วันนี้ (6 เม.ย.) นายกรณ์ จาติกวณิช ว่าที่หัวหน้าพรรคกล้า กล่าวให้กำลังใจชาวเหนือที่นอกจากต้องกักตัวหนี Covid-19 แล้ว ยังต้องอดทนต่อสภาพอากาศระดับวิกฤตอย่างต่อเนื่องอีกด้วย โดยได้อ้างถึงคำสั่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 เมษายน ให้หน่วยงานต่างๆ กำจัดจุด hotspot ให้หมดภายในสัปดาห์นี้ ซึ่งก็หมายถึงวันที่ 5 เแต่ภาพที่เห็นในปัจจุบัน จะเห็นว่า hotspot ยังมีอยู่ทั่วภาคเหนือ ส่งผลให้คุณภาพอากาศของชาวเหนืออยู่ในระดับวิกฤตต่อเนื่อง คำสั่งของท่านนายกฯ ยังไม่ส่งผลแต่อย่างใด
ทั้งนี้ นายกรณ์ ได้หยิบยกคำสั่งของนายกรัฐมนตรีที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2558 จนถึง ปี 2563 พร้อมระบุว่า ในทางปฏิบัติไม่ส่งผลลัพธ์ให้ชาวเหนือมีอากาศที่ดีขึ้นเลย
ปี 2558
“วันนี้ถ้าเราร่วมมือร่วมใจกันในการเฝ้าระวัง จะทำเกิดผลดีต่อการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นการเผาป่า เผาเศษวัสดุ อยากให้ทุกช่วยกัน มีมาตรการทางสังคมของตนเองด้วย เพราะว่ารัฐทำคนเดียวไม่ได้ ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง อบต. อบจ. องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นเหล่านี้ ไปกำหนดมาตรการป้องกันระยะยาวให้ได้ บรรเทาไฟป่าอย่างยั่งยืน เกิดทุกปีแก้ปัญหาทุกปี ผมว่ารับไม่ได้แล้วต่อไปนี้” นายกรัฐมนตรี
ปี 2559
“เพื่อไม่ให้ปัญหาหมอกควันที่มักเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วง ม.ค.- เม.ย. มีความรุนแรงมากเกินไปจนเข้าสู่ขั้นวิกฤต จึงขอความร่วมมือประชาชนในพื้นที่ปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่โดยเคร่งครัด โดยคำนึงถึงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ระยะสั้นของตนเอง พร้อมทั้งได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามแผนงาน ควบคุมดูแล และบังคับใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างเข้มงวด” นายกรัฐมนตรี
ปี 2562
“นายกฯ ติดตามการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง และเห็นว่า มีค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐานในระดับสูงจนอาจมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน จึงจะไปรับฟังข้อมูลการดำเนินงานด้วยตนเอง พร้อมทั้งให้กำลังใจเจ้าหน้าที่และสนับสนุนสิ่งจำเป็นต่างๆ หากพบข้อติดขัดในการปฏิบัติงาน เพื่อให้ปัญหาคลี่คลายโดยเร็วที่สุด” รองโฆษกรัฐบาล
ปี 2563
“นายกรัฐมนตรีเป็นห่วงพี่น้องประชาชนในภาคเหนือที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่นละออง PM 2.5 จึงสั่งการให้ทุกหน่วยงานสนธิกำลังกัน เร่งเข้าควบคุมและดับไฟอย่างเต็มที่ และเฝ้าระวังการเกิดไฟในพื้นที่ป่าอย่างเข้มงวด เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติหมอกควันที่เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วน” โฆษกรัฐบาล
จากทั้งหมดนี้ ผมขอเสนอแนะต่อท่านนายกฯ ว่าควรต้องรื้อระบบการทำงานเพื่อแก้ปัญหานี้ทั้งหมด สิ่งที่ชัดเจนจากหลักฐานคุณภาพอากาศที่ปรากฎ คือระบบการแก้ปัญหาในปัจจุบันล้มเหลวอย่างมาก ซึ่งหากทำซํ้าๆ ก็จะได้ผลซ้ำๆ นั่นคือไม่ได้ผลสำเร็จที่แก้ปัญหาได้อย่างแท้จริง
นายกรณ์ กล่าวว่า โดยส่วนตัวเชื่อว่าหากภาครัฐ เป็นหนึ่งเดียว ระดมสรรพกำลังคิด และกำลังพล ย่อมจะขจัดปัญหาไฟป่าภาคเหนือ และปัญหาคุณภาพอากาศให้สูญสิ้นไปได้ โดย 1. ผู้ดูแลพื้นที่ป่าโดยตรง คือ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและส่ิงแวดล้อม (รมต รมช), กรมป่าไม้ (อธิบดี), กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (อธิบดี), กรมควบคุมมลพิษ (อธิบดี)
2. ผู้ดูแลอาณาประชาราษฎร์ พื้นที่ทางการปกครอง ซึ่งเขตแดนทุกตารางนิ้วในประเทศไทยมีหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัดปกครองดูแล (ทับซ้อนทุกตารางนิ้วพื้นที่ป่าไม้) กระทรวงมหาดไทย (รมต รมช), กรมการปกครอง (ผวจ นายอำเภอ กำนัน ผญบ) ,กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น (นายก อบจ, นายก อบต, นายกเทศมนตรี), กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (อธิบดี)
3. ผู้พิทักษ์ราษฎรบังคับใช้กฎหมายทั่วราชอาณาจักร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ผู้บัญชาการ), ส่วนสนับสนุนการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม (กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด), ส่วนป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม (ตำรวจภูธร ภาค 5 (ภ.5)
4. ผู้เสริมกำลังชาติยามวิกฤต กระทรวงกลาโหม (รมต รมช), กองทัพบก (ผู้บัญชาการ), กองทัพภาคที่ 3 (แม่ทัพ) และ 5. ผู้เจรจาสนับสนุนความร่วมมือต่างประเทศ (ฝุ่นควันข้ามแดน), กระทรวงการต่างประเทศ (รมต รมช), กรมอาเซียน (อธิบดี), กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (อธีบดี), กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย (อธีบดี), กรมองค์การระหว่างประเทศ (อธิบดี), กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (อธิีบดี)
“รวมทั้งสิ้น 5 กระทรวง/สำนัก 15 กรม/กอง นอกจากนี้ ยังมีภาคการเมือง ผู้เป็นตัวแทนประชาชน และอยู่ใกล้ชิดพื้นที่ ควรที่จะมีส่วนร่วมด้วยอย่างเข้มข้นครับ ขอขอบคุณข้อมูลจากกลุ่มแก้ไขฝุ่นควันภาคเหนือ และขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ภาคสนาม รวมไปถึงกลุ่มอาสาสมัครทุกกลุ่ม ทุกท่านที่ได้ช่วยกันแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและดูแลประชาชนในยามวิกฤตนี้ด้วยครับ” นายกรณ์ กล่าว