xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“แมสก์” ขยะ(พิษ)เกลื่อนเมือง ภัยเงียบที่อาจซ้ำเติมวิกฤต “โควิด-19”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - นับแต่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในเมืองไทย “หน้ากากอนามัย” กลายเป็น “ปัจจัยสำคัญ” ของผู้คนในการดำเนินชีวิต ผู้คนต่างพากันสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันตัวเองจากไวรัสร้าย ไม่ว่าจะเป็นหน้ากากอนามัยทางการแพทย์(Surgical Mask) หรือหน้ากากผ้า ซึ่งส่งผลทำให้ปริมาณการใช้หน้ากากอนามัยเพิ่มสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว

อย่างไรก็ดี สำหรับกลุ่มบุคลทางการแพทย์ที่ใส่หน้ากากอนามัยปฏิบัติงาน ไม่มีปัญหาเท่าใดนัก เพราะเมื่อใช้เสร็จแล้วก็ทิ้งในถังขยะสำหรับขยะทางการแพทย์ ซึ่งจะมีบริษัทนำไปกำจัดด้วยวิธีพิเศษ ฆ่าเชื้อก่อนเผาทำลายเพื่อป้องกันเชื้อโรคกระจายออกสู่สาธารณะ

แต่สำหรับประชาชนทั่วไป ยิ่งในยามที่ “กลุ่มติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการ” กำลังเป็นจับตา หน้ากากอนามัยคือโจทย์สำคัญที่ไม่อาจมองข้าม เพราะเห็นชัดเจนว่า ถูกทิ้งกลายเป็นขยะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยทิ้งรวมกับขยะทั่วไป ไม่มีการคัดแยก ซึ่งเสี่ยงต่อการปนเปื้อนเชื้อโรค เป็นตัวการแพร่ระบาดได้ เพราะไม่อาจรู้ได้เลยว่าชิ้นใดติดเชื้อหรือไม่

ทั้งนี้ กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เปิดเผยว่า มีขยะติดเชื้อหน้ากากอนามัยเฉลี่ย 1 - 2 ล้านชิ้นต่อวัน หรือประมาณ 240 กิโลกรัม หรือเฉลี่ย 1 ชิ้น น้ำหนักประมาณ 0.012 กิโลกรัม เทียบจากอัตรากำลังการผลิตหน้ากากอนามัยของประเทศต่อวันอยู่ที่ 1.2 - 1.3 ล้านชิ้น และจากการนำเข้าจากต่างประเทศ จึงได้กำหนดมาตรการควบคุมการทิ้งและกำจัดขยะติดเชื้ออย่างหน้ากากอนามัย เพื่อป้องการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด -19

นอกจากนี้ มีโครงการสำรวจปัญหาขยะทางทะเล และไมโครพลาสติก พบหน้ากากอนามัยใช้แล้วจำนวนไม่น้อยกลายเป็นขยะอยู่ตามชายหาดและในทะเล สะท้อนการจัดการขยะติดเชื้อที่ล้มเหลว ยกตัวอย่างเช่น บริเวณหมู่เกาะโซโค ทางตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะลันเตา ซึ่งตั้งอยู่บริเวณปากแม่น้ำเพิร์ล ของฮ่องกง

โดยเฟซบุ๊ก Oceansasia เปิดเผยภาพระหว่างการสำรวจ โดยกำหนดระยะเวลา 1 ปี ซึ่งตอนนี้ดำเนินการมาครึ่งทางแล้ว พบว่านอกจากจะพบขยะแบบอื่นๆ ที่เคยพบเป็นประจำแล้ว เริ่มพบหน้ากากอนามัยใช้แล้วหลายแบบ กลายเป็นขยะเกลื่อนชายหาดเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ หลังจากประเทศจีนและทั่วโลกกำลังตื่นตัวกับการสวมหน้ากากอนามัยป้องกันฝุ่นพิษ PM 2.5 และป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ขณะที่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ออกมาเรียกร้องให้ประชาชนทิ้งหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วในแหล่งที่จัดเตรียมไว้ให้ เพื่อป้องกันปัญหาขยะตกค้างในสิ่งแวดล้อม เนื่องจากหน้ากากอนามัยที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันที่มีอยู่หลายแบบ มีองค์ประกอบที่ทำจากวัสดุที่ย่อยสลายบาก เช่น ผ้า คาร์บอน รวมถึง พอลิโพรไพลีน จำเป็นต้องจะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี

ทั้งนี้ กรมควบคุมมลพิษ กำหนดมาตรการควบคุมการทิ้งและกำจัดขยะติดเชื้ออย่างหน้ากากอนามัย แบ่งเป็น ในส่วนสำหรับสถานที่ราชการ สถานที่ทำงานเอกชน สถานประกอบการ อาคารชุด ข้อปฎิบัติดังนี้ 1. จัดให้มีถังขยะสำหรับทิ้งหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วโดยเฉพาะ และติดสัญลักษณ์ รูปภาพข้อความที่สื่อถึงหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้ว ควรวางไว้ในจุดรวบรวมที่สามารถเห็นได้ชัดเจน และไม่ควรมีจุดรวบรวมเกิน 2 จุด 2. ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ในการทิ้งหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วในองค์กรอย่างต่อเนื่อง โดยควรแสดงแผนผังหรือรูปภาพแสดงวิธีการทิ้งที่ถูกต้องไว้บริเวณที่ตั้งถังขยะ และ 3. รวบรวมโดยแยกทิ้งจากขยะอื่น ๆ เพื่อส่งให้กรุงเทพมหานคร และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือส่งให้สถานที่กำจัดเอกชนนำไปกำจัดอย่างถูกวิธีต่อไป

และประชาชนทั่วไป ข้อปฏิบัติดังนี้ 1. ให้รวบรวมถุงขยะที่มีหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วแยกออกจากถุงขยะอื่น ๆ 2. ระบุข้อความบนถุงขยะว่า “หน้ากากอนามัยที่ใช้แล้ว” ให้เห็นได้อย่างชัดเจน และ 3. ส่งให้กรุงเทพมหานครและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำไปกำจัดอย่างถูกวิธีต่อไป




ทางด้านสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร 50 แห่ง รับลูกจัดถังขยะแยกสำหรับทิ้งหน้ากากอนามัยใช้แล้ว เพื่อนำไปเผากำจัดทำลายแบบเดียวกับขยะติดเชื้อ ซึ่งมีแนวทางจัดเก็บและกำจัดขยะโดยใช้วิธีการจัดเก็บแบบเดียวกันกับขยะพิษหรือขยะติดเชื้อตามโรงพยาบาล

ทั้งนี้ มีบริษัทเอกชนรับเก็บขนหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วหรือขยะมูลฝอยติดเชื้อ แบ่งเป็น บริษัทที่รับเก็บขน (เอกชน) 25 บริษัท และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่รับเก็บขน 12 แห่ง

นอกจากนี้ มีบริษัทเอกชน 5 บริษัท และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 9 แห่ง จัดการระบบกำจัดขยะมูลฝอยติดเชื้อ เพื่อรับไปกำจัดขยะมูลฝอยติดเชื้อที่มีเตาเผาขยะ โดยมีศักยภาพในการกำจัดขยะรวม 354.5 ตันต่อวัน ทั้งนี้ ต้องใช้อุณหภูมิการเผากำจัดขยะติดเชื้ออยู่ที่ 800 - 1,000 องศาเซลเซียส ถึงจะกำจัดเชื้อไวรัสได้

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทย มีกฎหมายในการกำจัดมูลฝอยติดเชื้อที่ประกาศใช้ โดยกฎกระทรวง ว่าด้วยการกำจัดมูลฝอยติดเชื้อ พ.ศ. 2545 มีการนิยามความหมาย การอธิบายวิธีการเก็บมูลฝอยติดเชื้อ มีข้อกำหนดการขนมูลฝอยติดเชื้อ รวมถึงมีการระบุถึงการกำจัดมูลฝอยติดเชื้อว่ามีอยู่ 4 วิธี คือ เผาในเตาเผา ทำลายเชื้อด้วยไอน้ำ ทำลายเชื้อด้วยความร้อน และวิธีอื่นตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

สิ่งสำคัญ คือ ประชาชน ต้องเปิดใจเรียนรู้วิธีการทิ้งขยะติดเชื้อให้เหมาะสม เพราะถือเป็นส่วนหนึ่งในการหลีกเลี่ยงการแพร่กระจายเชื้อโรค

นอกจากปัญหาขยะพิษจำพวกหน้ากากอนามัยที่ถูกทิ้งเกลื่อนเมือง ไม่มีการคัดแยกประเภท เพื่อป้องการการปนเปื้อนของเชื้อโรค ยังมีสถานการณ์ “คนตกหล่น” ที่ “ถูกทอดทิ้ง” ในเงามืดของสังคมไทย

“กลุ่มคนไร้บ้าน” คนเร่ร่อนไร้ที่พึ่งพาผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ ยิ่งในห้วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 คนกลุ่มนี้ที่มีอยู่จำนวนไม่น้อยกระจายอยู่ทุกพื้นที่ กำลังดำเนินชีวิตภายใต้ความเสี่ยงสูง ขณะที่ทุกคนตอบรับนโยบายรัฐ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” แล้วคนไร้บ้านจะใช้ชีวิตอย่างไร?

กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) หยิบยื่นความช่วยเหลือพวกเขา คลอดแผนรองรับสถานการณ์ในภาวะวิกฤตผ่านโครงการ "คนไทยไม่ทิ้งกัน" เปิดศูนย์บริการสำหรับกลุ่มคนไร้ที่พึ่ง คนไร้บ้าน เข้ารับบริการรายใหม่ ไม่ให้ปะปนกับผู้ใช้บริการรายเดิม รวมทั้ง มีการคัดกรองเบื้องต้นลดความเสี่ยงการแพร่กระจายของโรค โดยให้บริการด้านปัจจัย 4 และที่พักกักตัวสังเกตอาการ 14 วัน พร้อมทั้ง จัดชุดปฏิบัติการให้การดูแลตลอด 24 ชั่วโมง

“คนไร้บ้าน” ไม่ต่างจาก “ฝุ่นใต้พรมของรัฐ” เป็นปัญหาสะท้อนความเหลื่อมล้ำของประเทศไทย เป็นปัญหาเรื้อรังมาหลายรัฐบาล แน่นอนว่า “คนไร้บ้านไม่มีทางหมดไป” หากไม่มีการหยิบยื่นความช่วยเหลือให้พวกเขาตั้งหลักชีวิต ต้องไม่ใช่แค่ความช่วยเหลือแบบผ่านๆ ให้พ้นไป หรือเก็บกวาดเป็นการชั่วคราว

กำลังโหลดความคิดเห็น