ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -เซฟ “พนักงานเก็บขยะ" จากติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โควิด-19 "กระทรวงมหาดไทย" รณรงค์คัดแยก "หน้ากากอนามัย-หน้ากากผ้า" งดทิ้งรวมขยะประเภทอื่น
เริ่มกันได้เลย นอกจากมหาดไทย ภาคประชาชนก็พร้อมจะร่วมดำเนินการ
ข้อมูลมหาดไทย ระบุว่า“องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)”ถือเป็นหน่วยที่มีอำนาจและหน้าที่ในการจัดการขยะทั้งเก็บ ขน และกำจัดขยะ โดยมีรถขนขยะทั่วประเทศ 9,817 คัน และมีบุคลากรที่ปฏิบัติงานในการจัดการขยะ 26,143 คน แยกเป็นพนักงานขับรถขยะ 11,519 คน และพนักงานจัดเก็บขยะ14,624 คน
สัปดาห์ที่ผ่านมา กระทรวงมหาดไทย ได้กำชับให้ทุกท้องถิ่นต้องดูแลพนักงานเก็บขนขยะที่ออกปฏิบัติงานในทุกวันให้รัดกุม รอบด้าน และปลอดภัย
หนังสือฉบับนี้ นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ลงนามในหนังสือด่วนที่สุด ถึงผู้ว่าราชการทั่วประเทศ ต่อมาตรการจัดการขยะในช่วงสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19
ประกอบด้วย มาตรการรณรงค์คัดแยกขยะ ให้มีประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนคัดแยกขยะแต่ละประเภทใส่ถุงและมัดปากถุงให้แน่น ไม่ให้มีรอยฉีกขาด แล้วนำไปทิ้งในถังขยะหรือจุดรวบรวมขยะเพื่อรอการเก็บขน
ให้ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทิ้งหน้ากากอนามัย และหน้ากากผ้า โดยแยกใส่ถุงต่างหาก จากถุงขยะประเภทอื่น ปิดปากถุงให้แน่น และควรทำสัญลักษณ์ที่ถุงขยะหน้ากากอนามัยและหน้ากากผ้า เช่น ผูกเชือก หรือเขียนบอกให้รู้เวลาพนักงานเก็บขนขยะมาจัดเก็บ หรือนำไปทิ้งในถังขยะสีแดง ซึ่งจัดให้เป็น ถังขยะติดเชื้อ หรือนำไปทิ้งไว้ในจุดรวบรวมขยะเฉพาะเพื่อรอการเก็บขน
จัดให้มี “ถังขยะสีแดง”ไว้ในที่สาธารณะ หรือจุดรวบรวมขยะ เพื่อเป็นจุดทิ้งขยะหน้ากาก อนามัย และหน้ากากผ้าเป็นการเฉพาะ และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบว่า หากผู้ที่ไม่มีอาการป่วยหรือไม่ได้ใกล้ชิดกับ ผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงของโรคโควิด -19 สามารถใช้หน้ากากผ้าแทนหน้ากากอนามัย ทางการแพทย์ได้เนื่องจากสามารถซักทำความสะอาดโดยใช้น้ำยาซักผ้าเด็ก หรือน้ำสบู่อ่อน หรือน้ำยาฆ่าเชื้อ และตากแดดให้แห้งสนิทก่อนนำมาใช้ใหม่ เพื่อเป็นการลดจำนวนขยะหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วและจำนวน ขยะติดเชื้อด้วย
ส่วน “มาตรการเก็บขยะ”จัดให้มีอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อ ได้แก่ ถุงมือ หน้ากากอนามัย หน้ากากผ้า และเครื่องแต่งกายที่รัดกุม เป็นต้น และกำซับให้พนักงานเก็บขบขยะสวมใสในการปฏิบัติงานทุกครั้ง รวมทั้ง จัดเตรียมอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อสำรองให้เพียงพอสำหรับการปฏิบัติงานทุกวัน ให้มีการป้องกันการติดเชื้อ แก่พนักงานเก็บขนขยะ ทั้งก่อนและหลังการปฏิบัติงานทุกครั้ง เช่น การตรวจวัดอุณหภูมิ ล้างมือด้วยเจล แอลกอฮอล์ สบู่ เป็นต้น อุปกรณ์ต่าง ๆ เครื่องแต่งกายที่สวมใสในขณะที่ปฏิบัติงาน รวมถึงฉีดล้างรถบรรทุกเก็บขนขยะมูลฝอย เป็นประจำทุกวัน
ขณะที่ “มาตรการกำจัดขยะ” ในกระบวนการกำจัดขยะ ให้หามาตรการและอุปกรณ์ที่เหมาะสมให้แก่พนักงาน ประจำจุดกำจัดขยะเพื่อป้องกันความเสี่ยงในการติดเชื้อระหว่างการปฏิบัติงาน
สำหรับการกำจัดขยะหน้ากากอนามัยและหน้ากากผ้า ให้การกำจัดเป็นไปตาม กฎกระทรวงว่าด้วยการกำจัดมูลฝอยติดเชื้อ พ.ศ. 2545 ซึ่งประกอบด้วย การเผาในเตาเผา เป็นต้น
ก่อนนั้น กลุ่มภาคประชาชน ได้ติด #saveพนักงานเก็บขยะ ในสังคมออนไลน์ ซึ่งเป็นอาชีพที่เสี่ยง เพราะสิ่งที่คนเก็บขยะเก็บ มีเชื้อโรคหลายชนิด เช่น เพจ GreenCall Thailand รณรงค์ติด #saveพนักงานเก็บขยะ #savethebinman ระบุว่า พนักงานเก็บขยะ ก็เป็นอีกหนึ่งอาชีพที่ทำงานอยู่ในความเสี่ยงตลอดเวลาและเป็นคนท้ายๆที่เราจะนึกถึง เราจึงอยากช่วยเค้าด้วยการเรียกร้องให้ทุกคนแยกขยะทิ้งให้เหมาะสม เพื่อที่เค้าจะไม่ต้องเสี่ยงชีวิตและเสี่ยงที่จะติดไวรัส เพจดังกล่าว ยืนยันว่าทำง่าย “เท่าที่ไหว” เริ่มจาก
1. แยกเศษอาหาร - เพราะเศษอาหารทำให้ขยะอื่นเลอะและสกปรก ทำให้ยากต่อการจัดการ เราจึงควรแยกเศษอาหาร (เคล็ดลับ: สำหรับบ้านมีเศษอาหารต่อวันในปริมาณน้อย แนะนำว่าให้ลองแยกใส่กล่อง แช่ฟรีส รวบรวมจนเต็มกล่องแล้วค่อยทิ้งทีเดียว ไม่เปลืองถุง ไม่เลอะเทอะ ไม่มีแมลงด้วย) หรือใครมีเครื่องย่อยเศษอาหารก็แค่กดปุ่ม มีพื้นที่ทำปุ๋ยหมักลองศึกษาดู มีทั้งแบบขุดหลุม ฝังกลบ หรือใช้ถังหมักในบ้านแบบ ผักDone หรือ หมักง่าย มีวิธีจัดการเยอะมาก
2. แยกหน้ากากอนามัย - ช่วงนี้บางคนใช้ทุกวัน ขยะเพิ่มขึ้นเยอะมาก เราจึงอยากให้รวบรวมหน้ากากอนามัยใช้แล้วของคุณทิ้งรวมเป็น 1 ถุง รวมได้เยอะๆ ค่อยทิ้งทีเดียว ประหยัดถุง ประหยัดความเสี่ยงต่อคนเก็บ (ม้วนก่อนทิ้งก็ดี ไม่ม้วนก็ยังพอไหว ที่สำคัญคือควรมัดปากถุงแล้ววางทิ้งไว้ 72 ชั่วโมงก่อนค่อยนำไปทิ้งถังขยะ) ใครสะดวกช่วยทิ้งที่จุดรับ หรือไม่สะดวกแยกทิ้งที่บ้านก็ยังดี และที่สำคัญถ้าบ้านไหนมีคนติดเชื้อช่วยแปะกระดาษบอกไว้ที่ข้างถุงด้วย ว่านี่เป็นขยะติดเชื้อ
3. ขยะอันตรายอื่น ๆ - พวกขยะอิเล็กทรอนิกส์, อุปกรณ์ไฟฟ้า มือถือ แบตเตอรี่ ถ้าทิ้งไว้ในหลุมขยะ หรือปล่อยไว้กับเศษอาหาร ขยะพวกนี้จะปล่อยสารพิษที่เป็นอันตรายออกมา จึงจำเป็นที่ควรจะแยกทิ้งตามจุดรับ เช่น สำนักงานเขต, ห้างสรรพสินค้า, หรือติดต่อกรมครบคุมมลพิษ
4. ขยะแห้ง - ถ้าใครไปต่อไม่ไหวก็หยุดตรงนี้ รวมขยะแห้งที่เหลือขอบคุณออกเป็นอีกหนึ่งถุง ทำแค่นี้ก็ช่วยให้พนักงานที่โรงงานขยะแยกขยะได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องทนกับขยะที่เลอะและเน่าเหม็น ตัวขยะก็ถูกนำไปจัดการต่อไปจัดการต่อได้ถูกวิธี
5. ขยะรีไซเคิล - แยกพลาสติกรีไซเคิลได้, กระดาษ, อลูมิเนียม, เหล็ก, แก้ว, และอื่น ๆ แยกเป็นประเภทๆไว้ จะใส่ถุงหรือภาชนะอะไรก็ให้พนักงานเก็บขยะเก็บไปได้สะดวกๆ ทำแบบนี้ขยะของเราน่าจะถูกนำไปรีไซเคิลชัวร์ เพราะแยกให้แล้ว ขายได้เงินแน่นอน (ถึงแม้ช่วงนี้จะราคาตกต่ำ ) ใครมีเยอะเรียก GEPP ไปรับให้ถึงที่ หรือส่งลุ้นทองกับ Trash Lucky ก็ยังได้
6. ขยะรีไซเคิลไม่ได้ หรือขยะที่มีคนรับบริจาค - สำหรับคนที่ยังไปต่อไหว แยกพวกพลาสติกสองชั้น, พลาสติกเบอร์ 7 หรือพวกกระดาษปนพลาสติก, ปนอลูมิเนียมไว้ส่งไปยังสถานที่ต่าง ๆ เช่น ส่งพลาสติกไปเผากับN15 Technology ส่งกล่องนมไปทำหลังคากับ greenroof ส่งไปทำถนนกับGREEN ROAD ส่งพลาสติกอัดขวดไปทำ ecobrick กับผึ้งน้อยนักสู้ ส่งสลิปใบเสร็จไปทำสมุดกับโครงการสมุด Green Way *เพิ่ม*ส่งพลาสติกกำพร้าไปจัดการที่ YOLO - Zero Waste Your Life
“แยกกันเถอะ ยิ่งช่วงนี้ขยะน่าจะเยอะกว่าปกติด้วย พวกเค้าเสี่ยงอันตรายเพื่อเรา เราช่วยเค้าได้ด้วยการแยกขยะ”
They risk their lives for us, we separate waste for them
การรณรงค์ทั้งหมดนี้ จะเซฟ ทั้งพนักงานขับรถขยะ และ พนักงานจัดเก็บขยะ ของ อปท. กว่า 26,143 คน
รวมไปถึง “คนจนเมือง” ที่มีอาชีพเก็บของเก่าจากขยะไปขาย อีกนับจำนวนไม่ได้
เป็นการลดความเสี่ยงผู้ที่จะติดเชื้อจากโควิด-19 รายใหม่ รวมถึง ไม่ให้ซ้ำรอย การติดเชื้อจากสารพิษเหมือนในอดีต.