ่ายภาพมุมสูงของ “ทีมโดรนอาสา” เผยให้เห็นเปลวไฟลุกลามเป็นวงกว้างในเขตป่าอนุรักษ์ของ จ.เชียงใหม่ ไหม้โหมหนักรอบๆ พื้นที่ดอยสุเทพ ทั้งแชร์กันในโซเชียลมีเดีย และนำเสนอผ่านสื่อทุกแขนง ทำให้เหตุการณ์ไฟไหม้ป่าเชียงใหม่ผงาดขึ้นมาเป็นกระแสในสังคม เกิดการระดมความช่วยเหลือทั้งภาครัฐและประชาชน ร่วมบริจาคทรัพย์และสิ่งของช่วยเหลือเหล่าทัพหน้าดับไฟป่าในปฏิบัติการครั้งนี้
ทว่า กลับมีคำสั่งจากเบื้องบนให้ระงับปฏิบัติการบินโดรน เนื่องจากเผยแพร่ภาพสถานการณ์ไฟป่าที่มีความรุนแรงเกินไป สกัดไม่ให้ “ทีมโดรนอาสา” เข้าไปปฏิบัติในพื้นที่ และห้ามไม่ให้มีการเผยแพร่ภาพมุมสูงของสถานการณ์ไฟป่า
ปฏิเสธไม่ว่า ภาพถ่ายมุมสูงที่สะท้อนสถานการณ์ไฟป่ารุนแรงของ “ทีมโดรนอาสา” ปลุกกระแสสังคม ทำให้รัฐบาลเหลียวแลปัญหาหมอกควันไฟป่าเชียงใหม่ที่ทวีความรุนแรงผิดปกติกว่าปีก่อนๆ
อย่างไรก็ดี จากการทำงานของทีมโดรนอาสาพบว่า ตั้งแต่ ปลายเดือน ม.ค. ถึง ปลายเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา สถานการณ์ไฟป่ามีความผิดปกติรุนแรงแตกต่างจากปีก่อนๆ โดยเกิดเหตุไฟป่าในเขตป่าอนุรักษ์เขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติ สูงสุดถึงวันละ 300-400 จุด
ข้อมูล ล่าสุดต้นเดือน เม.ย 2563 มีรายงานเปิดเผยว่า พื้นที่ป่าถูกเผาไปแล้วกว่า 2,500 ไร่ เกิดจุดเผาไหม้สะสมจากเดือน ม.ค. 2563 มากว่า 97,000 แห่ง ใน 17 จังหวัดภาคเหนือ โดยมีจุดสะสมมากที่สุดที่ จ.เชียงใหม่ จำนวน 15,244 จุด ส่งผลให้ค่าดัชนีคุณภาพอากาศจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM 2.5 พุ่งสูงจนทำให้เชียงใหม่เป็นเมืองที่มีมลพิษสูงที่สุดในโลกติดต่อกันหลายสัปดาห์
หมอกควันไฟป่าเป็นปัญหาเรื้อรังมานาน โดยเฉพาะ 2-3 ปีที่ผ่านมา ขณะที่รัฐบาลประกาศให้ปัญหาหมอกควันภาคเหนือเป็นวาระแห่งชาติ แต่ไม่มีอะไรดีมิหนำซ้ำสถานการณ์ยังเลวร้ายลง ซึ่งสถานการณ์หมอกควันไฟป่าวนกลับมาก่อมลพิษทางอากาศค่าฝุ่น PM2.5 พุ่งสูงต่อเนื่องทุกปี เสมือนเป็น “ฤดูหมอกควัน”
ปี 2563 หมอกควันไฟป่าในภาคเหนือมาเร็วกว่าทุกๆ ปี และจะมีระยะยาวนานกว่าปกติ ตั้งแต่ ปลายเดือน ธ.ค. 2562 - พ.ค. 2563 เนื่องจากชาวบ้านเร่งการเผาให้เร็วขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงช่วงห้ามเผาของรัฐฯ ที่กำหนดมาตรการทางกฎหมายในการควบคุมการเผาในที่โล่งทุกชนิด ตั้งแต่วันที่ 10 ม.ค. - 30 เม.ย. 2563
สาเหตุของการสถานการณ์หมอกควันไฟป่าในภาคเหนือ เกิดจากปัจจัยหลักๆ ที่มาจากฝีมือมนุษย์ เช่น เผาเพื่ออุตสาหกรรมเกษตร เผาเพื่อสร้างแหล่งอาหารสัตว์ เผาเพื่อหาของป่า เผาเพื่อล่าสัตว์ เป็นต้น
นอกจากนี้ยังเกิดปัญหา “หมอกควันพิษข้ามแดน” จากการเผาซากไร่ของประเทศเพื่อนบ้าน อย่าง เมียนมาร์ และ ลาว ทำให้หมอกควันพิษลอยมาปกคลุมพื้นที่ภาคเหนือของไทย โดยเฉพาะตัวเมืองเชียงใหม่ ที่มีลักษณะภูมิประเทศที่เป็นแอ่ง เมื่ออากาศนิ่งทำให้เกิดฝุ่นควันสะสมจนมีค่าฝุ่นที่เกินมาตรฐาน
อย่างไรก็ดี การเผาในประเทศเพื่อนบ้านที่ก่อปัญหาหมอกควันพิษข้ามแดน ไม่ได้เป็นต้นเพลิงที่ทำให้พื้นที่ภาคเหนือของไทยเกิดไฟป่าลุกลามหลายจุด ทว่า สาเหตุของไฟป่าเชียงใหม่ที่มีความรุนแรงผิดปกติในปีนี้ มีการวิเคราะห์ไปในทิศทางเดียวกันว่าเกิดจากความขัดแย้งในพื้นที่
“เผาเพราะความขัดแย้ง” ปัญหาในพื้นที่ความขัดแย้งระหว่าง “รัฐ” กับ “ชุมชน” สะสมเรื้อรังมายาวนาน เป็นเรื่องละเอียดอ่อนซับซ้อน เป็นผลพวงจากมาตรการทวงคืนผืนป่าและการประกาศเขตป่าอนุรักษ์ทับพื้นที่ชุมชน การเพิ่มพื้นที่ป่าอนุรักษ์จาก 15% เป็น 25% ของพื้นที่จังหวัด รวมทั้ง การบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวดกับชาวบ้านในเรื่องการใช้ประโยชน์จากป่า เป็นต้น
นายชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานสภาหายใจเชียงใหม่ ซึ่งเป็นหน่วยงานระดมทุนและบริจาคสิ่งของเพื่อส่งต่อให้กับอาสาสมัครจากชาวบ้านในการช่วยดับไฟป่าและทำแนวกันไฟ ให้ข้อมูลว่า ความขัดแย้งที่สั่งสมมายาวนานระหว่างชาวบ้าน กับเจ้าหน้าที่อุทยานฯ น่าจะเป็นประเด็นหลักของสถานการณ์ไฟป่าเชียงใหม่ที่รุนแรงผิดปกติ เนื่องจากเขตป่าอนุรักษ์ทับที่ชาวบ้านที่อยู่กันมาก่อน อีกทั้งในเขตอนุรักษ์กฎหมายเข้มข้นมาก เป็นบรรยากาศแมวไล่จับหนู มีความขัดแย้งทะเลาะกันตลอด
นอกจากความขัดแย้งกับชาวบ้านแล้ว กรมอุทยานฯ ยังมีความขัดแย้งระหว่างนายทุนในพื้นที่ เช่น กิจการรีสอร์ทที่ถูกสั่งปิด ซึ่งมีผู้เสียประโยชน์จำนวนมาก ตลอดจนความขัดแย้งภายในกรมอุทยานฯ เอง ที่อาจทำให้เกิดการเผาป่ากลั่นแกล้ง
หนักไปกว่านั้นก็คือ มีการจุดไฟเพื่อกลั่นแกล้งเพราะไม่พอใจการทำงานของเจ้าหน้าที่ จุดไฟโดยความคึกคะนองไม่มีสาเหตุใดๆ จุดไฟเพื่อสร้างสถานการณ์ให้ความขัดแย้งในพื้นที่คุกรุ่นยิ่งขึ้น
นายสนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย ตั้งข้อสังเกตถึงสาเหตุของการเกิดไฟป่าเป็นวงกว้างในเขตป่าอนุรักษ์ของ จ.เชียงใหม่ ให้น้ำหนักในเรื่องเกิดจากความไม่พอใจเจ้าหน้าที่รัฐ จากการออกคำสั่งห้ามเข้าพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ - ปุยโดยเด็ดขาด ตั้งแต่วันที่ 10 ม.ค. ถึง 30 เม.ย. 2563 เป็นการริดรอนสิทธิของชาวบ้านชุมชนดั้งเดิมในเขตอุทยานฯ ในการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติที่ทดแทนได้เช่น เห็ด หน่อไม้ ผักและผลไม้ป่า
ทั้งนี้ทั้งนั้น สาเหตุที่แท้จริงของสถานการณ์ไฟป่าเชียงใหม่ที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงในปี 2563 ยังไม่สามารถตีธงได้ว่าเกิดจากเรื่องใดกันแน่ เป็นเพียงการวิเคราะห์ที่ให้น้ำหนักในเรื่องความขัดแย้งในพื้นที่
อย่างไรก็ตาม นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ หลังร่วมประชุมคณะทำงานศูนย์บัญชาการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จังหวัดเชียงใหม่ ให้บูรณาการทุกหน่วยงานในพื้นที่ โดยมีเป้าหมายลดจุดความร้อนในทุกพื้นที่ให้ชัดเจน และมีการปรับแผนแบบรายวัน ป้องกันการเกิดจุดไหม้ซ้ำซากต่อเนื่อง
รวมทั้ง เพิ่มชุดลาดตระเวนในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ สร้างการรับรู้โดยทำความเข้าใจพี่น้องประชาชนมนพื้นที่ ดึงชุมชนมาร่วมเป็นเครือข่ายช่วยสอดสองดูแลป่าไม้ ชี้เบาะแสผู้ลักลอบเผาป่าเพื่อจับกุมมาดำเนินคดี เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังได้ประกาศมาตรการระยะสั้น คือ “ปิดป่า 100%” ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. ระยะเวลา 1 เดือนเต็ม เพื่อยกระดับการควบคุมไฟป่าในพื้นที่อุทยานฯ ดอยสุเทพ - ปุย พร้อมกับส่งกำลังเจ้าหน้าที่อุทยานฯ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ตำรวจ ทหาร ผู้นำชุมชน และชาวบ้านในพื้นที่ เพื่อเฝ้าระวังและป้องกันการเกิดไฟป่า
ณ วันนี้ มีการระดมความช่วยเหลือจากหลายภาคส่วน เพื่อเร่งดับไฟป่าเชียงใหม่ที่กำลังสร้างหมอกควันพิษ หมอกควันไฟป่าในภาคเหนือเป็นเรื่องระดับชาติที่รัฐบาลมิอาจเพิกเฉย ต้องรีบตีโจทย์ให้แตกแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน
ภาพประกอบจาก ทีมโดรนอาสา และอื่นๆ