ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
อาจารย์ประจำสาขาวิชา Business Analytics and Intelligence
และ Actuarial Science and Risk Management
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
อนุกรรมาธิการติดตามการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข วุฒิสภา
อาจารย์ประจำสาขาวิชา Business Analytics and Intelligence
และ Actuarial Science and Risk Management
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
อนุกรรมาธิการติดตามการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข วุฒิสภา
ผมติดตามค่าสถิติจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่โควิด-19 มาสักระยะหนึ่ง ด้วยความเป็นห่วงอย่างยิ่ง และเข้าใจดีว่ากรมควบคุมโรค ตลอดจนบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ได้ทำงานหนักกันเต็มที่ภายใต้ข้อจำกัดอย่างยิ่งแล้ว เช่น มีหน้ากาก N95 ไม่เพียงพอ มีชุดสวมป้องกันเชื้อโรค PPE ไม่เพียงพอ เป็นต้น ปัญหาอย่างหนึ่งที่ผมกังวลคือ ค่าสถิติจำนวนผู้ติดเชื้อ COVID-19 เพราะค่าสถิติดังกล่าวมีคนไปกล่าวค่อนข้างเกินเลยความจริงว่า กรมควบคุมโรค ปกปิดค่าสถิติดังกล่าว แท้จริงแล้วมีการตรวจพบมากกว่าที่ประกาศมาก เราอยู่ที่เฟส 2.999999 ไม่เข้าเฟสสามเสียที แต่นี่เราก็ปิดสนามบินสามวันสามคืนกันแล้ว งดเดินรถไฟ งดการบินในประเทศ มี curfew แล้ว ทำ social distancing แล้ว
ผมขอยืนยันว่าค่าสถิติจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมซึ่งขณะนี้มีเท่ากับ 2,067 ราย จากผู้ที่เข้ารับการตรวจ (และตรวจเสร็จแล้ว) 21,603 คน จากจำนวนประชากรไทย 66,558,935 คน
หลายคนเฝ้าดู curve ของจำนวนผู้ติดเชื้อ ซึ่งจะมีสองค่า คือจำนวนผู้ติดเชื้อสะสม (นับแต่มีการรายงานเคสแรก) และจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ในแต่ละวัน แล้วก็กล่าวว่าน่าจะถึงเฟสสามแล้ว แต่สำหรับคนที่เรียนสถิติหรือมีสามัญสำนึก (Common sense) นั้นจะดูจากจำนวนผู้ติดเชื้อสะสม หรือ จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในแต่ละวันอย่างเดียวไม่ได้ เพราะไม่ได้ normalized หรือทำให้เปรียบเทียบกันได้โดยง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำค่าสถิติจำนวนผู้ติดเชื้อสะสม หรือ จำนวนผู้ติดเชื้อที่ได้รับการยืนยันแล้ว (Total confirmed cases) ไปเปรียบเทียบกันข้ามประเทศ นั้นทำไม่ได้เลย เพราะไม่ได้คำนึงถึงรายที่ได้รับการตรวจและจำนวนประชากรในแต่ละประเทศ ทำให้การเปรียบเทียบกันอาจจะเป็น unfair comparison หรือไม่ยุติธรรมที่จะเปรียบเทียบกัน
แต่ในรูปด้านล่างนี้ สนใจแปลความไปว่าจะมีจำนวนผู้ป่วยเป็นสองเท่าจากวันที่มีผู้ติดเชื้อครบ 100 ราย ภายในกี่วัน (Doubling day) เส้นที่ชันน้อยสุดคือ 7 วัน หรือนานกว่านั้น จะมีผู้ป่วยเป็นสองเท่า ได้แก่ ประเทศ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เขตปกครองพิเศษฮ่องกง ซึ่งมีการปิดโรงเรียน คนส่วนใหญ่สวมหน้ากาก มีการกักตัว และเชี่อฟังในการเว้นระยะทางสังคมค่อนข้างดี
ส่วนประเทศที่มีเส้นกราฟชันสุดคือสหรัฐอเมริกาจะมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าทุก ๆ สองวัน
เป็นที่น่าสังเกตว่าประเทศที่ไม่ใส่หน้ากากมีแนวโน้มที่เส้นกราฟจะชันกว่า
ปัญหาค่าสถิติจำนวนผู้ติดเชื้อของไทยมีปัญหาสองประการหลัก
ประการแรก คือ การไม่ได้รับการตรวจของผู้ติดเชื้อที่ไม่ได้แสดงอาการใดๆ เลย
สำหรับประเทศไทย อัตราการติดเชื้อต่อรายที่ตรวจ=2,067/21,603 หรือคิดเป็นร้อยละ 9.57 หมายความว่ารายที่ผ่านการคัดกรอง ซึ่งต้องเข้าเกณฑ์คือต้องมีไข้สูงกว่าเท่าใดจึงจะได้รับการตรวจ ซึ่งแนวเวชปฏิบัติ (clinical practice guideline) จะให้ตรวจคือต้องมีไข้สูงกว่าค่าหนึ่ง จึงจะตรวจได้และเบิกได้
หากไม่มีไข้ แล้วสงสัยตัวเองว่าตัวเองเป็นกลุ่มเสี่ยง แม้หมอจะสั่งตรวจ คนไข้ก็ต้องจ่ายเงินเองเพราะไม่เข้าสิทธิ (Eligibility) ที่จะได้รับการตรวจฟรี เบิกค่าตรวจจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติไม่ได้
ค่าตรวจนั้นก็แพงอยู่ราวห้าพันบาทถึงเจ็ดพันบาท และใช้เวลาในการตรวจ 3-5 วัน
ในความเป็นจริง ก็เกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม เช่น ในระยะแรก แมทธิว ดีน ไม่มีไข้ แต่ไปสนามมวยลุมพินีมา เกิดสงสัยตนเองว่าจะติดโควิด-19 หรือไม่ จึงไปโรงพยาบาลเอกชน และเสียเงินค่าตรวจเอง เพราะเขามีรายได้พอที่จะเสียเงินเองได้ และ สปสช. ไม่จ่ายเงินให้เขาในการตรวจ แต่หากเป็นเด็กกวาดสนามมวย หรือทำความสะอาดสนามมวย ซึ่งก็อยู่ในสนามมวยตลอดเวลาเช่นกัน ก็มีความเสี่ยงสูงมาก แต่จะไปตรวจก็ไม่ได้เพราะยังไม่มีไข้ การไม่มีไข้ไม่ได้หมายความว่าไม่ติดเชื้อแต่อย่างใด แต่คนที่มีฐานะทางการเงินไม่ดีต้องออกเงินเองหลายพันก็อาจจะออกเงินไม่ไหว ทั้ง ๆ ที่เป็นกลุ่มที่เสี่ยงสูง
ตัวน้ำยาทดสอบนั้นหายากและขาดแคลน วิธีการทดสอบที่ได้รับการยอมรับคือ RT-PCR (Reverse transcription polymerase chain reaction) แต่กระนั้นก็ตามก็ยังมีคนถกเถียงกันว่ามีวิธีการตรวจที่เร็ว เช่น rapid test kit ที่พัฒนากันมากทั้งในประเทศไทยและในต่างประเทศแต่ความไว (Sensitivity) และความจำเพาะ (Specificity) ยังไม่ได้ดีจนเป็นที่น่าพอใจนัก แต่น่าจะค่อย ๆ ดีขึ้นในเวลาอันใกล้
หากดูกราฟด้านล่างซึ่งแสดงอัตราการตรวจต่อประชากรหนึ่งล้านคนจะพบว่าอัตราการตรวจของไทย ณ วันที่ 20 มีนาคมเท่ากับ 102 คนต่อประชากร และต่ำกว่าอีกหลาย ๆ ประเทศในโลก ไม่ว่าจะเป็น UAE เกาหลีใต้ อิตาลี เยอรมันนี สหราชอาณาจักร อิหร่าน สเปน ไต้หวัน สหรัฐอเมริกา แม้แต่เวียดนามก็ดีกว่าไทย สำหรับวันนี้ไทยเรามีรายที่ผลการตรวจเสร็จสิ้นแล้วเท่ากับ 21,603 ราย จากจำนวนประชากร 66,558,935 คน คิดเป็นอัตรา การตรวจต่อประชากรเท่ากับ 324.57 รายต่อประชากรหนึ่งล้านคน ซึ่งเพิ่มขึ้นสามเท่าในเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ แสดงว่ากระทรวงสาธารณสุขและรัฐบาลทำงานหนักขึ้น เพื่อให้มีอัตราการตรวจต่อประชากรดีขึ้น
สิ่งที่น่าสนใจและระวังเป็นอย่างยิ่งคือ ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่แสดงอาการใด ๆ เลยมีสูงถึง 25% ตามรายงานของศูนย์ป้องกันและควบคุมโรค (CDC: Center of Disease Control) โปรดอ่านได้จาก https://www.livescience.com/coronavirus-asymptomatic-spread.html และ https://www.livescience.com/coronavirus-spread-before-symptoms.html
ผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการใดๆ เลย (Asymptomatic infected people) เพราะร่างกายแข็งแรงสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาต่อสู้กับโควิด-19 เองได้ เหล่านี้ ในมุมหนึ่งเป็นอันตรายมากต่อสังคม เพราะทำหน้าที่เป็นพาหะ (Carrier) เผยแพร่โรคต่อไปในวงกว้างได้มากเหลือเกิน ต้องไม่ลืมว่าไวรัสโควิด-19 แตกต่างจากไวรัสอื่น ๆ ที่แพร่เชื้อได้ในระยะฟักตัวแม้จะไม่แสดงอาการใด ๆ เลย
สำหรับประเทศไทยอัตราการติดเชื้อที่ตรวจพบต่อประชากร = 2,067/66,558,935 หรือคิดเป็นร้อยละ 0.0031 หรือ 3.10 รายต่อประชากรแสนคน ตัวเลขนี้ย่อมไม่ใช่ อัตราการติดเชื้อต่อประชากร และไม่ใช่จำนวนผู้ติดเชื้อที่แท้จริง
ตัวเลขผู้ติดเชื้อ ต้องมากกว่า 2,067 ราย ที่เข้าเกณฑ์มีอาการไข้และได้สิทธิ์ตรวจ 75% ของผู้ติดเชื้อแสดงอาการ บางส่วนแม้ไม่แสดงอาการและสงสัยตัวเอง ยอมเสียเงินเองตรวจก็มีส่วนเพิ่มตัวเลขผู้ติดเชื้อที่ได้รับการตรวจ แต่ประชาชนจำนวนมากคงไม่สามารถเข้าถึงการตรวจโควิด-19 ได้โดยง่ายนัก หากเราสมมุติว่าทุกคนที่มีอาการสามารถเข้าถึงการตรวจได้ 100% และผู้ที่มีอาการเท่านั้นถึงจะตรวจ ผู้ติดเชื้อในประชากรทั้งที่ไม่ได้รับการตรวจและรับการตรวจน่าจะมีค่าเท่ากับ 2,067*1/0.75 = 2,765 ราย ซึ่งก็คงจะประมาณนี้ ทั้งๆ ที่ทราบหรือไม่ทราบก็ตาม
ประเด็นที่สอง ความล่าช้าในการตรวจโควิด-19 ทำให้ค่าสถิติจำนวนผู้ติดเชื้อที่ได้ ไม่ทันเวลา (Timely) สาเหตุนั้นมาจากในระบบราชการของกระทรวงสาธารณสุขมีนักเทคนิคการแพทย์ไม่พอ ขาดแคลน โดยเฉพาะในสถานการณ์วิกฤติมหาโรคระบาดนี้ นักเทคนิคการแพทย์ทำงานกันหนักมาก ผลของความล่าช้าดังกล่าวขอยกตัวอย่างและคำนวณให้ดูดังนี้
ในช่วงสองสามวันนี้มีผู้ที่รอผลการตรวจสูงถึง 7,357 ราย ซึ่งหากผลการตรวจออกมาโดยสมมุติว่า อัตราการติดเชื้อต่อรายที่ตรวจเท่ากับร้อยละ 9.57 เช่นสถิติล่าสุด จะทำให้มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่ตรวจพบเพิ่มขึ้นอีก 704 ราย ทำให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมที่ตรวจพบ = 2,067+704= 2,771 ราย และจำนวนผู้ติดเชื้อในประชากร (ทั้งที่ได้รับการตรวจและไม่เข้าเกณฑ์ที่จะได้รับการตรวจ เช่น ไม่มีไข้) จะมีจำนวนเท่ากับ 2,772*1/0.75=3,696 ราย เป็นอย่างต่ำ
และมีอีกประเด็นหนึ่งที่ผมก็สงสัยแต่ยังไม่มีหลักฐานใดๆ คือการทุจริตประพฤติมิชอบ โปรดอ่านได้จาก ‘อีแร้งแตกรัง’ดับฝัน โกย1,500ล้าน จิกกิน‘นํ้ายา-ชุดตรวจโควิด’
สิ่งที่น่าสนใจอีกประการหนึ่ง อัตราการตรวจต่อจำนวนประชากร (รายตรวจ/ประชากร) และอัตราการติดเชื้อต่อประชากร (รายติดเชื้อ/ประชากร) มีความสัมพันธ์กันทางบวก ดังแสดงในกราฟด้านล่างที่เป็นผังภาพการกระจายของค่าสถิติสองค่าของประเทศต่างๆ ทั่วโลก เป็นส่งที่น่าสนใจและพึงระวังยิ่ง เพราะยิ่งตรวจเยอะ ยิ่งมีโอกาสพบผู้ติดเชื้อมาก และเมื่อทราบว่าใครเป็นผู้ติดเชื้อจากกลุ่มเสี่ยง แม้ไม่แสดงอาการใดๆ ก็สามารถกักตัว (Quarantine) เพื่อกักกันโรคได้ดีมากขึ้น เป็นการลดการแพร่เชื้อที่ได้ผลที่สุด และคุ้มค่ามากที่สุด
ในสายตาผม การประหยัดเงิน โดยตั้งเกณฑ์สูงมากในกลุ่มเสี่ยง เช่น มีประวัติไปแหล่งที่มีการแพร่ระบาดของโรค แต่ไม่มีไข้ แล้วไม่ให้ตรวจนั้น เป็นการฆ่าควายเสียดายพริก เสียดายเกลือ เมื่อล้มวัวทั้งตัวแล้ว มางกเงินค่าพริกค่าเกลือ ทำให้ไม่อาจจะถนอมเนื้อวัวที่ล้มได้ วัวที่ที่ล้มก็เน่าเสียไปเปล่า ๆ ไม่อาจจะเก็บไว้ได้ การไม่ยอมเสียเงินค่าตรวจให้กลุ่มเสี่ยงที่ไม่มีอาการไข้ใด ๆ เลยตรวจเท่ากับทำให้เกิดการแพร่ระบาดมากขึ้น ทำให้ไม่มีการกักตัวกักกันโรคทั้ง ๆ ที่ควรจะทำ ถึงจะให้เขากักตัวเองเลยหากได้มีประวัติเสี่ยง แต่คนเหล่านี้ย่อมไม่เชื่อฟัง แม้กระทั่งคนที่ป่วยแล้วติดเชื้อแล้ว ยังไม่เชื่อฟัง กักกันโรค ยังไม่ปฏิบัติตัวให้ดี ยังกินยาลดไข้เพื่อให้ขึ้นเครื่องบินกลับบ้านได้ เป็นต้น แน่ใจได้อย่างไรว่าจะไม่มีการแพร่โรคต่อ
ทั้งนี้ปัญหาค่าสถิติจำนวนผู้ติดเชื้อที่ได้รับการตรวจนี้มีค่าน้อยจากจำนวนผู้ติดเชื้อในประชากร หรือ อัตราผู้ติดเชื้อ/รายตรวจ มีค่าต่ำกว่าอัตราผู้ติดเชื้อในประชากร นี้มาก เพราะ หนึ่ง แนวเวชปฏิบัติและหลักเกณฑ์ในการเบิกจ่ายที่ให้เบิกจ่ายค่าตรวจได้เฉพาะรายที่มีไข้สูง หากไม่มีอาการแม้จะเป็นกลุ่มเสี่ยงก็ไม่ให้เบิกจ่ายสำหรับการตรวจ สอง จำนวนบุคลากร เช่น นักเทคนิคการแพทย์ ไม่พอ
ปัญหาแบบนี้ ทางสถิติ เรียกกว่า under estimate หรือประมาณค่าน้อยกว่าความเป็นจริง ถือว่าเป็น ตัวประมาณที่เอนเอียง (biased estimator) และเป็น negatively biased estimator ครับ ไม่ต้องเก่งสถิติศาสตร์หรอกครับ แค่เข้าใจที่มาที่ไปของข้อมูล มีสามัญสำนึกก็จะตอบได้ว่าตัวเลขมันน้อยกว่าความเป็นจริง
ข้อสังเกตนี้ผมไม่ได้สังเกตเห็นเป็นคนแรก แต่มีคนสังเกตเห็นก่อนแล้วคือจาก Facebook ของ Solo Investor ซึ่งได้โพสต์เขียนไว้เมื่อหลายวันก่อนว่า
Solo Investor ทำไมทุกวันนี้คนไทยติดเชื้อไม่เร็วอย่างที่คิด? หลายคนคงเห็นตัวเลขสถิติของผู้ติดเชื้อใน จีน เกาหลี ยุโรป และอเมริกา หลังผ่านการติดเชื้อครบ 200 คน จะมีอัตรากการติดเชื้อพุ่งสูงขึ้นมาแบบ Exponential หรือขึ้นไปแตะระดับเกิน 5,000 - 10,000 คนในระยะเวลาอันสั้น โดยแต่ละประเทศนั้นจะมีการระดมตรวจโรคเกินกว่า 100,000 คนทั่วประเทศ อย่างสหรัฐเองตัวเลขจากข่าวล่าสุดระบุว่าตรวจไปกว่า 850,000 คนแล้ว (ติดเชื้อ 160,000 คน คิดเป็น 20% ของการตรวจ) ซึ่งนั่นก็ทำให้ผมและใครหลายคน คาดไว้ว่าที่ไทยคงจะมีมาตรการคล้ายคลึงกับประเทศอื่นๆ และน่าจะมีจำนวนคนติดเชื้อมากกว่าที่เป็นอยู่ แต่จากการประกาศในแต่ละวันของกระทรวง สธ. กลับพบคนติดเชื้อเพิ่มขึ้นเพียง 100-150 คน/วันเท่านั้น จนมาวันนี้ผมก็ตาสว่าง เมื่อไปไล่ดูสถิติการตรวจของไทย ย้อนหลังในเว็ปของกรมควบคุมโรค พบตัวเลขที่เป็นสภาพจริงของไทย ดังนี้ 1) มีการตรวจเชื้อ CoVID ไปแค่ 18,696 คน เท่านั้น ณ 30/3/2563 (มีแฟนเพจที่เป็นหมอแจ้งว่าจริงๆตรวจเอกชนอีก 1 เท่าตัว แต่ผมอยากเรียกร้องให้ สธ. รวมตัวเลขมาให้ครบ คนทั่วไปจะได้รู้ว่าตอนนี้อยู่ตรงจุดไหนกันแน่) 2) จากทั้งหมดในข้อแรก รู้ผลแล้วเพียง 11,339 คน แบ่งเป็นติดเชื้อ 1524 คน (คิดเป็น 13% ของจำนวนการตรวจ) และไม่ติดเชื้อ 9815 คน 3) แต่ที่น่าห่วงกว่า คือ ยังรอผลอีกเกือบ 7,357 คน!! และตัวเลขรอผลตรวจนี้ สะสม พอกพูนมากขึ้นทุกๆวัน เพราะ เมื่อไปไล่ดูข้อมูลวันเก่าๆตั้งแต่ 29/3/2563 ลงไปเรื่อยๆ พบว่าความสามารถในการตรวจจนทราบผล เฉลี่ยจะทำได้วันละ 500-600 เคส เท่านั้น (มีแฟนเพจเสริมมาว่ากำลังเพิ่ม Lab ให้ได้เป็น 4,000 - 10,000 เคส/วันในเดือน เม.ย.-พ.ค.) 4) แสดงว่ากว่าจะทราบผลของคนกลุ่ม 7,357 คน ต้องใช้เวลาอีก 10-15 วัน ถึงจะทราบผลทั้งหมด 5) เมื่อเป็นแบบนี้ แสดงว่ายอดคนติดเชื้อ 100-150 ต่อวัน เกิดจากการตรวจผลเพียง 500-600 คน (คนติดเชื้อ 20% ของการตรวจในวัน) 6) หากสถิติเดียวกันนี้ คนที่รอผลอีก 7,357 คน น่าจะมีผู้ติดเชื้อรออยู่อาจสูงถึง 1,400 คน (หรือเอาตามเรทเดิม 13% เท่ากับ 949 คน) 7) คำถาม คือ ระหว่าง 10-15 วัน คนกลุ่ม 1,400 คนนี้จะเดินทาง หรือไปสัมผัสแพร่เชื้อให้ใครอีกบ้าง? เพราะหากไม่รู้ผลตรวจ เป็นอาจมีบางคนใช้ชีวิตไปตามปกติ แม้จะใส่หน้ากาก ล้างมือ แต่ก็มีโอกาสแพร่เชื้อให้คนอื่นไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง 8 (แก้ไขเพิ่มเติม) มีแฟนเพจท่านนึงทักทวงว่ากลุ่มรอผลทั้งหมด 7,357 คน นั้น จะถูกกักตัวในโรงพยาบาลไว้ทั้งหมด(ใครมีข้อมูลสนับสนุนหรือหักล้างมายันได้ครับ) โดยรออาการ 7-14 วัน แล้วตรวจซ้ำ ซึ่งอาจหักล้างผลในข้อ 6 และ 7 ที่ประมาณการไว้ - ถ้าเป็นแบบนี้สิ่งที่ควรจะเป็นต่อไปในวันที่ 7-14 เมษายนนี้ ตัวเลขสะสม "ควรปรับตัวลดลง" อย่างมีนัยยะสำคัญ รอติดตามกันหากไม่ลดลงผมขออนุญาตทวงถามเปิดประเด็นใหม่อีกครั้งนะครับ ======================================= ดังนั้นตัวเลขหรือสิ่งที่เห็น อาจไม่ใช่สิ่งที่เป็นอยู่จริงในขณะนี้ คงมีหลายคนสงสัยว่า ทำไมไม่จัดให้มีการตรวจในวงกว้างแบบประเทศอื่นๆ เช่น 100,000 คน เพื่อให้ทราบคนติดเชื้อแน่ชัด และจะได้บริหารจัดการทรัพยากรได้ถูกต้อง รวมถึงพ่อแม่พี่น้องคนติดเชื้อเหล่านั้นจะได้ระมัดระวังตัวมากขึ้น ผมเองก็ไม่ทราบคำตอบ ทั้งๆที่ใช้งบประมาณไม่เกิน 500 ล้านบาทก็เพียงพอที่จะตรวจคนได้ในระดับ 100,000 คน หรือสิ่งที่รัฐตั้งใจจะให้เป็น คือ ปล่อยให้การตรวจน้อยแบบนี้ไปเรื่อยๆ 500-600 เคสต่อวัน ให้คนไทยเห็นตัวเลขว่ามีคนติดเชื้อไม่มาก หวังผลทางจิตวิทยา ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้จริง คนที่เสี่ยงสุดคือ หมอ พยาบาล ที่จะไม่รู้ว่าคนป่วยที่มาติดต่อมีเชื้อแล้วหรือไม่ หรือนี้จะเป็นแผนของรัฐบาลชุดนี้ ที่ต้องการปล่อยให้คนไทยป่วยในวงกว้าง และสร้างภูมิคุ้มกันด้วยตัวเอง (Herd Immunity) และทยอยให้ธรรมชาติคัดสรรคนที่ป่วยตายและอยู่รอดในประเทศของเราต่อไป ถ้ายังเป็นแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ ต่างประเทศควรเอาไทยเป็นกรณีศึกษา วิธีในการจัดการ CoVID-19 ที่ได้ผลดีสุด และลดตัวเลขผู้ติดเชื้อได้ที่ต่ำสุด เพราะไม่ต้องตรวจหรือตรวจให้น้อยที่สุดไว้นั่นเอง ตัวเลขทั้งหมดคือของจริงจากกรมควบคุมโรค ใครสนใจพล็อตตารางมาดูได้ว่าผมพูดจริงหรือไม่ https://ddc.moph.go.th/viralpneumonia/situation.php ขอให้ทุกท่านโชคดี เพราะเราอาจติดโรคนี้ไปแล้วแต่เราแค่ไม่รู้ตัว... |
การที่ค่าสถิติจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมที่ได้รับการตรวจมีค่าน้อยกว่าจำนวนผู้ติดเชื้อต่อประชากรนั้นก็มีผลดีบ้างคือทำให้ประชาชนสบายใจ ไม่ตื่นกลัว แต่ข้อเสียน่าจะมีมากกว่ามาก
หนึ่ง เมื่อนำค่าสถิติเหล่านี้ไปวางแผนการควบคุมป้องกันโรค จะทำให้ประมาณสถานการณ์ผิดไป ในทางที่ประมาท และมีมาตรการที่อ่อนแอ ไม่เข้มแข็งพอที่จะควบคุมโรคได้ดีพอ
สอง ค่าสถิติเหล่านี้ นำไปใช่เป็นค่าพารามิเตอร์ตั้งตั้นในการพยากรณ์จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในอนาคต ด้วยตัวแบบซึ่งณ เวลานี้ ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการวิจัยและวิชาการ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กระทรวง อว เป็นผู้รับผิดชอบ เมื่อค่าพารามิเตอร์ตั้งต้น ต่ำกว่าความเป็นจริง ผลการพยากรณ์ก็ผิดพลาดหมด คือต่ำกว่าความเป็นจริง และทำให้การตัดสินนโยบายสาธารณสุขทั้งหมดก็ผิดพลาดไปเช่นกัน ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อประเทศชาติและชีวิตของประชาชนได้
เรื่องนี้มีทางออกและวิธีการแก้ไขดังนี้ครับ
หนึ่ง ให้แก้ระเบียบในการเบิกจ่าย หากเป็นกลุ่มเสี่ยง เช่น สอบประวัติ แล้วทำงานหรือไปในสถานที่ที่ณ เวลานั้นเกิดการแพร่ระบาดอย่างหนัก แม้ไม่มีไข้ ไม่มีอาการก็ให้เบิกจ่ายได้
สอง อนุมัติงบกลาง สำหรับการตรวจโควิด-19 กระจายไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด ให้โรงพยาบาลเบิกจ่ายจากผู้ว่าราชการจังหวัด อันเป็นผู้มีอำนาจเต็มตามพรก. ฉุกเฉิน เพื่อกระจายอำนาจ และให้การใช้เงินสำหรับการตรวจเป็นไปอย่างเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ เช่น พื้นที่ชายแดน อาจจะเกิดการระบาดข้ามพรมแดนได้ ผู้ว่าราชการจังหวัดชายแดนอาจจะใช้ดุลพินิจ หรือออกประกาศให้เหมาะสมกับสถานการณ์และสภาพพื้นที่ได้ดีกว่าการนำเงินไปให้ สปสช เบิกจ่าย เพราะรวมอำนาจและเงินไว้ที่ศูนย์กลางทั้งหมด โดยไม่ได้เข้าใจสภาพการปฏิบัติงานจริงและความเหมาะสมกับสภาพคนและพื้นที่เลย
สาม เมื่อมีงบประมาณ ที่เหมาะสม พอสมควร ควรให้เอกชน เข้ามาช่วยรับบริการการตรวจ เพื่อเพิ่มกำลังบุคลากร และทำให้ผลการตรวจรวดเร็วขึ้น ไม่ต้องรอราชการที่ล่าช้าและกำลังคนไม่พออีกต่อไป
จึงขอเรียนนายกรัฐมนตรีมาเพื่อทราบและโปรดพิจารณา และโปรดสอบสวนเรื่องการทุจริตในภาวะสงครามมหาโรคระบาดด้วย หากมีการทุจริตจริง ขอให้พิจารณาลงโทษให้หนักที่สุด เพื่อประเทศไทยและเพื่อชีวิตคนไทยทุกคน